อดีตข้าราชการ ปลูกส้มโออินทรีย์ หลังเกษียณ โกยรายได้ทะลุหลักแสนต่อปี

“ลุงอุบล การะเวก” อดีตข้าราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทย ได้ตัดสินใจลาออกก่อนเกษียณ เมื่ออายุ 56 ปี เพื่อทำสวนส้มโอ บนที่ดินมรดก เนื้อที่ 8 ไร่ ของคุณพ่อ บ้านเลขที่ 31 หมู่ที่ 6 ตำบลบางเตย อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม 73210 ปัจจุบัน สวนแห่งนี้นับเป็นสวนส้มโออินทรีย์แห่งแรกและหนึ่งเดียวในพื้นที่ตำบลบางเตย

ครอบครัวของลุงอุบลทำสวนส้มโอมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ เมื่อลาออกจากราชการมาดูแลรับผิดชอบสวนส้มโอแห่งนี้อย่างเต็มตัวเมื่อ 8 ปีก่อน ต้นส้มโอที่ปลูกมาตั้งแต่สมัยคุณพ่อนั้น มีหลายช่วงอายุ ทั้งต้นส้มโออายุ 20 ปี ไปจนถึงต้นส้มโออายุ 40-50 ปี ที่ยังให้ผลผลิตที่ดี มีรายได้เพียงพอสำหรับเลี้ยงดูครอบครัว ต่อมา ปี 2554 เกิดปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ในพื้นที่ภาคกลาง ต้นส้มโอเจอน้ำท่วมขังนาน ประมาณ 45 วัน ทำให้ต้นส้มโอยืนต้นตายหมดทั้งสวน ลุงอุบลต้องมาลงทุนทำสวนส้มโอใหม่อีกรอบ โดยหาซื้อกิ่งพันธุ์ส้มโอขาวน้ำผึ้งและทองดี อย่างละ 150 ต้น จากแหล่งพันธุ์ที่มีคุณภาพดีและเชื่อถือได้

การปลูกดูแล

ลุงอุบล วัย 64 ปี เล่าให้ฟังว่า ผมหาซื้อกิ่งส้มโอ จำนวน 300 ต้น มาปลูกในแปลงยกร่อง ในระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 7-8 ศอก รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกเล็กน้อย หลังปลูกก็ดูแลให้น้ำต้นส้มโอตามปกติ พื้นที่ 1 ไร่ สามารถปลูกส้มโอได้ 40 ต้น ที่นี่ดูแลจัดการสวนแบบผสมผสาน ภายในสวนปลูกแซมด้วยกล้วยหลากหลายพันธุ์ รวมทั้งมะนาว เพื่อให้มีผลผลิตขายได้ทั้งปี

ลุงอุบล นำต้นส้มโอพันธุ์ขาวน้ำผึ้งมาปลูกสลับแปลงกับต้นส้มโอพันธุ์ทองดี จนเต็มพื้นที่ 8 ไร่ เช่นเดียวกับเกษตรกรชาวสวนส้มโอจำนวนมากที่เชื่อว่า การปลูกส้มโอคนละพันธุ์แบบสลับแปลงกันจะช่วยให้ผลส้มโอไร้เมล็ด ซึ่งลุงอุบลได้ข้อสรุปว่า ความเชื่อดังกล่าวไม่ได้ผลเต็มร้อย เพราะทุกวันนี้ ผลผลิตที่ได้ยังมีเมล็ดอยู่ แต่เจอผลส้มโอที่ไร้เมล็ดอยู่บ้าง

“ช่วงแรกที่ลงกิ่งตอนต้องใช้ปุ๋ยเคมีประคองให้ต้นแตกกิ่งอ่อน ประมาณ 5-6 เดือน จนต้นเป็นพุ่มจึงหยุดใช้ปุ๋ยเคมี จากนั้นหันมาใช้น้ำหมักมูลสุกรคอยรดโคนต้น เพราะน้ำหมักมีธาตุอาหารของดินครบถ้วน คือ N-P-K พอๆ กับปุ๋ยเคมีที่โฆษณากัน นอกจากนี้ จะช่วยปรับสภาพให้ดินเป็นกรดเป็นด่างดีขึ้น” ลุงอุบล กล่าว

การบริหารจัดการสวนส้มโออินทรีย์

ลุงอุบล หัวหน้ากลุ่มเกษตรอินทรีย์หอมเกร็ด เครือข่ายสามพรานโมเดล เล่าให้ฟังว่า สมัยรุ่นคุณพ่อ ใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีในการดูแลสวนส้มโอ แต่เนื่องจากผมไม่ชอบสารเคมีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงค่อยๆ ปรับลดปริมาณปุ๋ยเคมีลง หันมาศึกษาเรื่องการทำน้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยหมักชนิดต่างๆ เพื่อทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี ต่อมาผมได้รู้จักกับ มูลนิธิสังคมสุขใจ ที่ขับเคลื่อนโครงการสามพรานโมเดล ทำให้ได้รับองค์ความรู้ในเรื่องมาตรฐานการทำเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจร ทำให้มีพี่เลี้ยงที่คอยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับวิธีการจัดการในเรื่องต่างๆ อีกทั้งยังแนะนำช่องทางการตลาดให้อีกด้วย

