สาวน่าน ทำเกษตรผสมผสานในดินที่ไม่อุดมสมบูรณ์ แต่กลับได้ผลดี ช่วยลดรายจ่าย เพิ่มรายได้

คุณดวงเดือน ขัติยเนตร ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรเวียงสา จำกัด เคยเป็นสมาชิกสภาเกษตรกร เป็นอาสาสมัครเกษตร เป็นที่ปรึกษานายกเทศมนตรี เป็นรองประธานหอการค้า และจากการที่ทำงานร่วมกับเกษตรกรมาโดยตลอด ทำให้ทราบถึงปัญหาในการประกอบอาชีพของเกษตรกร และทราบว่าการช่วยเหลือเกษตรกรที่ดีที่สุดคือ ต้องสร้างวิธีคิดให้กับเกษตรกร และฝึกปฏิบัติจนสามารถนำกลับไปใช้ได้จริง จึงได้ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนสามอาชีพขึ้น เป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน ศูนย์การเรียนรู้ด้านการเกษตรธรรมชาติ และเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านสหกรณ์ เป็นเครือข่ายของสหกรณ์การเกษตรเวียงสา จำกัด เพื่อใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรมของสมาชิกสหกรณ์ เกษตรกรทั่วไปตลอดจนผู้สนใจ โดยเน้นการทำการเกษตรแบบพอเพียงตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส รู้จักช่วยเหลือตนเอง ชุมชน และสังคม รู้จักการให้ การเสียสละ สอนให้คิดเป็น ทำเป็น และแก้ปัญหาเป็น ใช้วัสดุที่มีในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด และอยู่บนพื้นฐานของหลักธรรมทางสายกลาง ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนสามอาชีพเป็นศูนย์กลางถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจในการพัฒนาการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ โดยยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไป มุ่งให้เกษตรกรสามารถปรับเปลี่ยนศักยภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิต จนสามารถพึ่งพาตนเองและนำพาตนเองรวมทั้งครอบครัวให้บรรเทาและหลุดพ้นจากความยากจน และดำรงชีวิตอย่างมีความสุขบนพื้นฐานของความพอเพียงตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

 

รูปแบบกิจกรรมทางการเกษตร

คุณดวงเดือน ได้ดำเนินกิจกรรมการเกษตรโดยมีความโดดเด่นในเรื่องเกษตรผสมผสาน มีการขุดสระน้ำ บ่อน้ำ เนื่องจากพื้นดินส่วนมากเป็นดินเหนียว ดินลูกรัง จึงมีการปรับปรุงบำรุงดินเพื่อให้สภาพของดินดีขึ้น มีการทำน้ำจุลินทรีย์ท้องถิ่นโดยใช้วัสดุในท้องถิ่นและการขยายหัวเชื้อ มีการสอนเทคนิคการทำนาข้าวโดยใช้จุลินทรีย์ท้องถิ่น และการใช้จุลินทรีย์เพื่อการเกษตร การผลิตปุ๋ยสะอาด การปลูกไม้ผล เช่น มะนาว มะขาม ลำไย เป็นต้น และปลูกไม้ยืนต้น เช่น ยางพารา เป็นต้น รวมถึงการปลูกพืชไร่ เช่น ข้าวโพด กล้วย การปลูกผักถุง เป็นต้น นอกจากนี้ในพื้นที่ยังมีการทำปศุสัตว์ ได้แก่ เลี้ยงหมูป่า หมูพื้นบ้าน การประมง ได้แก่ เลี้ยงกบ ปลานิล ปลาดุก ปลาหมอ มีการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และขยะวิทยาโดยวิธีการกำจัดขยะสดหรือขยะเปียกให้สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่อย่างมีคุณค่า การจัดทำบัญชีรับ-จ่ายในครัวเรือน การทำเกษตรแบบผสมผสาน ซึ่งเป็นระบบเกษตรกรรมดั้งเดิมที่มีการผสมผสานกลมกลืน และเกื้อกูลซึ่งกันและกันตามวิถีธรรมชาติ การปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์หลายๆ อย่างรวมอยู่ในพื้นที่เดียวกัน โดยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในไร่นา เช่น ดิน น้ำ และแสงแดดอย่างเหมาะสมเกิดประโยชน์สูงสุด เกิดความสมดุลของสภาพแวดล้อมอย่างต่อเนื่องและเพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติด้วย ทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ผลผลิตที่ได้เพื่อบริโภค และเพื่อใช้ในครัวเรือน ถ้ามีเหลือก็สามารถจำหน่ายเป็นรายได้ให้กับครอบครัว สามารถลดความเสี่ยงในด้านความแปรปรวนของสภาพแวดล้อมที่เกิดจากการระบาดของศัตรูพืช ความไม่แน่นอนของราคาผลผลิต การทำการเกษตรแบบผสมผสานจะทำให้เกษตรกรพึ่งพาตนเองได้โดยไม่จำเป็นต้องกู้ยืมเงินมาลงทุนเมื่อราคาพืชผลตกต่ำทำให้เกิดหนี้สิน เกษตรกรสามารถนำเอาปัจจัยการผลิตที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยไม่เสียเงินเสียทองซื้อมา การลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ทำให้เกษตรกรสามารถอยู่ได้ โดยการพึ่งพาตนเอง มีปัจจัยพื้นฐานที่ผลิตได้เองสำหรับดำรงชีพ จึงสามารถมีความสุขได้อย่างยั่งยืน

 

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่นำมาปฏิบัติ

คุณดวงเดือน ได้ดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะใช้หลัก การมีภูมิคุ้มกัน คือ การทำการเกษตรผสมผสานเป็นการสร้างภูมิคุ้มกัน โดยมีการจัดการเรื่องทุน ที่ดิน และแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพก่อให้เกิดผลผลิตต่อหน่วยการผลิตสูง เช่น การเลี้ยงปลาในนาข้าวทำให้ได้ผลผลิตข้าวและปลาในพื้นที่เดียวกัน ช่วยสร้างเสถียรภาพและความยั่งยืน ทั้งทางเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมให้เกิดขึ้นในไร่นา และครอบครัวเกษตรกร มีการผลิตปุ๋ยไว้ใช้เองจากมูลสัตว์หรือเศษพืช ช่วยลดต้นทุนในการผลิต ลดความเสี่ยงในด้านการผลิตที่อาจจะเสียหาย หรือความไม่แน่นอนและเสียเปรียบเรื่องราคา ตลอดจนความไม่แน่นอนของดินฟ้าอากาศ ในด้านสังคม เกษตรผสมผสานช่วยให้คนในครอบครัวมีงานทำตลอดปี ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการอพยพแรงงานจากชนบทเข้าสู่เมือง ตัดปัญหาการขายแรงงาน การก่ออาชญากรรม และการค้ามนุษย์ เป็นต้น การทำเกษตรธรรมชาติเป็นผลให้คนในครอบครัวและคนในชุมชนมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง เนื่องจากบริโภคพืชผักที่ปลอดภัยจากสารเคมี นอกจากนี้ ถ้าคนภายในชุมชนมีการรวมกลุ่มแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ก็จะทำให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องพึ่งปัจจัยจากภายนอก ทำให้สามารถพึ่งพาตนเองได้และเป็นชุมชนเข้มแข็งต่อไป

ถามเพิ่มเติมได้ที่ 327 หมู่ที่ 7 ตำบลกองควาย อำเภอเมือง จังหวัดน่าน 55000

โทรศัพท์ (081) 764-1120, (054) 692-117