โค่นสวนส้ม! หันปลูกสตรอเบอรี่ ส่งดอยคำ เปิดเคล็ดลับ ปลูกได้ลูกโต-สวย

ช่วงนี้ใครไปแอ่วเมืองเหนือ ย่อมจะได้ลิ้มชิมรสสตรอเบอรี่ที่มีวางขายอยู่ทั่วไปตามเส้นทางท่องเที่ยวสำคัญของหลายจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ เชียงราย หรือแม่ฮ่องสอน ฯลฯ โดยเฉพาะบนดอยต่างๆ อย่างถ้าใครขึ้นไปดอยอ่างข่าง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะผ่านบ้านปางควาย ที่นี่ก็มีเกษตรกรหลายรายที่ปลูกสตรอเบอรี่

คุณธนพร พัฒนาวรกุล

คุณธนพร พัฒนาวรกุล ก็เป็นเกษตรกรอีกรายที่ปลูกผลไม้ลูกสีแดงนี้ด้วย ในเนื้อที่ 3 ไร่ ชื่อไร่ชลธาร โดยมีหน้าร้านขายอยู่ติดกับตัวไร่ นอกจากลูกค้าจะได้ซื้อสตรอเบอรี่จากไร่สดๆ กันแล้ว ยังสามารถเข้าไปชมสวนและถ่ายรูปกันได้อย่างสนุกสนาน

 

เน้นพันธุ์พระราชทาน 80

ทั้งนี้ ก่อนที่จะมาปลูกสตรอเบอรี่ คุณธนพรเคยปลูกลิ้นจี่และส้มมาก่อน แต่ช่วงหลังอากาศแปรปรวน ส้มมีปัญหาเลยโค่นทิ้ง แล้วหันมาปลูกสตรอเบอรี่แทน เพราะทางโรงงานหลวงที่ฝางส่งเจ้าหน้าที่มาให้คำแนะนำและยังรับซื้อผลผลิตอีกด้วย

เจ้าของไร่ชลธาร วัยกว่า 40 ปี เล่าให้ฟังว่า ปลูกสตรอเบอรี่มา 4 ปีแล้ว ทั้งพันธุ์พระราชทาน 80 และมีอีกพันธุ์คือ พันธุ์ 329 แต่จะเน้นปลูกพันธุ์พระราชทาน 80 มากกว่า เพราะเป็นที่นิยมของลูกค้าที่ชอบรสชาติหวาน ไม่เปรี้ยว ผลผลิตแต่ละปีก็ดี เก็บได้ปีละ 3,000-4,000 กิโลกรัม อากาศปีสองปีนี้ก็ใช้ได้ สำหรับพันธุ์พระราชทาน 80 จะปลูกเพื่อขายผลสด ส่วนพันธุ์ 329 เน้นส่งเข้าโรงงานหลวงที่ 1 (ฝาง) ที่อยู่ในพื้นที่

การปลูกสตรอเบอรี่ก็เหมือนกับการปลูกพืชผักผลไม้ชนิดอื่นๆ ก็คือ จะต้องมีการเตรียมดิน เธอให้รายละเอียดว่า ช่วงแรกก่อนปลูก 1 เดือน ในเดือนสิงหาคม จะมีการไถดินตากไว้ ประมาณ 1 เดือน พร้อมใส่ปูนขาวเข้าไปปรับสภาพดิน แล้วใช้รถไถเพื่อขึ้นแปลง ซึ่งรถไถช่วยได้เยอะ แต่ก่อนใช้แรงงานคน ทำให้ช้าเสียเวลามาก และเปลืองค่าใช้จ่าย

พอรถขึ้นแปลงเสร็จก็ใช้คนงานไปปรับพื้นที่แปลงนิดหน่อย ที่สำคัญต้องเตรียมระบบน้ำให้ดี ที่ไร่ชลธารใช้ระบบน้ำ 2 ระบบ ทั้งสปริงเกลอร์และน้ำหยดด้วย ถ้าเป็นพันธุ์ 329 จะใช้ 2 อย่าง ทั้งสปริงเกลอร์และน้ำหยด แต่พันธุ์พระราชทาน 80 ใช้แต่สปริงเกลอร์เท่านั้น

ทั้งนี้ ก่อนจะลงไหลสตรอเบอรี่ คุณธนพร บอกว่า จะใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ลงไปก่อน พอปลูกแล้วก็ให้น้ำทุกวันช่วงเช้า ซึ่งถ้าให้น้ำสม่ำเสมอต้นจะสมบูรณ์ ถ้าไร่ไหนไม่มีน้ำพอก็ให้แบบวันเว้นวัน แต่โชคดีที่ไร่ชลธารน้ำดี ในส่วนของน้ำหมักชีวภาพนั้น เกษตรกรในพื้นที่มีการรวมกลุ่มกันทำ และที่ไร่ยังใส่ปุ๋ยขี้ค้างคาวด้วย ทำให้ลูกสวย โดยใส่ช่วงแรกก่อนจะออกดอกออกลูก เป็นการบำรุงต้นให้แข็งแรงสมบูรณ์

