เผยแพร่ |
---|
กล้วย ถูกนำมาใช้แทนคำเปรียบเปรยในประโยคบ่อยครั้ง เช่น เรื่องกล้วยๆ ของกล้วยๆ หรือแม้กระทั่ง คำว่า ง่ายกว่ากล้วย ก็แสดงให้เห็นว่า กล้วย เป็นไม้ผลชนิดหนึ่งที่พบเห็นได้ง่าย นำมาใช้ประโยชน์ได้ง่าย รวมถึง ปลูกง่าย
การันตีการปลูกว่า “ง่าย” ได้ไม่ยาก ลองพิจารณาจากตรงนี้
พื้นที่เพียง 1 ตารางวา ก็สามารถปลูกกล้วย ให้ได้ผลผลิตดี งอกงาม ใช้ประโยชน์ในทุกส่วนจากต้นกล้วยได้ ไม่ยากจริงๆ
วิธีปลูก
– หลุมปลูก ควรขุดหลุมขนาดประมาณ 50 คูณ 50 เซนติเมตร (กว้างxยาวxสูง) ใส่ปุ๋ยรองก้นหลุม 3-4 กำมือ หากมีปุ๋ยคอก ให้ใช้ปุ๋ยคอก แต่ถ้าไม่มีให้ซื้อปุ๋ยชีวภาพมาใส่แทน
– พันธุ์ สายพันธุ์กล้วยจัดว่าเป็นสิ่งสำคัญ ถ้ามีสายพันธุ์ที่ดีก็วางใจไปเกินครึ่งว่า การปลูกกล้วยครั้งนี้จะประสบความสำเร็จ ได้เครือใหญ่ ผลสวย รสชาติดี แต่ถ้าสายพันธุ์ไม่แน่ชัด ก็ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจ เพราะกล้วย อย่างไรก็คือ กล้วย ถ้าไม่ใช่กล้วยป่าก็ไม่ต้องกังวล เพราะอย่างไรเสียก็ไม่มีเมล็ดในผลกล้วยให้รำคาญยามกิน
หน่อกล้วย หาซื้อได้ตามชอบใจ ตามร้านจำหน่ายพันธุ์ไม้ หากพื้นที่เพียง 1 ตารางวา จำนวน 1 หน่อ จัดว่ากำลังดี
เมื่อได้หน่อกล้วยมาแล้ว วางหน่อกล้วยลงในหลุมปลูก ควรกลบหลุมปลูกให้ดินพอกขึ้นคลุมโคนกล้วยพอสวยงาม
– การดูแลบำรุงรักษา หลังการปลูกเพียง 1 สัปดาห์ จะเริ่มเห็นใบอ่อนกล้วยแตกขึ้นใหม่ ควรเอาใจใส่ ดังนี้
- การรดน้ำ ให้รดน้ำทุก 2-3 วัน ถ้าฝนตกก็งดรดน้ำ แต่ถ้าไม่ได้อยู่บ้าน ขาดการรดน้ำ 1-2 สัปดาห์ ก็ไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับกล้วย
- การใส่ปุ๋ย ขอให้คำนึงถึงความสะดวก ใช้ปุ๋ยที่มีหรือหาซื้อง่าย ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี ปุ๋ยคอก ปุ๋ยชีวภาพ อัตราการใส่ปุ๋ย คำนวณจาก 1 กิโลกรัม ต้น/ปี แบ่งใส่ 3 เดือนครั้ง ครั้งละ 250 กรัม หรือมากกว่าก็ได้ ไม่มีผลกระทบอะไร
ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1 หลังปลูก 1 สัปดาห์ สูตร 15-15-15
ใส่ปุ๋ยหลังครั้งที่ 1 ประมาณ 3 เดือน ใช้สูตร 15-15-15
ใส่ปุ๋ยหลังครั้งที่ 2 ประมาณ 3 เดือน ใช้สูตร 15-15-15
ใส่ปุ๋ยหลังครั้งที่ 3 ประมาณ 3 เดือน ใช้สูตร 13-13-21
ปุ๋ยพืชสด เมื่อกล้วยออกจากเครือจนเราสามารถตัดได้ ให้นำต้นเก่ามาสับเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำกลับมาใส่ จะช่วยป้องกันความชื้น และเป็นปุ๋ยรอให้กับหน่อใหม่ที่จะเกิดขึ้นด้วย
- การตัดแต่งหน่อ และใบแก่
การไว้หน่อ และการตัดแต่งหน่อก็มีความสำคัญในการปลูกกล้วยมาก เพราะจะให้ต้นโต หรือต้นสมบูรณ์ดี พร้อมส่งผลไปถึงลูก หรือเครือกล้วยด้วย หากเราไม่ตัดแต่งหน่อกล้วยออกทิ้งบ้าง ก็จะกลายเป็นกล้วยแคระแกร็น
การตัดแต่งหน่อ ให้ตัดแต่งหน่อกล้วยที่ขึ้นมาในทุกๆ ช่วงอยู่ตลอด หากยังไม่ถึงช่วงการไว้หน่อ
การตัดแต่งใบกล้วยที่เหลืองเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ทิ้งไป พร้อมทั้งตัดใบที่งอหักลงไปด้วย เท่านี้ก็จะทำให้ต้นกล้วยดูไม่รกรุงรัง และสวยงาม
การไว้หน่อกล้วย ควรเริ่มไว้หน่อแรก เมื่อกล้วยอายุ 4 เดือน ไปแล้ว และหน่อต่อไปทุก 4 เดือน แต่ในช่วงการออกปลี ควรงดการไว้หน่อ เพื่อให้ผลกล้วยและเครือสมบูรณ์ดี
- การตัดปลีกล้วย เมื่อปลีกล้วยแทงเครือออกมาจนเราเห็นว่าเครือกล้วยสมบูรณ์ หรือออกจนหมดปลีแล้ว ให้เราตัดปลี จากหวีสุดท้ายนับไปอีก 1-2 หวี แล้วตัด แล้วนำปูนแดงหรือยากันราทา ป้องกันเน่า
- การเก็บเกี่ยว ให้พิจารณาจากการนับจำนวนวัน โดยเฉลี่ยแล้ว ผลกล้วยจะแก่เมื่อมีอายุประมาณ 90 วัน หรือพิจารณาจากเหลี่ยมมุมของผล ผลแก่จะมีลักษณะค่อนข้างกลม เก็บเกี่ยวโดยใช้มือข้างหนึ่งจับปลายเครือ แล้วใช้มีดฟันก้านเครือให้ขาดออก
- การป้องกันกำจัดศัตรูพืช
– โรคใบจุด ป้องกันโดยนำไปเผา หรือใช้สารเคมีคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ หรือสารป้องกันกำจัดเชื้อรา แมนโคเซบ หรือเบนโนมิล
– ด้วงงวง ป้องกันโดยใช้สารเคมีประเภทดูดซึม เช่น โตฟอส
– หนอนม้วนใบกล้วย ป้องกันโดยใช้สารเคมีคลอไพลิฟอส
– แมลงวันผลไม้ ใช้สารล่อแมลง สารเมทิลยูลินอลผสมสารฆ่าแมลงล่อทำลายแมลงวันเพศผู้ หรือใช้สารฆ่าแมลงมาลาไธออน หรือ ไดเมทโทเอท
แต่โดยรวมแล้ว โรคในกล้วยก็จะมีน้อยมาก ที่โรคหลัก ในที่ปลูกกล้วยมาก ก็จะเจอ โรคไฟทอปทอร่า หรือที่เรียกเชื้อไฟทอปทอร่า อาจทำให้รากเน่า โคนเน่า ใบเหลืองแห้ง หรือที่เรียกว่าตายพราย และก็มีหนอนม้วนใบ อย่างไรก็ตาม หากดูแลรักษากล้วยสมบูรณ์ดีแล้ว ปัญหาเรื่องโรคและแมลงที่อาจเกิดขึ้นได้มีน้อย โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกกล้วยที่ไม่มากนักอย่างที่กล่าวมา
เพียงเท่านี้ แม้จะมีพื้นที่น้อย แต่กล้วยเพียง 1 หน่อ สามารถแตกหน่อออกได้อีก อาจขุดหน่อนำไปขยายพันธุ์ยังพื้นที่อื่น หรือปล่อยให้แตกหน่อเติบโตในกอเดียวกันก็ทำได้
เป็นเรื่องกล้วยๆ จริงๆ!!
ที่มา เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์