ผู้เขียน | กาญจนา จินตกานนท์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“สวนหลงบูรพา” ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 30 หมู่ที่ 5 ซอยหนองหว้ากอก ตำบลอ่าวใหญ่ อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด สวนทุเรียนคนรุ่นใหม่ ครอบครัวของ ร้อยตรีกรีฑา งาเจือ หรือ “อาจารย์เฟิร์น” วัย 30 ปี และ คุณณัฐวรรณ แปลงดี หรือ “น้องหนู” ภรรยา ปัจจุบัน คุณกรีฑาเป็นรองประธานชมรมคนรักทุเรียนแห่งประเทศไทยภาคตะวันนออก และหัวหน้าศูนย์ศึกษาการผลิตทุเรียนคุณภาพ จังหวัดตราด และล่าสุดเป็นอาจารย์พิเศษสอนนักศึกษา สาขาวิชารัฐศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณีอีกด้วย คุณกรีฑาจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านการตลาด จากมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี และปริญญาโท บริหารรัฐกิจ สาขารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา แต่เลือกสืบทอดอาชีพทำสวนตามพ่อแม่ โดยผสมผสานภูมิปัญญารุ่นพ่อกับประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้จากเกษตรกรรมยุคใหม่ เป็นแนวทางพัฒนาสู่เกษตรกรยุค 4.0 ออกแบบการผลิตทุเรียนให้เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและคุณภาพ ใช้วิธีการบริหารจัดการด้านการตลาดแบบใหม่ด้วยสื่อโซเชียลมีเดีย สร้างรายได้ให้กับครอบครัวอย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
ปั้น หลงลับแล ทุเรียนคุณภาพภาคตะวันออก
ป้อนตลาดพรีเมี่ยมทั้งไทยและต่างประเทศ
คุณกรีฑา งาเจือ เล่าว่า สวนหลงบูรพานี้ แปลงแรกรับสืบทอดจากพ่อและแม่ที่ทำสวนผลไม้มากว่า 30 ปีแล้ว เมื่อเรียนจบปริญญาตรี อายุ 20-21 ปี พ่อให้อยู่ช่วยทำสวนที่บ้าน เพราะเป็นลูกคนเดียว แรกทีเดียวได้เรียนรู้จากพ่อไปก่อน ตอนนั้นเรียนต่อปริญญาโทไปด้วย และแต่งงานมีครอบครัว กับ “คุณณัฐวรรณ แปลงดี หรือ “น้องหนู” จึงตัดสินใจยึดอาชีพทำสวนกันแบบครอบครัว พ่อ แม่ ลูกๆ รวม 4 คน เริ่มต้นจากสวนเดิมที่พ่อทำไว้ ขนาด 44 ไร่ เป็นสวนผลไม้รวม มีทุเรียน เงาะ มังคุด ปะปนกัน ปลูกทุเรียนพันธุ์ชะนี กระดุม เมื่อเป็นโรคตาย จึงนำพันธุ์หมอนทองมาปลูกทดแทน ต่อมาพันธุ์หมอนทองที่ให้ผลผลิตเริ่มมีปัญหาเป็นโรคตายอีก แต่ไม่มากนัก จึงทยอยปลูก พันธุ์ก้านยาว หลงลับแล แทนที่หลากหลายสายพันธุ์ ปัจจุบันแปลงนี้มีทุเรียนหลากหลายสายพันธุ์ จำนวน 200-300 ต้น
หลังจากทำสวนทุเรียนแปลงแรกแล้ว ต่อมาทางบ้านได้ซื้อที่ดินที่เป็นสวนผลไม้ ขนาด 13 ไร่ มีทุเรียนเดิมๆพันธุ์ชะนี กระดุม ที่คุณพ่อดูแลต่อจากเจ้าของเดิม อายุ 30 ปี ต้นใหญ่มาก ชะนีเหลือ 3 ต้น กระดุมเหลือ 7 ต้น ระหว่างนั้นได้ปลูกหมอนทองเหลือง ก้านยาว พวงมณี และหลงลับแล ทดแทนต้นที่ตายไป ตอนนี้มีสวนทุเรียนที่ขยายเพิ่มขึ้นและต้องดูแลรวม 5 แปลง แปลงที่ 3 ขนาด 5 ไร่ ปลูกหมอนทองทั้งแปลง เริ่มให้ผลในปีนี้ ส่วนอีก 2 แปลง ปลูกหลากหลายสายพันธุ์เช่นกัน ยังไม่ให้ผล มีทั้งหมอนทอง และพันธุ์พื้นเมืองที่พัฒนาแล้ว เช่น หลงลับแล พวงมณี พานพระศรี นวลทองจันทร์
