ที่มา | เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
---|---|
ผู้เขียน | ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ |
เผยแพร่ |
ผักไฮโดรโปนิกส์ (Hydroponics) กับประโยชน์ทางโภชนาการ Hydroponics เป็นการผสมคำภาษากรีก 2 คำ คือ Hydro แปลว่า “น้ำ” Ponos แปลว่า “งาน” เมื่อนำความหมายรวมกันมาใช้กับการปลูกพืช จึงหมายถึง การปลูกพืชลงบนธาตุอาหารพืช โดยให้รากพืชสัมผัสกับสารละลายโดยตรง นั้นหมายความว่า เป็นการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน นอกจากนี้ การผลิตพืชผักบนดินก็ยังได้รับผลกระทบจากความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ เช่น น้ำท่วม ฝนแล้ง พายุ และความเสื่อมของดินที่เกิดจากการใช้ปุ๋ยเคมีมากจนเกินไป ทำให้การปลูกพืชผัก แบบ Hydroponics เป็นเทคโนโลยีทางการเกษตรที่ช่วยหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าว
จุดเด่นของการปลูกผักในระบบ Hydroponics มีดังนี้ คือผักมีความอุดมสมบูรณ์สูง โตเร็ว เพราะได้รับสารอาหารอย่างสมดุล ผักสะอาดปราศจากยาฆ่าแมลงและเชื้อโรค สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบจากความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ กำหนดหรือวางแผนการผลิตได้ต่อเนื่อง
ปัจจุบัน ผักที่ปลูกในระบบไฮโดรโปนิกส์ได้รับความนิยมอย่างมากในฐานะผักปลอดสารพิษ ซึ่งทำให้ผลผลิตไม่เพียงพอตลอดทั้งปี ผักเหล่านี้มีคุณค่าทางอาหารสูงและมีความปลอดภัยสูง เนื่องด้วยผักอุดมไปด้วยวิตามินที่จำเป็นต่อร่างกายมากมาย ซึ่งให้ไขมันต่ำด้วย มีน้ำ และกากเส้นใยอาหารจำนวนมาก ช่วยให้ระบบขับถ่ายดี เมื่อระบบขับถ่ายดี จะลดการเสี่ยงเป็นโรคมะเร็ง ปลายลำไส้ใหญ่ขับถ่ายกากใยพร้อมสารพิษออกมา นั้นเป็นแหล่งสารอาหารที่ทำให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ และต้านทานโรคภัยต่างๆ ได้สบาย โดยเฉพาะสารเบต้าแคโรทีน วิตามินซี วิตามินดี รวมถึงสารประกอบที่มีประโยชน์อื่นๆ
คุณวรรณนิภา เรืองทัพ บ้านเลขที่ 70/7 หมู่ที่ 4 บ้านหนองสะเดา ตำบลบ้านนา อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร โทร. (086) 110-6387, (084) 868-8474 เจ้าของ “สุดใจ Hydroponics จ.พิจิตร
คุณวรรณนิภา เล่าย้อนไปว่า ก่อนหน้านี้เคยทำอาชีพเป็นสาวโรงงานเกือบ 15 ปี ก็คิดว่าอยากกลับมาทำอาชีพเกษตร ซึ่งในเบื้องต้นก็ได้ศึกษาข้อมูลในยูทูบและในกลุ่มผู้ที่ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ในเฟซบุ๊ก ซึ่งได้ความรู้และเทคนิคต่างๆ เป็นอย่างดี หรือช่วยเหลือแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้เป็นอย่างดี หลังจากแน่ใจก็ปรึกษาแฟน ก็ลงมือซื้ออุปกรณ์ต่างๆ สร้างสวนผักไฮโดรโปนิกส์ขึ้นมา แล้วตั้งชื่อสวนว่า “สุดใจ Hydroponics จ.พิจิตร”
