ปลูกชะอมไร้หนาม เริ่มต้นในพื้นที่ 3 ไร่ สร้างรายได้ดีกว่าทำนา 10 ไร่

ชะอม เป็นไม้ยืนต้นตระกูลถั่ว ที่มีอายุยืนนาน เป็นไม้เถาเลื้อย มีฝักเหมือนกระถิน เมล็ดนำมาปลูกได้ กิ่งอ่อน ยอดอ่อน ใบอ่อน มีกลิ่นหอมฉุนเฉพาะตัว และมีวิตามินเอสูง
ยอดชะอมจัดเป็นอาหารประเภทผักที่มีคุณค่าอาหารสูงยิ่ง ทั้งวิตามินเอ โปรตีน และเยื่อใยที่ร่างกายต้องการ ตามลำต้นและกิ่งก้านมีหนามแหลมหรือไม่มีหนาม ใบเป็นใบประกอบขนาดเล็ก มีก้านใบแยกเป็นใบอยู่ 2 ทาง ลักษณะคล้ายใบกระถิน หรือใบส้มป่อย ต้นชะอมหากถูกเด็ดยอดจะแตกกิ่งข้างต้นหนาแน่น
ชะอม เป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ในทุกสภาพดิน ไม่ว่าดินเหนียว ดินร่วน ดินทราย ยกเว้นดินเค็มและกรดจัด ปลูกง่าย ทนแล้ง ใช้น้ำน้อย
“ชะอม” หลายคนจะต้องนึกถึงเมนูอาหารที่แสนอร่อยจากผักพื้นบ้านชนิดนี้ที่มีกลิ่นและรสชาติเฉพาะตัว อาทิ ชะอมชุบไข่ทอดกับน้ำพริกกะปิ แกงแคไก่อาหารของคนเหนือ แกงลาวของคนอีสาน ฯลฯ ชะอมจึงจัดเป็นผักพื้นบ้านที่มีคนไทยบริโภคเป็นประจำ และมีความต้องการในแต่ละวันไม่น้อยไปกว่าผักพื้นบ้านชนิดอื่น
เกษตรกรไทยมักจะมองว่า การปลูกพืชผักสวนครัวจะเป็นเพียงอาชีพเสริม ไม่สามารถสร้างรายได้หลักให้กับครอบครัวได้
ตัวอย่างแหล่งปลูกชะอมพื้นที่ใหญ่แห่งหนึ่งของจังหวัดพิจิตร อยู่ที่อำเภอตะพานหิน ที่ขึ้นชื่อในเรื่องของการปลูกชะอมพันธุ์ไร้หนาม ดังคำขวัญของอำเภอตะพานหิน “ถิ่นชะอมไร้หนาม งามหลวงพ่อโต งานประเพณีกำฟ้า ทอผ้าป่าแดง”
ตัวอย่างเกษตรกร คุณดอกไม้ อินอ้น หรือ ป้าดอกไม้ วัย 78 ปี ที่ถือเป็นเกษตรกรที่เริ่มปลูกชะอมไร้หนามรายแรกๆ ของอำเภอตะพานหิน และเป็นประธานกลุ่มผู้ปลูกชะอมไร้หนามบ้านคลองข่อย บ้านเลขที่ 31/6 หมู่ที่ 6 บ้านคลองข่อย ซอย 13 ตำบลไผ่หลวง อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร โทร. (083) 624-9030, (081) 740-0237
การปลูกชะอมไร้หนาม ที่หลายคนมองเป็นเพียงอาชีพรองนั้น กลับสร้างรายได้หลักให้กับ ป้าดอกไม้ และครอบครัวมายาวนานมากกว่า 20 ปี และที่สวนชะอมไร้หนามของป้าดอกไม้ ยังเป็น “ศูนย์เรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่” ประจำตำบลไผ่หลวง เพื่อเป็นจุดเรียนรู้และถ่ายทอดความรู้ เรื่องการปลูกชะอมไร้หนาม สำหรับผู้ที่สนใจหรือเกษตรกร ปลูกชะอมไร้หนาม เริ่มต้น ในพื้นที่ 3 ไร่ สร้างรายได้ดีกว่าทำนา 10 ไร่