“สามพรานโมเดล ไม่ได้เข้ามาช่วยเหลือ แต่เข้ามาสอนให้เรารู้จักการทำธุรกิจ การบริหารจัดการ ให้เราคำนวณต้นทุนเป็น เน้นการจดบันทึก ซึ่งทำให้รู้ต้นทุนที่แท้จริง และสามารถกำหนดราคาขายเองได้ กระบวนการเหล่านี้ยังสามารถคำนวณรายได้ล่วงหน้าที่ค่อนข้างแน่นอน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีมากสำหรับเกษตรกร” ลุงอุบล กล่าว

หลังจากลุงอุบลหันมาทำสวนส้มโอระบบอินทรีย์ พบว่า ตั้งแต่เลิกใช้ปุ๋ยเคมี สามารถลดต้นทุนได้ราว 80-90% เพราะรายได้ส่วนใหญ่หมดไปกับการซื้อปุ๋ยเคมี แต่เมื่อเข้าสู่ระบบอินทรีย์ ต้นทุนเราแค่ซื้อมูลสัตว์ (สุกร) เพื่อมาหมักทำปุ๋ยคอก ส่วนสมุนไพรที่ทำน้ำหมักชีวภาพต่างๆ เราหาเองได้ ซื้อก็ราคาไม่สูงนัก นอกจากนี้ มีค่าน้ำมันสำหรับเครื่องตัดหญ้า ค่าไฟไปสำหรับการให้น้ำทางสปริงเกลอร์ และอื่นๆ บ้างเท่าที่จำเป็น ส่วนเงินที่เหลือนั่นคือ กำไร

อย่าง น้ำสกัดจากมูลสุกร สารสกัดจากสะเดา ไตรโคเดอร์มา เชื้อราบิวเวอเรีย สามารถทำได้เอง เช่น น้ำหมักมูลสุกร ขั้นตอนการทำไม่ยุ่งยากเลย โดยใช้มูลสุกรแห้ง 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 7 ลิตร หมักทิ้งไว้ 1 วัน 1 คืน แล้วตักตะกอนขึ้นมาเก็บไปใส่โคนต้นส้มโอต่อ หลังจากนั้น ทิ้งน้ำหมักไว้ 1 เดือน เพื่อให้หมดก๊าซ จากนั้นนำไปผสมน้ำ 20 ลิตร เพื่อใช้รดโคนต้น 15 วันรดครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ ยังใช้สารชีวภาพฉีดป้องกันเพลี้ยไฟแดง ซึ่งผสมรวมกันกับน้ำหมักมูลสุกรฉีดพ่นเพื่อประหยัดแรงงาน

หรือการทำเชื้อราไตรโคเดอร์มา เพื่อใช้ป้องกันรากเน่า โคนเน่า ก็ทำได้ไม่ยาก โดยนำมาเพาะเชื้อเองให้อาหารเป็นรำข้าว จากเชื้อราเพียงน้อยนิดเมื่อได้รำข้าวจะแพร่กระจายไปได้เร็ว นำมาผสมน้ำฉีดจะฉีดก่อนเข้าช่วงหน้าฝน ผสมกับน้ำหมักมูลสุกรเช่นกันรดไปทีเดียว

สารชีวภาพเหล่านี้ไม่ได้ทำให้แมลงตาย แต่จะทำหน้าที่ควบคุมแมลงศัตรูพืชไม่ให้ขยายพันธุ์ ที่คุมได้อยู่คือ เพลี้ยไฟ ไรแดง สวนที่ใช้สารเคมี บางครั้งใช้ยาแล้วยังเอาไม่อยู่ ต้องยอมให้เพลี้ยไฟลงทั้งสวน ส่วนปัญหาโรคหนอนชอนใบใช้เชื้อราบิวเวอเรีย ที่สำคัญการเลือกใช้ธรรมชาติมาดูแลต้นส้มโอตั้งแต่ต้นจะช่วยทำให้อายุของต้นยืนยาว

ทั้งนี้ ในสวนของลุงอุบล นอกจากส้มโอ ยังปลูกกล้วยหลากหลายพันธุ์ รวมทั้งมะนาวแซมไว้ระหว่างต้นส้มโอ เพื่อให้มีผลผลิตเหล่านี้ขายได้ทั้งปี และที่สำคัญการทำสวนอินทรีย์ลดต้นทุนเห็นได้ชัด เพราะจากที่ลุงอุบลบอกเล่าถึงวิธีการใช้ปุ๋ย ใช้สารชีวภาพต่างๆ มีค่าใช้จ่ายน้อยมาก แต่ที่ลงทุนมากเห็นจะเป็นแรงกาย และความเพียรมากกว่า

