ปลูกกล้วยแบบธรรมชาติ เน้นตัดใบ ตัดเครือ ไม่เคยเสียเงินให้ปุ๋ยเคมี

ระหว่างเดือนตุลาคมของทุกปี ที่ สนามหน้าที่ว่าการอำเภอสังคม อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย จะมีการจัดงานเทศกาลกล้วยน้ำว้า ประจำปี ขึ้น  โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ เกี่ยวกับกล้วยน้ำว้า ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของอำเภอสังคม   ภายในงานมีกิจกรรมมากมายที่น่าสนใจ อาทิ พิธีบวงสรวงอ่างปลาบึก, การประกวดขบวนแห่เทศกาลกล้วยน้ำว้า,การประกวดธิดากล้วยน้ำว้า, การประกวดร้องเพลงไทยลูกทุ่ง, การประกวดกล้วยน้ำว้า, การแปรรูปกล้วยน้ำว้า, งานแสดงสินค้าโอท็อป (OTOP), ผลไม้, สินค้าราคาถูกจากโรงงาน

กล้วยน้ำว้า ของอำเภอสังคม ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่เคียงคู่กับชาวบ้านในพื้นที่มาอย่างยาวนาน สร้างอาชีพและรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ในแต่ละปีมีมูลค่านับสิบล้านบาท โดยจำหน่ายทั้งในรูปผลสดและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากกล้วยชนิดต่างๆ รวมถึงสิ่งต่างๆ จากกล้วย ไม่ว่าจะเป็นใบตองและหัวปลี  โดยมีพื้นที่ปลูกกว่า 8,000 ไร่

เพราะดินฟ้าอากาศและพื้นที่เหมาะสม

“ผมมารับราชการที่นี่ครั้งแรก ในปี 2519 ก็เห็นการปลูกกล้วยน้ำว้ากัน และส่งออกไปจำหน่ายในจังหวัดต่างๆ ของภาคอีสานกันอยู่แล้ว โดยมากที่สุดอยู่ที่บ้านวังมน ตำบลวังม่วง หมู่บ้านแห่งนี้เพียงที่เดียวในสมัยนั้นมีรถปิกอัพวิ่งส่งไม่ต่ำกว่า 15 คัน” คุณวิทยา พลาหาญ เกษตรอำเภอสังคม ตอบคำถามถึงจุดเริ่มต้นของการปลูกกล้วยน้ำว้าในพื้นที่แห่งนี้

ทั้งนี้ เกษตรอำเภอสังคม ได้วิเคราะห์ถึงปัจจัยที่ทำให้การปลูกกล้วยน้ำว้าของอำเภอสามารถให้ผลผลิตที่ดี มีรสชาติอร่อย โดยกล่าวว่า

“อาจด้วยสภาพภูมิอากาศและสภาพพื้นดินที่เหมาะสมกับการปลูกกล้วยน้ำว้า อีกทั้งหน้าดินจะมีลักษณะโปร่ง สามารถระบายน้ำได้ดี น้ำไม่ขัง อย่างชุดดินของอำเภอสังคมนั้น มีทั้งชุดดินโคราช บางส่วนเป็นชุดโพนพิสัย อีกทั้งมีลักษณะเขาสลับซับซ้อน ทำให้มีความอุดมสมบูรณ์มาก เป็นธรรมชาติ ระบบน้ำก็ซึมซับจากภูเขา ทำให้มีน้ำมากเพียงพอตลอดปี ทำให้กล้วยน้ำว้าที่เกษตรกรปลูกสามารถเจริญเติบโตได้ดีทั้งปี”

“รสชาติของกล้วยน้ำว้าที่ปลูกในอำเภอสังคมนั้น จะมีลักษณะเด่นแตกต่างกับแหล่งปลูกในเขตจังหวัดอื่นๆ ของภาคอีสานที่ได้นำสายพันธุ์กล้วยน้ำว้าจากอำเภอสังคมไปปลูก รสชาติของกล้วยน้ำว้าก็จะไม่เหมือนกับที่นี่ นับว่าเป็นเรื่องที่แปลก”เกษตรอำเภอสังคม บอก

