ธุรกิจส่งออกใบตอง ยอดขายสูง แม้กำไรน้อย แต่คู่แข่งก็น้อย

“เคยคิดจะเลิกส่งออกใบตอง เพราะเป็นสินค้าให้ผลตอบแทนน้อยมาก ใช้กำลังคนหลายสิบคน แต่พอย้อนกลับมาดูยอดขาย จำนวนมันเยอะ เติบโตทุกปี 1-2 เปอร์เซ็นต์ เป็นสินค้าคู่แข่งทางการตลาดน้อย เนื่องด้วยกำไรต่ำ จึงไม่มีใครทำ แต่ตรงนี้ถือเป็นโอกาส”

เปิดตลาดพืชผักผลไม้ จับจุดขายตามฤดูกาล

พืช ผัก ผลไม้ของไทย อาทิ ทุเรียน กล้วย มังคุด พืชผักพื้นถิ่นและตามฤดูกาล ล้วนเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ อันเป็นผลมาจากชาวไทยจำนวนมากเข้าไปพำนักและสร้างธุรกิจกันมากขึ้น โดยเฉพาะกับธุรกิจร้านอาหารไทย อีกทั้งในส่วนของชาวต่างชาติเองก็เริ่มให้ความสนใจอาหารไทยกันมากขึ้น

“ใบตอง” แม้จะให้ผลตอบแทนด้านราคาขายต่ำ แต่ทว่ากลับทำยอดขายสูง จึงเปรียบเสมือนแม่ทัพนำพาสินค้าอื่นๆ ออกสู่ตลาด ในขณะเดียวกัน ใบตองก็เปรียบดั่งนายท้าย ช่วยปิดการขายให้ง่ายขึ้น

ดร.นงนุช อธิพันธุ์อำไพ  ผู้บริหารคนเก่ง แห่งบริษัท โอชาฟูดแพ็ค จำกัด ผู้จัดจำหน่ายสินค้าเกษตรและอาหารสู่ตลาดสากล เล่าว่า เธอคือเจเนอเรชั่น 3 ที่ก้าวเข้ามารับช่วงกิจการ โดยนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การอาหารมาเป็นแนวทางในการพัฒนา ซึ่งจุดเริ่มต้นของธุรกิจมาจากการปรับปรุงคุณภาพข้าวหอมมะลิระดับสูง ส่งไปตลาดต่างประเทศ  กับธุรกิจนี้ทำให้มองเห็นโอกาสทางการตลาด นำสินค้าอื่นๆ เข้าไปเสริมสร้างรายได้ โดยเฉพาะผลิตผลทางการเกษตร ฉะนั้น ในราวปี 2551 จึงกำเงินลงทุนราว 70 ล้านบาท เปิดโรงงานอาหารแช่แข็ง

“เริ่มมองสินค้าที่คนเอเชียซึ่งไปใช้ชีวิตอยู่สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย และยุโรป ชอบทานแต่ไม่สามารถหาซื้อได้ อย่างพืชผักตามฤดูกาล ที่มีความแปลกใหม่ หายากในตลาดต่างประเทศ อย่าง ชะอม สะเดา ลูกเนียง ใบเตย เราจึงเปิดตลาดส่งออก โดยวิธีเก็บรักษาด้วยระบบ Air Blast (แช่เยือกแข็ง) ซึ่งสามารถเก็บรักษาพืชผักให้คงสภาพเดิมได้ดี และสามารถเก็บได้นานนับปี ถือเป็นวิธีถนอมอาหารให้ประสิทธิภาพสูง”

ใบตอง เป็นอีกหนึ่งสินค้าที่เลือกนำมาทำตลาด ซึ่งกับจำนวนยอดขายถือว่าเติบโตดี “เคยคิดจะเลิกส่งออกใบตอง เพราะเป็นสินค้าให้ผลตอบแทนน้อยมาก ใช้กำลังคนหลายสิบคน แต่พอย้อนกลับมาดูยอดขาย จำนวนมันเยอะ เติบโตทุกปี 1-2 เปอร์เซ็นต์ เป็นสินค้าคู่แข่งทางการตลาดน้อย เนื่องด้วยกำไรต่ำ จึงไม่มีใครทำ แต่ตรงนี้ถือเป็นโอกาส  ในขณะถ้าเป็นทุเรียน ผู้ซื้อเขาบอกว่า ไม่จำเป็นต้องซื้อกับเรา กลายเป็นว่าทุเรียนคู่แข่งสูง  การแข่งขันด้านราคาก็ตามมา”

นำทัพ เสริมทัพ จับใบตองส่งออก

เมื่อเห็นทิศทางตลาดเป็นเช่นนี้ บจก.โอชาฟูดแพ็ค จึงเลือกคงสินค้าใบตองไว้ เพราะใบตองเป็นตัวช่วยให้สินค้ารายการอื่นขายได้

