เผยแพร่ |
---|
ใครๆ ก็รู้ว่า มะนาวนอกฤดู ขายได้ราคาดีกว่ามะนาวตามฤดูกาล เกษตรกรจำนวนมากจึงมุ่งเป้าผลิตมะนาวนอกฤดู ในวงบ่อซีเมนต์ ซึ่งจะได้ผลดีมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับเทคนิคการปลูกดูแลของเกษตรกรแต่ละราย
ดร.วินัย วิริยะอลงกรณ์ ผู้เชี่ยวชาญสาขาไม้ผล ภาควิชาพืชสวน คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้แนะเทคนิค “ การบังคับมะนาวให้ออกนอกฤดู “ โดยใช้สารแพคโคลบิวทราโซลและวิธีการควั่นกิ่ง หากใครสนใจเทคนิคนี้ สามารถนำไปปฎิบัติได้ไม่ยาก เริ่มจากบำรุงต้นมะนาวให้มีความสมบูรณ์เต็มที่เสียก่อน เพราะสารแพคโคลบิวทราโซลมีคุณสมบัติยับยั้งการสร้างฮอร์โมนจิบเบอเรลลิน เมื่อมะนาวมีการสร้างฮฮร์โมนฯ น้อยก็จะเกิดการสะสมอาหารมากขึ้น มีการแตกใบอ่อนน้อยลง
การใช้สารแพคโคลบิวทราโซลอย่างมีประสิทธิภาพ มีขั้นตอนสำคัญ ดังนี้
- เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ปลิดผลเล็กๆ ออก โดยการตัดแต่งกิ่ง ถ้ามีผลให้เหลือเฉพาะผลใหญ่ไว้รอจำหน่าย ส่วนผลเล็กๆ ให้เอาออกให้หมด ตัดแต่งกิ่งโดยตัดปลายยอดออก และกิ่งที่อยู่ตรงกลางทรงพุ่มและโคนต้นออกให้หมด ผลที่เหลืออยู่นี้อาจไว้ขายหรือเก็บไว้ใช้บ้างในครัวเรือน ให้ปุ๋ยสูตร 15-0-0 อัตรา ต้นละ 300 กรัม และปุ๋ยคอก ต้นละ 1 ปุ้งกี๊ เพื่อกระตุ้นใบชุดใหม่ออกมา และฉีดพ่นสารเคมีป้องกันโรคและแมลง ทั้ง 2 เดือนนี้ควรให้มีการแตกใบอย่างน้อย 2 ชุด โรคและแมลงที่สำคัญในช่วงนี้ ได้แก่ หนอนชอนใบ หนอนแก้วส้ม แมลงค่อมทอง โรคแคงเกอร์ เป็นต้น
- เดือนกันยายน จะมีใบชุดใหม่ ควรเริ่มใบเพสลาดหรือเริ่มแก่ ให้ราดสารแพคโคลบิวทราโซล อัตรา 5-10 กรัม ต่อต้น (ทรงพุ่มกว้าง 1 เมตร ใช้สาร 5 กรัม ต่อต้น) โดยการขุดบริเวณโคนต้นลึกประมาณ 1-2 นิ้ว หลังจากนั้นละลายสารแพคโคลบิวทราโซลตามที่กำหนด ละลายน้ำ 1 ลิตร รดบริเวณโคนต้น แล้วรดน้ำตามหมาดๆ หรือพอชื้นทุกวันหรือวันเว้นวัน ถ้ามีฝนตกหนักต้องราดสารซ้ำตามทันที อย่างไรก็ตาม ระยะนี้มีฝนตกแต่ก็มีระยะที่ฝนทิ้งช่วงอยู่บ้าง ให้อาศัยช่วงที่ฝนทิ้งช่วง อย่างน้อย 10 วัน หลังจากราดสาร จะได้ผลดีที่สุด เมื่อราดสารแพคโคลบิวทราโซล ได้ 15 วัน ให้ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 13-13-21 หรือ 12-24-12 อัตรา ต้นละ 300 กรัม (ขึ้นอยู่กับทรงพุ่มและอายุของต้น สำหรับอัตราที่แนะนำนี้สำหรับต้นมะนาวที่มีทรงพุ่ม 1.5 เมตร หรือ อายุ 2 ปี) เพื่อให้ใบสะสมอาหารและป้องกันการเกิดยอดใหม่
