“กล้วยน้ำว้ายักษ์” ขายผล ขายต้น ขายไกลถึงเขมร แนะเทคนิคการปลูกให้ได้ผลดี

มีไม้ผลเพียงไม่กี่ชนิดที่สามารถเกิดและเจริญเติบโตได้ในทุกสภาพพื้นที่ และกล้วยก็เป็นหนึ่งในนั้น นอกจากการเป็นไม้ผลที่เจริญเติบโตได้ดีโดยแทบจะไม่ดูแลก็ออกผลให้รับประทานได้ตลอดเวลาแล้ว มักพบเห็นต้นกล้วยอยู่ตามบ้านแทบทุกหลังคาเรือน ด้วยเหตุนี้คนไทยจึงเกิดความผูกพันกับกล้วยมาเป็นเวลายาวนาน

ยิ่งขณะนี้ผู้คนหันมาบริโภคกล้วยกันเพิ่มขึ้น เนื่องจากพบว่ามีสรรพคุณที่เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ ซึ่งกระแสนี้ทำให้กล้วยถูกยกระดับกลายเป็นผลไม้ทางการตลาดที่สำคัญ แล้วยังหาซื้อได้ง่ายตามร้านสะดวกซื้อใกล้บ้าน แทนที่จะต้องเดินทางไปถึงตลาด

สำหรับเนื้อหาการบรรยายในงานสัมมนา “กล้วยหอมทอง-กล้วยน้ำว้า” ปลูกกินเองได้ ปลูกขายทำเงิน ตอนที่ 3 ยังคงอยู่ในประเด็นเรื่องการปลูกและการดูแล ทั้งนี้ วิทยากรท่านต่อมาอาจไม่ใช่สายตรงทางเกษตรกรรม แต่มีอาชีพโหรดังระดับประเทศ ในนาม “อาจารย์พัชนี ตุษยะเดช

อ.พัชนี ขณะบรรยาย

ทว่า…เส้นทางชีวิตของอาจารย์พัชนี ไม่ได้โด่งดังเฉพาะเรื่องการเป็นโหรเท่านั้น แต่กลับมีจุดหักเหจากดวงตัวเองเมื่อทำให้ต้องเข้าสู่วงการกล้วย เพราะไปได้กล้วยน้ำว้าพันธุ์มะลิอ่องที่กลายพันธุ์ในทางที่ดีมาปลูก ทำให้ตั้งแต่ผล เครือ และปลีมีขนาดใหญ่มาก รวมถึงยังมีผลดกอีกด้วย จึงถูกตั้งชื่อตามลักษณะใหญ่ว่า “มะลิอ่องยักษ์” สร้างความตื่นตาให้แก่ผู้สนใจ กระทั่งนำผลไปขายได้ราคาดี แถมยังต่อยอดด้วยการทำหน่อพันธุ์ขายอีก

อาจารย์พัชนี กล่าวว่า ตัวเองไม่ได้เป็นเกษตรกรชาวสวนเต็มตัว แต่จุดเริ่มต้นที่มาถึงวันนี้ได้เพราะมีความชอบสะสมที่ดิน แต่เดิมที่ดินแปลงที่ปลูกกล้วยน้ำว้าอยู่นี้ชาวบ้านเคยปลูกมันสำปะหลังอยู่ก่อน แล้วตัวดิฉันก็รับช่วงปลูกด้วยเช่นกัน แต่หลังจากปลูกไปแล้วปรากฏว่าขาดทุนยับเยิน เลยเปลี่ยนมาปลูกข้าวโพดก็ไม่สำเร็จ หรือไปปลูกอ้อยก็ไม่สำเร็จเช่นกัน

จึงกลับมาทบทวนดูว่าการทำเกษตรกรรมตามแนวทางเดิมคงไม่ประสบความสำเร็จ อีกทั้งยังต้องผ่านคนกลางด้วย จากนั้นมองว่าควรจะปลูกอะไรดี ก็เห็นว่าที่ดินของเรามีน้ำสมบูรณ์จึงควรลองไปซื้อกล้วยพันธุ์มะลิอ่องเนื้อเยื่อที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ราคาต้นละ 40 บาทมาปลูก คราวที่เริ่มต้นปลูกจำนวนพันกว่าต้น