โดยกล้วยน้ำว้าของอำเภอสังคม แม้ลูกจะไม่โต ไม่อ้วน จะมีรสชาติหวานและมีกลิ่นหอมมากกว่ากล้วยน้ำว้าจากที่อื่น ยิ่งเวลาสุก ลักษณะเปลือกจะไม่แข็ง จะนุ่ม อีกทั้งยังเหมาะในการนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ดีมาก โดยเฉพาะกล้วยตากของอำเภอสังคม จะมีชื่อเสียงมาก และได้รับการคัดเลือกให้เป็น OTOPProduct Champion”

สำหรับสายพันธุ์กล้วยน้ำว้าของอำเภอสังคมนั้น เป็นกล้วยน้ำว้าสายพันธุ์พื้นเมืองที่มีลักษณะแตกต่างจากกล้วยน้ำว้าโดยทั่วไป ในส่วนของชื่อสายพันธุ์ มีคำตอบว่า…

“ไม่เคยคิดตั้งชื่อพันธุ์กันเลย เรียกกันแต่ว่า เป็นสายพันธุ์กล้วยจากอำเภอสังคมเท่านั้น”เกษตรอำเภอสังคมกล่าว

ในขณะที่ขนาดของเครือกล้วยจะไม่ใหญ่มากนัก โดย 1 เครือ จะมีจำนวนหวีเฉลี่ย 7-10 หวี แต่หากเป็นพื้นที่ปลูกใหม่ เป็นกล้วยที่ให้เครือ 1-2 เครือแรก ได้จำนวนมาก 12-14 หวี แต่หลังจากนั้นปริมาณหวีที่ได้ต่อเครือจะลดลง จนอยู่ในช่วง 7-9 หวี แต่ละหวีจะมีผลกล้วย ประมาณ 14-15 ลูก

โดยในพื้นที่ปลูก 1 ไร่ จะได้ผลผลิต ประมาณ 2,000 หวี ต่อปี

ปลูกกล้วยแบบธรรมชาติ เน้นตัดใบ ตัดเครือ

สำหรับรูปแบบการปลูกกล้วยของอำเภอสังคมนั้น เกษตรอำเภอบอกว่า จะมีการปลูกเพื่อให้สามารถได้ประโยชน์ใน 2 รูปแบบ คือ  หนึ่ง การปลูกเพื่อ ขายเครือกล้วย สอง การปลูกเพื่อ ตัดใบขาย

“ทั้งนี้ เมื่อมาเฉลี่ยแล้ว ทั้ง 2 รูปแบบ สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้ดีเหมือนกัน”เกษตรอำเภอสังคมกล่าว

นั่นหมายความว่า ในพื้นที่ปลูกกล้วย 1 แปลงนั้น ขณะที่ต้นกล้วยยังไม่ให้เครือ เกษตรกรจะใช้ประโยชน์ในการตัดใบจำหน่าย แต่เมื่อเกษตรกรเริ่มเห็นว่าต้นกล้วยนั้นกำลังเริ่มติดเครือ จะหยุดการตัดใบ และปล่อยให้ต้นกล้วยต้นนั้นเจริญเติบโตตามปกติ เพื่อตัดเครือจำหน่าย

“ในกรณีที่ต้นกล้วยต้นนั้นติดเครืออยู่ และยังมีการตัดใบอยู่อีก จะส่งผลทำให้เครือกล้วยไม่เจริญเติบโต มีลักษณะเล็กแกร็น”คุณพิทักษ์ วานิชย์ อาจารย์จากสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอสังคม ( กศน. สังคม) ซึ่งปัจจุบันได้นำเรื่องราวของการปลูกกล้วยมาจัดเป็นวิชาเลือก ให้นักศึกษาของ กศน. ได้เรียนรู้ และเกิดการพัฒนาในอาชีพการปลูกกล้วยกล่าวเสริมและว่า

