วิศวกรไฟฟ้า โบกมือลาเงินเดือนแสน หันทำเกษตรอินทรีย์ที่สามพราน สุขใจ รายได้ดี

สวนเกษตรอินทรีย์ ของ “ลุงประกฤติ เกิดมณี” หนึ่งในตัวอย่างเกษตรกรเครือข่ายสามพรานโมเดล ที่ประสบความสำเร็จในการทำเกษตรระบบอินทรีย์ และใช้ “ตลาดสุขใจ” เป็นช่องทางกระจายสินค้าเกษตรอินทรีย์คุณภาพดีสู่มือผู้บริโภค
ระยะหลัง กระแสรักสุขภาพของผู้คนในสังคมเมืองเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้ โครงการ “สามพรานโมเดล” หันมาโปรโมตส่งเสริมการท่องเที่ยวแหล่งผลิตพืชผักผลไม้อินทรีย์ในพื้นที่อำเภอสามพราน ซึ่งสวนผลไม้อินทรีย์ ของ ลุงประกฤติ เป็นหนึ่งในจุดเรียนรู้วิถีเกษตรอินทรีย์ที่ผู้มาเยือนมีโอกาสสัมผัสบรรยากาศการล่องเรือโฟมไปตามร่องสวนเพื่อเรียนรู้วิธี การดูแล การเก็บเกี่ยวผลผลิต พร้อมเลือกซื้อผลไม้อินทรีย์กลับบ้านกันอย่างสนุกสนาน
“หยุดใช้สารเคมี” เพื่อชีวิตปลอดภัย
ลุงประกฤติ เกิดมณี เกิดในครอบครัวชาวสวนย่านคลองจินดา เรียนรู้การปลูกผัก ผลไม้ โดยใช้สารเคมีตามรอยพ่อแม่ตั้งแต่อายุ 12 ขวบ จวบจนอายุ 30 กว่า ก็พบว่าร่างกายเจ็บป่วยอ่อนเพลียโดยไม่มีสาเหตุ หมอเจาะเลือดไปตรวจ ก็พบว่า มีสารเคมีตกค้างในกระแสเลือดสูงมาก หากไม่หยุดการใช้สารเคมี สุขภาพจะยิ่งย่ำแย่ลงไปเรื่อยๆ และอาจถึงตายได้ ลุงประกฤติ เริ่มปรับการผลิตผลไม้เข้าสู่มาตรฐาน เกษตรปลอดภัย (GAP) เมื่อปี 2549 หลังจากนั้นจึงค่อยยุติการใช้สารเคมีทั้งหมด ก่อนปรับตัวเข้าสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์อย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่ ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน

“เก่ง” ทายาทรับช่วงกิจการ

ทุกวันนี้ ลุงประกฤติและภรรยามีความสุขมาก เพราะลูกชายคนเล็ก วัย 35 ปี ชื่อ “คุณเก่ง-บัณฑิต เกิดมณี” ยอมทิ้งตำแหน่งผู้จัดการบริษัทที่มีค่าตอบแทนหลักแสนบาทต่อเดือน มาช่วยพ่อแม่ทำสวนผลไม้อินทรีย์อย่างเต็มตัว คุณเก่ง เรียนจบด้านวิศวะไฟฟ้า เคยทำงานบริษัทเอกชนหลายแห่ง ในตำแหน่งวิศวกรไฟฟ้า ก่อนจะรับตำแหน่งผู้จัดการหลายบริษัท เช่น ซีพีออลล์ บริษัท มาลีสามพราน ฯลฯ ที่มีรายได้หลักแสนต่อเดือน
คุณเก่ง ยอมลาออกจากงานที่กำลังเติบโตก้าวหน้า เพราะต้องการทำงานใกล้ชิดพ่อแม่ ได้อยู่กับธรรมชาติ และได้ใช้ชีวิตอย่างอิสระ ไม่ต้องรับคำสั่งเป็นลูกน้องใคร เป็นแค่เจ้านายตัวเอง เขาไม่ห่วงกังวลเรื่องตัวเลขรายได้ เพราะช่วงฤดูผลไม้อินทรีย์ออกเยอะ ก็มีรายได้เข้ากระเป๋าหลายแสนบาท มากกว่าเงินเดือนที่เคยได้รับเสียอีก