ข้อดีของการปลูกส้มโออินทรีย์

ลุงอุบล แจกแจงคุณลักษณะพิเศษของส้มโอที่ผลิตระบบอินทรีย์ให้ฟังว่า ส้มโออินทรีย์ เนื้อจะแห้งไม่ฉ่ำน้ำ แม้จะเก็บไว้หลายวัน ส่วนความหวานนั้นอาจจะน้อยกว่าที่ใช้สารเคมี แต่ไม่ต่างกันมาก หวานแบบธรรมชาติ ทั้งนี้ส้มโอที่ใช้เคมีก่อนเก็บจะใส่ปุ๋ยเพิ่มความหวาน เท่ากับว่ากินความหวานจากปุ๋ยเคมีเข้าไป

โดยทั่วไป พ่อค้ามักซื้อส้มโออินทรีย์ในราคาเท่ากับส้มโอที่ปลูกโดยใช้สารเคมี โดยรับซื้อส้มโอพันธุ์ทองดี ในราคาหน้าสวน ลูกละ 40 บาท ขาวน้ำผึ้ง 100-120 บาท แต่ลุงอุบลส่งส้มโออินทรีย์ขายให้กับโรงแรมสามพราน ริเวอร์ไซด์ ผ่านโครงการสามพรานโมเดลได้ในราคาที่สูงกว่า สำหรับส้มโอพันธุ์ทองดี ขายได้ลูกละ 90 บาท ส้มโอพันธุ์ขาวน้ำผึ้ง ขายได้ลูกละ 150 บาท เนื่องจากทางโรงแรมเปิดโอกาสให้เกษตรกรสามารถกำหนดราคาขายได้เองตามความเหมาะสมที่ทั้งสองฝ่ายรับได้

“ผมยืนยันได้ว่า การทำส้มโออินทรีย์ไม่ยากเลย เพียงแต่เกษตรกรยึดติดกับเคมีมากเกินไป ถ้าใจยอมที่จะเปลี่ยนก็สามารถเอาชนะสิ่งต่างๆ ได้ไม่ยาก เพียงแค่อดทนในช่วงระยะปรับเปลี่ยน 1-2 ปีแรกเท่านั้นเอง พอปีที่ 3 เริ่มเห็นผลความเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน ทั้งในเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของดิน ระบบนิเวศที่เกื้อกูลกับธรรมชาติ ส่วนผลผลิตที่ได้รูปร่างไม่ได้ต่างจากเคมีมากนัก ผิวสวย ผลโต รสชาติก็ดี” ลุงอุบล กล่าว

ปัจจุบัน สวนของลุงอุบล มีพื้นที่ทั้งหมด 8 ไร่ ปลูกส้มโอพันธุ์ขาวน้ำผึ้งและพันธุ์ทองดีมีอายุ 5 ปีแล้ว ให้ผลผลิตแล้วกว่า 20-30% จากจำนวน 800 ต้น ที่ปลูกไว้ทั้งหมด เนื่องจากเจอปัญหาโรคโคนเน่าคุกคาม

“ช่วงปีแรก ต้นส้มโออาจให้ผลผลิตได้ไม่เยอะ หากต้นส้มโอโตเต็มที่ ส้มโอพันธุ์ขาวน้ำผึ้งจะให้ผลผลิต ประมาณ 50-60 ลูก ต่อต้น ต่อปี ส่วนพันธุ์ทองดี จะได้ประมาณ 80-100 ลูก ต่อต้น ต่อปี ซึ่งปกติส้มโอจะออกลูกครั้งแรกตอนอายุประมาณ 6 ปี และถ้าไม่มีปัญหาเรื่องรากเน่าโคนเน่าสามารถให้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้นาน 20-30 ปีเลยทีเดียว” ลุงอุบล บอก

เมื่อตัวเองค้นพบความสุขที่แท้จริงในวัยเกษียณ ก็หวังอยากให้เพื่อนเกษตรกรที่ปลูกส้มโอ หันมาทำสวนส้มโอระบบอินทรีย์กันมากขึ้น อย่างน้อยช่วยลดต้นทุนในการผลิต อย่างมากคือเพื่อสุขภาพที่ดีของตัวเองและคนในครอบครัว รวมถึงผลพลอยได้ที่กระจายสู่ผู้บริโภคโดยไม่คิดหวงความรู้ หากใครสนใจอยากเรียนรู้เคล็ดลับความสำเร็จการทำสวนส้มโออินทรีย์ สามารถสอบถามและขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ลุงอุบล การะเวก โทร. (089) 134-8499 หรือ Facebook/สามพรานโมเดล

 

ที่มา เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์