เมื่อมีผลผลิตเกิดขึ้นก็มีพ่อค้าเข้ามารับซื้อในสวนในราคาหวีละ 7-10 บาท ในเครือหนึ่งมีประมาณ 10 หวี พอหักแล้วได้กำไรตกเครือละร้อยกว่าบาท กลับมาคิดว่าแล้วมันจะคุ้มค่าไหม แต่ในที่สุดก็ต้องทำต่อไป

กระทั่งมาพบ คุณลออ ท่านเป็นข้าราชการซี 8 ปลูกกล้วยอยู่แถวจังหวัดกาญจนบุรี แล้วมาที่สวนดิฉันเพื่อต้องการซื้อหน่อมะลิอ่อง แต่เราไม่มีจึงพาไปหาซื้อพันธุ์มะลิอ่องให้คุณลออ หลังจากนั้นอีก 8 เดือน กลับไปเยี่ยมเยียนคุณลออที่บ้าน พบว่ากล้วยมะลิอ่องที่ปลูกคราวนั้นมีขนาดผล หวีใหญ่มาก ก็เลยขอแบ่งหน่อมาปลูก จนพบว่าได้ผลดีมีขนาดใหญ่ จากนั้นจึงตัดสินใจขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเนื้อเยื่อ ทั้งนี้ กล้วยน้ำว้ายักษ์พันธุ์นี้ถ้ามีความสมบูรณ์เต็มที่จะมีน้ำหนักเครือละประมาณ 65 กิโลกรัม หรือตกหวีละประมาณ 5-6 กิโลกรัม

อาจารย์พัชนี ชี้ว่า กล้วยน้ำว้ายักษ์ที่ปลูกทุกวันนี้ดูแลการปลูกตามปกติ ไม่ได้ใส่อะไรลงไปพิเศษ แต่เป็นเพราะเกิดจากสายพันธุ์นี้มีขนาดใหญ่ จึงกลายพันธุ์มาเป็นกล้วยน้ำว้ายักษ์ ถ้าหากนำไปปลูกแถวนครปฐมหรือสุพรรณบุรี ซึ่งมีคุณภาพดินสมบูรณ์มากอาจได้น้ำหนักถึง 5 กิโลกรัม ต่อหวี แต่จากการที่สวนเคยปลูกมันสำปะหลังมาก่อนก็เลยได้น้ำหนักเพียง 4 กิโลกรัม ต่อหวี เท่านั้น ซึ่งถ้าดูที่จำนวนผลผลิตก็ได้มากอยู่ แต่คุณภาพยังไม่พอใจนัก และราคาก็ไม่ลดลงเพราะขายอยู่ที่หวีละ 50-60 บาท เนื่องจากมีขนาดผลใหญ่

อาจารย์พัชนี เผยว่า โดยนิสัยส่วนตัวเป็นคนที่ชอบทำอะไรไม่ให้เหมือนคนอื่น หรือเรียกว่าต้องทำให้แปลกกว่าคนอื่น ดังนั้น เรื่องปลูกกล้วยหอมก็เช่นกันคือจะต้องปลูกแล้วให้มีผลผลิตต่างจากรายอื่น แต่ไม่ได้เน้นความแปลกเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีคุณภาพ รสชาติต้องอร่อยด้วย

เพราะฉะนั้น ในช่วง 5 ปีที่คลุกคลีกับกล้วยน้ำว้าต้องบอกว่ามีการลองผิด-ถูกตลอดเวลา เพราะตัวเราเองไม่ใช่เกษตรกรโดยสายเลือด แต่การเป็นเกษตรกรที่ดีและประสบความสำเร็จก็ไม่จำเป็นต้องมีเลือดเกษตรกรมาก่อน เพราะถ้าหากเราใส่ใจ ตั้งใจ ทุ่มเท มุ่งมั่นอย่างเต็มที่ด้วยการศึกษาหาความรู้ สอบถามจากผู้เชี่ยวชาญ แล้วหมั่นซักถามเป็นนิสัยแล้ว คงไม่เป็นปัญหาต่อการประกอบอาชีพนี้อย่างแน่นอน