“ดังนั้น เมื่อมีเครือเกิดขึ้น เกษตรกรจะปล่อยกล้วยนั้นไว้ตามธรรมชาติ แต่ถ้าถามว่า มีการจัดการดูแลอย่างไร ตรงนี้บอกได้เลยว่า การปลูกกล้วยในเขตอำเภอสังคม เกษตรกรไม่เคยต้องทำอะไรเลย ปุ๋ยเคมี การฉีดยาต่างๆ ไม่มี ปล่อยให้เจริญเติบโตเป็นตามธรรมชาติอย่างเดียว”

คุณพิเชษฐ์ และ คุณบัวพา หลานวงศ์ สองสามีภรรยา อยู่บ้านเลขที่ 123 หมู่ที่ 5 บ้านวังมน ตำบลวังม่วง เป็นหนึ่งในเกษตรกรที่มีรายได้เป็นอย่างดีจากการปลูกกล้วยน้ำว้า โดยมีพื้นที่ปลูก 20 ไร่ โดยแบ่งทั้งส่วนที่เป็นพืชหลัก และพืชเสริมในแปลงปลูกยางพารา

“ผมมาปลูกกล้วยน้ำว้าขาย ประมาณ 10 ปีแล้ว สาเหตุที่มาทำเพราะเห็นว่าเป็นพืชที่ปลูกง่าย ไม่ต้องมีการดูแลมาก ไม่ต้องใส่ปุ๋ยอะไรเลย งานหนักที่สุดคือ คอยตัดหญ้า วัชพืช ปีหนึ่ง 2-3 ครั้ง และตัดแต่งใบไม่ให้มีใบแห้งติดต้น เพราะป้องกันการเกิดโรคระบาดเข้าทำลายเท่านั้น”

“ที่นี่ไม่เคยมีใครเสียเงินซื้อปุ๋ยเคมีมาใส่กล้วยน้ำว้ากันหรอกครับ เราปล่อยให้กล้วยเจริญเติบโตตามธรรมชาติ” คุณพิเชษฐ์กล่าว

ส่วนระยะปลูกกล้วยที่นิยมกันในพื้นที่ คุณพิเชษฐ์ กล่าวว่า ถ้าเป็นกรณีที่ปลูกเพื่อตัดใบขายนั้น จะนิยมปลูกถี่ เพื่อให้ได้จำนวนใบที่มากขึ้น โดยปลูกที่ระยะ 4×4 เมตร

ส่วนการปลูกเพื่อตัดเครือกล้วยขาย จะปลูกระยะ 5×5 เมตร เพื่อต้องการให้ได้ต้นที่สมบูรณ์ให้เครือกล้วยที่ใหญ่

“ในสวนกล้วย เราสามารถปลูกพืช อย่าง ข่า ตะไคร้ แซมเข้าไปด้วย เพราะจากประสบการณ์ของผม ถ้าปลูกพืชอื่นเสริมด้วยจะทำให้ต้นกล้วยเจริญเติบโตได้ดี และเราก็มีรายได้เพิ่มจากพืชอื่นที่ปลูกด้วย”

“ปกติถ้าปลูกใหม่จะปลูกในช่วงหลังปีใหม่ไปแล้ว เพราะถ้าไปปลูกช่วงที่ฝนตกชุก อย่างในช่วงเดือนมิถุนายนกล้วยจะไม่ค่อยโต ใช้หน่อที่เป็นสาวขนาดเล็กไม่ใหญ่มาก เพราะถ้าปลูกโดยใช้หน่อใหญ่จะทำให้ติดเครือเร็ว ซึ่งเป็นลักษณะที่เราไม่ต้องการ เพราะต้องตัดใบจำหน่าย จึงจะเลือกหน่อที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก เพื่อให้สามารถตัดใบได้นานขึ้นอีก ทั้งไม่หนักในเวลาขนมาปลูก” คุณพิเชษฐ์ กล่าว

