นี่ไง เกษตรครบวงจร!! พ่อค้าขายอาหารปลา ขายไม่หมด หันเลี้ยงปลาเองพร้อมจับแปรรูป

คุณดอกรัก สุคนที อยู่ที่่ศูนย์เรียนรู้ด้านการประมง ตำบลบึงคำพร้อย อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี เป็นอีกหนึ่งเกษตรกรที่เลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุย มามากกว่า 15 ปี ไม่ว่าจะเป็นยุคที่มีน้ำเพียงพอหรือช่วงวิกฤตแล้งเกิดขึ้น กลับไม่ส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงปลาของเขามากนัก และที่สำคัญเขาได้นำปลาที่เลี้ยงเองทั้งหมดมาแปรรูปสร้างมูลค่า เป็นอีกหนึ่งวิธีการที่ช่วยทำเงินสร้างรายได้ให้กับเขาได้เป็นอย่างดี
จากเดิมเป็นพ่อค้าปลา
ผันชีวิตสู่เกษตรกรเลี้ยงเอง
คุณดอกรัก เล่าให้ฟังว่า ก่อนที่จะมาจับอาชีพเลี้ยงปลา ได้ประกอบอาชีพเป็นพ่อค้าจำหน่ายอาหารปลามาก่อน มีทั้งเป็นแบบอาหารสดและอาหารเม็ด เมื่อทำมาเรื่อยๆ ยอดจำหน่ายยังไม่ดีเท่าที่ควร จากนั้นประมาณ ปี 2542 จึงเริ่มลงมือทดลองเลี้ยงปลาดุกด้วยตนเอง
“สมัยก่อนนี่ผมขายของตามตลาดด้วย แล้วก็มีพวกซี่โครงไก่ ไส้ไก่ เพื่อส่งจำหน่ายให้เกษตรกรเอาไปบดเป็นอาหารปลาดุก คราวนี้เราส่งให้เขาเรื่อยๆ กำลังซื้อเขารับไม่ไหว เราก็เลยคิดว่าแบบนี้ต้องหาทางออก คือต้องเลี้ยงเอง ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ได้เริ่มเลี้ยงปลาดุก” คุณดอกรัก เล่าถึงความเป็นมา
หลังจากที่ได้เลี้ยงปลาดุกอย่างที่ตั้งใจ คุณดอกรัก บอกว่า การเลี้ยงประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก ปลาที่เลี้ยงเจริญเติบโตดี แต่ติดอยู่ที่ว่าในช่วงนั้นเขายังไม่มีตลาดเพื่อจำหน่ายเท่าที่ควร เรื่องนี้จึงเป็นปัญหาสำหรับเขา
“พอปลาโตพร้อมจำหน่าย ก็ต้องหาคนมารับซื้อ กว่าเขาจะมาจับมาซื้อได้นี่เล่นตัวค่อนข้างมาก เรียกง่ายๆ ว่า ผลัดไปเรื่อย ไม่มาจับสักที แบบนี้แหละครับที่ทำให้คนเลี้ยงปลาสมัยก่อนขาดทุน เพราะว่าไม่มาจับสักที คราวนี้ราคามันก็ลง ทำให้แทนที่จะได้กำไร ราคาที่จำหน่ายต่ำลงกว่าทุน ผมก็มาคิดว่าแบบนี้ไม่ดีแน่ ต้องหาวิธีการทำยังไงให้จำหน่ายได้ ผมก็เลยมาหาคิดทำวิธีแปรรูป เพื่อจำหน่ายเอง” คุณดอกรัก เล่าถึงวิธีการแก้ปัญหา
ปลาดุก เป็นปลาที่เลี้ยงง่าย
อาหารอะไรก็กินได้หมด
คุณดอกรัก เล่าว่า วิชาความรู้ที่ใช้เลี้ยงปลาดุก เกิดจากการที่ได้ไปศึกษาจากฟาร์มที่เขาได้ไปส่งอาหารให้ว่ามีวิธีการเลี้ยงและเทคนิคอะไรบ้าง ซึ่งจากการที่ได้ไปหลากหลายสถานที่ทำให้ได้จำวิธีการที่ดีๆ ของแต่ละฟาร์มนำมาพัฒนาปรับใช้กับการเลี้ยงของตนเอง