พื้นที่ทำกิน เนื้อที่ 7 ไร่ แห่งนี้ ได้ใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า ปลูกผลไม้อินทรีย์ผสมผสานหลายชนิดในแปลงเดียวกัน เช่น ชมพู่ทับทิมจันท์ มะเฟือง บี 17 ฝรั่ง มะม่วง กระท้อน มะพร้าวน้ำหอม ฯลฯ โดยแหล่งรายได้ของสวนแห่งนี้ มาจากผลไม้สำคัญคือ “ชมพู่ทับทิมจันท์” ปลูกในลักษณะแปลงยกร่อง ปลูกต้นชมพู่ ในระยะห่าง ประมาณ 3 วา และปลูกต้นฝรั่งอินทรีย์บริเวณขอบแปลงยกร่อง โดยโน้มต้นฝรั่งให้ออกมาแนวร่องน้ำ เพื่อไม่ให้ลำต้นเบียดบังแสงของต้นชมพู่ทับทิมจันท์

ชมพู่ทับทิมจันท์ ปลูกจำนวน 200 ต้น ขณะนี้ต้นที่เติบโตสมบูรณ์ให้ผลผลิตแล้วมีจำนวน 160 ต้น โดยทั่วไป ต้นชมพู่ทับทิมจันท์หลังปลูก ประมาณ 18-24 เดือน ก็จะเริ่มเก็บผลผลิตออกขายได้เฉลี่ยปีละ 1 ครั้ง จะทยอยเก็บผลผลิตเข้าสู่ตลาด ประมาณ 5 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม-พฤษภาคม หลังห่อผล รอไปอีก 20 วัน ก็เก็บผลผลิตออกขายได้ทุกสัปดาห์ เมื่อปีที่แล้วมีรายได้ สัปดาห์ละ 10,000-20,000 บาท หรือเดือนละ 200,000 กว่าบาท หักค่าใช้จ่ายแล้วยังเหลือผลกำไรก้อนโต เพราะค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นต้นทุนค่าแรงงานภายในครอบครัว
สวนแห่งนี้ยังมีสินค้าขายดีอีกชนิดคือ ชมพู่เพชรสามพราน ที่มีลักษณะเด่น คล้ายชมพู่เพชร แต่ผลโตผิวมันสีเขียวอมชมพู เนื้อกรอบ รสชาติหวาน อร่อย ติดลูกเป็นช่อๆ ช่อละ 5-6 ผล ลุงประกฤติ ได้กิ่งพันธุ์ต้นชมพู่เพชรสามพราน จากต้นแม่เพียงต้นเดียว เป็นต้นเก่าแก่ซึ่งปลูกอยู่ที่บ้านน้าของคุณลุง จึงนำมาปลูกขยายพันธุ์เพื่อรักษาสายพันธุ์ชมพู่เพชรสามพรานให้เป็นมรดกแก่ท้องถิ่นต่อไป ปัจจุบัน สามารถเก็บผลผลิตชมพู่เพชรสามพรานออกขายสัปดาห์ละ 150 กิโลกรัม นำไปวางขายที่ตลาดสุขใจ ในราคากิโลกรัมละ 50-70 บาท ขณะที่ชมพู่สายพันธุ์อื่นๆ ซื้อขายในราคากิโลกรัมละ 30-40 บาท


