อดีตหนุ่มโรงงาน ผันตัวต่อยอด เลี้ยงหมูครบวงจร สร้างเงินได้กว่าหลักล้าน!

อดีตหนุ่มโรงงาน ผันตัวเป็น เกษตรกร ต่อยอด เลี้ยงหมูครบวงจร สร้างเงินได้กว่าหลักล้าน! 

ฟาร์มเลี้ยงหมู เกิดเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จากราคาเนื้อหมูที่ปรับราคาเพิ่ม ส่งผลให้เกษตรกรทำฟาร์มเลี้ยงหมูได้รับอานิสงส์ไปด้วย  

ช่วงโควิดหลายคนกลับบ้านและมาเลี้ยงหมูจนร่ำรวยกว่าการทำงานประจำ ก็มีหลายราย รวมถึงอดีตพนักงานโรงงานรายนี้ ผันตัวเองมาเปิดร้านเป็นตัวแทนจำหน่ายอาหารหมู  ปัจจุบันได้เป็นเจ้าของธุรกิจเลี้ยงหมูครบวงจร ที่มีเงินหมุนเวียนในระบบหลักล้านบาท

คุณดิเรก โมราราช

คุณดิเรก โมราราช เจ้าของร้านรัชดาการเกษตร จำหน่ายอาหารสัตว์ และฟาร์มเลี้ยงหมูครบวงจร จังหวัดบึงกาฬ เล่าว่า ตนเองได้เปิดร้านรัชดาการเกษตรมาได้ประมาณ 7 ปี เริ่มจากจำหน่ายอาหารสุกร (อาหารหมู) เพียงอย่างเดียว และค่อยเพิ่มเป็นอาหารวัวและไก่เข้ามาเสริม แต่หลังจากเป็นตัวแทนขายอาหารหมูให้กับผู้ผลิตอาหารหมูรายหนึ่ง ด้วยเงินลงทุนเริ่มต้น 2-3 แสนบาท โดยได้ลาออกจากการทำโรงงานมาเปิดร้านขายอาหารสัตว์ตามน้องเขยที่ทำมาก่อน และเห็นว่า รายได้ดี ก็มาทำบ้าง

ปัจจุบัน ไม่ได้แค่ขายอาหารสัตว์ แต่เขายังทำฟาร์มเพาะพันธุ์ลูกหมู ส่งให้กับเกษตรกรในเครือข่ายด้วย รวมถึง รับซื้อหมูจากเกษตรกรด้วย เป็นการทำธุรกิจแบบครบวงจร โดยเกษตรกรทำหน้าที่เพียงแค่ดูแลเลี้ยงหมูเพียงอย่างเดียวทางร้านก็จัดอาหารหมู พร้อมลูกหมู มาให้ ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่จะซื้อลูกหมู และอาหารสัตว์แบบเครดิต พอจับหมูขายได้เขาถึงจะมาจ่ายให้กับทางเจ้าของร้านและเจ้าของลูกพันธุ์

ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ทำกันแบบนี้มาช้านานเพราะเกษตรกรเองไม่มีเงินลงทุน ก็จะอาศัยให้พ่อค้าคนกลางลงทุนให้ก่อน ซึ่งเราในฐานะพ่อค้าคนกลางอยากจะขายได้เยอะ จำเป็นที่จะต้องมีเงินทุนหมุนเวียนเยอะๆ เพื่อให้เกษตรกรเปิดเครดิตได้เยอะ แต่เราเงินทุนไม่มากปัจจุบันมีลูกค้าหลักเพียง 50 ราย ที่รับซื้อ ขาย หมูกันมาตั้งแต่เริ่มทำธุรกิจนี้  

 

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ราคาหมูเพิ่มขึ้น ราคาอาหารหมูก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน เกษตรกรจึงไม่ได้มีกำไรเยอะขึ้นมากอย่างที่หลายคนเข้าใจ และประกอบกับเกษตรกรหน้าใหม่หันมาเลี้ยงหมูกันเยอะ พอดีมานด์เยอะ ความต้องการเท่าเดิม ราคาหมูมีการปรับลดลงบ้าง ตามดีมานด์เพิ่มขึ้น ในขณะที่ราคาอาหารหมู กลับไม่ได้ลดลงตาม เจ้าของธุรกิจอาหารหมูก็รวยขึ้น แต่เกษตรกรคนเลี้ยงหมูไม่ได้รวยขึ้น

นอกจากนี้ เกษตรกรที่เพาะเลี้ยงหมู เดิมในอดีตก็อาจจะรอลูกจากพ่อแม่พันธุ์ ที่ตัวเองเลี้ยงไว้ ซึ่งมีข้อเสียตรงที่ ไม่ใช่พ่อแม่พันธุ์คุณภาพ หมูที่ออกมาก็คุณภาพไม่ได้ตามที่ตลาดต้องการ เกษตรกรนำมาขายได้ก็ไม่ได้ราคา หมูสายพันธุ์ที่ไม่ดี ต้องใช้เวลาในการเลี้ยงนานกว่าจะโต ทำให้ต้นทุนอาหารเพิ่มขึ้น

คุณดิเรก บอกว่า หมูที่มีคุณภาพเมื่อชำแหละออกมาแล้วจะต้องได้เนื้อแดง 40% ถึงจะขายได้ราคา และถ้าเกษตรกรลงทุนซื้อพ่อแม่พันธุ์เอง ก็ต้องใช้เงินหลักแสนบาท ราคาพ่อแม่พันธุ์ดีๆ ขายกันตัวละ 50,000 บาท เกษตรกรส่วนใหญ่จะรับลูกหมูจากฟาร์มที่ได้มาตรฐานมาเลี้ยง เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลาเลี้ยงนาน และได้หมูตามที่เขียงหมูต้องการ

คุณดิเรก กล่าวว่า ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา ตนเองมีรายได้เพิ่มขึ้นจากราคาหมูปรับราคาเพิ่มขึ้น ซึ่งรายได้ปัจจุบันดีกว่าการทำงานประจำหลายเท่าตัว  

ในช่วงโควิดที่หลายคนตกงานก็กลับมาเลี้ยงหมูกันเยอะขึ้นด้วย เพราะราคาหมูที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น รายใหม่ที่มาเลี้ยงและไปรอดก็เลี้ยงต่อ แต่คนไหนเลี้ยงและไปไม่รอด ก็กลับไปทำงานประจำก็มี ในส่วนของการขายน้ำเชื้อ และลูกพันธุ์ มีการนำมาขายบนช่องทางออนไลน์บ้าง แต่ในส่วนของอาหารหมู ขายให้กับเกษตรกรในพื้นที่ใกล้ ในจังหวัดบึงกาฬ

สอบถามเพิ่มเติม เฟซบุ๊ก : ร้านรัชดาการเกษตร สาขาเซกา หรือ โทร. (084) 383-1204