ที่มา | เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
---|---|
ผู้เขียน | อดุลย์ศักดิ์ ไชยราช |
เผยแพร่ |
คงไม่ต้องอ้างอิงเอาหลักฐานเค้าความมาบอกกล่าวกันอีก เรื่องมะขามที่มีมาเป็นตำนานพืชผล ที่เป็นทั้งพืชสมุนไพร เป็นทั้งไม้ผลพืชสวน เป็นพืชผักประจำครัวและมื้ออาหาร เป็นแม้แต่ลูกอม ขนมหวานของขบเคี้ยวและเครื่องดื่ม อีกสารพัดที่ผู้คนทั่วไปได้รู้จัก แม้แต่ได้เคยชิม ซื้อ พบเห็น หรือเคยปลูกกันมาแล้ว ถึงต้องบอกว่า คงไม่ต้องหาหลักฐานอ้างอิงมาบอกกล่าวเล่าความกันอีก เชื่อเหลือเกินว่า แค่กล่าวถึง “มะขาม” ทุกคนรู้กันแล้ว และเวลานี้คงนึกเปรี้ยวปาก อยากออกไปซื้อหา หรือว่าออกไปเด็ดสอยมะขามอ่อนจากต้นข้างรั้วมาจิ้มกะปิ น้ำปู พริกเกลือ เอามะขามสดมาตำน้ำพริก มะขามดองแช่อิ่มมาแกล้มเหล้า หรือหามะขามเปียกมาใส่ปรุงแกงส้ม แม้แต่ลูกอมมะขาม แก้ง่วงเวลาขับรถ
มะขามที่เรารู้จักกันมีอยู่ 2 อย่าง คือ มะขามเปรี้ยว กับมะขามหวาน เรื่องมะขามหวานที่ระยะหลังๆ ไม่หวาน เพราะราคาผลผลิตไม่ได้ใจเลย จากกิโลละเป็นร้อยสองร้อย เหลือไม่ถึง 50 บาท ชาวสวนมะขามหวานที่สู้ทนเห่อปลูกตามความนิยมเมื่อห้าปีสิบปีก่อน มาตอนนี้ชักยิ้มไม่หวานแล้ว ด้วยเหตุผลหลายอย่างที่ต้องทำใจให้ได้ โดยเฉพาะมะขามอินทรีย์ ที่ไม่มีใครกล้าการันตีในความปลอดภัยได้มาตรฐานอินทรีย์ ตามที่ผู้บริโภคต้องการ
มะขามเปรี้ยว ที่ย้อนรอยเมื่อห้าปีสิบปีก่อน ที่มะขามหวานฮ็อตฮิต ชาวบ้านพากันตัดโค่นแปรเปลี่ยนเป็นมะขามหวาน หรือต้นไม้อื่นกัน ที่เหลือติดพื้นที่อยู่ก็ไม่ได้เหลียวแล น่าเสียดายที่การปรับเปลี่ยนตอนนั้น ทำให้เกิดผลในวันนี้ มะขามเปรี้ยวขาดตลาด ราคามะขามสด มะขามเปียก แพงมากๆ หายากด้วย เวลานี้มีหลายพื้นที่พยายามฟื้นสวนมะขามเปรี้ยวขึ้นมาใหม่ คงต้องใช้เวลาอีกนานพอดู ที่จะให้มีมะขามเปรี้ยวไว้ให้กินให้ใช้สมบูรณ์เหมือนเมื่อก่อนโน้น