ชมพู่เพชรสามพราน


มะเฟือง บี 17 ขายดีตลอดทั้งปี

หากเปรียบ “ชมพู่ทับทิมจันท์” คือสินค้าที่เชิดหน้าชูตา ระดับพระเอกในสวนแห่งนี้ มะเฟือง บี 17 ก็เปรียบเสมือนนางเอก ที่สร้างรายได้หลักตลอดทั้งปี สวนแห่งนี้ปลูกต้นมะเฟืองมานานกว่า 40 ปี เริ่มจากปลูกมะเฟืองพันธุ์ไทย ที่มีรสชาติหวานอร่อย แต่มีจุดอ่อนคือ เน่าเสียได้ง่าย จึงเปลี่ยนมาเสียบยอดใหม่เป็นมะเฟือง พันธุ์ บี 17 แทน ประมาณ 300 กว่าต้น ทุกวันนี้ ต้นมะเฟือง บี 17 ให้ผลผลิตคุณภาพดีตรงตามความต้องการของตลาด มะเฟือง บี 17 ขนาดผลใหญ่ เฉลี่ย 3-4 ผล ต่อกิโลกรัม มีรสชาติอร่อย มีผลผลิตตลอดทั้งปี เฉลี่ยเดือนละ 20,000 บาท ช่วงฤดูมะเฟือง อยู่ประมาณสิงหาคม-ตุลาคม จะให้ผลผลิตดกมาก เคยใช้ถุงห่อผลครั้งละ 50,000 ผล ทีเดียว

หลักการดูแลสวนผลไม้อินทรีย์
คุณเก่ง บอกว่า แปลงปลูกชมพู่ จะใส่ปุ๋ยขี้ไก่บำรุงต้นในช่วงต้นปี เมื่อต้นชมพู่เริ่มผลิดอกออกผลจะใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ของ ปฐมอโศก เพื่อช่วยบำรุงผลอีกทางหนึ่ง เมื่อสิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยวประมาณช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม จะใส่ปุ๋ยขี้ไก่อีกครั้ง โดยหว่านรอบทรงพุ่มต้นชมพู่ เพื่อบำรุงต้นชมพู่ให้สมบูรณ์ แข็งแรง พร้อมให้ผลผลิตในรุ่นต่อไป แต่ละปีจะใส่ปุ๋ยขี้ไก่ในแปลงปลูกชมพู่ ประมาณ 150 กระสอบ
หลังเลิกใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมี สภาพดินในสวนก็ปรับตัวดีขึ้น ไม่มีปัญหาดินกรด ดินด่าง เหมือนในอดีต ทุกวันนี้ คุณเก่งใช้ปุ๋ยคอกประเภทปุ๋ยขี้ไก่ใส่บำรุงดินเท่านั้น ก็ช่วยให้สภาพดินดีขึ้น ต้นไม้เจริญเติบโต แข็งแรงตามธรรมชาติ ชมพู่ทับทิมจันท์ที่ปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์จะมีผลขนาดใหญ่กว่าปกติ เนื้อแห้ง กรอบ และมีรสหวานโดนใจผู้บริโภคมากกว่าชมพู่ที่ปลูกดูแลด้วยสารเคมี เนื้อชมพู่มักฉ่ำน้ำ แถมเน่าเสียได้ง่าย
ในอดีตชมพู่ทับทิมจันท์ที่ปลูกโดยใช้สารเคมี ขายส่งในราคากิโลกรัมละ 10-20 บาท เมื่อปรับดูแลในระบบผลไม้อินทรีย์ ก็ขายผลผลิตในราคาสูงขึ้น เฉลี่ยกิโลกรัมละ 70-80 บาท ลูกค้าส่วนใหญ่ต่างติดใจรสชาติความอร่อยของชมพู่อินทรีย์ วางขายที่ตลาดสุขใจสามพราน ผลผลิตมีมากเท่าไหร่ ก็ขายได้หมด ตอนนี้เริ่มมีห้างสรรพสินค้าสั่งซื้อชมพู่และมะเฟือง บี 17 ไปวางขายในห้าง ไม่ต่ำกว่า วันละ 300 กิโลกรัม
กำจัดแมลงศัตรูพืช
ด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน

คุณเก่ง บอกว่า สวนผลไม้อินทรีย์มักมีโรคและแมลงศัตรูพืชรบกวนบ่อยกว่าสวนที่ปลูกด้วยการใช้สารเคมี จึงทำน้ำหมักชีวภาพจากภูมิปัญญาชาวบ้านมาใช้ดูแลป้องกันโรคและแมลง วิธีทำก็แสนง่าย เช่น

