จากเมนูมะขามคลุกของแม่ สู่ บ้านมะขาม สร้างยอดขาย 100 ล้านในเซเว่นฯ 

จากเมนูมะขามคลุกของแม่ สู่ บ้านมะขาม สร้างยอดขาย 100 ล้านในเซเว่นฯ 

จากเมนูแปรรูป มะขามคลุกเสวย ของคุณแม่เมื่อ 20 กว่าปีก่อน ปัจจุบันกลายเป็นแบรนด์ บ้านมะขาม สุดแกร่ง มีสินค้าวางจำหน่ายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ทั่วประเทศ มากถึง 40 รายการ รวมทั้งส่งออกความอร่อยไปไกลกว่า 10 ประเทศทั่วโลก

ไม่เพียงเท่านี้ บ้านมะขาม ยังกระจายรายได้ สร้างงานสร้างอาชีพให้เกษตรกรในชุมชน รอบพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ กว่า 100 ล้านบาทต่อปี ด้วยการรับซื้อมะขามปีละประมาณ 2,000 ตัน เรื่องราวของ บ้านมะขาม เป็นมาอย่างไร มาพูดคุยกับทายาทรุ่น 2 กันได้เลย 

คุณพ่อ และคุณเต้น
คุณพ่อ และคุณเต้น

จากเมนูของแม่ สู่ แบรนด์ บ้านมะขาม สุดแกร่ง 

คุณเต้น-ธนนท์ โฆวงศ์ประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท สวนผึ้งหวาน จำกัด ทายาทรุ่น 2 เล่าให้เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ฟังว่า ย้อนกลับไปเมื่อ 20 กว่าปีก่อน คุณพ่อทำงานด้านสถาปนิก รับเหมา และโรงงานเฟอร์นิเจอร์ ในช่วงนั้นปี 2540 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ คุณแม่ซึ่งเป็นคนจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้คิดแปรรูปมะขามคลุกแบบไร้เมล็ด หรือมะขามคลุกเสวย เมื่อนำไปวางขายตามตลาดนัดในกรุงเทพฯ ร้านขนมต่างๆ ก็ขายดีมาก จากรายได้เสริม ก็เริ่มกลายเป็นรายได้หลักของบ้าน 

“ตอนนั้นขายได้วันละหลายร้อยกิโล แต่ก็เหนื่อยมากครับ เพราะต้องวิ่งหลายที่ เราได้เงินก็จริง แต่ไม่มีความยั่งยืน พอขายส่ง ร้านจะไม่ให้ติดแบรนด์ หรือแม้กระทั่งเบอร์โทร แต่เราอยากมีแบรนด์ อยากสร้างแบรนด์ การขายผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรดน่าจะตอบโจทย์เราได้ดีที่สุด

ประจวบเหมาะ ปี 2544 ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นและมีจำนวนสาขากว่า 1,000 สาขา คุณพ่อเลยมองว่า ถ้าได้เข้าจำหน่ายในเซเว่นฯ ก็เหมือนกับเรามีหน้าร้าน 1,000 สาขา โดยไม่ต้องสร้างหน้าร้าน และเหนื่อยวิ่งส่งของเอง จึงตัดสินใจเข้าไปเสนอขายที่เซเว่นฯ ครับ”

และก็เป็นเรื่องดี ที่ได้รับโอกาสจากเซเว่นฯ คุณเต้น บอกว่า ได้รับคำปรึกษาในทุกขั้นตอนการทำงาน การตั้งบริษัทจากแต่ก่อนที่ทำกันในโรงเรือนเล็กๆ การผลิต รวมทั้งมาตรฐานต่างๆ โดยในช่วงแรกจำหน่ายเพียงแค่ 3 รายการ จำนวน 1,000 ชิ้นต่อวันเท่านั้น 

แต่ปัจจุบันจำหน่ายสินค้ามากถึง 40 รายการ จาก 4 แบรนด์ ได้แก่ บ้านมะขาม, เลิฟ ฟาร์ม (LOVE FARM), พัตโตะ (Patto) และน้องใหม่ล่าสุด ปองดอง โดยแต่ละแบรนด์มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายคนละกลุ่ม โดยสินค้าชูโรงสำคัญยังคงเป็น มะขามคลุกเสวย และอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีความสำคัญไม่แพ้กันคือ มะขามแกะเปลือกแกะเมล็ด ที่มียอดขายเป็นอันดับ 1 ของบริษัทจนถึงปัจจุบัน

ยืนหนึ่งเรื่องคุณภาพ และนวัตกรรมสุดล้ำ 

สำหรับจุดเด่นของ บ้านมะขาม ทายาทรุ่น 2 เล่าให้ฟังอย่างคล่องแคล่วว่า สำคัญที่สุดคือ คุณภาพ ซึ่งเริ่มตั้งแต่การคัดสรรวัตถุดิบมาเป็นอย่างดีก่อนบรรจุลงผลิตภัณฑ์ และการรักษาคุณภาพของสินค้าให้คงอยู่ เสมือนเพิ่งแกะออกจากฝัก

“เราตั้งใจคัดวัตถุดิบกันมากครับ เรียกว่างานคราฟต์เลยครับ เพราะคัดด้วยมือคน ทั้งแกะเปลือก แกะเมล็ด ซึ่งปัญหาใหญ่ของมะขามมี 2 เรื่องหลักคือ 1. เกิดมอดได้ง่าย 2. เมื่อโดนอากาศสีจะหมองคล้ำ ทำให้ไม่น่ารับประทาน