ก่อนที่ป้าดอกไม้จะปลูกชะอมไร้หนามก็ทำนามาก่อน ปัจจุบัน ก็ยังคงทำนาควบคู่ไป ซึ่งนากลายเป็นอาชีพเสริมเท่านั้น
ป้าดอกไม้เล่าย้อนกลับไปว่า ได้พันธุ์ชะอมไร้หนามมาปลูกแบบสวนครัวหลังบ้าน เมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่แล้ว วัตถุประสงค์แรกของการปลูกชะอมไร้หนามในตอนนั้น เพียงเพื่อบริโภคภายในครัวเรือน และต่อมาเลยตอนกิ่งชะอมเพื่อขยายต้นปลูกเพื่อเก็บยอดชะอมจำหน่ายให้กับเพื่อนบ้านและตลาดในชุมชนเพื่อเป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัว
หลังจากเก็บยอดชะอมขาย ผลปรากฏว่าปริมาณของความต้องการในตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีรายได้ค่อนข้างแน่นอน มีเงินใช้จ่ายในครัวเรือนเกือบทุกวัน ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการทำนา ป้าดอกไม้ บอกว่า ค่อนข้างเหนื่อยกว่ามาก และยังมีค่าใช้จ่ายต่อไร่สูง แล้วการปลูกข้าวยังประสบปัญหาในความไม่แน่นอนของสภาพดินฟ้าอากาศ และราคา เมื่อเปรียบเทียบรายได้จากการเก็บยอดชะอมไร้หนามขาย ในพื้นที่เพียง 3 ไร่ ที่เริ่มต้นทำนั้น ดีกว่าปลูกข้าว ในพื้นที่ 10 ไร่
ปัจจุบัน ป้าดอกไม้และครอบครัวได้ขยายพื้นที่ปลูกชะอมไร้หนามออกไปถึง 6 ไร่ หรือราวเกือบ 10,000 ต้น และแปลงปลูกกล้วยกับไผ่ เพื่อนำกาบกล้วยและไม้ไผ่มาใช้ในการมัดกำชะอมที่จะต้องใช้เกือบทุกวัน ป้าดอกไม้ยังได้บอกว่า โรคและแมลงศัตรูชะอมมีน้อยมาก และใช้เพียงแรงงานในครอบครัว ในแต่ละครอบครัวที่ปลูกชะอมไร้หนาม ในพื้นที่ 1-2 ไร่ หรือมากกว่านั้น จะมียอดให้เก็บหมุนเวียนได้ทุกวัน มีเงินมาใช้จ่ายในครอบครัว วันละ 200-300 บาท อย่างสบาย
ชนิดของชะอม ที่ปลูกในบ้านเรา ชะอม ที่ปลูกกันในขณะนี้ จะแบ่งออกเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ ตามลักษณะ คือ ชะอมมีหนาม กับ ชะอมไม่มีหนาม (ชะอมไร้หนาม) ต้นชะอมจะมีหนามทั่วทั้งต้นและกิ่งก้านสาขา รวมถึงส่วนของยอดอ่อนด้วย ในขณะที่ต้นชะอมไร้หนามเกือบจะไม่มีหนามเลย หรือจะพบหนามบ้างเหมือนกันแต่น้อยมาก จะพบเพียงหนามอ่อนห่างๆ เท่านั้น
