หนุ่มนักกฎหมายทิ้งเงินเดือนประจำ หันปลูกมะเขือยาวพันต้น แซมสวนมะนาว ทำเงินเดือนละแสน

หลายคนคงเคยตื่นตาและอลังการกับมะละกอแปลงใหญ่ ระดับ 100 ไร่ ของ คุณณรงค์ ร่างใหญ่ ประธานชมรมผู้ปลูกมะกรูดตัดใบเพื่อการค้า ที่หลายคนคงจะรู้จักกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะคนที่สนใจมะกรูด เพราะอาจกล่าวได้ว่า ชมรมมะกรูดตัดใบเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดการปลูกมะกรูดตัดใบเพื่อการค้าเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในบ้านเรา ซึ่งเกิดจากการบุกเบิกและผลักดันทั้งด้านการขยายพื้นที่ปลูกและการขยายตลาดมะกรูดให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งมากขึ้นเรื่อยๆ

วันนี้ คุณณรงค์ ร่างใหญ่ ก้าวสู่พืชชนิดอื่นเพิ่มขึ้นด้วยการปลูกมะนาวตาฮิติ 100 ไร่ และปลูกมะละกอแซมข้างร่องเป็นพืชเสริมรายได้ ก่อนที่มะนาวตาฮิติจะให้ผลผลิตเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุประมาณ 1 ปีครึ่ง แต่มะละกอสามารถให้ผลผลิตเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่อายุ 7 เดือน แถมคุณณรงค์ยังใช้พื้นที่ทุกกระเบียดนิ้วให้คุ้มค่าด้วยการปลูกมะเขือยาวลงไปในพื้นที่ว่างบนร่องระหว่างมะนาวตาฮิติอีก เรียกว่าทุกตารางนิ้ว ทำเงินได้หมด

ทิ้งชีวิตพนักงานเงินเดือนมาทำสวน

คุณณรงค์ เล่าว่า เรียนจบด้านกฎหมาย จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ แต่หลังจากทำงานบริษัทตามวิชาชีพที่ได้ร่ำเรียนมาได้เพียงปีเดียว กลับพบว่าไม่ใช่เส้นทางที่อยากเดิน อยากทำงานอิสระมากกว่า เป็นจังหวะเดียวกับที่ทางบ้านกำลังสร้างอพาร์ทเม้นต์ให้เช่า แต่ไม่มีคนดูแลกิจการ จึงตัดสินใจกลับมาช่วยกิจการที่บ้าน แต่การดูแลอพาร์ทเม้นต์ก็มีเวลาว่างมากเกินไป ประกอบกับความสนใจด้านเกษตรที่เป็นอาชีพดั้งเดิมของครอบครัวอยู่แล้ว จึงศึกษาพืชหลายชนิด เขาสนใจมะนาวเนื่องจากมองเห็นรายได้ของมะนาวนอกฤดู และขอแบ่งพื้นที่ทางบ้านมาปลูกมะนาว 300 วงบ่อ ในปี 2553 และในปี 2555 ก็ลงปลูกมะกรูดเพิ่ม จำนวน 10,000 ต้น โดยศึกษาข้อมูลจากหลายแหล่ง

แต่แหล่งความรู้ที่คุณณรงค์ยึดเป็นแนวทางมาตลอดก็คือ อาจารย์รวี เสรฐภักดี จากศูนย์วิจัยและพัฒนาไม้ผลเขตร้อน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ซึ่งคุณณรงค์เข้าอบรมหลักสูตรจากที่นี่ทุกหลักสูตร ทั้งการทำมะนาวนอกฤดู การปลูกมะกรูดตัดใบระยะชิดเพื่อการค้าและการปลูกมะละกอคุณภาพ ซึ่งทุกหลักสูตรล้วนเป็นพื้นฐานที่ดีและเป็นบันไดสู่ความสำเร็จในทุกพืช กเกินไป ประกอบดับความสนใจด้านเกษตรที่เป็นอาชีพดั่งเดิมของครอบครัวอยู่แล้ว โดยเงินหลักล้านได

 

พื้นฐานดินที่ดี สมบูรณ์ คือส่วนสำคัญของผลผลิตที่ดี

หลังจากที่ตัดสินใจแล้ว คุณณรงค์ ก็หาเช่าพื้นที่แปลงใหญ่ ขนาด 100 ไร่ ซึ่งหาได้ไม่ยากในพื้นที่นั้น พื้นที่แถบนี้ส่วนใหญ่จะเป็นสวนส้มเก่า ซึ่งจะมีแปลงใหญ่ๆ อยู่แล้ว ค่าเช่าก็ไม่แพงมาก ไร่ละ 2,000 บาทเท่านั้น ความได้เปรียบของพื้นที่เขตนี้ก็คือ การมีแหล่งน้ำที่เหลือเฝือ สามารถใช้น้ำได้ทั้งปี สภาพพื้นดินสมบูรณ์มากๆ อีกทั้งชาวสวนส้มจะมีการบำรุงดินอย่างดีมาตลอดอยู่แล้ว จึงทำให้สภาพโครงสร้างของดินที่นี่จัดว่าดีเลยทีเดียว ดินร่วนซุย อุดมสมบูรณ์ไปด้วยธาตุอาหาร เมื่อสภาพโครงสร้างพื้นฐานของดินที่ดีเมื่อใส่ปุ๋ยเคมี ต้นพืชก็ดูดปุ๋ยไปใช้ได้อย่างเต็มที่ ถึงแม้กระนั้นก่อนปลูกคุณณรงค์ก็ยังรองพื้นด้วยปุ๋ยคอกไปอีกเป็นจำนวนมาก

พื้นที่ว่าง ลงปลูกมะเขือยาว 2 เดือนครึ่ง เก็บขายได้

เนื่องจากพืชหลักที่ปลูกคือ มะนาว มีอายุการเก็บผลผลิตที่ค่อนข้างนานถึง 1 ปีครึ่ง จึงจะเริ่มเก็บผลได้ นั่นคือเหตุผลที่คุณณรงค์หาพืชล้มลุกที่ให้ผลผลิตมาปลูกแซมในพื้นที่ว่างบนร่องสวน สร้างรายได้ระหว่างรอผลผลิตจากพืชหลัก มะละกอจำนวนหลายหมื่นต้นจึงถูกปลูกเต็มพื้นที่ 100 ไร่ โดยไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติม เพราะปลูกริมร่องทั้งสองด้าน หลังจาก 8 เดือน ที่เริ่มเก็บมะละกอ มีเพื่อนชาวสวนในพื้นที่แนะนำให้ปลูกมะเขือยาว เพราะเป็นพืชที่สร้างรายได้เร็ว หลังจากที่ไปศึกษาดูงานในแปลงเพื่อนแล้ว ก็ไม่รอช้าที่จะลงมือทันที โดยปลูกแซมลงไประหว่างต้นมะนาวที่ยังมีพื้นที่ว่างอยู่ ซึ่งมะนาวปลูกค่อนข้างห่างอยู่แล้ว ระยะระหว่างต้นของมะนาวกว้างถึง 3.5 เมตร

มะเขือยาว ใช้พันธุ์โทมาฮ็อค ของศรแดง แต่ใช้ต้นเสียบยอด เพราะกังวลเรื่องเชื้อโรคทางดิน ซึ่งอาจทำให้มะเขือยาวเกิดการเหี่ยวตายได้ จึงป้องกันความเสี่ยงไว้ก่อน แม้ต้นพันธุ์จะราคาสูงถึง 6 บาท ลงปลูกมะเขือยาวไป 2,000 ต้น แต่ก็มีต้นที่เสียหายจากคนงานไปฉีดยาฆ่าหญ้าโดนต้นตายไป 500 กว่าต้น เหลือมะเขือยาวที่ให้ผลผลิตเก็บได้ 1,000 กว่าต้น

คุณณรงค์ บอกว่า มะเขือยาว เป็นพืชที่ดูแลไม่ยาก การรดน้ำใส่ปุ๋ยก็จะทำไปพร้อมกับมะนาวและมะละกอที่ปลูกอยู่ในแปลงเดียวกันอยู่แล้ว โดยปุ๋ยจะให้เดือนละครั้ง ใช้สูตร 46-0-0 ผสมกับ 13-13-21 สัดส่วน 2 : 1 หรือใช้สูตร 15-5-20 ผสมกับ 46-0-0 อัตรา 4 : 1 ส่วนทางใบพ่นธาตุอาหารเสริมสาหร่ายทะเล แคลเซียม-โบรอน ทุก 10-15 วัน ส่วนโรค-แมลงก็จะควบคุมอย่างต่อเนื่อง

ศัตรูของมะเขือยาวที่เจอ มีเพลี้ยไฟ ซึ่งถ้าเจอก็จะใช้อะเซทามิพริด ฟิโปรนิล อิมิดาคลอพริด หากมีหนอนก็จะใช้อีมาเม็กตินเบนโซเอท สลับ ฟิโปรนิล หากมีไรแดง ใช้ โอเบรอน ไพริดาเบน ปัญหาก็จะว่ากันไปตามการระบาดของแมลง ส่วนโรคจากเชื้อราจะไม่ค่อยเจอ เพราะจะพ่นสารป้องกันเชื้อราเป็นประจำอยู่แล้วในแปลงมะละกอ

 

ความได้เปรียบของตลาด และการขายผลผลิต

ความได้เปรียบด้านตลาดของที่นี่ก็คือ ที่นี่เป็นแหล่งปลูกพืชเกษตรหลายชนิดอยู่แล้ว และส่วนใหญ่ก็เป็นแปลงขนาดใหญ่ทั้งนั้น จึงมีแม่ค้าเข้ามารับซื้อผลผลิตถึงสวนอยู่แล้ว ส่วนใหญ่ที่นี่จะปลูกมะละกอดิบ  แต่ก็พอมีมะละกอสุกอยู่บ้าง ในส่วนของมะละกอที่เป็นพืชแซม ซึ่งปลูกไว้ริมร่องนั้นเก็บผลผลิตตั้งแต่เดือนกันยายนจนถึงตอนนี้ก็ทำเงินเกินล้านไปเยอะแล้ว เพราะเก็บมะละกอแทบจะทุกวัน วันละ 3.5-4 ตัน แม้ราคามะละกอปีนี้อาจไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวัง ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 12-15 บาท ต่อกิโลกรัม แต่ก็สามารถทำเงินก้อนโตให้เช่นกัน

ส่วนมะเขือยาว จะเริ่มเก็บได้เมื่ออายุประมาณ 2 เดือนครึ่ง ช่วงวันแรกๆ จะเก็บได้เพียง 20-30 ถุง ถุงละ 5 กิโลกรัม หลังจากนั้นก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เดือนที่ 4 จะเริ่มเก็บได้มากขึ้น ครั้งละ 200-400 ถุง หรือประมาณ 1,000-2,000 กิโลกรัม ส่งแม่ค้าตลาดสี่มุมเมืองที่เข้ามาซื้อมะละกอดิบจากที่นี่อยู่แล้ว มะเขือยาวจะเก็บทุก 5-7 วัน ซึ่งต้องแบ่งเวลากับการเก็บมะละกอด้วย ที่จะต้องเก็บเกือบทุกวัน

คุณณรงค์ บอกว่า มะเขือยาว เป็นพืชที่ราคาไม่ค่อยเคลื่อนไหว ราคาค่อนข้างนิ่ง ราคาเบอร์ใหญ่ อยู่ที่ 14 บาท ต่อกิโลกรัม หรือถุงละ 70 บาท เบอร์เล็ก ถุงละ 50 บาท เก็บมะเขือยาวรอบๆ หนึ่งจะได้เงิน 15,000-20,000 บาท เดือนหนึ่งก็สามารถทำเงินหลักแสนได้เช่นกัน นับว่าเป็นเงินไม่น้อยเลยกับมะเขือยาวเพียง 1,000 ต้น ที่ปลูกไว้เป็นเพียงพืชแซมเพื่อสร้างรายได้เสริมเท่านั้น

ปีนี้พืชหลักอย่างมะนาวตาฮิติก็เริ่มให้ผลผลิตเก็บเกี่ยวได้แล้ว ติดดกทีเดียว ซึ่งจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตชุดแรกได้ในช่วงแล้งนี้ ก็คงทำเงินให้ได้ไม่น้อย เดี๋ยวมาติดตามดูกันว่าคุณณรงค์จะมีรายได้มากแค่ไหนกับมะนาวตาฮิติ 100 ไร่ ที่เป็นพืชหลักของที่นี่

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ คุณณรงค์ ร่างใหญ่ บ้านเลขที่ 65/2 หมู่ที่ 10 ตำบลห้วยหอม อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ โทร. (087) 506-3989