ปัญหาแรก เราแก้ไขด้วย เครื่องกำจัดมอดมะขามด้วยคลื่นความถี่วิทยุ โดยได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในการคิดค้นและวิจัยนาน 2 ปี ถือเป็นนวัตกรรมการกำจัดมอดในมะขาม 100% รายแรกของประเทศ ซึ่งมีหลักการทำงานคล้ายไมโครเวฟ คือนำมะขามที่แกะเปลือก แกะเมล็ดใส่กล่องประมาณ 5 กิโล แล้วเข้าเครื่อง ใช้เวลาอบประมาณ 21 วินาที 3 รอบ ประมาณ 1 นาที

ขณะที่ปัญหาเรื่องสีหมองคล้ำของมะขามนั้น แก้ไขโดยการดีไซน์แพ็กเกจจิ้งไม่ให้มีอากาศเข้าสู่ตัวสินค้าได้ง่าย ด้วยการใช้กระป๋องฝาฟอยล์ช่วยยืดระยะเวลาการเข้าของอากาศได้อีก 2-3 เดือน จากเดิม 4-5 เดือน เป็น 6-9 เดือน” คุณเต้น เล่าให้ฟังอย่างละเอียด

ในส่วนการดีไซน์แพ็กเกจจิ้งที่โดดเด่นไม่แพ้ใคร คุณเต้น แชร์ให้ฟังว่า “แพ็กเกจจิ้งคือด่านแรกในการทำให้สินค้าได้รับความสนใจจากผู้บริโภค ดีไซน์ต้องโดดเด่น พรีเซนต์ตัวเองได้ มีคาแร็กเตอร์ชัดเจน เล่าเรื่องได้ในระดับหนึ่ง การที่สินค้ามีคาแร็กเตอร์และเรื่องราวช่วยให้ทำการตลาดได้ง่ายขึ้น สร้างการจดจำให้ผู้บริโภค ทำให้ง่ายต่อการต่อยอดสู่สินค้าใหม่ๆ ในอนาคต”

อยากโกอินเตอร์ไม่ยาก แค่เข้าใจ

เมื่อตลาดในประเทศแข็งแรง บ้านมะขาม จึงต้องมองหาโอกาสเติบโตในตลาดต่างประเทศ ทายาทรุ่น 2 เล่าให้ฟังว่า การทำตลาดต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเข้าใจวัฒนธรรมการบริโภคของแต่ละประเทศให้ลึกซึ้ง เพื่อปรับปรุงสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการได้มากที่สุด

“เราเริ่มทำตลาดต่างประเทศเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ช่วงแรกผู้บริโภคไม่รู้จักมะขาม เราต้องสร้างความรู้ ความเข้าใจ รวมทั้งศึกษาเรื่องของกฎหมายให้เข้าใจ เรียกว่าเริ่มจากศูนย์เลย เราใช้กลยุทธ์นำสินค้าที่เขารู้จักอย่างกล้วยเข้ามาเป็นส่วนประกอบ โดยเอามะขามเป็นตัวสอดไส้ ซึ่งได้รับการตอบรับดีมาก โดยเฉพาะญี่ปุ่น

ปัจจุบันเราส่งออกกว่า 10 ประเทศทั่วโลก อาทิ จีน สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อังกฤษ และออสเตรเลีย ซึ่งแต่ละประเทศจะส่งออกสินค้าต่างกัน ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการบริโภคของแต่ละประเทศ เช่น น้ำมะขามเปียกส่งออกตะวันออกกลาง และสำหรับสินค้าขายดี ได้แก่ กล้วยไส้มะขาม มะขามอบแห้ง น้ำมะขามเปียก”

ปัจจุบัน บริษัทมีสัดส่วนยอดขายจากต่างประเทศอยู่ที่ประมาณ 10% ของยอดขายรวม ที่เหลือ 90% เป็นยอดขายภายในประเทศ และยอดขายภายในประเทศกว่า 50% (ประมาณ 100 ล้านบาท) มาจากเซเว่น อีเลฟเว่น

ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2565 ยอดขายรวมของทั้งบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 250 ล้านบาท สำหรับในปี 2566 บริษัทตั้งเป้าเติบโตที่ประมาณ 20%

ส่งมอบโอกาสสู่เกษตรกร-ชุมชน ปีละกว่า 100 ล้าน

อย่างไรก็ตาม การเติบโตของ บ้านมะขาม ได้มาพร้อมกับการส่งมอบโอกาส สร้างงานสร้างอาชีพให้เกษตรกรในชุมชนรอบพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยรับซื้อมะขามจากเกษตรกรประมาณ 2,000 ตันต่อปี คิดเป็นรายได้กลับคืนกว่า 100 ล้านบาทต่อปี

“เมื่อก่อนเกษตรกรปลูกมะขามแล้วไม่รู้จะขายให้ใคร ก็เปลี่ยนมาปลูกยาง พอเราเข้ามารับซื้อมากๆ ขึ้น เขาก็ล้มต้นยางมาปลูกมะขามตามเดิม ถือเป็นเรื่องน่ายินดีครับ มีเพื่อนร่วมวงการมาค้าขายมะขามเพิ่มผลผลิตก็มากขึ้น เศรษฐกิจก็หมุนเวียน บางสวนปลูกกันไม่เยอะ อาจจะเก็บผลผลิตมาส่งรถที่วิ่งรับซื้อ แล้วมาส่งเราอีกที หรือส่งจากสวนโดยตรงก็มี คุณเต้น ทิ้งท้าย ถึงการสร้างรายได้สู่ชุมชน