เกษตรกรสวนยางบึงกาฬ เลี้ยงไก่งวงเสริมรายได้ ไก่โตไม่ทันขาย ตลาดยังนิยมบริโภค

บึงกาฬ เป็นจังหวัดน้องใหม่ที่ได้รับการก่อตั้งขึ้นในปี 2554 ให้เป็นจังหวัดที่ 77 ของประเทศไทย ในอดีตเป็นชุมชนที่มีขนาดเล็กและเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดหนองคาย ด้วยภูมิภาคที่มีเนื้อที่ทอดยาวตามลำน้ำโขง ทำให้มีความห่างไกลจากตัวเมืองหนองคายเป็นอย่างมาก ความสามารถในการพัฒนาจึงไม่สะดวกเท่าที่ควร และมีความยากลำบากในการติดต่อประสานงานต่างๆ เพื่อความสะดวกแก่ประชาชนที่มาติดต่อราชการ จึงได้มีการเรียกร้องไปยังคณะรัฐมนตรี เพื่อตั้งเป็นจังหวัดในปี 2537 กว่าจะได้ตั้งเป็นจังหวัดใช้เวลาเกือบ 20 ปี

คุณสมชาย อนันตจารุตระกูล ปศุสัตว์จังหวัดบึงกาฬ ให้ข้อมูลว่า การทำเกษตรส่วนใหญ่ของจังหวัดบึงกาฬ เกษตรกรนิยมที่จะปลูกพืชเชิงเดี่ยว เมื่อผลผลิตของพืชชนิดนั้นมีจำนวนที่มากขึ้นก็จะทำให้ราคาลดลง จึงเป็นผลทำให้เกษตรกรจำหน่ายสินค้าได้ราคาต่ำกว่าทุนที่ลงไป ซึ่งต่อมาภาครัฐได้มีการจัดการให้เกษตรกรทำพืชชนิดแบบตลาดนำ โดยไม่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวมากเกินไปแต่ต้องหาสิ่งอื่นมาทดแทนเพื่อให้มีรายได้แบบหมุนเวียน

ซึ่งจังหวัดบึงกาฬจัดได้ว่าเกษตรกรส่วนใหญ่มีการทำสวนยางพาราเป็นอาชีพที่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ดี แต่ถ้าราคายางตกการมีอาชีพเสริมสำรองไว้เพื่อทดแทนจากการทำสวนยางจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยการเลี้ยงปศุสัตว์เป็นอาชีพเสริมหลังกรีดยางก็สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้ด้วยเช่นกัน

พื้นที่ภายในฟาร์ม

“การเลี้ยงปศุสัตว์เป็นอาชีพเสริม ไม่เพียงแต่สร้างรายได้จากการจำหน่ายสัตว์เพียงอย่างเดียว แต่มูลของสัตว์ที่เลี้ยง ยังสามารถนำมาเป็นปุ๋ยใส่ให้กับต้นยางพาราได้อีกด้วย ซึ่งสามารถทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการซื้อปุ๋ยได้ ซึ่งตอนนี้เกษตรกรบางรายในจังหวัดบึงกาฬ ก็มาเลี้ยงปศุสัตว์เป็นอาชีพหลักก็มี โดยให้สวนยางที่มีทำเป็นแบบรายได้เสริม ดังนั้น จึงอยากให้เกษตรกรมีมุมมองใหม่ โดยไม่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพียงอย่างเดียว แต่ทำเกษตรแบบผสมผสาน คือเลือกหาสัตว์ที่คิดว่าเหมาะสมกับท่าน ไม่ว่าจะนำมาเลี้ยงในสวนยางพารา หรือจะในสวนอย่างอื่นก็ได้ โดยทำเป็นอาชีพเสริมก่อน พอเลี้ยงแล้วประสบผลสำเร็จดี ในอนาคตปศุสัตว์ที่ทำอาจจะเป็นอาชีพหลักในอนาคตก็ได้” คุณสมชาย กล่าว

คุณคณิศร มังก้อน อยู่บ้านเลขที่ 96 หมู่ที่ 8 ตำบลชัยพร อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ เป็นอีกหนึ่งเกษตรกรในจังหวัดบึงกาฬที่มีอาชีพปลูกยางพาราเช่นกัน ซึ่งในเวลาต่อมาราคาน้ำยางที่กรีดจำหน่ายได้ขึ้นลงตามกลไกของตลาด ราคาไม่แน่นอน เขาจึงได้มองหาอาชีพเสริมทางด้านปศุสัตว์มาปรับใช้ให้เข้ากับพื้นที่ภายในสวนยางคือ การเลี้ยงไก่งวง

