ผู้ใหญ่บ้าน จ.พัทลุง รวมกลุ่มชาวนา ปลูกข้าวสังข์หยด ข้าวจีไอไทยพันธุ์แรกเป็นมิตรกับสุขภาพ ส่งขายท็อปส์ – ออนไลน์ รายได้เดือนละ 6 ล้าน

ผู้ใหญ่นัด หรือคุณนัด อ่อนแก้ว เกษตรกรชายวัย 61 ปี อดีตศิษย์เก่ารั้วมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ปัจจุบันเป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเขากลาง และนายกสมาคมผู้ผลิตและค้าข้าวสังข์หยัดเมืองพัทลุง หัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญของชุมชนที่ทำให้คนรุ่นใหม่วัยเจนวาย บรรดาลูกหลานของเกษตรกรท้องถิ่น ต้องกลับมาสานต่ออาชีพชาวนา เพราะเขาสามารถทำให้สมาชิก 69 ครัวเรือน สามารถลืมตาอ้าปากได้ ด้วยการขายข้าวสังข์หยด (ข้าวเปลือก) ได้ตันละ 15,000 – 23,000 บาท นอกจากนั้นยังหัวใสนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ส่งขายท็อปส์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต และออกบูธขายเอง รวมถึงขายออนไลน์ มีรายได้เข้ากลุ่มเฉลี่ยแต่ละเดือนราว 6 ล้านบาท

ผู้ใหญ่นัด เล่ากับเส้นทางเศรษฐีออนไลน์ว่า หลังจากจบ เอกรัฐประศาสนศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย
สุโขทัยธรรมาธิราช เริ่มต้นทำงานวิจัยพัฒนาท้องที่ หลังจากนั้นไม่นาน กลับพัทลุงบ้านเกิด ไปเป็นกรรมกรอยู่ที่โรงสีข้าวเอกชนแห่งหนึ่ง เรียนรู้ทุกกระบวนการกว่าจะมาเป็นข้าวสาร รวมถึงวิธีทำตลาด กระทั่งราว พ.ศ.2533 ได้เป็นผู้ใหญ่บ้าน มีแนวคิดให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกัน เพื่อพัฒนาคุณภาพข้าว เพิ่มมูลค่าข้าวสังข์หยดให้เป็นสินค้าประจำท้องถิ่นของ จ.พัทลุง และพัฒนาช่องทางการขายข้าวสังข์หยด เพราะข้าวสายพันธุ์นี้ โดดเด่นและเป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วโลก

ผู้ใหญ่นัดรวมกลุ่มชาวบ้านปี 2540 กระทั่งราวปี 2548 จดทะเบียนข้าวสังข์หยดเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) โดยใช้ชื่อว่า “ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง” ปัจจุบันมีสมาชิกเกษตรกรรวม 69 ครัวเรือน มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวสังข์หยดรวมกัน 900 ไร่ ครอบคลุม 5 หมู่บ้านในต.เขากลาง ให้ผลผลิตต่อไร่ อยู่ที่ประมาณ 450 กิโลกรัม

สำหรับการรวมกลุ่มนั้น ผู้ใหญ่บ้าน บอกว่า เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองกับตลาด ลดปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำที่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง พร้อมเพิ่มมูลค่าข้าวสังข์หยดให้เป็นสินค้าประจำท้องถิ่นของ จังหวัดพัทลุง ทั้งนี้ได้วางแนวคิดการดำเนินการของกลุ่ม  4 เรื่อง คือ 1.เชื่อมโยงความคิดเพื่อนำไปปฏิบัติ 2.เชื่อมโยงวัตถุดิบ ในช่วงปีที่แล้ว ภาคใต้น้ำท่วม ข้าวเสียหายไปกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ทางกลุ่มได้เชื่อมโยงเครือข่าย ด้วยการหาวัตถุดิบเพื่อให้ส่งตลาดได้ 3.เชื่อมโยงกับทุนให้เกิดการหมุนเวียน และ 4.เชื่อมตลาด มีภาคเอกชน อย่าง บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด โดยมูลนิธี เตียง จิราธิวัฒน์ สนับสนุนงบประมาณในการสร้าง “โรงสีข้าว” นอกจากนั้นยังรับซื้อผลผลิตให้ราคาสูงกว่าท้องตลาด นำมาขายยัง “GI Corner” ในเซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ และท็อปส์ กว่า 100 สาขาทั่วประเทศ

สำหรับพันธุ์ข้าวที่ชาวบ้านกลุ่มนี้ปลูก เป็นพันธุ์สังข์หยด ปลูกในดินเหนียว ไม่ใส่สารเคมี เพราะข้าวพันธุ์นี้หากใส่เคมีจะตาย ใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพ ปลูกปลายเดือนสิงหาคม เก็บเกี่ยวในช่วงเดือนมกราคม ขั้นตอนการผลิต นำข้าวเปลือกไปตากให้แห้ง  นำเข้าเครื่องสี คัดเลือกสิ่งเจือปน  และนำไปบรรจุถุงเพื่อส่งจำหน่าย

“ข้าวสังข์หยดเป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมืองประจำ จังหวัดพัทลุง มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 100 ปี ในอดีตชาวบ้านจะปลูกข้าวสังข์หยดไว้เพื่อหุงกินกันภายในครอบครัว เมื่อหุงสุกแล้วมีลักษณะนิ่ม ค่อนข้างเหนียว รสชาติหอมนุ่มอร่อย ให้คุณค่าทางโภชนาการสูง ลักษณะเฉพาะของข้าวสังข์หยดพัทลุง เม็ดเรียวยาว มีสีแดงเข้ม รสชาติอร่อย เพราะ ดิน น้ำ สมบูรณ์ ทำให้เมล็ดข้าวสวย”

สำหรับพื้นที่ปลูกข้าว 900 ไร่ ถ้าในส่วนของผู้ใหญ่นัดมีราว 30 ไร่ ที่เหลือเป็นของสมาชิก ปีที่แล้วส่งขายท็อปส์ ซุปเปอร์มาเก็ต 30 ตัน ราคาส่งกิโลกรัมละ 100 บาท นอกนั้นออกบูธขายเอง ขายออนไลน์ ขายปลีกราคากิโลกรัมละ 70 บาท นอกจากนั้นก็นำข้าวไปแปรรูปเป็นแป้งข้าวกล้อง ขนม คุกกี้ ไอศกรีม ข้าวเส้นอบแห้ง โดยทางกลุ่มจะมีการประกันราคารับซื้อข้าวสังข์หยดให้สมาชิกตันละ 15,000 บาท เฉลี่ยแล้วสมาชิกที่ปลูกข้าว 3-10 ไร่ จะมีรายได้ต่อปี ประมาณ 60,000 – 150,000 บาทต่อครัวเรือน

ปัจจุบันเกษตรกรในพื้นที่เริ่มมีคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ระดับอุดมศึกษา อายุเฉลี่ย 20 – 30 ปี หันมาเป็นปลูกข้าวมากขึ้น ผู้ใหญ่บ้าน บอกว่า เพราะทางกลุ่มสามารถทำราคาได้ มีรายได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกษตรกรรุ่นใหม่มีมากถึง 40 เปอร์เซ็นต์