ปลาพลวงชมพู ซื้อ-ขาย ที่มาเลย์ โลละ 7 พันบ. ตลาดไม่อั้น เพาะเลี้ยงได้แล้ว ที่ยะลา

ปลากือเลาะห์ หรือ ปลาพลวงชมพู เป็นหนึ่งในตระกูลปลาพลวงที่จะสร้างรายได้ให้กับชาวเบตง ภายใต้นโยบาย 3 เหลี่ยมเศรษฐกิจภาคใต้ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน แม้จะใช้เวลาในการเลี้ยงถึง 2 ปี จนได้ขนาดและราคากิโลกรัมละกว่า 3,000 บาท

ต้นน้ำจากป่าฮาลาบาลา ที่เป็นต้นกำเนิด ปลากือเลาะห์ จะนำมาซึ่งรายได้อีกทาง ด้วยการสนับสนุนแพร่ขยายพันธุ์ โดยกรมประมง ส่งผลให้เกิดความร่วมมือภาครัฐกับชาวบ้าน ผ่านปลาพื้นเมืองของแหล่งแม่น้ำนี้อย่างถาวร

ปลากือเลาะห์ เป็นปลาน้ำจืดประจำท้องถิ่นจังหวัดยะลาและนราธิวาส มีชื่อเรียกตามภาษาท้องถิ่นว่า อีแกกือเลาะห์ หรือปลากือเลาะห์ อยู่ในตระกูลเดียวกับปลาเวียน และปลาพลวงหิน ความโดดเด่นในสีของเกล็ดที่มีลักษณะเป็นสีชมพู ครีบหลังและครีบหางสีแดง เป็นปลาพลวงชนิดเดียวที่สามารถกินได้ทั้งเกล็ด นิยมบริโภคในประเทศแถบอินโดจีน โดยเฉพาะมาเลเซีย ที่ยังไม่สามารถวิจัยเพาะขยายพันธุ์ได้ และมีกฎหมายห้ามจับจากธรรมชาติมากิน

สาเหตุที่มีราคาสูง เพราะเป็นปลาที่มีรสชาติดี หาได้ยาก อยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์ ถึงจะมีหน่วยงานราชการนำไปเพาะขยายพันธุ์ แต่การเลี้ยงก็ยังไม่กว้างขวาง เพราะเป็นปลาที่ตกใจง่าย

คุณการุณ อุไรประสิทธิ์

คุณการุณ อุไรประสิทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดยะลา ได้อธิบายว่า การขยายพันธุ์ และความยากลำบากของทางเจ้าหน้าที่ต้องใช้ความชำนาญพิเศษ ที่ต้องคอยสังเกตระยะที่มีไข่สุกพร้อมมากที่สุด ถึงจะทำได้สำเร็จ และส่งเสริมให้เกษตรกร 50 ราย ในพื้นที่อำเภอธารโตและอำเภอเบตง จังหวัดยะลา เลี้ยงในบ่อดิน ต่อท่อตรงมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติและปล่อยให้ไหลผ่านระบบออกไป โดยปล่อยลูกปลา ขนาด 2-3 นิ้ว หนัก 20 กรัม ในอัตรา 1-5 ตัว ต่อพื้นที่บ่อ 1 ตารางเมตร ให้อาหารปลาปลาดุก วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น มื้อละ 2-3% ของน้ำหนักตัว ใช้เวลาเลี้ยงปีครึ่งถึง 2 ปี ถึงจะมีน้ำหนัก 2.3 กิโลกรัม ได้ขนาดตรงความต้องการของตลาด

จากการคำนวณต้นทุนค่าอาหาร ผอ. ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดยะลา บอกว่า ปลาพลวงชมพูให้ผลตอบแทนสูง มีอัตราแลกเนื้ออยู่ที่ 2-3 : 1 ถ้าจะเลี้ยงให้ได้ขนาด 2.3 กิโลกรัม ใช้อาหารไม่เกิน 7 กิโลกรัม เพราะฉะนั้นจะมีต้นทุนค่าอาหารแค่ตัวละ 210-250 บาท แต่สามารถขายได้สูง 4,000-5,000 บาท ต่อกิโลกรัม ซึ่งทางศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดยะลา ได้จัดอบรมเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากือเลาะห์ จำนวน 50 ราย โดยทางศูนย์จะสนับสนุนพันธุ์ปลากือเลาะห์ ขนาด 10 เซนติเมตร จำนวน 50 ตัว มอบให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงในบ่อที่ตัวเองได้จัดสร้างเตรียมไว้

คุณชนธัญ นฤเศวตานนท์

คุณชนธัญ นฤเศวตานนท์ เจ้าของฟาร์มปลากือเลาะห์ ในอำเภอเบตง จังหวัดยะลา บอกว่า ปัจจุบันปลากือเลาะห์ได้รับความนิยมสูงมากในประเทศมาเลเซียและประเทศไต้หวัน เนื้อมีลักษณะนุ่มขาวเหมือนสำลี เกล็ดมีสารคอลาเจนสูง จึงนิยมกินทั้งเกล็ด เมนูส่วนใหญ่คือนำไปทอดกรอบหรือนึ่งซีอิ๊ว โดยปลากือเลาะห์ถูกจัดอันดับให้เป็นปลาน้ำจืดที่มีรสชาติดีที่สุดในประเทศมาเลเซีย

ร่วมชื่นชมยินดีที่เลี้ยงปลาได้
ดูกันชัดๆ กิโลกรัมละ 3,000 บาท

สาเหตุที่ปลาชนิดนี้มีราคาแพง เนื่องจากหายากในธรรมชาติ ส่วนการเลี้ยงปลากือเลาะห์ เป็นการเลี้ยงแบบระบบน้ำไหลผ่าน ซึ่งเป็นน้ำจากภูเขา ไม่ใช้เครื่องเติมออกซิเจน สร้างบ่อการเลี้ยงให้คล้ายแหล่งที่อยู่ตามธรรมชาติ และต้องเป็นน้ำที่สะอาดไม่มีมลพิษ ซึ่งใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 3 ปี ถึงจับไปขายได้ ขนาดตัวละประมาณ 2.5-3 กิโลกรัม ราคาขายหน้าฟาร์ม กิโลกรัมละประมาณ 3,000 บาท หากนำไปขายที่มาเลเซีย ราคากิโลกรัมละ 7,000 บาท และที่ไต้หวันราคาจะสูงถึงกิโลกรัมละ 10,000 บาท ปัจจุบัน กำลังการผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด เนื่องจากเป็นข้อกำจัดของสายพันธุ์ที่ออกไข่เพียง 500-1,000 ฟอง ต่อครั้ง เท่านั้น

สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. (073) 297-042

แหล่งที่พบปลากือเลาะห์ในธรรมชาติ
บ่อเลี้ยง