ข้อแตกต่างของชะอมทั้ง 2 ชนิด ป้าดอกไม้ อธิบายว่า ยอดชะอมที่มีหนามจะมีกลิ่นแรงกว่ายอดชะอมไร้หนาม แต่สำหรับรสชาติเมื่อนำไปประกอบอาหารจะใกล้เคียงกันจนแยกไม่ออก แต่กลับรู้สึกว่าชะอมไร้หนามรับประทานง่ายกว่า เพราะไม่มีหนามให้กวนใจเวลารับประทาน
สำหรับเกษตรกรที่คิดจะปลูกชะอมนั้น ชะอมไร้หนามจะสะดวกในเรื่องของการเก็บเกี่ยวยอดเป็นอย่างมาก เนื่องจากการที่ต้นหรือกิ่งไม่มีหนาม ทำให้เก็บได้ค่อนข้างรวดเร็ว และไม่ถูกหนามทิ่มแทงมือหรือร่างกาย
นิสัยของการแตกยอดพบว่า พันธุ์ที่มีหนามจะให้ยอดน้อยและแตกยอดช้ากว่าชะอมไร้หนาม ป้าดอกไม้ได้ย้ำว่าลักษณะของการแตกยอดจะเห็นได้ชัดมากในช่วงฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่ยอดชะอมมีราคาแพงที่สุด ราคาจะสูงถึงกำละ 10-15 บาท ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ชะอมในท้องตลาดมีน้อย จะเห็นได้ชัดเลยว่าต้นชะอมไร้หนามให้ยอดที่ดีกว่าอย่างชัดเจน
การขยายพันธุ์ ชะอมไร้หนาม ป้าดอกไม้ ได้บอกถึงวิธีการขยายพันธุ์ชะอมไร้หนาม จะแบ่งเป็น 2 วิธี คือ การตอนกิ่ง ซึ่งเป็นที่นิยมมากกว่า เพราะรวดเร็วและออกรากได้ดี โดยคัดเลือกกิ่งที่จะตอนไม่ให้แก่และอ่อนจนเกินไป
ขั้นตอนเหมือนกับการตอนไม้ผลทั่วไป คือเลือกกิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อนที่สมบูรณ์ปราศจากโรคและแมลง ควั่นกิ่งด้านบนและด้านล่าง ให้ห่างกันสัก 3-4 เซนติเมตร ใช้ปลายมีดลอกเอาเปลือกชะอมออก แล้วขูดเยื่อเจริญที่เป็นเมือกลื่นๆ ออก จะทาด้วยน้ำยาเร่งรากหรือไม่ก็แล้วแต่ เพราะชะอมเป็นพืชที่ออกรากได้ง่าย แต่ถ้าทาด้วยน้ำยาเร่งรากก็จะยิ่งดีขึ้นอีก หุ้มด้วยขุยมะพร้าวที่แช่น้ำมาล่วงหน้าสัก 1 คืน แล้วบีบน้ำออกให้หมาดน้ำ อัดลงในถุงพลาสติก
เมื่อทำแผลตอนเสร็จ ผ่าครึ่งถุงพลาสติกที่อัดขุยมะพร้าวและนำไปหุ้มบริเวณที่ลอกเปลือก มัดด้วยเชือกหรือตอกไม้ไผ่ ทั้งบนและล่างรอยแผลตุ้มตอนให้แน่น หลังจากนั้น ประมาณ 40-50 วัน เมื่อกิ่งตอนมีรากเต็มตุ้มตอนและเริ่มแก่เป็นสีเหลืองอมสีน้ำตาล ปลายรากมีสีขาว และมีจำนวนรากมากพอ จึงตัดกิ่งตอนได้ ก็สามารถตัดไปปลูกในแปลงได้เลย ไม่ต้องชำลงถุงให้เสียเวลา เมื่อนำกิ่งตอนปลูกลงดิน ต้นชะอมจะตั้งตัวได้เร็ว การจำหน่ายกิ่งตอนจึงจำหน่ายสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง ที่สร้างเงินสำหรับการทำไร่ชะอมไร้หนาม หรือจะชำลงถุงดำ เลี้ยงให้แข็งแรงก่อนนำไปปลูกหรือรอการจำหน่าย