คุณคณิศร มังก้อน

เกษตรกรสวนยางพารา เลี้ยงไก่งวงเป็นอาชีพเสริม

คุณคณิศร เล่าให้ฟังว่า มีความสนใจที่จะเลี้ยงไก่งวงเมื่อประมาณปี 2555 โดยทำควบคู่ไปกับสวนยางพารา สาเหตุที่เลือกเลี้ยงไก่งวง มองทิศทางเรื่องตลาดว่ายังสามารถไปได้ดี เพราะในจังหวัดบึงกาฬยังมีคนเลี้ยงไม่มากนัก จึงมองว่าถ้าได้นำไก่งวงมาเลี้ยงเพื่อจำหน่ายให้กับผู้ที่ชื่นชอบในการบริโภค ก็น่าจะเป็นการสร้างรายได้ที่ดี และที่สำคัญยังสามารถนำมูลของไก่งวงมาทำเป็นปุ๋ยใส่ให้กับต้นยางพาราได้อีกด้วย

“จากที่ผมทำสวนยางพารามามากกว่า 10 ปี ผมได้มีการจดบันทึกบัญชีครัวเรือนไว้ มองเห็นเลยว่าการทำสวนยาง เงินที่หายไปส่วนใหญ่จะเป็นในเรื่องของการซื้อปุ๋ยเคมีเสียส่วนมาก ก็เลยมาคิดทบทวนดูว่าอยากจะทำอะไรดีที่มันน่าจะเกื้อกูลกับการทำสวนยาง ก็คิดว่าเราต้องเลี้ยงสัตว์ที่สามารถนำเอามูลมาทำปุ๋ยได้ มันก็เลยเป็นที่มาของการเลี้ยงไก่งวงตั้งแต่นั้นมา” คุณคณิศร เล่าถึงที่มาด้วยแววตาที่เปี่ยมสุข

ลูกไก่งวงที่อยู่ในที่กก

สายพันธุ์ของไก่งวงที่นำมาเลี้ยงในช่วงแรกนั้น คุณคณิศร บอกว่า ติดต่อขอซื้อมาจากฟาร์มที่อยู่ภายในจังหวัดนครพนม พร้อมทั้งศึกษาวิธีการเลี้ยงจากฟาร์มที่ซื้อมาอย่างละเอียดเพื่อให้การเลี้ยงไม่เป็นอุปสรรค จึงทำให้ไก่งวงที่นำมาเลี้ยงทั้งหมด 10 ตัว ประสบผลสำเร็จสามารถขยายพันธุ์ได้ จนมีผู้มาติดต่อขอซื้อเพื่อนำไปประกอบอาหารตั้งแต่นั้นมา

 

แบ่งพื้นที่ในสวนยาง ทำเป็นที่เลี้ยงไก่งวง

ในช่วงแรกที่นำไก่งวงมาเลี้ยงใหม่ๆ คุณคณิศร บอกว่า แบ่งพื้นที่เลี้ยงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น กั้นเป็นเล้าเล็กๆ ต่อมาเมื่อคิดที่จะเลี้ยงมากขึ้นจึงจัดสรรพื้นที่ให้ใหญ่ขึ้น โดยเลี้ยงให้อยู่แบบสวนป่ามากที่สุด เพราะไก่งวงมีอุปนิสัยชอบอยู่แบบป่าจึงจะวางไข่ได้ดี

เมื่อนำพ่อแม่พันธุ์ที่สมบูรณ์แล้วมาเลี้ยงได้สักระยะ ไก่งวงตัวเมียจะเริ่มวางไข่อยู่ในพื้นที่ที่จัดให้เหมือนป่า ซึ่งแม่พันธุ์ 1 ตัว จะวางไข่อยู่ที่ 15-18 ฟอง จากนั้นหมั่นคอยเก็บไข่ทุกวันแล้วนำมาใส่ในตู้ฟัก อุณหภูมิฟักอยู่ที่ 35-37 องศาเซลเซียส ใช้เวลาประมาณ 28 วัน ไข่ก็จะเริ่มฟักออกมา