สำหรับเกษตรกรที่ไม่ต้องการราดสารแพคโคลบิวทราโซล ให้ควั่นกิ่งแก่ โดยการใช้เลื่อยตัดเหล็กหรือเลื่อยตัดแต่งกิ่งขนาดเล็กที่มีความหนาของใบเลื่อยไม่เกิน 1-1.5 มิลลิเมตร เลื่อยกิ่งเกือบรอบกิ่ง ความลึกประมาณ 1 มิลลิเมตร หรือเมื่อเห็นเนื้อไม้สีขาวๆ ติดมากับใบเลื่อยอย่าควั่นรอบกิ่ง เพื่อป้องกันการตายอันเนื่องมาจากการควั่นกิ่ง หลังจากนั้นให้คอยหมั่นตรวจดูรอยควั่นว่ามีการเชื่อมประสานกันหรือยัง ถ้ามีการเชื่อมเร็วให้ควั่นซ้ำ หรือถ้าไม่มีเวลาให้ใช้ลวด เบอร์ 16 มัด ตามรอยควั่นไว้ประมาณ 45 วัน แล้วจึงเอาลวดออก ให้สังเกตว่ายอดหรือตาของมะนาวจะบวมเป่ง เริ่มให้น้ำน้อยๆ หรือพ่นอาหารเสริมจำพวกสาหร่ายทะเล สูตรเร่งดอก ก็ได้ มีงานวิจัยบางงานพบว่าการใช้สารแพคโคลบิวทราโซลร่วมกับการควั่นกิ่งด้วย ซึ่งได้ผลดีมาก เหมาะสำหรับในพื้นที่ที่มีฝนตกชุก ไม่สามารถงดการให้น้ำได้
- เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน มะนาวจะมีอาการบวมของตาที่อยู่ตามซอกของใบ หรือที่ปลายยอด ให้กระตุ้นการออกดอกได้โดยการเริ่มให้น้ำทีละน้อย มะนาวบางสายพันธุ์หรือต้นที่พร้อมจะออกดอกก็จะแทงช่อดอกออกมาภายใน 2 เดือน หลังการราดสารทันที อย่างไรก็ตาม จะออกดอกเฉพาะต้นที่มีการสร้างตาดอกแล้วเท่านั้น
จากงานวิจัยเบื้องต้นของ ดร.วินัย วิริยะอลงกรณ์ ได้นำสารโพแทสเซียมคลอเรต ความเข้มข้น 2-4 กรัม ต่อตารางเมตร พบว่ามะนาวมีการตอบสนองได้ดี และมีการออกดอกได้ทุกต้น ทุกกิ่งพร้อมๆ กัน (ทำกับมะนาวที่ปลูกในกระถาง ขนาดกว้าง 80 เซนติเมตร โดยไม่มีการงดให้น้ำแต่อย่างใด) ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะสารโพแทสเซียมคลอเรตความเข้มข้นต่ำๆ สามารถช่วยกระตุ้นการแตกตาได้ เช่นเดียวกับในมะม่วงที่มีการใช้สารไทโอยูเรีย เพื่อกระตุ้นการแตกตาได้เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ในปีแรกของงานได้ใช้สาร ไทโอยูเรีย พ่นกระตุ้นตาดอก ก็ได้ผลดีเช่นเดียวกัน สำหรับงานวิจัยสารโพแทสเซียมคลอเรตกับมะนาวกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาในระดับแปลงปลูกขนาดใหญ่ว่าสามารถจะใช้ได้หรือไม่อย่างไร การปฏิบัติดูแลรักษาในระยะนี้ถ้ามะนาวเริ่มออกดอก ไม่ควรฉีดพ่นสารเคมี อาจใช้น้ำส้มควันไม้ฉีดพ่นเป็นบางครั้ง ควรให้ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) อัตรา 200 กรัม ต่อต้น
วิธีดูแลมะนาวนอกฤดูในช่วงออกดอก
- เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ส่วนใหญ่มะนาวจะเริ่มติดผลขนาดเล็กถึงใหญ่ ควรมีการให้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักอีกครั้ง และให้ปุ๋ยเคมี สูตร 25-7-7 ระยะเดือนนี้เป็นช่วงฤดูหนาว กลางวันจะร้อน กลางคืนอากาศเย็น สภาพแวดล้อมเช่นนี้จะทำให้เพลี้ยหอย ไรแดง เพลี้ยไฟ ระบาดได้ง่าย ควรหาทางป้องกันด้วย เมื่อมีเพลี้ยหอยทำลาย โรคราดำจะตามมา ทำให้ผิวผลไม่สวย ส่วนไรแดงจะทำให้ใบหงิกงอ โดยเฉพาะปลายยอด เพลี้ยไฟ จะเข้าดูดกินน้ำเลี้ยงที่ผิวผลขนาดเล็ก ทำให้เมื่อผลมะนาวโตขึ้นผิวจะมีลักษณะเป็นรอย หรือเรียกว่า ขี้กลาก ทำให้เสียราคาได้ นอกจากนี้ อาจพ่นธาตุอาหารเสริมทางใบ เช่น เหล็ก แมงกานีส สังกะสี โบรอน ปัจจุบันมีจำหน่ายในรูปน้ำเป็นปุ๋ยเดี่ยวและอย่าให้มะนาวขาดน้ำในช่วงนี้
- เดือนมกราคม มะนาวจะเริ่มขยายผลใหญ่ขึ้น ควรให้ปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น 16-16-16 เพื่อบำรุงผลและต้นไม่ให้โทรม ช่วงนี้อากาศหนาว โดยเฉพาะภาคเหนือ จะต้องให้น้ำมากขึ้นกว่าปกติ เพื่อให้ผลมะนาวมีการเจริญเติบโตที่ปกติ และผลมีคุณภาพดี มีน้ำมาก และมีกลิ่นหอม อาจมีบางผลที่เริ่มแก่บ้างก็สามารถเก็บจำหน่ายได้ การฉีดพ่นสารเคมีป้องกันโรคและแมลงยังจำเป็นต้องฉีดในช่วงนี้ เพราะถ้าไม่ป้องกันจะทำให้ผิวผลเสียหายได้ โดยเฉพาะโรคราดำ โรคแคงเกอร์ เพลี้ยไฟ ไรแดง
- เดือนกุมภาพันธุ์-เมษายน มะนาวเริ่มเก็บเกี่ยวได้บ้าง จึงควรทยอยและเลือกเก็บมะนาวที่เริ่มแก่ โดยเฉพาะช่อผลที่แน่นเกินไป ระยะนี้ไม่ควรฉีดพ่นสารเคมีหรือถ้าจำเป็นต้องฉีดพ่นสารเคมีต้องเก็บผลหลังจากฉีดสารเคมีแล้วอย่างน้อย 15 วัน หรือการใช้สารสมุนไพรฉีดพ่น เช่น น้ำส้มควันไม้ ก็ได้
- เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตส่วนใหญ่หมดแล้วอาจยังมีผลผลิตส่วนหนึ่งเหลืออยู่บนต้นบ้าง ถ้าไม่มากเกินไปก็สามารถเลี้ยงไว้บนต้นได้ หลังจากนั้น ควรให้ปุ๋ยสูตร 16-16-16 เพื่อบำรุงต้น และถ้ามีต้นที่กำลังออกดอกใหม่ ควรทำลายดอกทิ้ง ซึ่งมีหลายวิธี ในที่นี้จะแนะนำให้ใช้วิธีการตัดแต่งกิ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดอีกวิธีหนึ่งที่พอจะทำได้คือ การใช้ปุ๋ยยูเรียฉีดพ่นที่ช่อดอกให้ดอกร่วง โดยใช้อัตรา 1 กิโลกรัม ผสมน้ำ 20 ลิตร (5%) ฉีดพ่นเฉพาะช่อดอก ก็สามารถทำได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ถ้าใช้มากเกินไปอาจทำให้เสียหายต่อตาและกิ่งหรือใบได้ จึงต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง
ที่มา เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์