มะขามเปรี้ยว หรือ ทามมาริน (TAMARIND) เป็นพืชในวงศ์ เลกกุมมิโนซาอี (LEGUMMIINOSAE) ชื่อวิทยาศาสตร์ Tamarindus indica Linn. เป็นพืชพื้นเมืองของทวีปแอฟริกา ปัจจุบันพบปลูกในประเทศเขตร้อนทั่วไป เป็นพืชที่คนไทยคุ้นเคยมาก รู้จักกันมานานมาก เป็นไม้ที่ให้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง และที่สำคัญ คนไทยมีความเชื่อศรัทธาเป็นไม้มงคล ปลูกเบื้องทิศตะวันตก ทำให้เป็นที่เกรงขามของผู้อื่น เรียกว่าสร้างบารมีให้กับบ้านและคน หรือใช้เป็นองค์ประกอบในการสะเดาะเคราะห์ ร่วมกับใบส้มป่อย เพื่อเป็นการปลดปล่อยและให้เกิดความเกรงขาม ปัดทุกข์ปัดเป่าความเจ็บป่วย เป็นไม้ที่ให้ทั้งอาหาร เป็นยา เป็นวัสดุอุปกรณ์เครื่องใช้ไม้สอย เป็นเศษวัสดุเกษตรที่มีคุณค่า ใบแห้งเป็นอินทรียวัตถุปรับปรุงดิน ผสมดินปลูกพืช เช่น ไม้กระถาง ทำปุ๋ยหมัก กิ่งมะขามทำด้ามง่ามหนังสติ๊ก เผาถ่าน ทำเชื้อเพลิงหุงต้มอาหารความร้อนสูง ต้นใช้ทำเขียงคุณภาพดีเยี่ยม ทำเครื่องเรือน สร้างบ้าน ฯลฯ
ความเชื่อแต่โบราณว่า มะขามเป็นไม้พยากรณ์ทำนายสภาพดินฟ้าอากาศ ปีไหนมะขามฝักว้อง หรือโค้งงอมากจนเป็นวงติดกัน ทำนายว่าในปีนั้นจะมีความหนาวจัด ปีนี้ไปดูฝักมะขามเปรี้ยวที่ต้นกันหรือยัง มะขามเปรี้ยวเป็นไม้ที่แตกกิ่งก้านสาขามาก ให้ร่มเงาได้ดี มีปลูกมากทั้งในเมืองและชนบท กรุงเทพฯ ก็ต้องคิดถึงสนามหลวง ออกมาต่างจังหวัดจะพบเป็นไม้ริมทางหลวงตลอดเกือบทุกสายทุกภูมิภาค แถบชุมชนหมู่บ้านต่างๆ มักปลูกกันตามหัวไร่ปลายนาและริมรั้ว รั้วบ้านที่ขุดร่อง โรยเมล็ดมะขามไว้ สักแค่ปีเดียวได้รั้วที่มีชีวิต ให้ทั้งความสวยงาม แข็งแรง และมีประโยชน์มากมาย
มะขามเปรี้ยวที่ปลูกกันอยู่ แบ่งได้เป็น 2 ชนิด ตามลักษณะฝัก คือมะขามรุ่นเก่า ที่มีฝักดกแต่เป็นฝักเล็กๆ กลม ยาวเรียวเหมือนนิ้วมือเรา เรียก “มะขามขี้แมว” ไม่ค่อยได้ซื้อขายเป็นเงินเป็นทองกันนัก จะได้ประโยชน์จากเมล็ด ยอดอ่อน ฝักอ่อน กิ่ง ลำต้น ส่วนมะขามเปรี้ยวที่เป็นที่นิยมกัน คือมะขามฝักใหญ่ บางพันธุ์ก็ให้ทั้งใหญ่ ยาว บางพันธุ์ก็แบนใหญ่ยาว เรียกว่า “มะขามกระดาน” มะขามเปรี้ยวกระดานนี้เป็นที่นิยมปลูกกันเป็นพืชการค้า เพราะให้ผลผลิตที่มาก อัตราการให้เนื้อมะขามถึงร้อยละ 41 ต่างจากมะขามขี้แมวที่ให้เนื้อเพียงร้อยละ 27