อาจารย์พิทักษ์ กล่าวเสริมว่า จากการสังเกตช่วงที่เหมาะคือ ตั้งแต่เดือนเมษายนไปจนถึงพฤษภาคม จะเหมาะสมกับการปลูกกล้วยน้ำว้า ถ้าปลูกในช่วงฝนชุกดินจะแฉะ ต้นจะเปื่อย แต่ถ้าเหง้าไม่ตาย อีกระยะหนึ่งจะแตกต้นใหม่ ซึ่งจะให้ผลผลิตช้ากว่ากล้วยที่ปลูกในรุ่นเดียวกัน

ส่วนจำนวนต้นกล้วย ต่อ 1 กอนั้น เกษตรกรเจ้าของสวนบอกว่า หน่อขึ้นมาเท่าไร ก็ปล่อยเท่านั้น ไม่มีการตัดหน่อออก เพราะต้องการจำนวนต้นให้ขึ้นมามากที่สุด เพื่อทั้งการตัดใบและตัดเครือ

หลังจากปลูกแล้ว ประมาณ 8-12 เดือน จะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้

ในการปลูกกล้วยหากไม่มีโรคระบาดที่สำคัญอย่างโรคตายพรายเข้าทำลาย จะเก็บผลผลิตได้นาน ประมาณ 7-8 ปี จึงรื้อกอทิ้งแล้วปลูกใหม่

“ปกติกล้วยที่ให้เครือในปีแรกจะไม่นิยมตัดใบ เพราะจะเป็นช่วงที่ให้เครือใหญ่ จำนวนหวีมาก” อาจารย์พิทักษ์ กล่าวเสริม

การปลูกกล้วยของสองสามีภรรยาดังกล่าว จะใช้ระบบดังที่กล่าวข้างต้นคือ หากต้นไหนเริ่มติดเครือจะหยุดการตัดใบ จะตัดใบเฉพาะต้นที่ยังไม่ออกเครือ

“การตัดใบนั้น จะมีลักษณะการหมุนเวียน โดยเมื่อตัดใบจากต้นนี้แล้ว อีก 1 อาทิตย์ ก็สามารถหมุนกลับมาตัดใบใหม่ได้อีกครั้ง เป็นอย่างนี้เรื่อยไป โดยการตัดใบนั้นจะตัดเฉพาะใบแก่พอดี มีลักษณะใบเขียวเป็นมัน หากเป็นใบที่อ่อนเมื่อตัดลงมาจะมีปัญหาใบเหี่ยวง่าย” คุณบัวพา กล่าว

ความยาวของก้านใบที่เหมาะสมในการตัด อยู่ที่ประมาณ 1.20 เมตร ขึ้นไป

การตัดใบของเกษตรกรในพื้นที่จะเริ่มตัดตั้งแต่เช้าในขณะที่แดดยังไม่แรง เพื่อป้องกันไม่ให้ใบตองถูกแดดนานและเกิดอาการใบเหี่ยวไม่สวย

“ปกติจะเข้าสวนมาตัดใบ ประมาณ 7 โมงเช้า ซึ่งการตัดจะนานเท่าไร ขึ้นอยู่กับจำนวนมัดที่เราต้องการนำไปส่ง แต่ปกติทำ 2-3 ชั่วโมง ก็เสร็จ” ผู้เป็นภรรยากล่าว

สำหรับการตัดใบขายนั้น คุณบัวพา บอกว่า จะได้รับโควต้ามาจากพ่อค้าที่เข้ามารับซื้อ ว่าแต่ละวันต้องส่งใบตองให้กี่มัด