“บ่อเลี้ยงปลาดุกของผมนี่ บ่อขนาด 1.5 ไร่ ความลึก ประมาณ 1.80-2.20 เมตร ปล่อยปลา ประมาณ 1 แสนตัว ลูกปลาในช่วง 5-7 วัน จะให้กินอาหารเม็ด ที่มีโปรตีน ประมาณ 28 เปอร์เซ็นต์ ผสมกับยาปฏิชีวนะที่ควบคุมโรคปากเปื่อย ให้กิน 3 เวลา เช้า กลาง และเย็น ซึ่งถ้าใครจะให้กินไปถึง 15 วันก็ได้ แล้วแต่ความเหมาะสม จากนั้นก็จะมาเปลี่ยนเป็นอาหารสดที่ผมบดเอง” คุณดอกรัก กล่าว
สาเหตุที่ให้อาหารสดกับปลาดุก คุณดอกรัก บอกว่า ทำให้ประหยัดต้นทุนมาก เมื่อเทียบกับการให้อาหารเม็ดไปจนกว่าปลาจะโตได้ขนาดที่จำหน่ายได้ ด้วยวิธีนี้สามารถลดต้นทุนค่าอาหารได้ประมาณ กิโลกรัมละ 12 บาท ปริมาณที่ให้แตกต่างกันตามอายุของปลา โดยในช่วงเดือนที่ 1 บดอาหารให้วันละ ประมาณ 150 กิโลกรัม เดือนที่ 2 เพิ่มเป็น 350 กิโลกรัม เดือนที่ 3 เป็น 450 กิโลกรัม และเดือนที่ 4 ให้อาหารเป็น 500-700 กิโลกรัม ดูตามความเหมาะสม
“อาหารที่ผมบดให้ปลากินในแต่ละวัน จะมีการผสมจุลินทรีย์ลงไปด้วย คือน้ำที่เราหมักจาก อีเอ็ม (EM) กากน้ำตาล ประมาณว่าเอาใส่ก้นถังอาหารสักหน่อย พออาหารบดลงมาเดี๋ยวก็ซึมเข้าไปเอง ผมมองว่ามันค่อนข้างมีประโยชน์ เพราะเวลาที่ปลากินเข้าไป ระบบย่อยก็จะดี ไม่เจ็บป่วยง่าย ทำให้การเจริญเติบโตดี และอันนี้สำคัญมาก อย่างอาหารที่ปลากินไม่หมด มันก็จะกลายเป็นของเสียที่อยู่ในบ่อ จุลินทรีย์พวกนี้ก็จะช่วยในเรื่องการบำบัดน้ำ ทำให้ของเสียไม่มี น้ำก็ไม่เหม็น มันเป็นการนำของที่เรามีกันอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์” คุณดอกรัก กล่าว
เมื่อผ่านไปประมาณ 4-5 เดือน ปลาดุกที่เลี้ยงทั้งหมดจะได้ขนาดไซซ์ตามที่ตลาดต้องการ เมื่อถึงเวลาจับ ก็จะนำมาแยกไซซ์เพื่อจำหน่ายเป็นปลาสด และแปรรูปเพิ่มมูลค่าต่อไป
ปลาดุกแดดเดียว
การแปรรูป เป็นสิ่งที่ควรทำ
เพื่อให้มูลค่าของสินค้าเพิ่มมากขึ้น
คุณดอกรัก บอกว่า จากประสบการณ์การเลี้ยงที่ผ่านมา ปลาดุกที่เลี้ยง 1 แสนตัว ต่อบ่อ ขนาด 1.5 ไร่ จะได้ปลาดุกที่มีน้ำหนักประมาณ 18-20 ตัน ซึ่งปลาที่เลี้ยงมีไซซ์ขนาดแตกต่างกัน ประมาณ 4 ไซซ์ นำมาคัดขนาดเพื่อจัดการให้เหมาะสม
“ปลาดุกที่เลี้ยงจำนวนมากขนาดนี้ เรื่องแตกไซซ์แตกขนาด มันมีแน่นอนอยู่แล้ว ไซซ์ปลาฝอย ประมาณ 15 ตัว ต่อกิโลกรัม ไซซ์ที่นำมาทำปลาเค็ม ขนาดประมาณ 6-9 ตัว ต่อกิโลกรัม ปลาที่ใช้สำหรับย่าง ไซซ์ประมาณ 3-5 ตัว ต่อกิโลกรัม และปลาไซซ์ใหญ่จัมโบ้ ประมาณ 2 ตัว ต่อกิโลกรัม เราก็นำมาจัดการซะให้เหมาะสมกับชนิดของไซซ์ปลา ส่งจำหน่ายและแปรรูปให้เหมาะสม” คุณดอกรัก อธิบาย