คุณวรรณนิภา เล่าว่า การปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกส์นั้น มีอยู่ 4 แบบ (หาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากอินเตอร์เน็ต) แต่ตนเองได้เลือกการปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์ระบบกึ่งน้ำลึก DRFT (Dynamic Root Floating Technique) เป็นระบบที่มีการทำงาน คือให้น้ำผสมธาตุอาหารไหลผ่านรากพืชในรางปลูก แต่ระดับน้ำที่ไหลผ่านรากพืชนั้นจะมีความลึกพอสมควร โดยระดับน้ำที่ไหลผ่านรากนั้นจะมีความลึกอยู่ที่ประมาณ 1-10 เซนติเมตร (ตามความเหมาะสม)
ระบบนี้เมื่อไฟฟ้าขัดข้องจนไม่สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ปั๊มน้ำได้ จะยังคงมีน้ำที่ใช้ปลูกพืชเหลือค้างบางส่วนในรางปลูก ทำให้รากพืชไม่ขาดน้ำในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ระบบ DRFT นี้ ผู้ปลูกจะต้องมีการปรับลดระดับน้ำในรางปลูกเช่นเดียวกับ ระบบ DFT ด้วย เพื่อเป็นการเพิ่มปริมาณอากาศที่รากพืชเมื่อพืชมีอายุปลูกมากขึ้น
ซึ่งจุดเด่นของระบบกึ่งน้ำลึก DRFT ใช้หลักการทำงานเช่นเดียวกับ ระบบ NFT แต่ด้วยระดับน้ำที่สูงขึ้น และมีน้ำส่วนหนึ่งที่จะค้างอยู่ในรางปลูก ทำให้ลดปัญหาเมื่อปั๊มน้ำไม่สามารถจ่ายน้ำเข้ารางปลูกได้ ผู้ปลูกสามารถใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นมาดัดแปลงเป็นรางปลูก และมีราคาประหยัดกว่ารางปลูก แบบ NFT อาทิ ท่อน้ำ PVC รางน้ำฝนไวนิล รางครอบสายไฟ ฯลฯ
โครงสร้างของโต๊ะปลูกสามารถทำจากวัสดุที่ไม่ต้องแข็งแรงมากนัก เนื่องจากไม่ต้องรับน้ำหนักของน้ำที่มากเหมือนกับ ระบบ DFT ใช้น้ำและปุ๋ยน้อยกว่า ระบบ DFT จึงทำให้สามารถควบคุมค่า EC และ pH ได้ง่ายกว่า ระบบ DFT
จากประสบการณ์ที่ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์มา ก็พอได้คำตอบในข้อดีของการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ เช่นปลูกผักได้ทุกชนิด ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องดิน เนื่องจากเป็นการปลูกโดยไม่ใช้ดิน สามารถปลูกพืชได้ในพื้นที่ซึ่งดินมีคุณสมบัติไม่เหมาะสมต่อการปลูกพืช เช่น ดินเค็ม ดินเปรี้ยว หรือดินปนเปื้อนด้วยสารพิษ เป็นต้น รวมทั้งพื้นที่ซึ่งไม่มีดิน เช่น บนอาคารสูง ดาดฟ้า บริเวณบ้านจัดสรร เป็นต้น
พื้นที่โรงเรือนปลูก 1 งาน ตอนนี้มีโต๊ะปลูกผักทั้งหมด 16 โต๊ะปลูก โดย 1 โต๊ะปลูก จะประกอบด้วย 8 รางปลูก ซึ่งในแต่ละรางปลูกจะมีความยาว 6 เมตร โดยจะวางแผนการปลูก สัปดาห์ละ4 โต๊ะ เพื่อให้ผักมีผลผลิตออกมาจำหน่ายอย่างต่อเนื่องไม่ขาดช่วง เฉลี่ยแล้วจะได้น้ำหนักผักรวมราว 100 กิโลกรัม แต่ในช่วงหน้าหนาวที่เป็นช่วงที่เหมาะสมในการเจริญเติบโตของผักสลัด น้ำหนักผักจะดีมาก ซึ่งอาจจะสูงถึง 150 กิโลกรัม ต่อจำนวน 4 โต๊ะปลูก