“มัดหนึ่ง จะใส่ใบตอง ประมาณ 7 ก้าน โดยนำมาผ่าครึ่งแล้วพับทำเป็นมัด แต่ช่วงหน้าแล้งจำนวนใบจะต้องใส่มากกว่านี้เพราะขนาดใบเล็ก ไม่ค่อยสวย แต่หน้าแล้งจะเป็นช่วงที่ใบตองมีราคาดีมาก เพราะปริมาณใบตัดได้จะน้อย”

ทั้งนี้ คุณพิเชษฐ์ บอกว่า ราคาใบตองที่ขายได้ในขณะนี้ อยู่ที่มัดละ 13 บาท แต่ในช่วงหน้าแล้ง ราคาจะขยับสูงขึ้น โดยอาจสูงถึง มัดละ 18-20 บาท

“พอเริ่มเดือนพฤศจิกายน ราคาใบตองที่จำหน่ายจะเริ่มสูงขึ้น และไปแพงมากที่สุดในช่วงสงกรานต์ และเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูฝนราคาจะลดลงมาเป็นปกติ”

ซึ่งไม่เฉพาะใบตองเท่านั้นที่ราคาจะสูง เครือกล้วยที่จำหน่ายได้ก็จะมีราคาสูงเช่นกัน โดยอาจารย์พิทักษ์กล่าวเสริมว่าในช่วงหน้าแล้งเป็นช่วงที่กล้วยน้ำว้าจะให้รสชาติหวานอร่อยมาก แต่จะเป็นช่วงที่ให้ผลผลิตน้อยลง โดยจากปกติที่กล้วย 1 เครือ อาจมี 7-9 หวี แต่ช่วงหน้าแล้ง 1 เครือ สูงสุดเต็มที่จะไม่เกิน 7 หวี

“ในมุมมองของผมคิดว่า การปลูกเพื่อตัดใบขาย จะสร้างรายได้ให้ดีกว่าการตัดเครือขาย เพราะขายได้ทุกวัน แต่ปลูกเพื่อตัดเครือ ในพื้นที่ 20 ไร่ ของผมเดือนหนึ่งจะตัดเครือขายได้ ประมาณ 700-800 หวี เท่านั้น แต่ใบตองตัดขายได้ทุกวัน” คุณพิเชษฐ์ กล่าวเสริม

สำหรับใบตองจากกล้วยน้ำว้าของอำเภอสังคมนั้น ทั้งหมดจะถูกรวบรวมและส่งไปให้กับผู้ประกอบการผลิตหมูยอในภาคอีสาน

“คนที่ทำหมูยอขายจะนิยมนำใบตองไปห่อ ซึ่งข้อดีของใบตองจากกล้วยน้ำว้าคือ เมื่อห่อหมูยอแล้วจะไม่ทำให้มีรสขม แต่ถ้าเป็นกล้วยตานี เอาไปห่อหมูยอแล้วจะมีรสขม” คุณพิเชษฐ์ กล่าว

ในส่วนของการจำหน่ายผลผลิตอื่นๆ นอกจากใบตอง และเครือกล้วยน้ำว้าแล้ว เจ้าของสวนยังบอกว่า สามารถจำหน่ายหน่อพันธุ์และหัวปลีได้อีกด้วย

สำหรับหน่อกล้วยที่จะจำหน่าย ตกอยู่ที่ประมาณ 4-5 บาท โดยจะมีการสั่งซื้อเข้ามามากในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งทางเกษตรกรจะขุดหน่อจำหน่ายตามจำนวนที่สั่งซื้อเข้ามา

ส่วนปลีกล้วย จะมีพ่อค้าในหมู่บ้านรอรับซื้อด้วยเช่นกัน โดยราคาอยู่ที่ หัวละ 3 บาท

ส่วนต้นกล้วย หลังจากที่ตัดเครือแล้ว โดยมากเกษตรกรในพื้นที่ยังไม่มีการนำไปใช้ประโยชน์อื่น โดยเมื่อตัดเครือแล้วจะตัดต้นทิ้งไว้ในสวนให้ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยไปตามธรรมชาติ