ปลูกแห้วสลับทำนา ส่ง s&p – มาลี ปลูก 6 เดือน ทำรายได้หลักแสนบาท

พื้นที่ที่มีการปลูก “แห้ว” กันมากที่สุด และปลูกกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ คือ อ.ศรีประจันต์ อ.สามชุก อ.เมือง จังหวัดสุพรรณบุรี และด้วยคุณค่าสารอาหาร รสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว “แห้ว” ถูกนำไปเป็นส่วนประกอบอาหารเมนูต่างๆ ทั้งคาวและหวาน บรรดาร้านอาหารและหลายโรงงานอุตสาหกรรมก็นิยมใช้ ส่งออกต่างประเทศอีกด้วย ช่วยสร้างรายได้ให้แก่ผู้ปลูก และเกษตรกรได้เป็นอย่างดี

คุณเวโรจน์ พัฒนะพรหมมาส หรือกอล์ฟ เจนเเนอเรชั่นที่ 3 ที่เข้ามาสืบทอดการทำนาแห้วต่อจากคุณสุรพล พัฒนะพรหมมาส หรือคุณพ่อ เจ้าของนาแห้วและโรงงานคัดเกรดแห้วปลอดสาร ได้ใบรับรองเครื่องหมาย อ.ย. ผ่านการตรวจสอบสารเคมีตกค้างเป็นที่เรียบร้อย ตั้งอยู่เลขที่ 27/1 หมู่ 6 ตำบลวังยาง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี

42460

คุณกอล์ฟ เผยกับเส้นทางเศรษฐีออนไลน์ว่า ที่บ้านทำนาปลูกข้าว สลับกับปลูกแห้ว (ปลูกข้าว 6 เดือน ปลูกแห้ว 6 เดือน) มา 30 ปี ซึ่งรุ่นคุณพ่อท่านใช้วิธีนำพันธุ์แห้วจากจีนมาผสมกับแห้วพันธุ์ไทย จนได้แห้วที่มีขนาดใหญ่ สีขาวสวย น่ารับประทาน ปลูกที่อำเภอศรีประจันต์ ที่อำเภอนี้ปลูกแห้วขายกันตลอดทั้งปี ส่งทั้งลูกค้าในประเทศและต่างประเทศ

สำหรับพื้นที่ปลูกแห้ว คุณกอล์ฟ เผยว่า มีนาแห้วเป็นของตนเองจำนวน 200 ไร่ มีลูกไร่อีกเกือบ 1,000 ไร่ ในส่วนของลูกไร่ก็จะเข้าไปดูแลเรื่องต้นพันธุ์ การใส่ปุ๋ย ซึ่งขั้นตอนการขายลูกไร่จะนำแห้วมาขายให้ที่โรงงานเพื่อคัดเกรด พยายามควบคุมคุณภาพตามที่ลูกค้าต้องการ เพราะลูกค้าต่างประเทศมีหลายกลุ่ม ตัวอย่าง ประเทศแถบเอเชียตะวันออกหรือยุโรปต้องควบคุมเรื่องการใช้ปุ๋ยอย่างเข้มงวด ต้องปลอดสารเคมี

41454

“ผมปลูกแห้วสลับกับทำนา ปลูกข้าว 6 เดือน ปลูกแห้ว 6 เดือน ทั้งปีจะปลูกเวียนแบบนี้ เฉพาะไร่ของตัวเอง เก็บผลผลิตได้วันละ ราว  3, 000 กิโลกรัม ราคาขายแห้วสด ขึ้นลงตามความต้องการของลูกค้า และความต้องการของตลาด ยกตัวอย่าง ช่วงกินเจ แห้วราคาแพงมาก ราคาขายหน้าฟาร์มกิโลกรัมละ 50 บาท ราคาต่ำสุด กิโลกรัมะ 31 บาท”

การคัดเกรดแห้ว มี 3 เกรด เกรดใหญ่ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.8 เซนติเมตรขึ้นไป เกรดนี้นำไปประกอบอาหาร หรือขายเป็นผลสด เกรดกลาง ขนาด 2.2 เซนติเมตรขึ้นไป แห้วเกรดนี้นำไปทำแห้วอัดกระป๋อง แห้วในน้ำเกลือ แห้วบด และสุดท้าย เกรดเล็ก ขนาดตั้งแต่ 2.2 เซนติเมตรลงมา นำไปทำแห้วหั่นเต๋า ทำไส้ขนม

41465

คุณกอล์ฟ  บอกต่อว่า ตลาดหลักที่ส่งแห้ว มีด้วยกัน 3 ที่ คือ ส่งแห้วสดที่ s&p นำไปทำไส้ขนม ขายแห้วปอกเปลือกส่งโรงงานมาลี สามพรานไปทำแห้วกระป๋อง  และร้านอาหารเพื่อนำไปทำใส้หอยจ้อ

สำหรับวิธีการปลูกแห้ว เกษตรกรเจนวาย เผยว่า นำแห้วมาพึ่งลมไว้ 2-3 วัน จากนั้นใช้เถาแกลบกลบให้ทั่ว รดน้ำทุกเช้า หากอากาศร้อนมากให้รดน้ำเช้า-เย็น ทำเช่นนี้ 21-30 วัน จะได้กล้าแห้วสูงประมาณ 20-35 เซนติเมตร จากนั้นนำลงแปลงไปปลูกได้เลย

“การปลูกแห้วที่ อ.ศรีประจันต์ จะปลูกในแปลงนา นำต้นกล้าแห้วปลูกในระยะห่าง 70 × 70 เซนติเมตร สาเหตุที่ปลูกแห้วให้ห่างกัน เพราะแห้ว 1 ต้นพันธุ์ จะสามารถขยายออกเป็นแห้วอีก 100-200 หัว ดั้งนั้นจึงต้องเว้นระยะห่างเพื่อให้แห้วมีการเจริญเติบโตที่ดี”

41455

หัวใจสำคัญของการปลูกแห้ว คือ “น้ำ” ในแปลงต้องมีน้ำตลอดเวลา โดยเฉพาะช่วงนำต้นกล้าลงปลูก จนถึงอายุ 6 เดือน การใส่ปุ๋ย แบ่งใส่  2 ครั้ง ครั้งแรกหลังปักดำ 3-4 สัปดาห์ ใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 ประมาณ 50 กิโลกรัมต่อไร่ ครั้งที่ 2 ใส่หลังจากช่วงที่ 1 ประมาณ 2 เดือน ช่วงนี้แห้วกำลังออกดอก โดยจะใส่ปุ๋ยสูตร 9-24-24 และ 13-13-21 ในอัตราส่วน 30-50 กิโลกรัมต่อไร่

42458

“ผมว่าอำเภอศรีประจันต์ปลูกแห้วมากที่สุดแล้ว มีนาแห้วรวมกันกว่า 4,690 ไร่ ได้ผลผลิตต่อไร่ เฉลี่ย 6,000 กิโลกรัมแห้วที่ปลูกในอำเภอศรีประจันต์ แต่ละปี มีมากกว่า 28,000 ตัน ถ้านับเป็นมูลค่าเงินก็มากกว่า 873 ล้านบาท”