สูตรแรก คุณเก่ง จะนำผลหมากสุกสีแดงที่คนแก่ชอบกิน นำมาทุบเอาเปลือกหมากออกก่อน แล้วจึงค่อยนำเปลือกหมากมาหมักแช่เหล้าขาว ประมาณ 1-2 ชั่วโมง จะได้น้ำหมักที่มีกลิ่นเหม็นมาก ให้นำไปฉีดพ่นไม้ผลที่กำลังมีผลผลิต แมลงผลไม้จะเกิดอาการเมาจนถึงขั้นตายในที่สุด

สูตรที่สอง คุณเก่ง แนะนำให้ใช้ พริกแกง มาแช่น้ำ ประมาณ 1-2 ชั่วโมง จนเกิดฟองแก๊สที่มีกลิ่นฉุน จึงนำไปฉีดพ่นต้นไม้ จะทำให้หนอน เพลี้ย และแมลงผลไม้ หนีหายไป จุดอ่อนของน้ำหมักชีวภาพคือ มีฤทธิ์อ่อน เสื่อมได้ง่าย เมื่อหมักแล้วควรนำไปใช้งานทันที และควรฉีดพ่นบ่อย ทุกๆ 2-3 วัน เพื่อป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ครอบครัวเกิดมณียังใช้ “ขวดน้ำดักแมลงวันผลไม้” ที่เกิดจากภูมิปัญญาของลุงประกฤติ หลังสังเกตเห็นว่า กะเพราที่ภรรยานำมาล้างน้ำและทิ้งไว้ข้ามคืน มีแมลงวันผลไม้เข้ามาไต่ตอมกะเพราเป็นจำนวนมาก จึงเกิดแนวคิดที่จะทำขวดดักแมลงวันผลไม้ โดยใช้ขวดน้ำ ขนาด 1.5-2 ลิตร จำนวน 2 ขวด

ขวดแรก ตัดเฉพาะส่วนที่เป็นปากขวด ขวดที่สอง ใช้ไม้บรรทัดวัดจากก้นขวดขึ้นมา ประมาณ 4-5 นิ้ว ก่อน จึงค่อยเจาะขวดให้เป็นรูกว้าง นำปากขวดที่เตรียมไว้มาสวมในรูกว้างที่เจาะไว้ เทน้ำสะอาดในขวดให้มีความสูงประมาณ 2-3 นิ้ว ขั้นตอนสุดท้ายนำฝาจุกขวดน้ำมาเจาะรูตรงกลางเพื่อร้อยเชือกผูกขวด หลังจากนั้น นำกะเพรา จำนวน 2-3 กิ่ง มาผูกกับเชือกบริเวณฝาขวด ปล่อยให้ช่อกะเพราห้อยโตงเตงอยู่บริเวณคอขวดที่ใช้เป็นกับดัก

นำขวดดักแมลงวันผลไม้ที่ทำเสร็จแล้ว ไปห้อยบริเวณกิ่งในร่มเงาต้นไม้ที่กำลังผลิดอกออกผล กลิ่นกะเพราจะล่อแมลงวันทองให้บินเข้าไปปากขวดที่เจาะไว้เป็นกับดัก และบินออกมาไม่ได้ เมื่อแมลงวันผลไม้บินเข้ากับดักมากขึ้นให้เขย่าขวดเพื่อให้แมลงวันหล่นลงในน้ำที่อยู่บริเวณก้นขวด กับดักตัวนี้จะช่วยล่อแมลงวันผลไม้ได้เป็นจำนวนมาก เรียกว่าใช้ต้นทุนต่ำ แต่ได้ผลดีเกิน 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเศษซากแมลงวันสามารถนำไปใช้เป็นอาหารเลี้ยงปลาได้อีก
หากใครสนใจอยากแลกเปลี่ยนแนวคิดเรื่องการทำสวนผลไม้อินทรีย์ หรือสนใจอยากเยี่ยมชมสวนผลไม้อินทรีย์ของครอบครัว เกิดมณี สามารถติดต่อกับคุณเก่งได้โดยตรง ครอบครัวนี้อาศัยอยู่ บ้านเลขที่ 75/6 หมู่ที่ 4 ตำบลคลองจินดา อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม 73110 โทร. (086) 9011-028 หรือติดต่อทางอีเมล [email protected]