ส่วนการขยายพันธุ์อีกวิธีหนึ่งคือ การปักชำ ป้าดอกไม้ จะเลือกกิ่งชะอมไร้หนามมาปักชำนั้นจะต้องเลือกกิ่งที่ไม่อ่อนหรือแก่เกินไป โดยดูลักษณะจากสีกิ่งจะมีสีขาวจนถึงขาวอมเขียว หรือกิ่งที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 1 ปี นับแต่วันที่แตกยอดออกมา แต่ต้องไม่เป็นกิ่งที่แก่จัดจนเกินไป เพราะรากและยอดจะแตกน้อย ตัดเป็นท่อนให้มีความยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร ชำลงในถุงดำที่มีขี้เถ้าแกลบดำเป็นวัสดุปลูกหลัก เทคนิคในการปักท่อนพันธุ์ ควรจะให้กิ่งเอียง ประมาณ 45 องศา ปักให้ลึกลงไปในขี้เถ้าแกลบ 10 เซนติเมตร นำกิ่งที่ปักชำมาวางไว้บริเวณที่มีแสงรำไรหรือมีซาแรนพรางแสง 60 เปอร์เซ็นต์ รดน้ำให้ชุ่มอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
หลังจากปักชำไปได้ประมาณ 45-60 วัน กิ่งชำจะมีรากและใบอ่อนแตกออกมา แต่ป้าดอกไม้ไม่นิยมขยายพันธุ์ชะอมไร้หนามด้วยวิธีการปักชำ เนื่องจากพบว่าต้นชะอมไร้หนามที่ขยายพันธุ์ด้วยการปักชำ เมื่อนำมาปลูกลงแปลงจะเจริญเติบโตช้ากว่าปลูกด้วยกิ่งตอน ซึ่งอาจจะเป็นเพราะปริมาณรากจะน้อยกว่ากิ่งชะอมที่ได้จากกิ่งตอน
อย่างไรก็ดี มีข้อแนะนำเพิ่มเติมสำหรับการนำกิ่งชะอมไร้หนามที่ขยายพันธุ์ด้วยการปักชำเพื่อปลูกลงแปลง ควรจะปลูกในช่วงฤดูฝน จะพบอัตราการรอดตายสูง
การปลูก และการบำรุงรักษา สำหรับเกษตรกรที่เริ่มต้นปลูกชะอมไร้หนามในแปลงใหม่ ป้าดอกไม้ได้แนะนำให้เริ่มต้นด้วยการเตรียมพื้นที่ปลูก โดยการไถพรวน ปรับพื้นที่ให้สม่ำเสมอ ถ้าเป็นที่ลุ่มต่ำให้ยกแปลงเพื่อป้องกันน้ำขังแฉะ นิสัยชะอมชอบน้ำแต่กลัวน้ำขังแฉะ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดโรครากเน่าโคนเน่า
หลังจากนั้น ขุดหลุมปลูกให้มีความกว้าง ยาว และลึก ประมาณ 20 เซนติเมตร ผสมดินที่ขุดมาจากหลุมด้วยปุ๋ยคอกเก่า อัตรา 2 กำมือ และคลุกเคล้าปุ๋ยเคมี สูตรเสมอ เช่น 16-16-16, 19-19-19 ฯลฯ ลงไป อัตรา 1 ช้อนแกง ระยะปลูกที่เหมาะสมคือ 1×1 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ จะสามารถปลูกต้นชะอมไร้หนามได้ ประมาณ 1,600 ต้น