เน้นปลูกส่งขายพ่อค้า-แม่ค้า ที่มารับไปขายต่อ ซึ่งจะขายในราคาส่ง เฉลี่ย 40-50 บาท ต่อกิโลกรัมเนื่องจากซื้อผักทั้งหมดบนโต๊ะ แต่ถ้าขายปลีกในพื้นที่ ก็จะได้ราคาสูงกว่า เฉลี่ย 80-100 บาท ต่อกิโลกรัม รายได้รวมต่อเดือนที่ได้จากการขายผัก เฉลี่ย 20,000-25,000 บาท ต่อเดือน หลังหักค่าใช้จ่ายต้นทุนการผลิตประมาณ 5,000 บาท ต่อเดือนแล้ว ก็ถือว่าอาชีพการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ก็สามารถอยู่ได้ ต้นทุนนั้นก็จะมี ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเมล็ดพันธุ์ผักสลัด ค่าปุ๋ย ราว 5,000 บาท ต่อเดือน ซึ่งเป็นต้นทุนที่จะต้องใช้หัก
รายได้แต่ละเดือนในการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ จะมีรายได้เฉลี่ย 20,000-25,000 บาท ต่อเดือน ซึ่งถือว่าพออยู่ได้ อย่างน้อยก็ได้มีเวลาอยู่กับครอบครัว ทำงานไม่หนัก อย่างเช่น การทำนา ใช้พื้นที่น้อยเพียง 1 งาน เท่านั้น ซึ่งอนาคตก็จะหาตลาดเพิ่มเพื่อรองรับการขยายกำลังการผลิต เนื่องจากตนเองเพิ่งทำมาได้เพียง 1 ปี เท่านั้น
กิจวัตรประจำวันจะเติมปุ๋ยตอนเย็นทุกๆ วัน แต่จะต้องเติมน้ำปุ๋ยในช่วงที่แดดไม่ร้อนมากแล้ว เนื่องจากถ้าน้ำปุ๋ยในถังร้อนจะส่งผลให้น้ำปุ๋ยซึ่งเป็นสารละลายที่เติมลงไปจะตกตะกอน ส่วนหนึ่งก็ต้องไม่ให้ถังน้ำปุ๋ยทุกโต๊ะปลูกจะต้องไม่ร้อน มันจะส่งผลต่อผัก ทำให้ผักไม่โต เกิดโรครากเน่า อย่างการเติมน้ำปุ๋ยจะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมประกอบ อย่างหน้าร้อนที่ต้นผักจะคายน้ำมาก ซึ่งทำให้น้ำปุ๋ยในถังถูกพืชใช้ไปและระเหยหายจากถังไปราวๆ 10-15 เซนติเมตร เลยในแต่ละวัน ดังนั้น ต้องเติมน้ำปุ๋ยลงไปทดแทนในถังของแต่ละวัน อีกอย่างเพื่อไม่ให้ส่งผลต่อระดับน้ำในรางปลูกที่จะหมุนเวียนผ่านรากผักไม่ให้ลดต่ำลง
คุณวรรณนิภา เล่าว่า ตอนนี้จะปลูกผักสลัดอยู่ 4 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นที่นิยมของตลาดคือ กรีนโอ๊ค(Green Oak Lettuce) กรีนโอ๊ค ผักสลัดใบหยัก สีเขียวอ่อน เนื้อค่อนข้างนุ่ม คุณค่าทางโภชนาการ มีรสหวานกรอบ มีกากใยอาหารช่วยในการย่อยง่าย ช่วยบำรุงสายตา บำรุงเส้นผม บำรุงประสาทและกล้ามเนื้อ บำรุงผิวพรรณ ช่วยป้องกันโรคปากนกกระจอก ช่วยในการสร้างเม็ดเลือด ช่วยต้านอนุมูลอิสระ และป้องกันโรคหวัด
ผลผลิตของผักสลัด สลัดกรีนโอ๊ค จากที่ปลูกมาผลผลิตที่ชั่งน้ำหนักได้ ประมาณ 5 ต้น ต่อกิโลกรัม