คุณดอกรัก เล่าว่า ในช่วงแรกที่เลี้ยงเมื่อปี 2542 การจะจับปลาจำหน่ายในแต่ละครั้งค่อนข้างมีปัญหามาก เพราะแรงงานที่ใช้จับหายาก บวกกับปลาที่ส่งจำหน่ายบางครั้งมีปัญหาทำให้โดนตีกลับคืนมา เขาจึงมองเห็นช่องทางใหม่ในการนำมาแปรรูป
“ช่วงหลังจาก ปี 2542 ทำมาได้สักระยะ ผมก็เริ่มทำปลาส่งออกนอกด้วย ห้องเย็นเขาก็จะกำหนดไซซ์มา ต้องการขนาด 450-800 กรัม บางทีมีไซซ์ 300-400 กรัม ติดไป เราคุมยาก บางทีมันก็มีหลุดไป ก็โดนตีกลับมา คราวนี้พอจะไปจำหน่ายให้ใครมันก็ยาก เพราะว่ามันเป็นปลาแช่แข็ง ใครก็ไม่อยากซื้อ ผมก็เลยลองเอามาทำปลาดุกแดดเดียวดู สรุปคนชอบ ผมกับภรรยาก็ทดลองหมักให้อร่อยขึ้น ตอนนี้เป็นที่ชื่นชอบของลูกค้ามาก” คุณดอกรัก เล่าถึงวิธีการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส
ราคาปลาดุกแดดเดียว คุณดอกรัก จำหน่ายอยู่ที่ กิโลกรัมละ 130 บาท ราคาในการแปรรูปมีมูลค่ามากกว่าการจำหน่ายปลาดุกสด ที่ตกอยู่ราคากิโลกรัมละ 25-30 บาท
นอกจากนี้ คุณดอกรัก ได้เล็งเห็นถึงของเสียที่เหลือจากการชำแหละปลา คือหัวปลาดุกและส่วนต่างๆ ที่ไม่ต้องการ โดยนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ดีกว่าทิ้งไปแบบไม่ได้คุณค่า จึงนำมาบดให้ละเอียดเป็นอาหารสำหรับให้เป็ดกิน เพื่อที่จะได้ประหยัดต้นทุนค่าอาหารเป็ดที่เลี้ยงไว้เพื่อจำหน่ายไข่
“ช่วงนั้น หัวปลาดุกที่ทิ้ง ก็จะมีคนที่เขาเลี้ยงเป็ดมาขอซื้อ แต่พอนานไปจำนวนหัวปลาที่เรามีมันมากกว่าจำนวนเป็ดที่เขาเลี้ยง เราก็เลยมองว่าถ้างั้นเราน่าจะเลี้ยงเอง มันก็จะครบวงจรมากขึ้น เราก็เลยตัดสินใจเลี้ยงเป็ดต่อมา โดยเอาหัวปลามาบดผสมกับรำข้าว ปลายข้าว รู้สึกว่าเป็ดมันก็ไข่ดี พอต้นทุนต่ำ ผมก็สามารถจำหน่ายไข่เป็ดได้ในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดทั่วไป” คุณดอกรัก เล่า จึงมีการนำสิ่งต่างๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
สำหรับท่านใด หรือหน่วยงานใด ที่สนใจอยากเข้ามาศึกษาดูงานเกี่ยวกับการเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุย รวมไปถึงการแปรรูปแบบครบวงจร สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ คุณดอกรัก สุคนที หมายเลขโทรศัพท์ (089) 870-8915