แม้ว่าหมอนทองตลาดทั้งต่างประเทศและในประเทศให้ความนิยมมาก แต่ตลาดในอนาคตไม่แน่นอน เพราะต่างคนต่างปลูกหมอนทองตามๆ กันจำนวนมาก ขณะที่ทุเรียนมีการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย รวมทั้งรสนิยมผู้บริโภคที่ชื่นชอบทุเรียนแต่ละพันธุ์ต่างกัน โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มพรีเมี่ยมทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่ชื่นชอบทุเรียนคุณภาพ การปลูกไว้หลายๆ พันธุ์ จึงเป็นการกระจายความเสี่ยง เป็นทางเลือกของตลาด ซึ่งสายพันธุ์พื้นเมืองได้พัฒนาเป็นทุเรียนคุณภาพแล้ว บางพันธุ์ราคาดีกว่าหมอนทอง อย่างปีที่แล้ว ทุเรียนหมอนทอง กิโลกรัมละ 120-130 บาท หลงลับแล กิโลกรัมละ 280-300 บาท พวงมณี ราคา 100-120 บาท ก้านยาว 200-300 บาท ซึ่งหลงลับแลตลาดจีน ไต้หวัน ยังต้องการมาก แต่ยังผลิตกันน้อย
“หลงลับแล ทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองของอุตรดิตถ์ นำมาปลูกในสภาพดิน น้ำ ของจังหวัดตราดที่เหมาะสม ดูแลบำรุงรักษาให้เป็นทุเรียนคุณภาพได้ ลูกใหญ่ ทรงสวย เนื้อเนียนละเอียด สีเหลืองสวย กลิ่นอ่อน รสชาติดีไม่หวานมาก ต่อไปจะปั้นให้เป็นดาวเด่น นางงามตามชื่อสวนหลงบูรพา หมายถึงทุเรียนพื้นเมืองของที่อื่น แต่มาพัฒนาเป็นทุเรียนคุณภาพในภาคตะวันออก คือที่จังหวัดตราด พื้นที่ 5 แปลง ปลูกไว้ ร่วมๆ 100 ต้น รุ่นแรกมี 10 ต้น ให้ผลมาเป็นปีที่ 4 มีคุณภาพดี ตลาดพรีเมี่ยมรับไม่อั้น ทั้งจีนและภายในประเทศ คาดว่าประมาณอีก 3 ปี จะทยอยให้ผลทั้งหมด และจะเป็นทุเรียนที่ขึ้นชื่อของสวนหลงบูรพา” คุณกรีฑากล่าว
ชะนี กระดุม ผลผลิตออกก่อน… ต่อทุนให้ หมอนทอง หลงลับแล ก้านยาว
คุณกรีฑา เล่าว่า พื้นที่ปลูกทุเรียน 2 แปลงแรกที่ให้ผล จะมีทุเรียนชะนี กระดุม พวงมณี ซึ่งเป็นพันธุ์ดั้งเดิมที่ปลูกกันมานาน ปลูกไว้ด้วยถึงแม้ว่าจะมีพันธุ์พัฒนาใหม่ๆ ปลูกเสริมทดแทน ตามความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น เช่น หมอนทอง ก้านยาว หลงลับแล แปลงที่ 2 ที่ซื้อสวนมาทำต่อ ชะนี กระดุม ปัจจุบันอายุ 30 ปี มีทุเรียนพันธุ์ชะนี 4 ต้น และกระดุม 7 ต้น ที่ยังดูแลรักษาไว้ ทั้งนี้ด้วยเหตุผลสำคัญ 2 ข้อ คือ
- 1. ใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ผสมเกสร เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่แข็งแรงทนทานต่อโรค และ
- 2. เป็นทุเรียนที่ออกช่วงต้นฤดู เก็บเกี่ยวได้เงินเร็ว มีราคาสูง
แต่ละปีประมาณปลายกุมภาพันธ์-ต้นมีนาคม จะให้ผลผลิตก่อนพันธุ์อื่น เก็บเกี่ยวผลชะนีต้นละเกือบ 200 ลูก กระดุม 130-150 ลูก ช่วงต้นฤดูทำรายได้ประมาณ 200,000 บาทเศษ ใช้เป็นต้นทุนสะสมหมุนเวียนค่าใช้จ่ายดูแลเก็บเกี่ยว รุ่นน้องๆ พันธุ์หมอนทอง ก้านยาว หลงลับแลที่ทยอยสู่ตลาดในช่วงปลายมีนาคม-เมษายน ซึ่งช่วงฤดูการเก็บเกี่ยวมีค่าใช้จ่ายสูง เสมือนพี่ดูแลน้องๆ
“ทุเรียนชะนี กระดุม ต้นใหญ่จะสูงถึง 10 กว่าเมตร การดูแลรักษาจะยุ่งยากกว่าทุเรียนพุ่มเล็ก ทั้งพ่นยา ตัดแต่งกิ่ง แต่งผล และการตัดผล โดยเฉพาะการดูแลช่วงให้ผลต้องใช้ไม้ไผ่ค้ำยัน ผูกเชือกโยงกิ่งรับน้ำหนัก บางต้นต้องใช้วิธีการตัดยอดใช้ไม้ไผ่ด้ามช่วยรับน้ำหนักกิ่ง ช่วงโยงกิ่งต้องจ้างแรงงานมาช่วยกัน 5-6 คน แต่ชะนี กระดุม ที่อายุมากเปลือกจะบาง เนื้อเหนียว รสชาติหวานแหลม ต้นฤดูเดือนมีนาคมได้ราคาดี ชะนีกิโลกรัมละ 90-100 บาท กระดุม 110-120 บาท” คุณกรีฑา กล่าว
หลงลับแล…ดูแลง่ายกว่าหมอนทอง
คุณกรีฑา เล่าถึงการทำสวนทุเรียนหลงลับแลว่า ขึ้นอยู่กับสภาพชนิดดิน แหล่งน้ำ วิธีการปลูก ดูแล บำรุงต้น การผสมเกสรและการดูแลดอกและผล ไม่ต่างจากทุเรียนทั่วๆ ไป สามารถใช้ปุ๋ย ยา ฮอร์โมน ให้อาหารทางดิน ใบ ลูกด้วยกันได้ ปลูก 4-5 ปี เริ่มให้ผล แต่ถ้าเปรียบเทียบกับหมอนทองจะดูแลง่ายกว่า ทั้งเรื่องโรครากเน่า โคนเน่า เพราะเป็นพันธุ์พื้นเมืองจะแข็งแรง มีความต้านทานโรคและแมลงได้ดีกว่า รวมทั้งการบริหารจัดการให้ได้คุณภาพและไซซ์มาตรฐานทำได้ดีกว่า แม้ว่าหลงลับแลจะลูกเล็กกว่า ไม่ได้น้ำหนักเท่าหมอนทอง แต่ราคาดีกว่า เพราะผลผลิตน้อย ตลาดมีความต้องการสูง
ขั้นตอนการปลูกและดูแลหลงลับแล
ขั้นตอนสำคัญๆ มีดังนี้
- ควรเริ่มดูแลตั้งแต่กิ่งพันธุ์ ควรใช้ยอดกิ่งพันธุ์หลงลับแลจากแม่พันธุ์ที่มีคุณภาพติดตากับตอต้นพันธุ์พื้นเมืองที่แข็งแรง ที่ปลูกอยู่จะใช้ยอดกิ่งพันธุ์ของสวนเอง จะเติบโตเร็ว แข็งแรง ให้ผลที่มีคุณภาพ
- 2. การปลูกให้ได้ผลดี ควรปลูกแบบยกร่องลอนลูกฟูก เพราะระบายน้ำได้ดี อากาศถ่ายเทได้สะดวก การจัดการง่าย แต่ถ้าเป็นสวนเดิมเป็นที่สวนเก่า ปลูกในระยะชิดกันไม่ได้ยกร่อง ต้องตกแต่งกิ่งให้โปร่งแสงส่องได้ทั่วถึง
- 3. ตกแต่งลูก หรือ “การซอยลูก” ให้ได้ขนาดมาตรฐาน และให้เป็นรุ่นเดียวกันเพื่อง่ายต่อการจัดการ ช่วง 3 ระยะติดผลแล้ว 30 วัน 45 วัน และ 60 วัน ลักษณะการออกลูกของหลงลับแลไม่ดก ออกลูกเป็นพวงมาก มีแค่ 1-2 ลูก สามารถไว้ลูกขั้วใหญ่ได้สมบูรณ์ สวยงาม พูเต็ม ขนาดมาตรฐานที่ตลาดต้องการ ลูกละ 4-5 กิโลกรัม ได้ราคาดี หาตลาดง่าย ต่างจากหมอนทองที่พวงใหญ่มี 6-7 ลูก บางครั้งลูกทิ้งเดี่ยวคุมยากตกไซซ์ ขนาดใหญ่เกินลูกละ 6-7 หรือ 10 กิโลกรัม จะเสี่ยงต่อการหาตลาดยากและราคาถูก
- 4. การตัดทุเรียน ต้องให้แก่จัด ระยะ 3-4 วันสุก จะทำให้ได้รสชาติดี สีสวย หลงลับแลจะเนื้อเหนียว สีเหลืองเข้ม เนื้อหนา เม็ดเล็ก รสไม่หวานจัด กลิ่นไม่แรง
