สวนส้มโออินทรีย์….สร้างสุขวัยเกษียณ

นครปฐม ถือได้ว่าเป็นดินแดนเลื่องชื่อเรื่องการปลูกส้มโอมากที่สุดแห่งหนึ่ง สมดั่งคำขวัญที่ว่า “ส้มโอหวาน ข้าวสารขาว ลูกสาวสวย” แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังนิยมปลูกในระบบเคมีเต็มรูปแบบ ทำให้ผลผลิตที่ได้ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภครวมถึงตัวเกษตรกรเองด้วย ขณะเดียวกันก็ยังมีเกษตรกรบางคนที่เล็งเห็น และตระหนักถึงความสำคัญต่อสุขภาพและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงหันมาให้ความสนใจทำสวนส้มโอระบบอินทรีย์กันเพิ่มมากขึ้น

อุบล การะเวก อายุ 64 ปี หัวหน้ากลุ่มเกษตรอินทรีย์หอมเกร็ด สมาชิกเครือข่ายสามพรานโมเดล เจ้าของสวนส้มโออินทรีย์ หนึ่งเดียวในพื้นที่ ต.บางเตย อ.สามพราน จ.นครปฐม ที่ผันตัวเองจากการทำสวนส้มโอระบบเคมี มาสู่อินทรีย์ จนประสบความสำเร็จอย่างน่าชื่นชม เล่าย้อนให้ฟังว่า เดิมทีที่บ้านทำสวนส้มโอมาตั้งแต่ยุคของคุณพ่อ แม้ไม่เคยใช้ยาฆ่าหญ้าในแปลง แต่ยอมรับว่าใช้ปุ๋ยเคมีในการบำรุงส้มโอ ซึ่งก็ถือเป็นเคมีเหมือนกัน แต่เมื่อปี 2552 หลังจากลุงเออรี่รีไทร์จากอาชีพรับราชการ ลุงอุบลก็กลับมาสานต่ออาชีพทำสวนส้มโอจากพ่อ ด้วยเหตุที่ไม่ชอบสารเคมีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงค่อยๆ ปรับลดปริมาณปุ๋ยเคมีลง หันมาศึกษาเรื่องการทำน้ำหมักชีวภาพปุ๋ยหมักชนิดต่างๆ เพื่อทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี

“แต่ก่อนนี้ก็ทำตามความรู้ที่เรามี ยังไม่มีเพื่อนมีกลุ่ม เพราะเกษตรกรที่ทำสวนส้มโอด้วยกัน ไม่มีใครสนใจเรื่องการทำแบบอินทรีย์เลย ด้วยความเชื่อที่ว่าเคมีคือหัวใจหลักของการทำสวนส้มโอ จนเมื่อเราได้มาเจอกับ มูลนิธิสังคมสุขใจ ที่ขับเคลื่อนโครงการสามพรานโมเดล ทำให้ได้รับองค์ความรู้ในเรื่องมาตรฐานการทำเกษตรแบบอินทรีย์แบบครบวงจร ทำให้เรามีพี่เลี้ยงที่คอยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับวิธีการจัดการในเรื่องต่างๆ อีกทั้งยังแนะนำช่องทางการตลาดให้อีกด้วย” ลุงอุบล ให้ข้อมูล

ลุงยังบอกอีกว่า สามพรานโมเดลไม่ได้เข้ามาช่วยเหลือ แต่เข้ามาสอนให้เรารู้จักการทำธุรกิจ การบริหารจัดการ ให้เราคำนวณต้นทุนเป็น เน้นการจดบันทึก ซึ่งทำให้รู้ต้นทุนที่แท้จริง และสามารถกำหนดราคาขายเองได้ กระบวนการเหล่านี้ยังสามารถคำนวณรายได้ล่วงหน้าที่ค่อนข้างแน่นอน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีมากสำหรับเกษตรกร

พื้นที่ทั้งหมด 8 ไร่ ลุงอุบลปลูกส้มโอสองสายพันธุ์ คือพันทองดีและขาวน้ำผึ้ง แซมด้วยกล้วยหลากหลายพันธุ์ รวมทั้งมะนาว เพื่อให้มีผลผลิตขายได้ทั้งปี ลุงอุบลบอกว่า ช่วงแรกที่ลงกิ่งตอนต้องใช้ปุ๋ยเคมีประคองให้ต้นแตกกิ่งอ่อนประมาณ 5-6 เดือนจนต้นเป็นพุ่มจึงหยุดใช้ปุ๋ยเคมี จากนั้นหันมาใช้น้ำหมักมูลสุกรคอยรดโคนต้น เพราะน้ำหมักมีธาตุอาหารของดินครบถ้วน คือ NPK พอๆกับปุ๋ยเคมีที่โฆษณากัน นอกจากนี้จะช่วยปรับสภาพให้ดินเป็นกรดเป็นด่างดีขึ้น

ลุงอุบล สะท้อนจากประสบการณ์ตรงถึงข้อดีของการทำสวนส้มโอระบบอินทรีย์ ให้ฟังว่า ตั้งแต่เลิกใช้ปุ๋ยเคมีสามารถลดต้นทุนได้ราว 80- 90 % เพราะรายได้ส่วนใหญ่หมดไปกับการซื้อปุ๋ยเคมี แต่เมื่อเข้าสู่ระบบอินทรีย์ ต้นทุนเราแค่ซื้อมูลสัตว์ (สุกร) เพื่อมาหมักทำปุ๋ยคอก ส่วนสมุนไพรที่ทำน้ำหมักชีวภาพต่างๆ เราหาเองได้ซื้อก็ราคาไม่สูงนัก นอกจากนี้มีค่าน้ำมันสำหรับเครื่องตัดหญ้า ค่าไฟไปสำหรับการให้น้ำทางสปริงเกอร์ และอื่นๆ บ้างเท่าที่จำเป็น ส่วนเงินที่เหลือนั่น คือ กำไร

อย่าง น้ำสกัดจากมูลสุกร สารสกัดจากสะเดา ไตรโคเดอร์มา เชื้อราบิวเวอร์เรีย สามารถทำได้เอง เช่นน้ำหมักมูลสุกร ขั้นตอนการทำไม่ยุ่งยากเลย โดยใช้มูลสุกรแห้ง 1 กก.ต่อน้ำ 7 ลิตรหมักทิ้งไว้ 1วัน 1 คืน แล้วตักตะกอนขึ้นมาเก็บไปใส่โคนต้นส้มโอต่อ หลังจากนั้นทิ้งน้ำหมักไว้ 1 เดือนเพื่อให้หมดก๊าซ จากนั้นนำไปผสมน้ำ 20 ลิตรเพื่อใช้รดโคนต้น15วัน รดครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ยังใช้สารชีวภาพฉีดป้องกันเพลี้ยไฟแดง ซึ่งผสมรวมกันกับน้ำหมักมูลสุกรฉีดพ่นเพื่อประหยัดแรงงาน

หรือการทำ เชื้อราไตรโครเดอร์มา เพื่อใช้ป้องกันรากเน่าโคนเน่า ก็ทำได้ไม่ยาก โดยนำมาเพาะเชื้อเอง ให้อาหารเป็นรำข้าว จากเชื้อราเพียงน้อยนิดเมื่อได้รำข้าวจะแพร่กระจายไปได้เร็ว นำมามาผสมน้ำฉีดจะฉีดก่อนเข้าช่วงหน้าฝน ผสมกับน้ำมูลสุกรเช่นกันรดไปที่เดียว

สารชีวภาพเหล่านี้ไม่ได้ทำให้แมลงตาย แต่จะทำหน้าที่ควบคุมแมลงศัตรูพืชไม่ให้ขยายพันธุ์ ที่คุมได้อยู่คือเพลี้ยไฟ ไรแดง สวนที่ใช้เคมี บางครั้งใช้ยาแล้วยังเอาไม่อยู่ ต้องยอมให้เพลี้ยไฟ ลงทั้งสวน ส่วนปัญหาโรคหนอนชอนใบใช้เชื้อราบิวเวอร์เรีย ที่สำคัญการเลือกใช้ธรรมชาติมาดูแลต้นส้มโอ ตั้งแต่ต้นจะช่วยทำให้อายุของต้นยืนยาว

อย่างไรก็ตามลุงอุบลยังแจกแจง คุณลักษณะพิเศษของส้มโอที่ผลผลิตระบบอินทรีย์ให้ฟังว่า ส้มโออินทรีย์ เนื้อจะแห้งไม่ฉ่ำน้ำ แม้จะเก็บไว้หลายวัน ส่วนความหวานนั้นอาจจะน้อยกว่าเคมี แต่ไม่ต่างกันมากหวานแบบธรรมชาติ ทั้งนี้ส้มโอที่ใช้เคมีก่อนเก็บจะใส่ปุ๋ยเพิ่มความหวาน เท่ากับว่ากินความหวานจากปุ๋ยเคมีเข้าไป

ส่วนราคาขายพ่อค้าทั่วไปรับซื้อเท่าเคมี คือพันธุ์ทองดีราคาหน้าสวนลูกละ 40 บาท ขาวน้ำผึ้ง 100-120 บาท แต่ถ้าส่งขายแห้งอาหารของโรงแรมสามพราน ริเวอร์ไซด์ ผ่านโครงการสามพรานโมเดล พันธุ์ทองดี ลูกละ 90 บาท ขาวน้ำผึ้งลูกละ 150 บาท โดยที่ทางโรงแรมให้เรากำหนดราคาเองตามความเหมาะสมที่ทั้งสองฝ่ายรับได้

“จริงๆ แล้วการทำส้มโออินทรีย์ไม่ยากเลย เพียงแต่เกษตรกรยึดติดกับเคมีมากเกินไป ถ้าใจยอมที่จะเปลี่ยนก็สามารถเอาชนะสิ่งต่างๆ ได้ไม่ยาก เพียงแค่อดทนในช่วงระยะปรับเปลี่ยน หนึ่งถึงสองปีแรกเท่านั้นเอง พอปีที่สามเริ่มเห็นผลความเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน ทั้งในเรื่องของความอุดมสมบูรณ์ของดิน ระบบนิเวศน์ที่เกื้อกูลกับธรรมชาติ ส่วนผลผลิตที่ได้รูปร่างไม่ได้ต่างจากเคมีมากนัก ผิวสวย ผลโต รสชาติก็ดี” เกษตรกรสวนส้มโออินทรีย์ ยืนยัน

ปัจจุบัน สวนของลุงอุบล มีพื้นที่ทั้งหมด 8 ไร่ ปลูกส้มโอพันธุ์ขาวน้ำผึ้งและพันธุ์ทองดีเป็นหลัก จำนวน 300 ต้น (อายุต้น 5 ปี) ให้ผลผลิตแล้วกว่า 20 ต้น ช่วงปีแรกอาจจะให้ลูกได้ไม่เยอะ แต่เมื่อต้นโตเต็มที่ พันธุ์ขาวน้ำผึ้งให้จะผลผลิตประมาณ 50-60 ลูกต่อต้น/ปี ส่วนพันธุ์ทองดี จะได้ประมาณ 80-100 ลูกต่อต้น/ปี ซึ่งปกติส้มโอจะออกลูกครั้งแรกตอนอายุประมาณ 6 ปี และถ้าไม่มีปัญหาเรื่องรากเน่าโคนเน่าสามารถให้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้นาน 20-30 ปีเลยทีเดียว

เมื่อตัวเองค้นพบความสุขที่แท้จริงในวัยเกษียณ ก็หวังอยากให้เพื่อนเกษตรกรที่ปลูกส้มโอ หันมาทำสวนส้มโอระบบอินทรีย์กันมากขึ้น อย่างน้อยช่วยลดต้นทุนในการผลิต อย่างมากคือเพื่อสุขภาพที่ดีของตัวเองและคนในครอบครัวรวมถึงผลพลอยได้ที่กระจายสู่ผู้บริโภคโดยไม่คิดหวงความรู้

สำหรับผู้ที่สนใจ อยากเรียนรู้ เคล็ดลับความสำเร็จการสวนส้มโออินทรีย์ สามารถสอบถามและขอข้อมูลเพิ่มเมได้ที่ คุณอุบล การะเวก โทร. 089-134-8499 หรือ Facebook/สามพรานโมเดล