มีเท่าไหร่ไม่เคยพอ! ขายผักป่าผักพื้นบ้าน เจาะกลุ่มคนไกลบ้าน สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ

มีเท่าไหร่ไม่เคยพอ! ขายผักป่าผักพื้นบ้าน เจาะกลุ่มคนไกลบ้าน สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ
มีเท่าไหร่ไม่เคยพอ! ขายผักป่าผักพื้นบ้าน เจาะกลุ่มคนไกลบ้าน สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ

มีเท่าไหร่ไม่เคยพอ! ขายผักป่าผักพื้นบ้าน เจาะกลุ่มคนไกลบ้าน สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ

มีขายเท่าไหร่ไม่เคยพอ! ผักป่า ผักบ้าน อย่าง ชะอม ดอกกระเจียว ผักเสี้ยว ผักแขยง ผักแพว ใบขี้เหล็ก ใบเหลียง ฯลฯ ผักที่เหมือนจะหากินง่าย แต่ไม่ง่ายในเมืองกรุง จุดนี้ทำให้ คุณสากล วงศา หรือ เจ้เอ๋ อายุ 52 ปี เจ้าของร้านผักป่าผักพื้นบ้านที่ตลาดสี่มุมเมือง และยังเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มเกษตรกรชุมชน จังหวัดนครนายก เกิดปิ๊งไอเดีย ขายผักพื้นบ้านผักป่าให้คนไกลบ้านได้กินให้หายคิดถึง

คุณสากล วงศา หรือ เจ้เอ๋ อายุ 52 ปี
คุณสากล วงศา หรือ เจ้เอ๋ อายุ 52 ปี

ก่อนเข้าวงการขายผัก เจ้เอ๋ ทำอะไรมาก่อน

อาชีพดั้งเดิมคือเปิดร้านสเตนเลส ที่นครนายก รับทำประตูรั้ว รับงานช่างต่างๆ แล้วก็ปลูกผักหวานบ้านควบคู่ไปด้วย โดยส่งให้พี่สาวที่มีร้านอยู่ตลาดสี่มุมเมืองขาย ตอนนั้นผักหวานบ้านที่ส่งไปขายเป็นที่ต้องการของตลาดฯ มากๆ เรียกว่าติดตลาดเลย มีเท่าไหร่ก็ไม่เคยพอ จึงเกิดแนวคิดรวมกลุ่มเกษตรกรชุมชนขึ้นมา ซึ่งผักที่ขายมาจากลูกไร่ในกลุ่มเกษตรกรชุมชน จังหวัดนครนายก

โดยกลุ่มเกษตรกรชุมชนนี้เจ้เอ๋เป็นผู้รวบรวมและจัดตั้งขึ้นมาด้วยตัวเอง มีการช่วยเหลือกันในกลุ่มตั้งแต่สอนปลูก สอนหาต้นกล้า ไปจนถึงรับซื้อผลผลิต มีการนัดประชุมในกลุ่มวางแผนการปลูกในแต่ละไตรมาส โดยเจ้เอ๋จะเป็นคนอธิบายสรุปข้อมูลให้กับสมาชิกในกลุ่ม ให้มีทั้งความรู้และความเข้าใจเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน สำหรับร้านสเตนเลส ตอนนี้ส่งต่อให้กับลูกชายดูแล ส่วนตัวเจ้เอ๋ลงมาลุยทำเกษตรเต็มตัว 100%

ขายผักป่าผักพื้นบ้าน เจาะกลุ่มคนไกลบ้าน
ขายผักป่าผักพื้นบ้าน เจาะกลุ่มคนไกลบ้าน

จากผักหวานบ้านขายดีจนปลูกไม่ทัน เจ้เอ๋ จึงปิ๊งไอเดียขายผักบ้าน ผักป่า ให้คนไกลได้หายคิดถึงบ้านเกิด หลายคนจากถิ่นฐานบ้านเกิดเข้ามาทำงานในเมือง

“ถ้าไม่ได้กลับบ้าน การได้กินอาหารท้องถิ่นของตัวเองก็ทำให้พอหายคิดถึงครอบครัวได้บ้าง มีแรงมีกำลังใจได้ทำงานสู้ต่อไป ผักที่ร้านจึงเป็นผักพื้นบ้าน ผักป่า ผักตามฤดูกาล ก็มี เช่น ผักแว่น ผักส้มป่อย ใบชะมวง ใบตูมแขก ใบติ้ว ผักเสม็ด ลูกหว้า ลูกข้าวเม่า ใบสะเดา ชะอม ดอกกระเจียว ผักเสี้ยว ผักแขยง ผักแพว ใบขี้เหล็ก ใบเหลียง ฯลฯ จะมีหมุนเวียนกันทั้งปี ที่ขายดีสุดๆ จะเป็น ผักหวานบ้าน ผักกูด หน่อข่าอ่อน เพราะกินง่าย เอาไปทำอาหารก็ง่าย” เจ้เอ๋ เล่าให้ฟัง

กลุ่มเกษตรกรชุมชน
กลุ่มเกษตรกรชุมชน

ก่อนเล่าต่อ

“เราเป็นเกษตรกรปลูกเอง ปลูกเสร็จเอาไปขาย บางวันเขาก็รับซื้อ บางวันก็ไม่รับซื้อ แต่ค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นทุกวัน มีลูกต้องเลี้ยง บางวันเงินซื้อข้าวซื้อนมให้ลูกก็ไม่มี จะทำยังไงถ้าขายผักไม่ได้ จำเป็นต้องดิ้นรนเอาตัวรอด จึงตั้งปณิธานว่าต้องตั้งหลักและเดินได้ด้วยตัวเอง

ตอนนั้นมีคนรู้จักช่วยแนะนำให้ตั้งกลุ่มเกษตรกรชุมชนขึ้นมา เขาบอกว่าเรามีหัวทางการตลาด โจทย์คือ มีคนปลูกแล้ว แต่เราต้องหาที่ขาย เขาก็ช่วยผลักดันให้ขึ้นมาเป็นผู้นำ ผักชนิดแรกหลังจากตั้งกลุ่มแล้ว คิดว่าเอาผักหวานที่บ้านฉันนี่แหละ และที่แรกที่นำไปขายคือที่ตลาดสี่มุมเมือง ปรากฏว่าผลตอบรับดีมาก ทำให้เรามีทุนมากพอที่จะจัดตั้งกลุ่มและขยายธุรกิจให้เติบโตขึ้น ซึ่งกลุ่มเกษตรกรชุมชนนี้จัดตั้งมาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 หรือประมาณ 28 ปีได้ ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 50 ครัวเรือน”

และว่า “ทางกลุ่มมีการจัดประชุมกันอย่างต่อเนื่อง มีการแลกเปลี่ยน พูดคุย ปรึกษารับฟังปัญหาต่างๆ เพื่อกำหนดทิศทางร่วมกัน ส่วนเรารับหน้าที่เป็นคนสรุปให้สมาชิกในกลุ่มว่าบ้านไหน ครัวเรือนไหน พื้นที่ใดควรปลูกอะไร เพื่อไม่ให้ผลผลิตของสมาชิกซ้ำกัน ผลผลิตต้องพอดี และเพียงพอต่อความต้องการของตลาด

ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องคุมปริมาณผลผลิตไม่ให้ล้นตลาดป้องกันราคาตก เช่น บ้านนี้ปลูกชะมวง บ้านนี้ปลูกผักติ้ว จำนวนกี่พันต้นก็ว่าไป โดยปัจจุบันเรามีกลุ่มเกษตรกรชุมชน เข้าร่วมกลุ่มอยู่ 2 ตำบล คือ ตำบลพรหมณี และตำบลศรีกะอาง จังหวัดนครนายก”

ขายผักป่าผักพื้นบ้าน เจาะกลุ่มคนไกลบ้าน
ขายผักป่าผักพื้นบ้าน เจาะกลุ่มคนไกลบ้าน

ถึงจะเป็นผักบ้านบ้าน แต่ก็มี GAP การันตีคุณภาพ 

เจ้เอ๋ เล่าต่อว่า ทั้งผักพื้นบ้าน ผักป่า ผักตามฤดูกาล ผลผลิตจากทุกสวนของสมาชิกกลุ่มเกษตรกรชุมชน จังหวัดนครนายก ได้รับมาตรฐานรับรอง GAP จากกรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร ถือว่าเป็นใบที่การันตีว่าผักที่จำหน่ายทั้งหมดเป็นการทำการเกษตรที่ดีตั้งแต่การปลูก สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ มีมาตรฐานสามารถส่งออกไปต่างประเทศได้ และที่สำคัญที่สุดคือ ปลอดภัยต่อทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค

สำหรับกลุ่มลูกค้าจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นพ่อค้าแม่ค้าตลาดสด ตลาดนัด กลุ่มนี้จะรับไปขายปลีกอีกต่อหนึ่ง เช่น ชะอม 1 กำ ราคา 18 บาท ก็สามารถนำไปแยกขาย ได้ 3-4 กำได้เลย สร้างกำไรได้ครึ่งๆ กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มซัพพลายเออร์ที่ส่งออกไปต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะส่งไปฮ่องกง และจีน นอกจากนี้ ก็มีส่งให้กับห้างใหญ่ทั่วประเทศด้วย

และกลุ่มสุดท้าย เป็นกลุ่มลูกค้าปลีกที่ส่วนใหญ่ทำงานในตลาดสี่มุมเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มรายได้น้อยกำลังซื้อไม่มาก แต่ทางร้านก็ยินดีแบ่งขายให้

“เราอยากให้เขาเอาไปทำกิน บางครั้งทางร้านก็แถมบ้างฟรีบ้าง แต่ต้องบอกก่อนว่าถึงจะแถมหรือให้ฟรี ก็เป็นผักเกรดเดียวกับผักที่ขาย ไม่ใช่ผักเน่าผักเหี่ยว ซึ่งคนรับก็ดีใจ คนให้ก็สุขใจ”

ยอดมะระ
ยอดมะระ

ในส่วนของรายได้ ในภาพรวมที่ยังไม่หักค่าใช้จ่ายจะอยู่ประมาณ 1,000,000-1,300,000 บาทต่อเดือน หรือขายได้ประมาณวันละ 1 ตันกว่าๆ และถ้าเฉลี่ยรายได้ต่อครอบครัวจะอยู่ที่ครอบครัวละ 15,000 บาทต่อเดือน

“ถ้าขยันก็จะได้เยอะกว่านี้ เพราะทางกลุ่มจะมีแผนการปลูกให้กับสมาชิกอยู่แล้วว่าแต่ละวันหรือแต่ละครั้งที่ส่งผักมาขายต้องส่งเท่าไหร่ ถ้าทำตามที่วางแผน จะการันตีรายได้ 15,000 บาทต่อเดือนแน่นอน สมาชิกหลายคนก็ทำได้บางคนทำได้เกินกว่านั้น เราก็รับซื้อหมดไม่อั้น ไม่เคยปฏิเสธผลผลิตจากสมาชิกในกลุ่มเลย เพราะอยากให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้น

ส่วนสถานที่จำหน่าย ได้ตลาดสี่มุมเมืองเป็นแหล่งกระจายผลผลิต ชีวิตเราพลิกผันจากชาวสวนธรรมดากลายเป็นแม่ค้าผักรายใหญ่ เป็นคนกลางที่เชื่อมระหว่างเกษตรกรกับผู้ซื้อ ด้วยความที่ชาวบ้านรักเรา สมาชิกในกลุ่มคอยช่วยเหลือกัน ผลักดันและสนับสนุนกัน จากกลุ่มเล็กๆ ก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ และประสบความสำเร็จมาจนถึงปัจจุบัน”

ผักอิหิ่น
ผักอิหิ่น

และถ้าหากมีเกษตรกรที่สนใจอยากจะเข้าร่วมกลุ่มด้วย เจ้เอ๋ก็ยินดีให้คำปรึกษา โดยเบื้องต้นอยากให้มาคุยกัน เพราะในแต่ละพื้นที่สภาพภูมิอากาศ สภาพดิน ปริมาณน้ำ จะมีความแตกต่างกัน ตรงนั้นควรปลูกอะไรถึงจะได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ

“ไม่จำเป็นต้องมีทุนเยอะ ขอแค่มีใจรักและตั้งใจจริงจากนั้นลงมือทำ เราพร้อมช่วยสนับสนุน เพราะอยากให้เกษตรกรไทยที่ทำไร่ทำสวนมีรายได้ที่มั่นคงและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจริงๆ” เจ้เอ๋ เล่าเสริม

สนใจสั่งสินค้า ช่องทางการติดต่อ พิกัด : ตลาดผักพื้นบ้าน ซอย 2 ร้านแรก เบอร์ติดต่อ : 087-012-6704