ผู้เขียน | เทคโนโลยีชาวบ้าน |
---|---|
เผยแพร่ |
การตัดแต่งหน่อกล้วย ให้มีจำนวนพอเหมาะ ไม่ไปแย่งอาหารต้นแม่ ซึ่งมีผลทำให้ขนาดของเครือเล็กลง เริ่มตั้งแต่ปลูกกล้วยไปแล้ว 5-6 เดือน ในระยะที่ต้นแม่ยังไม่ตกเครือ ให้ไว้หน่ออ่อนเพียง 2 หน่อ แต่ไม่ควรเกิน 3 หน่อ การไว้หน่อทั้ง 2 ดังกล่าว ให้อยู่ตรงกันข้ามโดยมีต้นแม่กั้นกลาง เพราะจะได้หน่อที่แข็งแรงที่สุด ส่วนหน่อที่เกิดตามมา เรียกว่า หน่อตาม ให้ตัดออกแล้วคว้านไส้ในทิ้ง ราดด้วยน้ำมันก๊าด หลังจากเก็บเกี่ยวผลแล้วให้ตัดต้นเดิมทิ้ง รักษาหน่อไว้ 1-2 หน่อ แทนต้นแม่ต่อไปได้อีก 3-4 ปี ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา ทั้งนี้ ต้องตัดแต่งใบที่แห้ง หรืออมโรคเผาทำลาย เหลือไว้เพียง 7-8 ใบ จนถึงระยะใกล้ตกเครือ ตัดให้เหลือใบที่สมบูรณ์ไว้เพียง 4-5 ใบ ก็พอ
โรคตายพราย เกิดจากการเข้าทำลายของเชื้อราชนิดหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ตามธรรมชาติ ถ้าหากต้นไม้ในที่นี้หมายถึงต้นกล้วย เมื่ออ่อนแอ หรือสภาพแวดล้อมเหมาะสมสำหรับเชื้อโรค มันก็จะเข้าทำลายทันที อาการของโรคตายพรายของกล้วย ถ้าสังเกตให้ดีจะพบสีเหลืองอ่อนที่ก้านใบแก่ ต่อมาปลายใบหรือขอบใบเปลี่ยนเป็นสีเหลือง แล้วขยายออกไปอย่างรวดเร็ว จนเหลืองทั้งใบ ต่อมาใบอ่อนก็เปลี่ยนเป็นสีเหลืองเช่นเดียวกัน คล้ายถูกน้ำร้อนลวก หรือตายนึ่ง ต่อมาใบจะหักพับลงที่บริเวณโคนก้านใบ และเหี่ยวตายในที่สุด หากเกิดการระบาดในระยะตกเครือ ผลจะเหี่ยว เนื้อฟ่าม ผลลีบเล็ก ขนาดไม่สม่ำเสมอ เมื่อตัดลำต้นตามขวาง พบว่า มีรอยช้ำสีน้ำตาลแดงให้เห็นอย่างชัดเจน อันเกิดจากการเข้าทำลายท่อน้ำท่ออาหารของต้นกล้วยจึงส่งน้ำและอาหารไปเลี้ยงส่วนบนไม่ได้ จึงทำให้เกิดอาการดังกล่าว
วิธีป้องกันกำจัด เนื่องโรคตายพรายมักระบาดรุนแรงในกล้วยน้ำว้าและกล้วยหอมทอง ดังนั้น ควรปลูกสลับหมุนเวียนกับกล้วยไข่ หรือกล้วยหักมุกแทน ที่สำคัญควรระวังอย่าให้น้ำขังแฉะในแปลงปลูก โดยเฉพาะดินที่เป็นกรด จำเป็นต้องใส่ปูนขาวเพื่อลดความเป็นกรดลง อัตรา 800-1,200 กิโลกรัม ต่อไร่
และเมื่อพบว่า เริ่มมีการระบาดของโรค ต้องลดปริมาณการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนลง ต้นที่เกิดโรคแล้วให้ตัดและขุดโคนขึ้นมาเผาทำลาย แล้วโรยปากหลุมด้วยปูนขาว หรือยาฆ่าเชื้ออย่างใดอย่างหนึ่ง ประการสำคัญควรเลือกหน่อกล้วยจากแหล่งไม่มีโรคตายพรายมาเป็นพันธุ์ปลูกดีที่สุด