 

เพลี้ยไฟ ระบาดช่วงร้อน

ไร่ชลธารนั้น เป็นการทำเกษตรแบบปลอดภัย มีการใช้สารเคมีบ้างอย่างที่คุณธนพรระบุ ทางไร่เน้นใช้ปุ๋ยอินทรีย์ อย่าง พวกน้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก แต่บางครั้งก็ใช้สารเคมีบ้าง กรณีที่มีโรคระบาดรุนแรง อย่างพวกเพลี้ยไฟในช่วงที่อากาศร้อน แต่ปีนี้ยังไม่ได้ใช้เลย เพราะอากาศยังเย็นอยู่

คุณธนพรแจงว่า ในการซื้อไหลมาปลูกนั้น ต้องดูไหลที่สมบูรณ์ด้วย ซึ่งสังเกตได้ไม่ยาก ต้องเป็นใบเขียวไม่แข็งไม่เหลือง พอลงไหลแล้วนอกจากจะให้น้ำอย่างสม่ำเสมอแล้ว ยังต้องหมั่นลงเช็กแปลงตลอด ถ้าผิดสังเกต เช่น เริ่มเห็นใบเหี่ยว เหลือง ควรกำจัดออกทันที

พร้อมกันนี้คุณธนพรยังใช้ฮอร์โมนที่ทำจากน้ำหมักชีวภาพด้วย ซึ่งหมักไว้ใช้เอง มีทั้งหมักจากมะนาว มะกรูด และเศษผักต่างๆ โดยจะฉีดตอนเช้าหรือไม่ก็ฉีดตอนเย็น เพราะถ้าฉีดตอนกลางวันอาจจะมีปัญหาเรื่องความร้อนและทำให้เกิดใบไหม้

คุณธนพร บอกว่า ช่วงที่ต้องดูแลเป็นพิเศษคือ ช่วงที่จะเริ่มออกดอกจะต้องระมัดระวัง ซึ่งเมื่อลงไหลได้ประมาณ 2เดือน ต้นสตรอเบอรี่ก็จะเริ่มออกดอกและไหลพร้อมกัน ซึ่งชุดแรกที่ออกจะติดต้นไหลมา ดังนั้น จะออกดอกออกลูกไม่เยอะ ลูกไม่ใหญ่และไม่ค่อยสมบูรณ์ บางไร่จะเด็ดดอกเด็ดลูกชุดแรกออกเลย เพราะจะรอดอกชุดสอง ชุดสาม ซึ่งลูกจะโตสมบูรณ์มากกว่า

ทั้งนี้ ในช่วงฝนตก อากาศเปลี่ยน ก็ต้องดูแลเป็นพิเศษเช่นกัน คือต้องให้อากาศถ่ายเท ถ้าฝนตกต้องใช้สารชีวภาพไตรโคเดอร์มา พ่นฆ่าเชื้อให้ต้านทานโรคได้ ส่วนสารเคมีก็ใช้บ้าง แต่ก่อนจะเก็บผลผลิต ระยะ 10-15 วัน จะไม่ใช้สารเคมีเลย

เจ้าของไร่ชลธาร บอกว่า 4 ปี ของการปลูกสตรอเบอรี่ ช่วงทำใหม่ๆ ก็เจอปัญหา รู้สึกท้อเหมือนกัน เพราะจับไม่ถูกทาง แต่พอทำไปเรื่อยๆ ศึกษาหาความรู้ข้อมูลจากคนมีประสบการณ์ และดูจากยูทูบ รวมทั้งคลุกคลีและเอาใจใส่ตลอด ถ้าอากาศโอเค ไม่ร้อนจัดก็ไม่มีปัญหา สามารถเก็บผลผลิตได้ 3-4 รุ่น ตั้งแต่เดือนธันวาคมจนถึงเดือนเมษายน ซึ่งหักลบค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว แต่ละปีจะเหลือรายรับ ประมาณ 300,000-400,000 บาท

 

ลูกไม่สวย นำไปแปรรูป

สำหรับในช่วงแรกๆ ที่ผลผลิตออกมาประมาณเดือนธันวาคม-มกราคม ส่วนใหญ่ขายเองที่หน้าร้าน เพราะเป็นช่วงต้นฤดู ได้ราคาดี ตกกิโลกรัมละ 200-400 บาท โดยแพ็กเป็นกล่อง ลูกใหญ่จัมโบ้ ครึ่งกิโลกรัม ขาย 200 บาท ลูกเล็ก ครึ่งกิโลกรัม ขาย 100 บาท ส่วนที่ลูกไม่ได้ขนาดก็นำไปแปรรูปเป็นน้ำสตรอเบอรี่สด ขายขวดละ 25 บาท และบางส่วนนำไปอบแห้ง

