เด็กวิเศษชัยชาญ เจ๋ง! ใช้พื้นที่ 5 ไร่ ทำเกษตรได้ครบวงจร

ย้อนกลับไปหลายปีก่อน โรงเรียนวิเศษชัยชาญวิทยาคม ตำบลไผ่จำศีล อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง ยังคงสภาพเป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา ที่แม้จะเป็นโรงเรียนประจำอำเภอ แต่จำนวนนักเรียนและบุคลากรครูผู้สอนก็ไม่ได้มากอย่างที่คิด อย่างไรก็ตาม โรงเรียนก็ยังคงเป็นโรงเรียนที่เพียบพร้อมไปด้วยกิจกรรมและการส่งเสริมสนับสนุนนักเรียนในมุมของภาควิชาการ เพื่อให้ศักยภาพนักเรียนเทียบเท่ากับโรงเรียนในระดับจังหวัดและภูมิภาคอื่นได้

ปัจจุบัน ศักยภาพด้านวิชาการยังคงดำเนินไปอยู่ แต่สิ่งที่เพิ่มมาให้เห็นและเป็นกิจกรรมที่จัดได้ว่าเป็นกิจกรรมที่โดดเด่นมากกิจกรรมหนึ่งของโรงเรียน คือ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ให้กับชุมชน ตำบล อำเภอ รวมถึงจังหวัดใกล้เคียงที่ต้องการ โดยศูนย์เรียนรู้ฯ แห่งนี้ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ ปี 2540 โดย อาจารย์ไพศาล มั่นอก ครูชำนาญการพิเศษ ดูแลด้านการเกษตรของโรงเรียนวิเศษชัยชาญวิทยาคม ซึ่งการดำเนินการค่อยเป็นค่อยไป กระทั่งเป็นที่รู้จักและเป็นต้นแบบให้กับชุมชนหลายแห่ง สนใจพาเกษตรกรเข้ามาเรียนรู้

อาจารย์ไพศาล บอกว่า เดิมกิจกรรมการเกษตรของโรงเรียน เริ่มต้นภายในพื้นที่ของโรงเรียนที่มีอยู่ 19 ไร่ เท่านั้น แต่เป็นการทำการเกษตรแบบเล็กๆ เช่น การปลูกแก้วมังกร ฟักข้าว มะนาว เมื่อโรงเรียนจำเป็นต้องใช้พื้นที่ในการประกอบกิจกรรมด้านวิชาการ จึงทำให้พื้นที่การเกษตรส่วนนี้ลดน้อยลง อาจารย์ไพศาล จึงตัดสินใจหารือเจ้าของที่ดินใกล้เคียง ขอใช้พื้นที่ในการสอนการทำการเกษตรแบบครบวงจรให้กับนักเรียน จำนวน 5 ไร่ และเป็นที่มาของศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงในปัจจุบัน

11

“ตอนเราได้พื้นที่มาใหม่ๆ เราก็ค่อยๆ เริ่ม ระยะแรกสอนเด็กนักเรียนทำนา เริ่มจากการทำนาโยนข้าวหอมนิล ข้าวหอมมะลิ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ จากนั้นก็เริ่มพัฒนาเป็นแปลงสวนผสม สร้างบ้านดิน ขุดบ่อเลี้ยงปลา และปลูกพืชน้ำ มีแปลงผักสวนครัว ไม้ผล การเลี้ยงเป็ด การเลี้ยงไก่ และการเลี้ยงกบ รวมถึงการทำปุ๋ยหมักไว้ใช้เอง โดยพื้นที่ทุกตารางนิ้วรับรองว่าปลอดสารเคมีอย่างแน่นอน”

