พลิกผืนดินทุ่งกุลาร้องไห้ ฝ่าแล้ง! ทำเกษตรผสมผสาน ได้ผลดี ทุกส่วนของสวนสามารถทำเงินได้หมด

ดินแดนที่ขึ้นชื่อว่า “ฝนแล้ง แมลงกิน ดินไม่ดี ดินเค็ม” คือ ทุ่งกุลาร้องไห้ 2.1 ล้านไร่ครอบคลุม 5 จังหวัด มีศรีสะเกษ ยโสธร สุรินทร์ มหาสารคามและจังหวัดร้อยเอ็ด  มากที่สุดคือ 9.7 แสนไร่ ใน 4 อำเภอ คือ ปทุมรัตต์ เกษตรวิสัย สุวรรณภูมิ  และอำเภอโพนทราย

ลำน้ำมูลไหลพาดผ่าน จากนครราชสีมา ลงสู่น้ำโขง ที่อำเภอโขงเจียม จ.อุบลราชธานี  ลำน้ำสาขา ที่ไหลผ่าน มีลำน้ำเตา ลำน้ำเสียว ลำน้ำพลับพลา  ช่วงระยะสั้น ไหลหลากลงสู่ลำน้ำมูล หน้าแล้งแห้งขอด  ทุกรัฐบาลทุ่มเทกำลังลงสู้กับปัญหาภัยธรรมชาติ ฤดูฝนน้ำหลากท่วมทุ่ง ฤดูแล้งแห้งแล้งแสนสาหัส

นายวัชรินทร์  เขจรวงศ์ เกษตรอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด  ได้รับมอบหมายจากนายเสน่ห์ รัตนาภรณ์ เกษตรจังหวัดร้อยเอ็ด ให้เร่งรัดนำโครงการของรัฐบาล พื้นที่ 1,107.042 ตร.กม. 15 ตำบล 199 หมู่บ้าน พื้นที่ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ 10 ตำบล 136 หมู่บ้าน นำโครงการเกษตรระบบแปลงใหญ่ ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต พัฒนาคุณภาพ ระบบการจัดการที่ดี สู่การตลาด  ผ่าน ศพก.หรือศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ที่มีศูนย์เรียนรู้ ด้านดิน น้ำ ข้าว พืช สัตว์ ประมง แปรรูปผลผลิต บัญชีฟาร์ม การตลาดด้วยเกษตรดีที่เหมาะสม(GAP) หรือก้าวเข้าสู่การเกษตรอินทรีย์  และการน้อมนำโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ สู่ครอบครัวเกษตรกร คือ “เกษตรทฤษฎีใหม่”  มีความสำเร็จอย่างงดงาม

นายศักดา พิศเพ็ง  นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร หรือ เกษตรตำบลทุ่งหลวง ดินแดนอันไกลโพ้น ใจกลางท้องทุ่งกุลาร้องไห้ รอยต่ออำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์  นำนายวัชรินทร์ เขจรวงศ์ เกษตรอำเภอสุวรรณภูมิ เดินทาง ไปถึงแปลงไร่นาสวนผสม เกษตรทฤษฎีใหม่ นาข้าว 14 ไร่ ของนายบุญถึง นาคแสง โทร.086-2187828 อายุ 74 ปี  บ้านเลขที่ 95 ม.13 บ้านตาหยวก ต.ทุ่งหลวง อ.สุวรรณภูมิ  ริมฝั่งลำน้ำพลับพลา  เส้นแบ่งเขตแดนจังหวัดร้อยเอ็ด-จังหวัดสุรินทร์

นายบุญถึง  มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ให้การต้อนรับที่ “เถียงนา” ท่ามกลางอากาศที่ร้อนอบอ้าว  พร้อมเล่าสู่ฟังและนำเดินข้ามคลองร่องสวน ขนาดกว้าง 1.20 เมตร ลึก 1.20 เมตร ความยาว 40 เมตร  มีน้ำลึกประมาณ 1 เมตร เลี้ยงปลานิล ปลาตะเพียน  10,000 ตัว  จำนวน 6 ร่อง สันร่องความกว้างประมาณ 4 เมตร  ปลูกกล้วยหอมทอง ขอบร่อง 200 ต้น เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2559  อายุ 6-7เดือน ออกปลี เมื่อตัดปลี 2 เดือน ตัดกล้วยขายได้ การปลูก ขุดหลุมขนาด 50X50 ซ.ม. นำปุ๋ยคอกมูลโคที่เลี้ยงไว้  4 ตัว จำนวน 1 ถุงปุ๋ยต่อ 2 หลุม ผสมคุกเคล้าให้เข้ากัน  ตนเองขุดเองปลูกเอง  กล้วยหอมทอง 1 เครือ 6-7 หวี ๆละ 60-80 บาท ที่ตนเองขายหน่อกล้วย 35 บาท/หน่อ  3 หน่อ 100 บาท

นายบุญถึง กล่าวว่า ตนเองทำงานกับภรรยา คือนางเอียน นาคแสง  ลูกสาว 4 คน แต่งงานแล้ว ลูกชาย 2 คน แต่งงานแล้ว 1 คน  เหลืออีก 1 คน อายุ 37 ปี  พอช่วยงานได้บ้าง พื้นที่ว่างระหว่างต้นกล้วย ตนเองปลูกพืชผัก ถั่วฝักยาว พริก มะเขือ มะละกอ 150 ต้น ข้าวโพดขอบบ่อ 300 ต้น  ปลูกหญ้ากินนีสีม่วง รอบสวนไว้ให้ควายกิน  ปลูกเผือกหอม  5 ร่อง…ขายได้เงินร่องละ 2,000 บาท ปลูกมะเขือเทศในร่องสวน 70 วันเก็บขาย 2 เดือน ได้เงินกว่า 5,000 บาท ในแล้งที่ผ่านมา

นายวัยวุฒิ อาศรัยผล นายอำเภอสุวรรณภูมิ กล่าวว่า คณะกรรมการนระดับอำเภอมีหัวหน้าส่วนราชการทุกส่วน ดำเนินกิจกรรที่ดีๆเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ มี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นแม่งาน กรมส่งเสริมการเกษตร  กรมพัฒนาที่ดิน กรมปศุสัตว์  ทุ่งกุลาร้องไห้ เดินหน้าประเทศไทยด้วย เกษตรทฤษฎีใหม่  ประสบความสำเร็จเพราะเกษตรกรมีความขยันอย่างฉลาด ปราศจาคอบายมุข  เป็นคนมีคุณธรรม กำลังขับเคลื่อน ให้ครบ 199 หมู่บ้าน ให้เกษตรกรกินอิ่ม นอนอุ่น ทุนมี หนี้หมดเกษตรกรมีความสุข คือเป้าหมายสูงสุดของ “ข้าราชการ” เพื่อชาวอำเภอสุวรรณภูมิ ครับ