คุณธนพรว่าลูกค้าที่ผ่านไปผ่านมา มักชอบซื้อสตรอเบอรี่ลูกใหญ่มากกว่า แต่ถ้าคนไหนมีงบฯ น้อยก็มักซื้อลูกเล็ก ส่วนการลงเก็บในไร่นั้น ถ้าเป็นช่วงที่กำลังออกผลก็จะไม่ให้เข้าไป เพราะกลัวผลผลิตเสียหาย ยกเว้นกรณีที่มีเด็กมาด้วยก็จะให้เข้า แต่ถ้าเป็นช่วงปลายฤดูก็ให้ไปถ่ายรูปหรือเก็บได้ตามใจชอบ

โรงงานหลวง ที่อำเภอฝาง นำสตรอเบอรี่สดมาแปรรูป

สำหรับจุดเด่นของไร่ชลธาร นอกจากจะติดถนนใหญ่แล้ว ยังเป็นไร่ที่ปลูกแบบเกษตรปลอดภัย (GAP) โดยเป็นลูกไร่ของโรงงานหลวง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า โรงงานดอยคำ จึงมั่นใจได้ในเรื่องคุณภาพความปลอดภัย ซึ่งทางไร่จะส่งผลผลิตเข้าโรงงานประมาณเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป ในราคากิโลกรัมละ 50-60 บาท เพราะเป็นช่วงที่โรงงานเปิดและสตรอเบอรี่ออกเยอะมาก ช่วงนั้นราคาจะไม่แพง ถูกที่สุดในไร่ขายอยู่ที่ กิโลกรัมละ 100-150 บาท

คุณธนพร ถ่ายทอดประสบการณ์ในการปลูกสตรอเบอรี่ ผลไม้ทำเงินชนิดนี้ที่ใช้เวลาระยะสั้นแค่ 5 เดือนกว่า ตอนแรกลงทุนทำเพียงไร่เดียวก่อน ลองดูว่าเป็นอย่างไร พอทำได้ไม่ยากเกินกำลัง เราก็ค่อยๆ เพิ่มพื้นที่ ซึ่งถ้าสนใจจะปลูกก็ไปปรึกษาที่โรงงานหลวงที่ 1 (ฝาง) ได้ จะมีบุคลากร มีทีมส่งเสริม เพียงขอให้เกษตรกรมีพื้นที่และมีน้ำ หลักๆ คือ ต้องมีน้ำเพียงพอ

สนใจผลผลิตของไร่ชลธาร ติดต่อสอบถามได้ที่ โทร. (062) 308-8797

 

ต้องขยายพื้นที่เพิ่ม

คราวนี้มาคุยกับ คุณธนกิจ จันทรสมบัติ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร โรงงานหลวงที่ 1 (ฝาง) กันบ้าง เขาอธิบายว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรในพื้นที่ส่งผลผลิตให้โรงงาน 15 ราย โดยปลูกในระดับที่ต่างกันตามพื้นที่ที่เกษตรกรมี ประมาณรายละ 1-2 ไร่ เพราะสตรอเบอรี่เป็นพืชที่ต้องการการดูแล ถ้าปลูกปริมาณเยอะก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้ผลผลิตเยอะ ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าของไร่จะเอาใจใส่ขนาดไหน

คุณธนกิจ จันทรสมบัติ

ในจำนวนเกษตรกร 15 รายนี้ ผลผลิตได้ประมาณ ปีละ 40-50 ตัน ซึ่งยังไม่พอเพียงสำหรับการใช้ผลิต ทางเจ้าหน้าที่ส่งเสริมจึงต้องขยายพื้นที่ปลูกให้มากขึ้น ส่วนใหญ่ปลูกพันธุ์พระราชทาน 80 ซึ่งปีนี้ทางดอยคำมีนโยบายส่งผลสดไปขายใน กทม. มากขึ้น

คุณธนกิจ กล่าวว่า ในการส่งเสริมนั้น ตั้งแต่แรกต้องลงไปดูพื้นที่ก่อนว่า จะขึ้นแปลงปลูกอย่างไร ใช้วัสดุอะไร ช่วงเหมาะสมที่ปลูกคือ เดือนตุลาคม หลังปลูกแล้วต้องไปติดตามว่ามีการระบาดของโรคและแมลงหรือเปล่า

ที่ผ่านมามีปัญหาเพลี้ยไฟในช่วงหน้าร้อนเท่านั้น ถ้าอากาศหนาวอยู่ไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งถ้าอยู่ในระดับที่ยังไม่ระบาดจะแนะนำให้เกษตรกรใช้สารชีวภาพ ใช้สารชีวภัณฑ์ไปกำจัดศัตรูพืช เพื่อไม่ให้มีอันตรายต่อผู้บริโภค แต่ถ้าถึงขั้นผลผลิตเริ่มเสียหาย ต้องแนะนำให้ใช้สารเคมีแล้วแต่โรคและแมลง ซึ่งเกษตรกรเหล่านี้ใช้ระบบ GAP เป็นเกษตรปลอดภัย

นับเป็นเกษตรกรอีกรายที่ปลูกสตรอเบอรี่แล้วประสบความสำเร็จ มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ ที่สำคัญผู้บริโภครับประทานได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องกลัวเรื่องสารเคมีตกค้าง

ที่มา เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์