ซึ่งป้าดอกไม้ อธิบายว่าเป็นระยะปลูกที่กำลังดี ทำให้สะดวกในการเดินเก็บยอด การปลูกหลังจากที่ขุดหลุมปลูกลึกประมาณ 10 เซนติเมตร หรือขุดดินราว 1 หน้าจอบ คลุกเคล้าผสมปุ๋ยเสร็จเรียบร้อยที่ปากหลุม นำกิ่งตอนชะอมไร้หนามที่เตรียมไว้ แกะถุงพลาสติกที่หุ้มรากออก วางกิ่งชะอมให้อยู่ส่วนกลางของหลุม กลบดินและอัดให้แน่น รดน้ำให้ชุ่มอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องเป็นเวลาประมาณ 1-2 เดือนแรกที่ปลูก ต้นชะอมไร้หนามจะตั้งตัวได้และพบการแตกยอดอ่อนเป็นพุ่มและสามารถเก็บเกี่ยวยอดส่งขายได้เลย
ป้าดอกไม้อธิบายอีกว่า ชะอม เป็นพืชที่หลังจากปลูกไม่นานก็จะแตกยอดให้เก็บได้ทันทีในช่วงเวลา 1 เดือนเศษเท่านั้น แต่จะเริ่มให้ผลผลิตแบบเต็มที่ในราวๆ 5-6 เดือนขึ้นไปหลังการปลูก เพราะต้นชะอมจะเริ่มเป็นทรงพุ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ป้าดอกไม้บอกว่าเมื่อต้นชะอมตั้งตัวได้แล้วการตัดยอด ตัดได้ทุกๆ 3-5 วัน สำหรับต้นชะอมเล็ก แต่ถ้าเป็นต้นชะอมใหญ่ที่มีอายุต้นเกิน 1 ปี จะเก็บยอดได้ทุกๆ 2-3 วัน
ในกรณีที่เก็บยอดครั้งแรกไปแล้วหรือกรณีที่เกษตรกรตัดยอดไม่ทันหรือยอดเดิมเมื่อแก่เกินไป ยอดอ่อนใหม่จะโตมาแทนที่
อุปกรณ์ที่ใช้ในการเก็บยอดชะอมจะต้องใช้กรรไกรตัดแทนการใช้มือเด็ด นอกจากสะดวกรวดเร็วแล้ว ยังช่วยป้องกันไม่ให้เกิดรอยแผลช้ำที่ยอดด้วย เนื่องจากการปลูกชะอมไร้หนามจะต้องมีการเก็บยอดเป็นประจำ
ส่วนระบบการให้น้ำจะจำเป็นมาก จะต้องมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ถ้าเป็นต้นที่ปลูกใหม่ จะให้น้ำ อาทิตย์ 2-3 ครั้ง (การให้น้ำสังเกตจากหน้าดินและสภาพอากาศประกอบ เช่น ในหน้าร้อน ก็ต้องให้น้ำบ่อยขึ้น เป็นต้น) แต่ถ้าเป็นต้นชะอมอายุเกิน 1 ปี ไปแล้ว ก็จะให้น้ำน้อยลง จะเหลือเพียง 10-15 วันครั้งเท่านั้น เพราะใบจะปกคลุมดิน ทำให้ดินรักษาความชื้นได้นาน
อีกอย่างหากช่วงไหนที่จะต้องการช่วยให้ชะอมแตกยอดได้ดีหรือถ้าเห็นว่าชะอมมีราคาสูง การเปิดน้ำช่วยร่วมกับการใส่ปุ๋ยเคมี ยูเรีย 46-0-0 จะช่วยกระตุ้นการแตกยอดได้ดีมาก ที่แปลงปลูกชะอมไร้หนามของ ป้าดอกไม้ อินอ้น จะใช้ระบบน้ำแบบสปริงเกลอร์ที่ยกสูงมาจากพื้นดิน ประมาณ 1.50 เมตร โดยให้มีความสูงกว่าต้นชะอม ประโยชน์ทางหนึ่งนอกจากสะดวกเรื่องการให้น้ำคือ มองเห็นระบบน้ำว่าทำงานได้ดี ไม่รั่วหรืออุดตัน ถ้าอยู่ข้างล่างใต้ต้นชะอม อาจจะมองไม่เห็น
######