เกษตรกรที่บึงกาฬ พลิกสวนยางพารา มาปลูกสตรอว์เบอรี่ ขายกก.ละ 500 บาท ปลูก 4 ไร่ กำไร 3 แสนบาท

ปัจจุบันไม่เพียงบนยอดดอยสูงเท่านั้น แต่ในภาคอีสานโดยเฉพาะจังหวัดอุดรธานี หนองคาย และบึงกาฬ ก็มีวางขายสตรอว์เบอรี่เกลื่อนริมทางเท้าและฟุตปาท ทั้งหมดล้วนเป็นผลผลิตที่ได้จากท้องถิ่นทั้งสิ้น

“ประภัสสร สายวรรณ์” เจ้าของสวนสตรอว์เบอรี่ “สุขสมใจ” ตั้งอยู่ที่บ้านโสกบงต.นาดง อ.ปากคาด จ.บึงกาฬ อธิบายและเล่าถึงการปลูกสตรอว์เบอรี่ในพื้นที่ว่า เป็นการปลูกในสวนยางพารา ซึ่งสวนสุขสมใจเป็นสวนสตรอว์เบอรี่ในป่ายางพาราแห่งแรกของจังหวัดบึงกาฬ และเปิดเป็น “ศูนย์การเรียนรู้สำหรับเกษตรกร” อีกด้วย

เดิมทีครอบครัวของประภัสสรทำสวนยางพารามาตลอด มีพื้นที่ประมาณ 14 ไร่ แต่พอปี 2556 ราคายางเริ่มตกต่ำ ซึ่งขณะนั้นเธอยังเรียนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี จึงสงสารพ่อแม่มากที่ต้องส่งเงินให้เรียนหนังสือ แต่รายได้คงที่ไม่มีอะไรเพิ่มขึ้นมา ระหว่างนั้นได้ปรึกษากับแฟน ซึ่งเป็นคน จ.หนองบัวลำภู ที่บ้านแฟนทำไร่สตรอว์เบอรี่ เลยแนะนำว่าสตรอว์เบอรี่สามารถปลูกในภาคอีสาน และทำเงินได้จริง ๆ

เมื่อเรียนจบประภัสสรจึงร่วมมือกับแฟนลงมือปลูกทันทีในวันที่ 1 มกราคม 2557 และสตรอว์เบอรี่เริ่มออกลูกให้เห็นในเดือนมีนาคม ซึ่งน่าประหลาดใจอย่างมาก เนื่องจากเวลาช่วงนี้เป็นปลายฤดูหนาว ทางภาคเหนือสตรอว์เบอรี่ไม่ออกลูกแล้ว อีกทั้งจังหวัดบึงกาฬอากาศก็ไม่ได้หนาวจัด ในที่สุดประภัสสรก็ได้คำตอบว่าเป็นเพราะ “พีตมอส” (Peat Moss) ที่อยู่ในร่องสวนยางนั่นเอง

“ที่บึงกาฬอากาศตอนกลางคืนจะหนาวเย็น ส่วนกลางวันก็ปกติประมาณ 28 องศา แต่ที่สามารถปลูกในร่องสวนยางได้ดีเพราะใบยางที่สะสมทับถมกันทำให้เกิดเป็นพีตมอส มีเนื้อละเอียด อุ้มน้ำได้ดี มีธาตุอาหารเพียงพอที่พืชจะใช้ประโยชน์ บ้านเรามีพีตมอสในสวนยางพาราเยอะมาก ช่วงหน้าฝนยิ่งเยอะ ไหลมาทับถมกันในร่องยาง ทำให้ดินอุ้มน้ำ อุ้มสารไนโตรเจน ฟอสฟอรัส สารอาหารทั้งหมดที่พืชต้องการ ดังนั้น จึงทำให้สตรอว์เบอรี่ออกลูกได้และมีรสชาติที่ดีมาก หวานฉ่ำกว่าปลูกกลางแจ้งไม่ต้องไปเร่งปุ๋ย

วิธีการปลูก จะนำ “ไหล” (ส่วนที่เจริญเติบโตมาจากต้นแม่บริเวณลำต้นหรือข้อ)ไปปลูกลงในร่องสวนยางพารา ในขั้นทดลองประภัสสรใช้ไหล 23 ไหลในเนื้อที่ 4 ไร่ ใต้ร่มเงาของต้นยางพารา แต่ขณะเดียวกัน สามารถปลูกไหลไปพร้อม ๆกับต้นยางต้นเล็ก ๆ ได้ แต่ถ้าต้นยางใหญ่มาก ต้องแต่งกิ่ง ดังนั้นจึงนิยมปลูกไปพร้อมกับต้นยางเล็กมากกว่า