“กลุ่มลูกค้าหลักของเราคือ ตัวแทนจำหน่ายในประเทศนั้น ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้จะต้องการสินค้าหลากหลายรายการ  แต่พอมาถึงสินค้าใบตอง เขาหาจากตลาดอื่นไม่ได้ ก็ต้องมามองเรา และเมื่อเขาสั่งซื้อใบตองแล้ว จะแค่อย่างเดียวก็คงไม่ใช่ สินค้ารายการอื่นๆ ที่อยู่ในความต้องการของเขาก็จะถูกซื้อร่วมไปด้วย ในขณะเดียวกัน ถ้าสั่งซื้อสินค้าอื่นๆ แต่ไม่เต็มตู้คอนเทนเนอร์ ก็จะให้จัดสินค้าอื่นๆ ร่วมตู้ไปด้วย ใบตองจึงกลายเป็นสินค้าเสริมทันที เพราะใบตองอยู่ในความต้องการของตลาด แม้ไม่ใช่สินค้าแฟชั่น แต่เป็นสินค้าที่ตลาดต้องการ เป็นสินค้าทำยอดขายได้อย่างต่อเนื่อง”

สำหรับชนิดของใบตองนำมาจำหน่าย ใช้พันธุ์ “ตานี” ซึ่งมีคุณสมบัติ แข็งแรง ใบใหญ่ โดยจะเลือกขนาดความกว้างของใบ 12 นิ้ว และควบคุมโทนสีตามเกณฑ์กำหนดไว้ ซึ่งปัจจุบันจะรับซื้อจากกลุ่มเกษตรกรที่รวบรวมจากสวนนำมาจัดส่งให้ 2 สัปดาห์ต่อครั้ง ครั้งละ 8 ตัน

จากนั้น นำมาสู่กระบวนการเช็ดทำความสะอาด ตรวจหาเชื้อ เพราะสินค้าทุกรายการต้องผ่านมาตรฐานส่งออก ต้องไม่มีสารตกค้าง ปลอดเชื้อ ปลอดยาฆ่าแมลงและโลหะหนัก เช่นนี้เป็นต้น แต่ทั้งนี้ การคัดเลือกสินค้าคุณภาพตั้งแต่ต้นทาง จะส่งผลให้การทำงานง่ายขึ้น

ดังได้กล่าวแล้วว่า ใบตองเป็นสินค้าที่ต้องใช้ทั้งกำลังคน ใช้เวลา แต่ทว่ากลับได้ผลตอบแทนต่ำ ดร.นงนุชจึงไม่นิ่งนอนใจในการแก้ปัญหา

“เมื่อก่อนกำไรจะอยู่ราว 7-8 เปอร์เซ็นต์ และต้องใช้คนงานมากถึง 35 คน ใช้เวลาในการทำงานกว่าจะแล้วเสร็จ 3 วัน หรือใน 1 แพ็กใช้เวลาถึง 191 นาที ซึ่งการทำงานตอนนั้นเราคิดแค่ 2 กระบวนการคือ รับใบตองก้อนใหญ่ๆ มา แล้วบรรจุเป็นแพ็ก”

“กระทั่งได้มาเรียนรู้ โครงการ Lean Supply Chain by TMB ทำให้รู้ว่าเรามองข้ามกระบวนการทำงานระหว่างนั้นไป จึงปรับให้มีขั้นตอนย่อยๆ อย่างขั้นตอนการตัดแต่ง ต้องรู้ตั้งแต่การหยิบจับ การเช็ด วางแบบไหนจึงจะทำได้เร็ว ใส่ใจทุกรายละเอียด แล้ววางระบบกระบวนการทำงานขึ้นมาให้เป็นมาตรฐาน รวมไปถึงพื้นที่การทำงานต้องเอื้ออำนวย ซึ่งพอมาใส่ใจตรงนี้ จากระยะเวลาผลิต 3 วันลดลงเหลือ 2 วัน เวลา 191 นาที เหลือ 91 นาที กำลังคนลดลงเหลือ 23 คน กลายเป็นว่ามีคนว่างงานจากตรงนี้ 12 คน ก็ให้เขาไปทำงานเพิ่มมูลค่าสินค้าอื่นๆ แทน ฉะนั้น วันนี้เราได้กำไรจากการขายใบตองมาอยู่ที่ 20  เปอร์เซ็นต์” ดร.นงนุช กล่าวทิ้งท้าย

สนใจติดต่อ บริษัท โอชาฟูดแพ็ค จำกัด ตั้งอยู่ เลขที่ 1/25 ถนนเสือป่า แขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100 โทรศัพท์ (02) 623-2800