จากป่าไผ่แบบดั้งเดิม สู่แนวคิด ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง สู่การสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ

ประเทศไทย มีไผ่หลายพันธุ์หลายชนิด ไผ่จัดอยู่ในประเภทพืชยืนต้น โดยต้นไผ่จะมีลักษณะที่โดดเด่นเป็นที่จดจำได้ง่าย ตรงที่ตัวลำต้นจะแตกออกเป็นกอไม้พุ่มเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ ซึ่งในกอหนึ่งมีประมาณ 20-25 ต้น ลำต้นมีความสูงประมาณ 5-15 เมตร ลักษณะลำต้นเป็นข้อปล้องตลอดลำ เนื้อผิวเกลี้ยงแข็งมีสีเขียวหรือเหลืองแถบเขียว ใบเป็นใบเดี่ยว

ไผ่หม่าจู พระเอกของสวน

คุณณรงค์ ไทยเจริญ เจ้าของสวนไผ่ อยู่บ้านเลขที่ 73/3-4 หมู่ที่ 1 ตำบลดีลัง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี เป็นหนึ่งในเกษตรกรที่มีความชื่นชอบในเรื่องของต้นไผ่เป็นอย่างมาก โดยเขาใช้ที่ดิน จำนวน 22 ไร่ ในการปลูกไผ่เกือบทั้งหมด ซึ่งจะมีไผ่ จำนวน 3 พันธุ์ ที่คุณณรงค์เลือกปลูกคือ ไผ่หม่าจู ไผ่รวก และไผ่เลี้ยง

คุณณรงค์ ได้ให้เหตุผลถึงการเลือกปลูกไผ่หม่าจูว่า เป็นไผ่สายพันธุ์ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งจากหน่อและลำต้น โดยลำต้นสามารถนำไปทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ โต๊ะ เตียง หรืออื่นๆ ที่สามารถใช้เป็นส่วนประกอบโครงสร้างต่างๆ

ในส่วนของหน่อไม้พันธุ์หม่าจูก็นำมาประกอบอาหารได้ เพราะจะมีรสชาติที่หวานกรอบอร่อย ไม่มีขม เพราะถูกจัดอยู่ในตระกูลไผ่หวาน มีสีเนื้อที่ขาวปราศจากสารฟอกสี นำไปรับประทานได้โดยที่ไม่ต้องต้มน้ำเพื่อลวกหน่อไม้ เพราะล้างน้ำธรรมดาหรือล้างน้ำซาวข้าว แล้วนำมาปรุงอาหารได้เลย เพราะถ้าเป็นไผ่จากที่อื่นจะขมมาก ทำให้ต้องต้มน้ำก่อนนำไปปรุงอาหาร และยังเป็นที่นิยมในท้องตลาดทั่วไปด้วย

ซึ่งพันธุ์หม่าจู ขยายพันธุ์ได้ 2 วิธี ก็คือ การตอนกิ่งแขนง และการชำเหง้า

โดยการตอนกิ่งแขนง จะไม่สามารถนำกิ่งที่มีความอ่อนมาใช้ได้ กิ่งที่นำมาใช้จะต้องอยู่ในช่วงกลางๆ ไปจนถึงระดับที่เรียกว่าแก่เลยทีเดียว ส่วนการขยายพันธุ์วิธีที่ 2 คือการเพาะด้วยการชำเหง้า ถ้าหากช่วงนั้นพื้นดินอยู่ในระหว่างที่มีความชื้นสูงๆ ก็สามารถนำลำต้นปักลงหลุมได้ทันที

 

ไผ่รวก อเนกประสงค์

ส่วนไผ่รวก จะปลูกเป็นแถวๆ เพื่อใช้เป็นแนวบังลม เนื่องจากพื้นที่ในสวนแห่งนี้มีลมค่อนข้างแรงในบางฤดู

ไผ่รวกเป็นไผ่ที่ปลูกได้ง่าย แต่จะใช้เวลานานถึง 4 ปีเลยทีเดียว กว่าที่ไผ่รวกจะเติบโตโดยสมบูรณ์แบบ และในส่วนของหน่อจะเก็บได้ตั้งแต่ปีที่ 3 แต่คุณณรงค์ก็ได้บอกว่า ถ้าอยากได้หน่อไม้ที่อยู่ในช่วงที่ดี แนะนำให้เก็บในปีที่ 4 ขึ้นไป เพราะนอกจากจะได้รสชาติที่ดี มอดก็ยังน้อยอีกด้วย