“ปลูกยางแค่เดือนสองเดือนก็ลงไหลได้ ปลูกยางไปถึง 9 ปีสิ้นสุด 9 ปีไม่สามารถปลูกสตรอว์เบอรี่ได้แล้ว เพราะรากยางเริ่มยึดแล้ว แต่ถ้าจะดึงดันปลูกต่อทำได้ไหม คำตอบก็คือได้ แต่เราต้องซื้อดินมาถมเพิ่มขึ้นสูงประมาณ 1 เมตร ทีนี้ก็ปลูกได้ตามปกติ ตอนแรกที่เริ่มปลูกประมาณ 15 วันไหลเริ่มออกแล้ว มีคนมาขอซื้อไหล เราก็ขาย พอเดือนมีนาคมสตรอว์เบอรี่ออกลูก ก็เก็บลูกขาย พอสิ้นเดือนเมษายนเก็บลูกขายหมดพอดี ตอนนั้นรายได้จะดีมาก เพราะทางภาคเหนือเขาไม่มีขายแล้ว สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ทางภาคเหนือจะหมด เราก็ได้เปรียบ เพราะเขาหมดแต่เรายังมีขายอยู่”

สำหรับราคาขายประภัสสรเล่าว่า ขายได้ถึงกิโลกรัมละ 500 บาท แต่เมื่อผลผลิตมีจำนวนมาก จะลดลงเหลือกิโลกรัมละ 300 บาท แต่ยังถือว่าเป็นราคาที่ดี โดยราคานี้จะมาจากทางภาคเหนือเป็นคนกำหนดหลักเกณฑ์ ฤดูกาลที่ผ่านมาประภัสสรลงทุนไป 1 แสนบาท สามารถขายได้กำไรสุทธิที่ 3 แสนบาท ถือว่าเป็นรายได้ที่ดีมากในช่วงราคายางตกต่ำ

สวนสตรอว์เบอรี่สุขสมใจที่ อ.ปากคาดจ.บึงกาฬ ไม่ได้แค่ปลูกสตรอว์เบอรี่ขายเท่านั้น แต่ตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน ตั้งแต่ปี 2559 มีลูกข่ายทั่วประเทศ 11 จังหวัด ขณะนี้เริ่มขยายกลุ่มเครือข่ายโดยที่บึงกาฬจะเป็นศูนย์กลางเปิดขายไหลสตรอว์เบอรี่พันธุ์พระราชทาน 80 ราคาเริ่มต้น 10 ไหล 350 บาท นอกจากขายไหลแล้วยังมีพืชตระกูลเบอรี่อื่น ๆ ขายอีก เช่น ราสป์เบอรี่ อังกฤษ/จีน, แบล็กเบอรี่ อังกฤษ/จีน, แบล็กเคอร์แรนต์ อังกฤษ/จีน, แครนเบอรี่อังกฤษ/จีน, เชอรี่หวานแคนาดา, บลูเบอรี่สหรัฐ/อังกฤษ/เปรู/จีน เป็นต้น

ประภัสสรบอกว่า โครงการในอนาคตคิดจะทำเป็นสวนสตรอว์เบอรี่แหล่งท่องเที่ยวที่เป็นแลนด์มาร์กของ อ.ปากคาด เพราะมีบึงสาธารณะใหญ่อยู่ในชุมชน จะปลูกสตรอว์เบอรี่รอบบึง จากบึงสามารถมองไปเห็นภูเขาเป็นภาพทิวทัศน์ที่สวยงามมาก สามารถดึงคนเข้ามาเที่ยวแล้วสร้างรายได้ให้คนในชุมชนได้ด้วย นอกจากนั้นแล้ว จะมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสตรอว์เบอรี่ ซึ่งขณะนี้มีแปรรูปบ้างแต่เป็นไปเพื่อกินเองในครอบครัวและขายในชุมชนเท่านั้น ยังไม่มีขายออกนอกชุมชน มีตั้งแต่น้ำสตรอว์เบอรี่สดบรรจุขวด แยมสตรอว์เบอรี่ เป็นต้น

สำหรับที่บ้านของประภัสสรเอง มีโครงการจะทำเป็นโฮมสเตย์ เปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับคนสนใจ ในราคาคอร์สละ 5,000 บาท รวมค่าที่พักและอาหาร

แม้ในยามศรษฐกิจบีบรัด หากมองหาช่องทางใหม่ ๆ ก็ทำให้พลิกวิกฤตได้