9

เพราะโรงเรียนวิเศษชัยชาญวิทยาคม เป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา ทำให้ไม่ได้รับเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวัน จึงไม่มีโครงการอาหารกลางวัน ผลผลิตที่ได้จากการทำการเกษตรโดยนักเรียนของโรงเรียน อาจารย์ไพศาล จึงปรับให้เป็นรูปแบบของบริษัท ให้นักเรียนเรียนรู้เรื่องของต้นทุนและกำไร มีการบริหารจัดการโดยนักเรียนเอง ซึ่งกำไรจากการบริหารจัดการภายในบริษัท ซึ่งเป็นรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตทั้งหมด นักเรียนผู้ลงมือปฏิบัติทุกคนจะได้รับการจัดสรรปันส่วนอย่างลงตัว ถือเป็นการตอบแทนในสิ่งที่นักเรียนลงทุนลงแรงไป

“ที่นี่ก่อตั้งชุมนุมยุวเกษตรกร มีนักเรียนในชุมนุมเพียง 15 คน ตามข้อกำหนดของกลุ่มยุวเกษตรกร แต่แท้จริงแล้ว เด็กนักเรียนที่สนใจต้องการเข้าร่วมกับกลุ่มยุวเกษตรกรมีมากทุกระดับชั้น จึงใช้วิธีให้นักเรียนที่มีชื่อในกลุ่มยุวเกษตรกร เป็นแกนนำสำคัญในแต่ละกิจกรรมภายในศูนย์เรียนรู้ฯ โดยปกตินักเรียนจะได้ลงแปลงเกษตร เมื่ออยู่ในวิชาการงานพื้นฐานอาชีพ (เกษตร) แต่นักเรียนที่นี่ ลงแปลงกันมากกว่าเวลาเรียนที่มีให้เสียอีก”

6สิ่งที่การันตีได้ว่า ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจชุมชน เป็นพื้นที่ที่เป็นฐานความรู้ให้กับเด็กนักเรียน ชุมชน และบุคคลที่สนใจ คือ รางวัลที่ 1 เรื่องอาหารปลอดภัย และ รางวัลที่ 1 ยุวเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย ของจังหวัดอ่างทอง

อาจารย์ไพศาล บอกว่า ตลอดชีวิตการทำงานอาชีพครู เป็นครูสอนเกษตรมานานเกือบ 40 ปี เล็งเห็นว่า ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงแห่งนี้ จะเป็นสถานที่สำหรับให้นักเรียนผลัดกันมาเรียน ใครสนใจด้านใดก็ให้หยิบจับด้านนั้น หรือหากต้องการเรียนรู้ในทุกด้านก็สลับสับเปลี่ยนให้ครบทุกกิจกรรมที่มีก็ได้ ขึ้นอยู่กับความสนใจของนักเรียน

แปลงเกษตรทั้งหมด 5 ไร่ นับว่าครบถ้วนทุกกิจกรรมด้านการเกษตร ได้แก่

  1. 1. การเลี้ยงกบ
  2. 2. การเลี้ยงไก่ไข่
  3. 3. การเลี้ยงปลากินพืช การเลี้ยงปลาเป็นการปล่อยในบ่อบัวสี
  4. 4. การเลี้ยงเป็ด
  5. 5. การปลูกไม้ผล อาทิ มะละกอ กล้วย หม่อน โดยหม่อนเป็นพันธุ์กินสดและดกเป็นพิเศษ ทำให้มีความต้องการกล้าหม่อนจำนวนมาก เด็กนักเรียนเล็งเห็นโอกาส จึงตอนกิ่งหม่อนจำหน่าย ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมาก
  6. 6. การปลูกบัวสี และบริเวณปลูกบัวสี ปลูกพืชน้ำร่วมด้วย เช่น ผักกระเฉด
  7. 7. การปลูกผักสวนครัว รวมถึงไม้เลื้อยที่เป็นพืชสวนครัว เช่น ฟัก แฟง ฟักข้าว เสาวรส มะนาวในกระถาง พริก มะเขือ เป็นต้น ทั้งนี้ พืชชนิดใดที่สามารถตอนกิ่งขายเป็นกิ่งพันธุ์ได้ นักเรียนก็จะตอนกิ่งเพื่อจำหน่ายด้วย
  8. 8. การทำบ้านดิน
  9. 9. การทำปุ๋ยอินทรีย์
  10. 10. การเพาะเห็ด
  11. 11. โรงเรือนเพาะชำ เป็นสถานที่เพาะกล้าไม้ทุกชนิดที่ปลูกในโรงเรียน และจำหน่ายตามความต้องการของลูกค้า
  12. การแปรรูป เช่น ทำมะนาวผง น้ำฟักข้าว มะละกอกวน ทอฟฟี่มะละกอ เป็นต้น