ไข่ไก่งวงในตู้ฟัก

“พอไข่ฟักออกมาเป็นตัวแล้ว เราก็จะเตรียมลูกไก่งวงไปกก ซึ่งการกกก็ดูที่สภาพอากาศ ถ้าอากาศร้อนมากก็กกแค่ 1-2 วัน แต่ถ้าเป็นช่วงหน้าหนาวก็กกถึง 7 วัน ซึ่งอาหารที่ให้ลูกไก่งวงระยะนี้กินก็จะเป็นอาหารไก่เล็ก ให้กินตลอดทั้งวัน พอครบกำหนดแล้วจึงจะย้ายไปเลี้ยงที่กรงยกสูงต่อ โดยต้องมีที่กันยุงให้ไก่ด้วย เพื่อไม่ให้ยุงมากัดกินเลือดได้ อาหารก็จะเป็นอาหารไก่บ้าง ควบคู่กับอาหารอื่น ใช้เวลาเลี้ยงไก่ชุดนี้ไปอีกประมาณ 4-5 เดือน ถึงจะเอาออกจากกรงสูง” คุณคณิศร บอกถึงวิธีการดูแลลูกไก่งวง

ไก่งวงอายุ 2 เดือนขึ้น เลี้ยงในกรงยกสูง

ไก่งวงที่เลี้ยงในกรงยกสูงมีอายุครบจะมีน้ำหนักอยู่ที่ 5 กิโลกรัม ต่อตัว ปล่อยเลี้ยงลงดินได้ปกติเหมือนกับตัวอื่นๆ ซึ่งในระยะนี้ถ้ามีคนมาติดต่อขอซื้อก็สามารถจำหน่ายได้เลย แต่ถ้ายังไม่จำหน่ายก็สามารถเลี้ยงไว้เป็นพ่อแม่พันธุ์ต่อไปได้

ในเรื่องของการป้องกันโรคนั้น คุณคณิศร บอกว่า ถ้าเลี้ยงแบบกึ่งธรรมชาติให้ไก่ได้วิ่งเล่นคุ้ยเขี่ยดิน ไก่จะมีความแข็งแรงโดยที่ไม่ต้องทำวัคซีน ซึ่งตั้งแต่เลี้ยงมาก็ยังไม่เจอโรคที่ระบาดหนักจนทำให้ไก่ตายจนเสียหาย

 

ต่อยอดการสร้างตลาด ด้วยการทำเมนูอาหารไก่งวง

คุณคณิศร เล่าถึงการจำหน่ายไก่งวงให้ฟังว่า ช่วงแรกที่นำมาเลี้ยงก็มีผู้สนใจอยากกินเนื้อไก่งวงได้เข้ามาติดต่อขอซื้อถึงที่ฟาร์ม ต่อมาได้เกิดแนวความคิดที่อยากจะมีการต่อยอดเพื่อฐานตลาดกว้างขึ้น จึงได้เปิดร้านสำหรับปรุงเมนูอาหารจากไก่งวง เพื่อให้ลูกค้าที่ชื่นชอบได้มีโอกาสชิมโดยที่ไม่ต้องซื้อไก่งวงแบบยกตัวไปประกอบอาหารเอง

ลาบไก่งวง

“ตอนนี้ไก่งวงเราก็มีเพื่อนสมาชิกที่เลี้ยงกันมากขึ้น โดยแยกกันเลี้ยง พอที่ร้านเริ่มขายดีขึ้นก็จะนำเนื้อไก่งวงของสมาชิกที่มีอยู่ มาส่งให้ที่ร้าน เพื่อปรุงเป็นอาหาร เพราะลำพังผมเลี้ยงคนเดียว ไก่งวงมีไม่พอขาย เพราะตอนนี้คนแถวนี้นิยมกินกันมากขึ้น ซึ่งไก่งวงก็สามารถทำเป็นอาหารได้หลากหลายเมนู ไม่ว่าจะเป็นลาบ ต้มยำ ทอด ก็สามารถทำได้หมด ซึ่งบางทีคนที่อยู่ฝั่ง สปป.ลาว ก็มีข้ามมากินที่ร้านเราด้วย เพราะเขาบอกว่าชอบ ฝั่งประเทศเขายังหากินยากอยู่” คุณคณิศร บอกถึงการนำมาแปรรูปเป็นเมนูอาหาร

ไก่งวงทอด

นอกจากนี้ ที่ฟาร์มของคุณคณิศรยังมีลูกไก่งวงที่ฟักออกจากไข่อายุ 7 วัน จำหน่ายให้กับคนที่สนใจอยากจะซื้อไปทดลองเลี้ยง โดยราคาจำหน่ายอยู่ที่ตัวละ 100 บาท ส่วนตัวใหญ่ที่มีอายุ 5 เดือนขึ้นไป ราคาอยู่ที่ตัวละ 500 บาท ส่วนผู้ที่ชื่นชอบในเนื้อไก่งวงจะซื้อไปประกอบอาหารเอง ก็มีจำหน่ายแบบยกตัวอยู่ที่กิโลกรัมละ 200 บาท

ทั้งนี้ คุณคณิศร บอกว่า การเลี้ยงไก่งวงถือว่าเป็นอาชีพที่เลี้ยงครอบครัวได้ เพียงมีการจัดการที่ดีและทำการตลาดให้หลากหลาย ก็สามารถทำเป็นอาชีพหลักได้แบบสบายๆ เพราะตลาดของไก่งวงยังสามารถเติบโตได้อีก ซึ่งในพื้นที่ของจังหวัดบึงกาฬเองยังผลิตจำหน่ายได้ไม่เพียงพอ และที่สำคัญผู้บริโภคฝั่ง สปป.ลาว ยังเข้ามาหาซื้อกันมากขึ้น จึงทำให้ตลาดของไก่งวงเป็นอาชีพที่ยังไปได้อีกไกล

ไก่งวงไซซ์ใหญ่

“ยิ่งเราสามารถทำส่งขายฝั่ง สปป.ลาว ได้นี่จะยิ่งดี ราคาจะยิ่งสูง เพราะคนที่นั่นชอบมาก อย่างที่ร้านเขาก็ข้ามมากินที่ร้านอยู่ประจำ เวลาที่เขามาเที่ยวฝั่งบ้านเรา เมนูที่เขานิยมก็จะเป็นลาบไก่งวง ต้มยำ และก็ไก่งวงทอด 3 เมนูนี้จะเป็นเมนูหลักที่ใครมาต้องสั่งกิน ซึ่งไก่งวง 1 ตัว เนื้อค่อนข้างมาก สามารถทำอาหารเลี้ยงคนได้ประมาณ 20 คน โดยชาวบ้านแถวนี้บางทีก็หุ้นเงินกันมาซื้อแบบยกตัวไปทำกินกันเองก็มี ยิ่งช่วงเทศกาลจะขายดีมาก โตไม่ทันขายว่ากันง่ายๆ” คุณคณิศร เล่าถึงความต้องการของตลาด

(คนที่ 2 จากซ้าย) คุณสมชาย อนันตจารุตระกูล ปศุสัตว์จังหวัดบึงกาฬ

สำหรับผู้ที่สนใจอยากจะเลี้ยงไก่งวงเป็นอาชีพ คุณคณิศร ให้คำแนะนำว่า ต้องคิดทบทวนก่อนว่ามีความชอบที่จะเลี้ยงสัตว์หรือไม่ เพราะสัตว์เป็นสิ่งมีชีวิต บางครั้งการเลี้ยงต้องมีการดูแลเอาใจใส่ แต่เมื่อเลี้ยงแล้วจะบอกว่ามีข้อดีหลายประการ เช่น มูลของสัตว์ ไม่ว่าจะวัวควาย หรือแม้แต่ไก่งวงก็สามารถนำมูลมาทำเป็นปุ๋ยใส่ต้นไม้พืชผลทางการเกษตรได้ จึงทำให้เกษตรกรสามารถลดเรื่องการซื้อปุ๋ยลงไปได้มาก ทำให้ประหยัดต้นทุน

“พอเรามีไก่งวงที่เลี้ยงไว้ ช่วงที่ราคายางไม่ดี เรายังไม่อยากกรีดขาย เราก็ไม่เดือดร้อนก็ยังไม่ต้องกรีด รอให้ราคาขึ้นก็ค่อนกรีดขาย เพราะเรายังมีไก่งวงที่เลี้ยงไว้ อย่างน้อยรายได้เราก็สามารถได้จากทางนี้ และที่สำคัญตั้งแต่มาเลี้ยงไก่งวง เรื่องการซื้อปุ๋ยเคมีถือว่าลดลงไปมาก ผมก็จะใช้มูลของไก่งวงนี่แหละ มาใส่ให้กับต้นยางพาราที่ปลูก เท่ากับว่าต้นทุนการผลิตเราก็ถูกลง ยังไงเราก็ต้องได้ผลกำไรอย่างแน่นอน การเกษตรทำเงินให้เราได้ไม่ยาก ขอเพียงผู้ที่จะทำมีแนวคิดในเรื่องของการจัดการให้ดีเท่านั้นพอ” คุณคณิศร กล่าวแนะนำ

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณคณิศร มังก้อน ที่หมายเลขโทรศัพท์ (081) 058-3987

ขอขอบพระคุณ คุณสมชาย อนันตจารุตระกูล ปศุสัตว์จังหวัดบึงกาฬ พาลงพื้นที่พบปะเกษตร