เรดโอ๊ค (Red Oak Lettuce) เรดโอ๊ค ผักสลัดใบหยัก สีแดงอ่อน เนื้อค่อนข้างนุ่ม คุณค่าทางโภชนาการ มีรสหวาน กรอบ ช่วยในการสร้างเม็ดเลือด บำรุงประสาทและกล้ามเนื้อ บำรุงสายตา บำรุงเส้นผม มีกากใยอาหารช่วยในการย่อยง่าย บำรุงผิวพรรณ ช่วยป้องกันโรคปากนกกระจอก ช่วยในการสร้างเม็ดเลือด ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ล้างผนังลำไส้ กำจัดพวกไขมัน และยังมีธาตุเหล็กและวิตามินซีสูง สลัดเรดโอ๊ค จากที่ปลูกมาผลผลิตที่ชั่งน้ำหนัก ประมาณ 8-10 ต้น ต่อกิโลกรัม
ผักกาดคอส (Cos Lettuce, Romaine Lettuce) ผักกาดคอสมีชื่อเรียกมากมาย ทั้งผักกาดโรเมน ผักกรีนคอส เบบี้คอส บ้างก็เรียกผักกาดหวาน เป็นผักอันดับต้นๆ ที่นิยมรับประทานเป็นสลัดผัก ด้วยความที่ผักกาดชนิดนี้มีรสชาติขมเล็กน้อย แต่มีความกรอบและเบา เหมาะจะนำไปทำเป็นซีซาร์สลัดได้สบายๆ นอกจากนี้ ผักกาดคอสยังอุดมไปด้วยวิตามินซี มีไฟเบอร์สูง โพแทสเซียม และกรดโฟรเลตก็สูงไม่แพ้กันด้วย ผักกาดคอสจากที่ปลูกมา ผลผลิตที่ชั่งน้ำหนักได้ ประมาณ 4-5 ต้น ต่อกิโลกรัม
ฟิลเลย์ ไอซ์เบิร์ก (Fillie Iceburg Lettuce) ผักสลัดใบเขียว ใบหยิกเป็นฝอย ใบแข็งกรอบ ฉ่ำน้ำ คุณค่าทางโภชนาการ ลักษณะเป็นพืชล้มลุก ใบมีสีเขียว ทรงพุ่มใหญ่สวยงาม ขอบใบหยัก ห่อคล้ายลูกกลม คล้ายกะหล่ำปลีหัว กาบใบห่อเข้าหากันเป็นชั้นๆ ห่อหัว เมื่ออากาศเย็นปลายใบหยิกเป็นฝอย
ใบแข็งกรอบ ฉ่ำน้ำ รสชาติหวานกรอบ สลัดฟิลเลย์ ไอซ์เบิร์ก จากที่ปลูกมา ผลผลิตที่ชั่งน้ำหนักได้ ประมาณ 4-5 ต้น ต่อกิโลกรัม
เมล็ดพันธุ์ก็มีให้เลือกซื้อจากหลายแหล่ง ก็เลือกซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ มีเปอร์เซ็นต์ความงอกสูง หาซื้อได้ทั่วไปจากเว็บไซต์หรือในเฟซบุ๊กเกี่ยวกับการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ซึ่งเมล็ดพันธุ์ผักสลัดที่จะนำมาเพาะปลูก จะมี 2 แบบ คือ
เมล็ดแบบเคลือบ สำหรับเมล็ดผักสลัดที่เราปลูกอยู่ ถ้าเป็นเมล็ดแบบเคลือบ จะเรียกว่า Primed seed ซึ่งเมล็ดจะถูกกระตุ้นให้เกิดการงอกก่อน แล้วจึงนำมาเคลือบแป้ง (Pelleted seed) อีกที ซึ่งจากการที่กระตุ้นให้เมล็ดงอกก่อน ทำให้เมล็ดพันธุ์แบบนี้มีอายุการเก็บรักษาสั้น ซึ่งถ้าเลือกซื้อมาใช้ ควรใช้ให้หมดโดยเร็ว ไม่ควรเก็บไว้นานเกินไป สำหรับข้อดีของการใช้เมล็ดแบบเคลือบก็คือ สะดวกในการเพาะ อัตราการงอกสม่ำเสมอ และเปอร์เซ็นต์ความงอกสูง แต่ราคาก็จะสูงกว่าเมล็ดแบบไม่เคลือบ
เมล็ดแบบไม่เคลือบ เมล็ดประเภทนี้จะผ่านการลดความชื้น และทำความสะอาดมาแล้ว ในบางครั้งเมล็ดแบบนี้จะมีการคลุกสารเพื่อช่วยให้มีความต้านทานต่อเชื้อโรคในระยะแรกของการงอกเป็นต้นกล้า ถ้าเลือกใช้เมล็ดแบบนี้ก็ควรถามผู้ขายดูด้วยครับว่า มีการคลุกสารป้องกันเชื้อโรคมาให้ด้วยหรือไม่ ถ้ามี หลังจากที่เราเพาะเมล็ดเสร็จแล้วก็ควรล้างมือให้สะอาดด้วย เมล็ดประเภทนี้อายุเก็บรักษาจะนานกว่าเมล็ดแบบเคลือบ แต่เปอร์เซ็นต์ความงอกของเมล็ดจะค่อยๆ ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป