ผู้เขียน | ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ |
---|---|
เผยแพร่ |
“เมล่อน” เป็นพืชตระกูลแตง จะมีโรคและแมลงศัตรูที่มากพอสมควร ดังนั้น จึงมีการใช้สารป้องกันกำจัดโรคและแมลงมากพอสมควร โดยเฉพาะปลูกแบบกลางแจ้งหรือสภาพไร่ ซึ่งเกษตรกรบางท่านจึงจำเป็นต้องมีการเช่าที่เพื่อหลีกเลี่ยงการระบาดของโรคและแมลง ซึ่งการปลูกเมล่อนในโรงเรือนเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยได้มากในเรื่องของการป้องกันแมลงศัตรูขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ ทำให้การใช้สารป้องกันกำจัดโรคและแมลงน้อยลงมากจนเกือบจะไม่ได้ใช้เลยทีเดียว
อีกหนึ่งตัวอย่างสวนเมล่อนที่ปลูกเมล่อนในระบบโรงเรือน โดยประกอบเป็นอาชีพเสริมจากงานประจำ สร้างรายได้เป็นอย่างดีให้กับครอบครัว คุณอุเชนทร์ พุกอิ่ม หรือ คุณน้อย อายุ 42 ปี อยู่บ้านเลขที่ 35 หมู่ที่ 7 บ้านคลองเขาควาย ตำบลวังสำโรง อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร โทร. (098) 803-0107 เจ้าของสวนเมล่อนในโรงเรือน “ไร่ถุงทองฟาร์ม”
คุณอุเชนทร์ เล่าให้ฟังว่า ตนเป็นคนพิจิตร ไปทำงานอุตสาหกรรมเกี่ยวกับเลนส์สายตา ที่จังหวัดชลบุรี นานกว่า 20 ปี ที่หันมาปลูกเมล่อนในโรงเรือนเป็นอาชีพเสริม เนื่องจากการทำงานก็เริ่มอิ่มตัว คิดว่าอนาคตอยากกลับมาทำการเกษตรที่บ้านเกิด ด้วยแนวคิดที่ว่าอยากสร้างพื้นฐานไว้ล่วงหน้าก่อน
“ในขณะที่ตนเองยังมีรายได้จากงานประจำอยู่นั้น ก็อยากจะสร้างพื้นฐานเอาไว้ก่อนล่วงหน้า เมื่อถึงเวลาที่ตั้งใจไว้ว่าจะออกจากงานประจำ ซึ่งทุกอย่างค่อนข้างลงตัว มีโรงเรือนปลูก มีความรู้ มีประสบการณ์ที่ได้ปลูกจริง ก็จะง่ายกว่าที่ออกจากงานประจำเลย เอาเงินก้อนที่สะสมมาลงทุน มาลองผิดลองถูก เพราะยังไม่มีประสบการณ์ ไม่มีความรู้ กว่าจะประสบผลสำเร็จเงินก้อนที่ลงทุนไปอาจจะหมดไปก่อน ซึ่งมีความเสี่ยง สำหรับคนที่มีงานประจำมีรายได้หลักนั้นก็อย่าพึ่งทิ้งมาโดยทันที มาปูพื้นฐานให้ตัวเองเอาไว้ก่อน จนกว่างานเกษตรที่ปูพื้นฐานเอาไว้ไปได้ด้วยดี มีการตลาดรองรับเอาไว้ ก็ค่อยทิ้งจากงานประจำมาทำอย่างเต็มตัว น่าจะดีกว่า”
เลือกปลูกเมล่อน ตัดสินใจจากสิ่งที่ชอบ
คุณอุเชนทร์ อธิบายว่า เพราะส่วนตัวชอบรับประทานเมล่อน จึงศึกษาความเป็นไปได้ว่า ปลูกได้ดีหรือไม่ในพื้นที่ของอำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร สามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล ก็เริ่มศึกษาเพิ่มเติมจากอินเตอร์เน็ต เฟซบุ๊ก และจากกลุ่มคนปลูกเมล่อน พบว่า เมล่อนในโรงเรือนนั้นสามารถปลูกได้ทั้งปี สามารถควบคุมปัจจัยต่างๆ ได้ดีกว่าการปลูกแบบสภาพไร่ ที่สำคัญการปลูกเมล่อนในโรงเรือนมีการทำงานที่ไม่หนักจนเกินไป สามารถใช้แรงงานคนในครอบครัวได้ เพราะมองว่าถ้าอายุเยอะแล้วการทำเกษตรจะต้องไม่ควรจะทำงานหนัก แต่ผลตอบแทนที่ได้ผลกำไรพอสมควร อีกอย่างการปลูกเมล่อนยังมีน้อย เป็นพืชใหม่ของจังหวัดพิจิตร การแข่งขันเรื่องของการตลาดมีน้อย ตอนนี้ก็พยายามเผยแพร่ให้คนรู้จักสวนเรามากขึ้น ว่าที่จังหวัดพิจิตรก็มีสวนเมล่อน ปลูกเมล่อนรสชาติหวานรับประทานอร่อยได้
ปลูกเมล่อนในโรงเรือนต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ คุณอุเชนทร์ อธิบาย เช่น ในเรื่องของการให้น้ำให้ปุ๋ย ก็จะมีความสะดวกมากขึ้น เนื่องจากการให้น้ำให้ปุ๋ยนั้นจะนำตัวตั้งเวลา หรือเรียกว่า “ทามเมอร์ตั้งเวลา” ในการควบคุมทั้งหมด ทำให้ไม่ต้องเหนื่อยเดินรดน้ำรดปุ๋ย ปุ๋ยก็ใช้ปุ๋ยแบบที่ใช้ในผักไฮโดรโปนิก ซึ่งเป็นปุ๋ยเกล็ดละลายน้ำ เป็นสูตรที่ทำมาให้เหมาะสมกับเมล่อน ที่เรามักจะเรียกปุ๋ยเหล่านี้ว่า ปุ๋ย A, B มีขายสำเร็จรูป นำมาผสมน้ำตามสัดส่วนแล้วปล่อยเข้าระบบน้ำไป ใช้ปุ๋ยให้สอดคล้องกับช่วงระยะเวลาของการเจริญเติบโต เป็นระบบน้ำหยด ที่จ่ายให้กับพืชในโรงเรือน แบบอัตโนมัติ พร้อมปั๊มจ่ายปุ๋ย A, B ผสมกันเอง โดยที่คุณไม่ต้องกังวลเรื่องจัดการปุ๋ยอีกต่อไป เพราะระบบออกแบบมาให้ทำงานพร้อมกับปั๊มน้ำที่ปั๊มน้ำเพื่อส่งไปตามท่อ แล้วเข้าสู่หัวน้ำหยด
ระบบการตั้งเวลานั้น สามารถตั้งเวลารดน้ำ ช่วงละกี่นาทีก็ได้ เช่น 09.00 น รดน้ำ 2 นาที 12.00 น. รดน้ำอีก 5 นาที และสั่งให้ทำงานวันเว้นวัน หรือ 2 วัน ก็ได้ ที่สำคัญคือ ระบบจ่ายปุ๋ยไปพร้อมกับน้ำ โดยใช้ปั๊มน้ำความคงทนสูง ปั๊มปุ๋ยน้ำ A, B เพื่อผสม ตามเวลาที่รดน้ำพอดี ทำให้หมดกังวลเรื่องต้องมาผสมปุ๋ยใหม่ทุกวัน และวัดค่าทุกวัน โดยคุณยังสามารถปรับอัตราความเข้มข้นได้ และเรายังแถมตัววัดค่า EC ไปกับระบบนี้อีกด้วย และมีการใช้แผงโซล่าร์เซลล์ช่วยในการประหยัดค่าไฟในระยะยาว ไม่ต้องใช้ไฟฟ้า ประหยัดพลังงาน ใช้ไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ (Solar Cell) เพียงแผงเดียว
การสร้างโรงเรือนเมล่อน คุณอุเชนทร์ เล่าให้ฟังว่า ก็ได้สวนเมล่อนสวนใหญ่ที่เขารับสร้างโรงเรือน ออกแบบระบบต่างๆ ให้ และทั้งเป็นพี่เลี้ยงในเรื่องของการปลูกเมล่อนให้กับเรา จนกว่าเราจะเกิดความเข้าใจหรือความชำนาญในการปลูกและดูแลเมล่อนในโรงเรือน ซึ่งราคาโรงเรือนเมล่อนที่ตัดสินใจสร้าง คือ ขนาด 6×6 เมตร สูง 3 เมตร จำนวน 2 โรงเรือน ราคาโรงเรือนละ 80,000 บาท รวม 2 โรงเรือน เป็นเงิน 160,000 บาท และโรงเรือน หลังที่ 3 จำนวน 1 หลัง ขนาด 6×12 เมตร สูง 3 เมตร ราคา 150,000 บาท
โรงเรือนแม้จะมีราคาแพง แต่ด้วยเงื่อนไขของผู้ที่รับสร้างโรงเรือนให้ คือเขาจะเป็นพี่เลี้ยงให้และเขาจะปลูกเมล่อนให้ฟรี 1 รอบ โดยเขาจัดเตรียมเมล็ดพันธุ์, ปุ๋ยและฮอร์โมนต่างๆ มาให้ทั้งหมด เพื่อให้เราเรียนรู้ไปพร้อมกับเขา เราก็มีหน้าที่ดูแลเมล่อนตามคำแนะนำ เมื่อผลผลิตขายได้รุ่นแรก ก็ถือว่าเขาช่วยลดค่าใช้จ่ายเรื่องโรงเรือนปลูกเรา เมื่อหักลบผลผลิตเมล่อนที่ขายได้ในรุ่นแรกกับค่าโรงเรือนก็ถือว่าได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย แม้จะเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างสูงในการจ้างมืออาชีพมาสร้างโรงเรือนและเป็นพี่เลี้ยงให้ด้วย
เราเป็นมือใหม่ก็ไม่อยากผิดพลาดมากนัก อยากเรียนรู้กับคนที่มีความรู้ มีประสบการณ์มาก่อน เพื่อไม่ต้องมาเรียนรู้แบบลองผิดลองถูกให้เสียหาย ซึ่งคิดว่าเมื่อใดเราเกิดข้อผิดพลาดบ่อยๆ เสียหายบ่อยๆ ก็เหมือนเราเสียเงินจากความไม่รู้ สรุปว่า เหมือนเราซื้อหรือสร้างโรงเรือนแพงเหมือนกัน
โรงเรือน ขนาด 6×6 เมตร สามารถปลูกได้ จำนวน 200 ต้น โรงเรือนปลูกเมล่อน 6×12 เมตร สามารถปลูกได้ จำนวน 400 ต้น โดยใช้ระยะปลูก ประมาณ 20 เซนติเมตร แต่ก็ปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสม อย่างเช่น ระยะปลูก 20 เซนติเมตร ที่ตนเองใช้อยู่นั้น ค่อนข้างถี่ ก็จะใช้วิธีการตัดแต่งใบล่างออกบ้าง เพื่อช่วยอากาศและแสงแดดได้ถ่ายเท ไม่สะสมความชื้นมากจนเกินไป ทำให้เกิดเชื้อรา
สำหรับการปลูกเมล่อนไร่ถุงทองฟาร์ม ใช้วิธีการปลูกในซับสเตรตหรือการปลูกแบบไฮโดรโปนิกไม่ได้ใช้ดินแต่อย่างใด การใช้วัสดุทดแทนดินและปลูกอยู่ในถุง ซึ่งวัสดุที่เขาใช้คือ พวกแกลบดิบ ขุยมะพร้าว (หรือวัสดุปลูกที่หาได้ง่าย) กรอกใส่ถุงปลูกเมล่อนสีขาว ขนาด 6×7 นิ้ว เป็นถุงสีขาวที่ออกแบบมาพิเศษ ให้วางได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอน สามารถทนแดดได้นานไม่กรอบเปื่อยยุ่ย สามารถใช้ซ้ำได้หลายครั้ง
สายพันธุ์เมล่อนที่เลือก
ตอนนี้ปลูกเมล่อนหลายสายพันธุ์เพื่อทดลองสายพันธุ์ที่น่าสนใจ ดูการเจริญเติบโตว่าเหมาะสมกับพื้นที่หรือไม่ และสร้างความหลากหลายให้ลูกค้าได้ทดลองรับประทาน ได้รู้ว่าลูกค้าชอบเมล่อนประเภทใด อย่างที่ปลูกอยู่ตอนนี้ ก็จะมีเมล่อนสายพันธุ์จากญี่ปุ่นแท้ ชื่อ
พันธุ์ “อามาอิ ฮอกไกโด” ซึ่งได้ผลดี เนื้อสีเขียวหวานฉ่ำ กลิ่นหอม ผิวเป็นตาข่ายสวยงาม ความหวานสูงราว 15 บริกซ์
พันธุ์ “พอท ออร์เร้นจ์” เนื้อสีส้มเข้ม เนื้อฉ่ำนุ่ม กลิ่นหอม รสชาติดี ความหวานสูง ประมาณ 15-17 บริกซ์ รูปผลทรงกลม ผิวตาข่าย ขั้วเหนียว น้ำหนักต่อผล 1.5-2 กิโลกรัม อายุการเก็บเกี่ยว 80-85 วัน หลังหยอดเมล็ด ปลูกได้ตลอดปี ปลูกง่ายติดผลดี ทนโรคและเชื้อราได้ดี ปลูกได้ทั่วทุกภาค ทนทุกสภาพอากาศ แต่ก็มีจุดอ่อนเรื่องผลแตกง่ายถ้าดูแลไม่ดี
พันธุ์ “ฮามี่กั๋ว” (HamiGua Melon) หรือบ้านเราเรียก แตงทิเบต ซึ่งผลมีขนาดใหญ่ 2-3 กิโลกรัม เนื้อรสชาติ หอม กรอบ หวานเย็นอร่อยมาก กรอบ กลิ่นหอมเป็นเมล่อนชนิดหนึ่งของจีน นิยมรับประทานเป็นยาเย็น น้ำหนักผลดี อายุเก็บเกี่ยว 90 วัน นับจากเพาะเมล็ด
พันธุ์ “เอเชีย โกลเด้น” (Asia Golden) เมล่อนผิวสีเหลืองทอง ผลทรงกลม เนื้อสีขาว หวาน หอม เนื้อละเอียด รสชาติดี ขนาดผลโดยประมาณ 1.3-1.5 กิโลกรัม ความหวาน 13-15 บริกซ์ อายุการเก็บเกี่ยวหลังผสมเกสร ประมาณ 35-40 วัน
เมล่อน พันธุ์ “ราชินี 1” เนื้อสีเขียวอมน้ำผึ้ง ลายตาข่ายสวย และ พันธุ์“ราชินี 2” เนื้อสีส้ม หวาน หอม อร่อย ผิวตาข่าย ซึ่งทั้งสองสายพันธุ์เป็นเมล่อนลูกผสมของประเทศไทย ที่นำสายพันธุ์จากญี่ปุ่นมาพัฒนา ซึ่งตอนนี้สายพันธุ์เมล่อนมีให้เลือกปลูกเป็นจำนวนมาก สามารถสั่งซื้อได้ทางอินเตอร์เน็ตหรือตามเพจเมล่อนต่างๆ ในเฟซบุ๊ก
วิธีการปลูก
ที่นี่จะใช้วิธีการเพาะเมล็ดที่ถุงปลูกในโรงเรือนเลย ซึ่งคุณอุเชนทร์ อธิบายว่าถ้าเป็นที่อื่นนั้น อาจจะเพาะเมล็ดในถาดเพาะกล้าเสียก่อน หลังจากนั้น ราว 10-15 วัน หรือมีใบจริง 1-2 ใบ ก็จะย้ายปลูกลงถุงปลูกในโรงเรือน แต่วิธีการของผมจะเพาะเมล็ดที่ถุงปลูกเลย โดยนำเมล็ดพันธุ์มาแช่ในน้ำธรรมดา 1 คืน ให้เปลือกเมล็ดนิ่มและเป็นการกระตุ้นการงอก จากนั้นก็นำเมล็ดไปหยอดในถุงปลูก ซึ่งบริเวณที่จะหยอดกลบเมล็ดนั้น อาจจะใส่วัสดุปลูกอย่างพีทมอสส์หรือมีเดีย เพื่อช่วยให้เมล็ดงอกดี เมล็ดสามารถดันต้นให้โผล่พ้นวัสดุได้ง่าย แล้วราดด้วยยาป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น พวกยาเมทาแลคซิล หรือยาแคปแทน ซึ่งสามารถป้องกันเชื้อราเบื้องต้นได้
แต่การหยอดเมล็ดปลูกที่ถุงนั้น จะหยอดเมล็ดแบบถุงละ 1 เมล็ด สลับกับ ถุงละ 2 เมล็ด หยอดเมล็ดสลับแบบนี้กันไปทั้งโรงเรือน คือเพื่อไม่ให้เสียเวลากับบางถุงที่เมล็ดอาจจะไม่งอก ก็จะย้ายต้นกล้าจากถุงข้างๆ ที่งอก 2 ต้น แบ่งออกมาให้ถุงที่ว่าง แต่ข้อแนะนำสำหรับการแยกย้ายกล้าเมล่อน ควรย้ายในช่วงที่เมล่อนนั้นมีใบจริงสัก 3 ใบ ย้ายในช่วงเวลาเย็นที่อากาศไม่ร้อนจัด
ส่วนต้นที่มีจำนวนเกิน 2 ต้น ก็อาจจะย้ายมาปลูกสำรองไว้ในถุงจำนวนหนึ่ง ซึ่งอาจจะเอไว้ปลูกซ่อมในบางถุงที่ต้นมีการเจริญเติบโตไม่ดีหรือตาย ถ้ามีจำนวนมากเกินไปก็จะถอนต้นที่เกินทิ้งไป ซึ่งมาตอนหลังที่เราได้แหล่งที่เมล็ดมีคุณภาพสูง มีเปอร์เซ็นต์ความงอกสูงมาก ประมาณ 97-98 เปอร์เซ็นต์ ก็จะหยอดปลูก แค่ถุงละ 1เมล็ด และจะหยอดเกินอีกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ตรงนี้คงปรับให้เหมาะสม
การให้ปุ๋ย
จะให้ปุ๋ยทางรากและทางใบ ทางราก ก็จะให้ปุ๋ยผ่านระบบน้ำ ปุ๋ย A (จะมีธาตุอาหารหลัก N-P-K), ปุ๋ย B (จะมีธาตุอาหารรอง) ตามสูตรตามระยะการเจริญเติบโต ก็จะให้วันละประมาณ 5 ครั้ง เน้นการให้น้อยแต่บ่อยครั้ง โดยแบ่งเวลาให้ เริ่มให้ตั้งแต่เวลา 07.00 น. 09.00 น. 11.00 น. 13.00 น. 15.00 น. การให้ปุ๋ย A จะต้องละลายปุ๋ยในน้ำสะอาดเอาไว้ในถัง เช่นกัน ปุ๋ย B จะต้องละลายในน้ำสะอาดมีค่าความเป็นกรด-ด่าง (PH) เป็นกลางหรือกรดอ่อน คือ PH ประมาณ 6-7 อีก 1 ถัง ซึ่งตอนปล่อยเข้าระบบน้ำจะต้องให้ปุ๋ย A และ ปุ๋ย B ถูกส่งเข้าระบบน้ำพร้อมๆ กัน ในอัตราที่เราจะคำนวณเอาไว้ในแต่ละช่วงอายุของการเจริญเติบโต
วิธีใช้ ปุ๋ย A และ ปุ๋ย B
เบื้องต้น นำปุ๋ยมาละลายน้ำเพื่อเตรียมเป็นปุ๋ยสต๊อกก่อน 100 ลิตร จำนวน 2 ถัง ปุ๋ย A จำนวน 100 ลิตร และปุ๋ย B จำนวน 100 ลิตร แล้วนำแม่ปุ๋ยนั้นไปผสมน้ำเจือจาง ตามค่า EC ที่เหมาะกับพืช เช่น ผัก ค่า ที่ 1.2-1.5 และพืชที่ให้ผล 1.5-2.5 เป็นต้น