ทำสวนในปัจจุบัน ต้องทำเป็นธุรกิจ
เจ้าของสวนบอกว่า การทำสวนต้องกล้าลงทุนทำผลผลิตให้ได้คุณภาพ มีผลกำไร นำเครื่องมือเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ มีการบริหารจัดการที่ดี ให้ผลผลิตได้คุณภาพมาตรฐาน ตลาดจะมาหาเราเอง และเป้าหมายหลักคือ ทำทุเรียนหมอนทองป้อนตลาดต่างประเทศ เพราะมีปริมาณมาก แต่พันธุ์อื่นๆ ที่พัฒนาคุณภาพมีปริมาณไม่มากนัก อย่าง หลงลับแล กระดุม พวงมณี ก้านยาว นวลทองจันทร์ เน้นตลาดภายในประเทศให้คนไทยด้วยกันบริโภคทุเรียนมีคุณภาพ และปลอดภัยต่อสุขภาพทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค ซึ่งในขั้นตอนของการดูแลสวน พยายามจะให้เป็นสวนอินทรีย์ ลดการใช้ปุ๋ยเคมีมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ให้มากขึ้น ซึ่งช่วยลดต้นทุนได้อีกด้วย” คุณกรีฑา กล่าว
ทำตลาดออนไลน์…รับจองลูก หรือเหมาต้นได้
คุณกรีฑา กล่าวว่า ตลาดทุเรียนต่างประเทศโดยเฉพาะจีน ช่วงเทศกาลเช็งเม้งต้นเดือนเมษายนความต้องการทุเรียนต้นฤดูจะสูง ทุเรียนมีน้อยจะได้ราคาดี พ่อค้าจะติดต่อเข้ามาตัดในสวนล่วงหน้าเป็น 10-15 วัน ไซซ์มาตรฐานที่ตลาดต่างประเทศต้องการ คือ 5 พูเต็ม หรือช่วงที่มีทุเรียนน้อยตลาดจะลดมาเป็น 2-3 พูเม็ด คือมี 2-3 พูเต็ม และมีพูเดียวที่มีเม็ดเดียวขนาดเล็ก ทำให้ได้มูลค่าสูง เช่น กระดุม ต้นฤดูราคากิโลกรัมละ 110-120 บาท
“ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เริ่มทำตลาดออนไลน์ เปิดให้ลูกค้าสั่งจองทางไลน์ เฟซบุ๊กของสวนหลงบูรพา และหลังๆ จองผ่านชมรมคนรักทุเรียนแห่งประเทศไทย ทำให้ตลาดไปได้กว้างมาก และจัดส่งให้ทางไปรษณีย์และบริษัทขนส่ง มีการรับประกันคุณภาพ เคลมได้พร้อมคำแนะนำกำหนดวันบริโภค และวิธีเคลมหรือเปลี่ยนทุเรียนลูกใหม่ ส่วนใหญ่จะเจอทุเรียนอ่อนในช่วงฝน แต่มีน้อยมาก เพียง 1-2 ราย ผลตอบรับดีมากแม้ราคาจะสูงกว่าตลาดทั่วไป ลูกค้าจองกันมาล่วงหน้า ผลผลิตไม่พอขาย ปีนี้มีลูกค้าจองทุเรียนก้านยาว แบบเหมาต้น มีอยู่ต้นละประมาณ 20 ลูก กิโลกรัมละ 280-300 บาท ซึ่งเป็นการพัฒนาการรับประกันลูกค้าไปอีกขั้นตอน เพราะต้องจัดทำเครื่องหมายของต้นทุเรียนที่ให้ผลผลิตที่ลูกค้าจอง เมื่อทุเรียนมีปัญหาจะได้ตรวจสอบสาเหตุและแก้ไขได้ถูกจุด” คุณกรีฑา กล่าวถึงการบริหารจัดการด้านตลาด
ทุเรียนสวนหลงบูรพา จะทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่ต้นมีนาคม กระดุมจะเริ่มตัดได้ก่อน จากนั้นกลางเดือนมีนาคมถึงสิ้นเดือนเมษายน ชะนี พวงมณี หมอนทอง หลงลับแล ก้านยาวรวมทั้งพันธุ์ใหม่ๆ นวลทองจันทร์จะทยอยสู่ตลาดและหมดลงก่อนฤดูกาลผลไม้ของภาคตะวันออก
สนใจหลงลับแล รสชาติหวาน เนื้อเนียน ติดต่อ คุณกรีฑา งาเจือ หรือคุณณัฐวรรณ แปลงดี โทร. (063) 965-9166