3

นอกเหนือจากกิจกรรมหลักทั้ง 12 กิจกรรมแล้ว ยังดำเนินตามพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการปลูกแฝก ซึ่งที่ผ่านมาได้นำเกี่ยวแฝกมัดเป็นโครง นำไปเป็นส่วนหนึ่งของการก่อสร้างบ้านดิน

“กิจกรรมทั้งหมดเริ่มสอนตั้งแต่การปลูก ดูแลรักษา เก็บเกี่ยว แปรรูป บรรจุภัณฑ์ จำหน่าย ซึ่งหมายถึงครบทุกกระบวนการ ตั้งแต่เริ่มต้นปลูกถึงการตลาด สอนทุกขั้นตอน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ให้เด็กคิดทุกกระบวนการเอง มีครูเป็นเพียงที่ปรึกษาเท่านั้น ดังนั้น เด็กที่นี่จะเก่ง”

อาจารย์ไพศาล บอกด้วยว่า การจำหน่ายของนักเรียน ไม่ได้เก็บผลผลิตเพื่อนำมาจำหน่ายให้กับเด็กนักเรียน ผู้ปกครอง ครู เช่นที่อื่น แต่เป็นการดูตลาดที่เหมาะสม แล้วทำการค้าเชิงรุก โดยการเข้าหากลุ่มเป้าหมาย ทั้งโรงเรียน ชุมชน โรงพยาบาล ตลาดสด ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมาก

เมื่อถามถึงทุนในการดำเนินงาน แม้ว่าโรงเรียนจะบริหารจัดการในรูปแบบบริษัท อาจารย์ไพศาล บอกว่า เริ่มแรกเป็นทุนรอนของอาจารย์ไพศาลเพียงผู้เดียว ต่อมามีผู้ใหญ่ใจดีให้การสนับสนุนพันธุ์พืชและสัตว์ ทั้งยังมีเงินทุนหมุนเวียนมาให้ ทำให้เด็กได้เรียนรู้การบริหารจัดการในรูปแบบบริษัทได้อย่างลงตัว ซึ่งถือเป็นความโชคดีของเด็กนักเรียนที่นี่ที่มีคนช่วย เพราะระบบทั้งหมดไม่ได้เข้าระบบของโรงเรียนแม้แต่น้อย

อย่างไรก็ตาม กิจกรรมทั้งหมดยังไม่แน่ว่า อนาคตจะเปลี่ยนรูปแบบไปอีกหรือไม่ เนื่องจากอาจารย์ไพศาล แกนนำหลักด้านเกษตรของโรงเรียน จะเกษียณอายุราชการในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และพื้นที่แปลงเกษตร 5 ไร่ ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้ฯ แห่งนี้ ก็ตั้งอยู่บนพื้นที่ของเอกชน ที่อาจารย์ไพศาลขออนุญาตใช้พื้นที่ให้เป็นประโยชน์แก่เด็กนักเรียนและส่วนรวม จึงประมาณการล่วงหน้าได้ยากนัก ทั้งนี้ ในระยะเวลาที่เหลืออยู่ อาจารย์ไพศาล ยืนยันว่า จะดำเนินกิจกรรมภาคเกษตรให้ถึงที่สุด และพร้อมให้สถานที่แห่งนี้เป็นองค์ความรู้ให้กับเด็กนักเรียนโรงเรียนวิเศษชัยชาญวิทยาคม รวมถึงสถาบันการศึกษาและชุมชนแห่งอื่น

หากต้องการเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนวิเศษชัยชาญวิทยาคม สามารถติดต่อได้ที่ อาจารย์ไพศาล มั่นอก โทรศัพท์ (085) 173-0878

ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์