มะขามเปรี้ยวที่มีลักษณะดี คือฝักโต ฝักตรง เนื้อมาก เป็นที่ต้องการของตลาดมาก โดยเฉพาะตลาดมะขามเปรี้ยวดิบ เพื่อแปรรูปเป็นมะขามดองและแช่อิ่ม มะขามดิบที่แก่แต่ยังไม่แก่จัดถึงเมล็ดเปลี่ยนสี ตลาดต้องการมาก ปีนี้มะขามเปรี้ยวมีน้อย ราคาอยู่ในเกณฑ์ที่เรียกว่าแพง ขาดตลาดด้วย แต่ก็ยังพอมีถ้าเสาะหากันจริงๆ จากตลาดมะขามสดหรือมะขามดิบที่ราคาแพงล่อใจให้ชาวบ้านตัดมะขามดิบขาย เกิดผลทำให้ปัญหาขาดแคลนมะขามเปียกขึ้นตามมา มะขามเปียกคือมะขามแก่จัด ที่เปลือกกรอบ แกะง่าย เมล็ดดำหรือน้ำตาลเข้มแล้ว ชาวบ้านนำมะขามแก่มาแกะเปลือก แกะเอาเมล็ดในออก ปั้นเป็นก้อน ขายกันกิโลละเป็นร้อย และหายากด้วย
การปลูกมะขาม ขึ้นได้กับดินทุกชนิด สภาพดินเลว มะขามจะเป็นพืชช่วยปรับปรุงดิน เพราะมะขามเป็นพืชตระกูลถั่ว ใบ เปลือก กิ่งเล็กเมื่อย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ย เจริญเติบโตดีในสภาพดินเหนียว ทนแล้ง ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด กิ่งทาบ ติดตา ต่อกิ่ง เสียบกิ่ง แต่นิยมกิ่งทาบและกิ่งติดตา ต่อกิ่งมากเพราะโตเร็วให้ผลเร็ว หรือที่มีต้นเดิมมะขามเปรี้ยว มะขามหวาน แนะนำให้ใช้วิธีเปลี่ยนยอด เอาพันธุ์ดีที่ต้องการมาเปลี่ยนยอดต้นเดิมได้ผลเร็วมากกว่า
พันธุ์มะขามเปรี้ยวที่นิยมปลูกกัน มี 2 สายพันธุ์ คือสายพันธุ์ศรีสะเกษ 019 และพันธุ์ศรีสะเกษ 014 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง ประมาณ 9.13 กิโลกรัม ต่อต้น ต่อปี ซึ่งเป็นผลผลิตที่สูงกว่ามะขามเปรี้ยวทั่วไปถึง 41% ฝักใหญ่ประมาณ 65 ฝัก ต่อ 1 กิโลกรัม มีค่าความเป็นกรดทาร์ทาริก สูง 14-19% ระยะปลูกที่แนะนำ 8×8 เมตร จะได้ 25 ต้น ต่อไร่ หลุมปลูก 60x60x60 เซนติเมตร สลับดินชั้นบนลงล่างก้นหลุมผสมปุ๋ยคอกปุ๋ยหมัก ดินชั้นล่างกลบบนหลุมปลูก
มะขามเปรี้ยวมีประโยชน์มากมาย ประโยชน์ทางยา มีสรรพคุณขับเสมหะและโลหิต ใบต้มกับหอมแดงโกรกหัวเด็กเมื่อเป็นไข้หวัด คัดจมูก เนื้อมะขามแก้ท้องผูก แก้ไอ ลดอาการร้อนใน เนื้อมะขามรวมกับเกลือและข่าเป็นยาขับเลือดขับลม เนื้อผสมปูนแดงทาแก้ฝี น้ำมะขามเปียกผสมเกลือให้หญิงหลังคลอดดื่มล้างเลือดตกค้างภายใน เมล็ดเป็นยาขับพยาธิไส้เดือน เปลือกต้นฝาดสมานแผล ฯลฯ ฝักมะขามเปรี้ยวมีสารแคลเซียม และวิตามินซีสูงมาก รวมทั้งยอดมะขามอ่อน ให้ทั้งเส้นใยอาหาร แคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินเอ วิตามินบี วิตามินซี ไนอะซิน สูงมากเช่นกัน