ทางด้านลำต้นของไผ่รวก คุณณรงค์ บอกว่า

“ไม้ไผ่รวกของเรา เราจะมีการนำไปตัดเพื่อทำเป็นหลักวัว หรือแผงกั้นที่มีลวดเป็นตัวนำไฟฟ้า ทำเป็นรั้วไฟฟ้า เพราะพื้นที่ในอำเภอพัฒนานิคม ส่วนใหญ่ทำอาชีพเลี้ยงวัว ทำการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ เราก็เลยนำไม้มาแปรรูปเป็นหลัก ขายได้ 1 ท่อน (1 เมตร 20 เซนติเมตร) ประมาณ 4 บาท โดยลำหนึ่งสามารถตัดได้ 4-5 ท่อน ลำต้นหนึ่งมีค่าประมาณ 20 บาท ส่วนเศษไม้ที่ตัดเป็นข้อๆ เราก็ไม่ได้ทิ้ง แต่เราจะนำไปเผาถ่าน เพื่อใช้ประโยชน์ในภายหลัง”

ขั้นตอนการทำหลักหรือรั้วล้อมคอกวัว
นำต้นไผ่มาแปรรูปเป็นหลักวัว หรือรั้วไฟฟ้า

ส่วนไผ่เลี้ยง ถึงจะไม่ใช่ไม้หลักที่เลือกปลูก แต่จะมีประโยชน์และการเจริญเติบโตที่คล้ายกับไผ่รวก และคุณณรงค์จึงเลือกใช้หน่อกับลำต้นเหมือนไผ่รวกเกือบทุกอย่าง

นอกจากไผ่ที่คุณณรงค์ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากแล้ว เขาก็ยังปลูกสมุนไพรต่างๆ อีกหลายชนิดไว้ในสวนแห่งนี้อีกด้วย

“ผมทำเรื่องสมุนไพรอยู่ เป็นสมุนไพรปรับสมดุลร่างกาย คือการใช้รักษาโรคแบบง่ายๆ โดยที่ไม่ต้องใช้เงินในการรักษา ซึ่งสมุนไพรในนี้มีมากกว่า 30-40 ชนิด จะมีสมุนไพรที่เป็นไม้ยืนต้น-สมุนไพรที่เป็นไม้ล้มลุก แล้วก็สมุนไพรที่เป็นพืชข้ามปี ก็เลยกลายเป็นป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” คุณณรงค์ กล่าว

ใบไผ่ที่สามารถนำมาทำเป็นปุ๋ยได้

ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง

ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง คือหนึ่งในปรัชญาของ ในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้เกษตรกรหรือประชาชนที่มีที่อยู่ว่างเปล่าได้มีป่าไม้ มีอาหารกิน มีไม้ใช้สอย

โดยคุณณรงค์ บอกว่า เขาได้นำปรัชญาเหล่านี้มาใช้กับสวนแห่งนี้ด้วย ซึ่งเขาได้อธิบายว่า ประโยชน์ 3 อย่าง ได้แก่ ป่าไม้ใช้สอย ป่าไม้กินได้ และป่าไม้เศรษฐกิจ

ส่วนประโยชน์ 4 อย่าง คือสามารถนำมาเป็นอาหารได้ ซึ่งที่สวนแห่งนี้จะมีเพกา มะขามป้อม กล้วย ขี้เหล็ก มะละกอ ฯลฯ แล้วก็ยังมีพืชสมุนไพรอีกหลายชนิดที่อยู่ในสวน ส่วนใหญ่ล้วนจะเป็นสมุนไพรที่คนทั่วไปอาจจะยังไม่รู้จักกับประโยชน์อย่างเด่นชัด

ประโยชน์ที่สอง นำสิ่งที่มีอยู่ในสวนไผ่มาใช้สอย เพื่อสร้างเป็นที่พักอาศัย หรือทำเป็นพวกเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ได้

ประโยชน์ที่สาม สามารถใช้ในการนำไปจำหน่ายได้ หรือจะนำมาเป็นพลังงาน เช่น การเผาถ่านก็ได้

ส่วนประโยชน์ข้อสุดท้าย พันธุ์ไม้เหล่านี้เมื่อปลูกแล้ว จะไม่มีการไปรบกวนธรรมชาติแม้แต่น้อย มีแต่จะรักษาเกื้อหนุนป่าไม้และสิ่งมีชีวิตตัวน้อยๆ แถมยังเป็นการสร้างสมดุลของระบบนิเวศภายในสวนได้อีกด้วย

ให้น้ำด้วยระบบน้ำหยด

ทั้งนี้ คุณณรงค์ ยังได้เผยถึงระบบการให้น้ำของสวนแห่งนี้ว่า

“ผมมีระบบให้น้ำ เป็นระบบน้ำหยด เราจะให้ในช่วงหน้าแล้ง โดยอีกหนึ่งสาเหตุที่ผมจะชอบทำให้พื้นที่ตรงนี้ชื้นอยู่ตลอดก็เพราะ ณ ที่สวนแห่งนี้ มีหิ่งห้อยอยู่หนึ่งสายพันธุ์ ที่เจริญเติบโตอยู่ในป่าแห่งนี้ ก็คือ หิ่งห้อยป่าไม้ ลักษณะคือหัวส้มปีกดำ ตัวค่อนข้างใหญ่ ข้อดีของเขาคือสามารถอาศัยอยู่ในป่าไม้ได้โดยที่ไม่ต้องอยู่ในน้ำ ใช้ความชื้นที่อยู่ในป่าไผ่ เพื่อขยายพันธุ์ อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เขาเจริญเติบโตได้ดีคือ เราไม่ได้ใช้สารฆ่าแมลงเลยในสวนของเรา ซึ่งใน 1 ปี จะมีเพียงแค่ 2 อาทิตย์ ที่หิ่งห้อยจะโผล่ออกมาให้เห็น”

 

หิ่งห้อย กับป่าไม้ไผ่

สาเหตุที่คุณณรงค์อยากจะเก็บรักษาหิ่งห้อยเหล่านี้ก็เป็นเพราะอยากให้ลูกหลานได้มาเห็น ได้มาศึกษา ว่าหิ่งห้อยเหล่านี้นอกจากจะให้ความสวยงามแล้ว ยังมีความสำคัญต่อระบบนิเวศมากด้วย เพราะการที่มีหิ่งห้อยอยู่ในพื้นที่ จะเป็นการบ่งชี้ว่า พื้นที่เหล่านั้นมีแหล่งน้ำที่สะอาดและยังแสดงให้เห็นว่าป่าแห่งนั้น ปลอดสารเคมีอีกด้วย ทั้งนี้ ที่สวนของคุณณรงค์นอกจากจะมีหิ่งห้อยป่าไม้แล้ว ยังมีหิ่งห้อยอีกหนึ่งสายพันธุ์ คือหิ่งห้อยน้ำจืด โดยจะอาศัยอยู่ในบริเวณสระที่อยู่ด้านล่างสวน ซึ่งถือได้ว่าเป็นหิ่งห้อยสายพันธุ์ใหม่ที่ถูกค้นพบในประเทศไทยอีกด้วย

คุณณรงค์ ยังมีคำแนะนำถึงผู้ที่มีความสนใจที่จะปลูกไผ่ต่ออีกว่า

“ก็ต้องขึ้นอยู่กับที่พื้นตรงนั้นด้วย ว่าเขาจะใช้สายพันธุ์อะไรได้บ้าง แต่ถ้าให้ผมแนะนำ ผมอยากให้เลือกปลูกที่สามารถใช้ได้ทั้งหน่อทั้งลำครับ ซึ่งไม่ต้องดูแลอะไรมาก และสามารถขายหน่อได้ ลำก็ขายได้”

นอกจากจะใส่ใจในสายพันธุ์ที่จะใช้ปลูกแล้ว อีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ เรื่องของน้ำ เพราะในระยะการปลูกช่วง 2 ปีแรกนั้น ต้นไผ่ต้องการน้ำค่อนข้างเยอะ

ในส่วนของผลผลิตที่ได้จากไผ่โดยตรง ก็คงจะหนีไม่พ้นหน่อไม้ที่ได้จากต้นไผ่

“ช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม เป็นช่วงที่หน่อไม้ออกผลออกหน่อมาก ในสวนของผมจะไม่เน้นไปทางขายหน่อไม้นะครับ เพราะหน่อจะมีราคาถูก 1 กิโลกรัม ขายได้เพียง 10 บาท แต่ถ้าผมเลี้ยงลำเอาไว้ ผมก็จะได้ประมาณ 20 บาท ราคาจะต่างกัน เพราะในพื้นที่จังหวัดลพบุรีมีเลี้ยงปศุสัตว์เยอะ ผมเลยเน้นไปทำหลักวัว-รั้วไฟฟ้าขายเป็นส่วนใหญ่” คุณณรงค์ กล่าว

หน่อไม้ดอง แปรรูปเองจากสวนคุณณรงค์

ถ่านไม้ไผ่จากเศษไม้ สู่การสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ

ทั้งนี้ คุณณรงค์ ก็ยังมีแผนที่จะสร้างรายได้เสริม โดยการนำเศษท่อนเล็กๆ ที่ได้จากการทำรั้วไฟฟ้าด้วยไม้ไผ่ นำไปเผาเป็นถ่านไม้ไผ่ ซึ่งประโยชน์ของถ่านไม้ไผ่ชนิดนี้คือ จะให้พลังงานเยอะกว่าถ่านทั่วไป สามารถซับกลิ่น ดูดสารพิษต่างๆ ได้ดี ดีกว่าถ่านไม้ทั่วไป ถ่านไม้ไผ่เป็นถ่านเพียงชนิดเดียวที่นำไปต่อยอดในเรื่องของอุตสาหกรรมได้ หรือแม้กระทั่งนำไปทำเป็นสินค้าโอท็อปได้มากมาย เช่น สบู่ และสินค้าอื่นๆ อีกหลายอย่าง อีกทั้งยังสามารถนำไปแปรรูปบดเป็นผง นำไปผสมกับเครื่องดื่ม ก็จะมีฤทธิ์ดูดซับสารพิษในร่างกายได้ และช่วยลดคอเลสเตอรอลในกระแสเลือดได้ดีอีกด้วย

ถ่านไม้ไผ่

ส่วนวิธีการเผา สามารถปฏิบัติหรือจะหาอุปกรณ์มาทำได้ง่ายๆ โดยนำถังน้ำมัน ขนาดบรรจุ 200 ลิตร มาเจาะรูที่ก้นถัง ประมาณ 20 รู และขุดหลุมในพื้นที่สำหรับการเผาให้ลึกพอประมาณ แล้วจึงนำถังที่เตรียมเผาไปวางไว้บนหลุม ต่อจากนั้นนำไม้ที่เหลือจากการทำหลักวัว ที่มีลักษณะเป็นข้อๆ หรือเศษไม้ไผ่ชิ้นเล็ก มาใส่ในถังให้พอประมาณ แล้วจึงปิดผา ใช้ดินจำนวนหนึ่งมาวางลงบนฝาถัง พร้อมก่อไฟในหลุมที่ขุดเพื่อเผาได้ทันที ซึ่งการเผาจะใช้เวลาวันต่อวัน เมื่อเผาเสร็จก็จะได้ถ่านไม้ไผ่ประมาณ 1 กระสอบ

“ตอนนี้ยังไม่ได้มีการตั้งราคาแต่อย่างใด เพราะเราเพิ่งผลิตสำเร็จได้ไม่นาน ที่ผ่านมาเผาแล้วเป็นขี้เถ้าหมด ตอนนี้ที่คิดไว้คือ จะเผาแล้วเก็บไปเรื่อยๆ แล้วค่อยทยอยออกจำหน่ายทีหลัง เนื่องจากถ่านไม้ไผ่มีคนต้องการเยอะเหมือนกัน” คุณณรงค์ กล่าว

สำหรับผู้ที่สนใจที่จะดูแลสิ่งแวดล้อมแบบง่ายๆ ด้วยการปลูกไผ่ให้ได้คุณภาพปราศจากสารเคมี สามารถติดต่อมาได้ที่ คุณณรงค์ ไชยเจริญ เบอร์โทรศัพท์หมายเลข (081) 946-3318