“กล้วยที่ปลูกในสวนจะมีผลขนาดใหญ่ รสหวาน มีเนื้อเหนียวเหมือนกล้วยสวนโบราณ ซึ่งสามารถพิสูจน์เปรียบเทียบกับกล้วยมะลิอ่องที่บางกระทุ่มได้ ทั้งนี้ ได้มีการทดสอบรสชาติแล้ว โดยมีการสั่งซื้อไปทำกล้วยตาก นอกจากนั้น ยังเหมาะกับการทำกล้วยบวชชี แล้วมองว่าเป็นพันธุ์กล้วยที่ดูแล้วมีอนาคตไกลแน่นอน”

อาจารย์พัชนี บอกต่ออีกว่า ตามหลักปฏิบัติทั่วไปแล้วการปลูกกล้วยจะตัดหน่อภายหลังที่ได้ผลผลิตแล้ว แต่สำหรับที่สวนตัวเองถึงแม้จะปล่อยหน่อไว้จำนวนมากก็ไม่มีผลเสียหาย เพราะขนาดกล้วยยังใหญ่เท่าเดิม แล้วรสชาติยังมีคุณภาพเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนด้วย

นอกจากนั้น ยังชี้ให้เห็นถึงความต่างในการปลูกกล้วยทั่วไปกับกล้วยยักษ์ที่ปลูกอยู่ว่า โดยปกติหลุมปลูกมีขนาด 50 คูณ 50 เซนติเมตร แต่เนื่องจากกล้วยยักษ์พันธุ์มีขนาดหน่อใหญ่กว่าทั่วไปมาก จึงต้องใช้รถแบ๊กโฮขุดเพื่อให้หลุมปลูกมีขนาดลึก 1 เมตร กว้าง 1 เมตรกว่า แล้วให้ใส่ชี้หมูรองก้นหลุม ยังไม่ต้องใส่ปุ๋ยรอให้ผ่านไปสักเดือนจึงเริ่มใส่ดินที่อยู่ด้านบนพร้อมขี้หมูอีกให้กลบลงไปกับหญ้าที่ขึ้น

ต้องเตรียมไม้ค้ำยันไว้ก่อนผลมีขนาดใหญ่

จากนั้นใส่ยาหนอนกอ ใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 ไปตลอดเดือนละครั้ง พอในช่วง 11 เดือน กล้วยจะแทงปลีออกมา หลังจากตัดปลีแล้วทิ้งไว้ 2 เดือน ไม่ต้องใส่ปุ๋ยเลย แต่ควรใส่ปุ๋ยคอกแทน จากนั้นอีกประมาณ 4 เดือนจึงเก็บได้ เพราะอายุเก็บเกี่ยวกล้วยพันธุ์นี้ใช้เวลานานถึง 16 เดือน

ขนาดของปลีเมื่อเทียบกับขวดน้ำเปล่า

“ถือว่าเป็นสิ่งแปลกหนึ่งเดียวในประเทศไทย จนทำให้ที่เขมรต้องการสั่งซื้อทั้งผลผลิตและหน่อพันธุ์จำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้ไปติดต่อหาซื้อที่ดินแปลงใหม่ที่มีความสมบูรณ์กว่า แล้ววางแผนว่าในปีหน้าตั้งใจจะปลูกกล้วยน้ำว้าพันธุ์นี้ แล้วจะทำให้มีความสมบูรณ์มากที่สุด เพื่อเตรียมขยายตลาดอีกครั้ง”

สอบถามรายละเอียดกล้วยน้ำว้า “มะลิอ่องยักษ์” ได้ที่ อาจารย์พัชนี ตุษยะเดช โทรศัพท์ (086) 128-8000 หรือ (084) 527-9000