แปลงเครื่องตัดหญ้า เป็นเครื่องสูบน้ำ ปลูกพืชผัก ผันเงินเข้ากระเป๋า ในฤดูแล้ง

ปัจจุบัน เกษตรกรส่วนใหญ่มีพื้นที่การเกษตรอยู่นอกเขตชลประทาน ไม่มีไฟฟ้าที่จะเอื้ออำนวยต่อการสูบน้ำในการเพาะปลูกพืช จึงมักทำการเกษตรได้เฉพาะฤดูฝน และบ่อยครั้งต้องประสบปัญหาพืชขาดน้ำ และบางรายเมื่อเข้าสู่ฤดูแล้งจึงปล่อยให้พื้นที่ว่างเปล่า เพราะไม่สามารถจัดหาน้ำมาใช้เพาะปลูกพืชได้ แต่มีเกษตรกรรายหนึ่งที่ใช้ภูมิปัญญาดัดแปลงเครื่องสูบน้ำแบบสะพายให้เป็นเครื่องสูบน้ำปลูกพืชผัก ทำรายได้ในช่วงฤดูแล้งได้เป็นอย่างดี อย่างเช่น

คุณวิไล นาลา อยู่บ้านเลขที่ 356 หมู่ที่ 9 บ้านนาดี ตำบลกุดธาตุ อำเภอหนองนาคำ จังหวัดขอนแก่น โทร. (090) 586-0378

ฉีดรดพืชผักตามต้องการ

คุณวิไล-คุณพรรณี นาลา สองสามีภรรยา ให้ข้อมูลว่า มีอาชีพทำนา ในฤดูฝนทำนาปี ส่วนฤดูแล้งหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้วก็ปลูกพืชผักอายุสั้นหลายชนิด เช่น ข้าวโพดข้าวเหนียว แตงร้าน แตงกวา แตงไทย แตงโม ถั่วฝักยาว เมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จแล้วก็ย้ายไปปลูกแปลงใหม่ต่อไปเรื่อย เป็นการนำปุ๋ยไปใส่นาอีกทางหนึ่งด้วย สามารถทำรายได้ให้แก่ครอบครัว วันละ 200-300 บาท โดยสูบน้ำจากสระน้ำที่ขุดไว้ จำนวน 2 บ่อ

เปลี่ยนชุดตัดหญ้า เป็นหัวปั๊มสูบน้ำ
เมื่อติดเครื่องยนต์และจุ่มหัวปั๊มสูบน้ำลงในน้ำจะสูบน้ำได้

แต่เนื่องจากที่นาของตนเองไม่มีระบบชลประทาน ไม่มีไฟฟ้า แต่จำเป็นต้องใช้น้ำ จึงคิดหาวิธีทุ่นแรงในการรดน้ำแทนการตักรด โดยใช้เครื่องตัดหญ้าแบบสะพายที่มีอยู่ มาดัดแปลงเป็นเครื่องสูบน้ำ โดยเปลี่ยนชุดใบตัดหญ้าออกแล้วใช้ชุดหัวปั๊มน้ำเข้ามาสวมแทน แล้วต่อสายยางออกไปยังแปลงเพาะปลูกพืช เวลาใช้งานนำส่วนของเครื่องยนต์อยู่บนคันบ่อ จากนั้นติดเครื่องยนต์ตามปกติ แล้วนำส่วนหัวปั๊มจุ่มลงน้ำ เครื่องก็จะสูบน้ำไปยังแปลงผัก จะฉีดรดหรือปล่อยไปตามร่องหรือตามผิวดินก็ได้ สามารถรดน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่แพ้เครื่องสูบน้ำทั่วไป น้ำมันก็ไม่เปลือง คุ้มค่า สำหรับหัวปั๊มนั้นหาซื้อได้ตามร้านขายเครื่องมือช่างการเกษตรทั่วไป ซึ่งตนซื้อมาในราคา 650 บาท

ใช้น้ำจากเครื่องตัดหญ้า
ผลผลิตทยอยออกสู่ตลาดเป็นระยะๆ

จะเห็นว่าการดัดแปลงเครื่องตัดหญ้าแบบสะพาย ซึ่งเกษตรกรมีอยู่แล้วแทบทุกครัวเรือนให้เป็นเครื่องสูบน้ำเพิ่มขึ้นมาอีกเครื่องหนึ่งด้วยราคาแสนประหยัด เป็นภูมิปัญญาที่น่าสนับสนุนนำมาใช้ในไร่นาอย่างกว้างขวาง เพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพทางการเกษตร ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดแคลน และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพทางการผลิตของเกษตรกรด้วย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ คุณวิไล นาลา โทร. (090) 586-0378