งานประจำไม่รุ่ง ปลูกกวางตุ้ง รวยกว่า ขายต่อวันมากถึง 3 ตัน

งานประจำไม่รุ่ง ปลูกกวางตุ้ง รวยกว่า ขายต่อวันมากถึง 3 ตัน
งานประจำไม่รุ่ง ปลูกกวางตุ้ง รวยกว่า ขายต่อวันมากถึง 3 ตัน

งานประจำไม่รุ่ง ปลูกกวางตุ้ง รวยกว่า ขายต่อวันมากถึง 3 ตัน

จากอาชีพพนักงานบริษัท มีภรรยาทำเกษตรอยู่แล้ว วันหนึ่งจับทิศทางตลาดถูก ปลูกกวางตุ้งขายแล้วได้กำไรดี จึงตัดสินใจลาออกจากงานมาเป็นเกษตรกรปลูกกวางตุ้งช่วยภรรยา เชื่อไหมว่ามีลูกค้าจากกรุงเทพฯ ปริมณฑล ภาคตะวันออก มาอุดหนุนไม่ขาด ขายต่อวันมากถึง 3 ตัน

จุดเริ่มต้น ผันตัวมาเป็นเกษตรกร

คุณปราโมทย์ เดชบุญ อายุ 47 ปี หรือ เฮียโมทย์ เล่าให้ เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ ฟังว่า เมื่อก่อนเป็นพนักงานบริษัท รับเงินเดือนประจำ ส่วนภรรยามีอาชีพเป็นเกษตรกรปลูกผักขายส่งในตลาดสี่มุมเมืองหลายชนิด ทั้ง ต้นหอม ตั้งโอ๋ ผักชี สลับๆ กันไป

ต่อมาได้เริ่มศึกษาผักกวางตุ้ง เห็นว่าเป็นพืชปลูกง่าย โตไว ผลสรุปว่ากวางตุ้งขายได้กำไรดีกว่ามาก จึงลดสัดส่วนผักอื่นๆ ลง และเปลี่ยนมาปลูกกวางตุ้งเป็นผักหลัก เพราะเป็นผักที่ลงทุนน้อย เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ไว ที่สำคัญ สามารถใช้พื้นที่เพาะปลูกซ้ำได้ 

จากนั้น ธุรกิจก็เริ่มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ รายได้เริ่มมั่นคง จึงเป็นจุดเปลี่ยนให้ตัดสินใจออกจากงานประจำเพื่อหันมาทำอาชีพเกษตรกรแบบเต็มตัว ถึงวันนี้ก็ผ่านมา 20 กว่าปีแล้วที่เฮียโมทย์อยู่ในธุรกิจนี้

“กวางตุ้งที่เรานำมาขายในตลาดสี่มุมเมือง มาจากสวนของตัวเองประมาณ 40 กว่าไร่ แบ่งวิธีการปลูกแบบสลับปลูก ปลูกทีละ 3-4 ไร่ สลับๆ กันไป ทำให้กวางตุ้งของเรามีจำหน่ายตลอดทั้งปี ส่วนที่รับมาจากจังหวัดกาญจนบุรี มาจากลูกสวนบริเวณใกล้เคียงกับเรา วิธีขายของเราคือนำผักมาแพ็กเป็นถุงๆ ถุงละ 5 กก. บรรทุกใส่รถปิกอัพ 1 คัน ครั้งละประมาณ 500-600 ถุง หรือน้ำหนักราวๆ 3,000 กก. ต่อรถ 1 คัน ทำแบบนี้ทุกวัน นอกจากกวางตุ้งแล้ว ยังมีตั้งโอ๋บ้างประปราย แต่ไม่เยอะเท่าไหร่”

เฮียโมทย์การันตีเลยว่านำมาจากสวนสดๆ ทุกวัน “กวางตุ้งของเรามีลำต้นอวบแน่น ใบสีเขียวอ่อนไม่มีสีเหลืองปน ใบไม่หักก้านไม่เหี่ยว และมีความกรอบ ไม่มีเสี้ยนเวลาเด็ด อายุไม่แก่จนเกินไป กำลังเหมาะแก่การนำไปประกอบอาหาร ซึ่งถ้ากวางตุ้งแก่จัดจะมีเสี้ยนแข็งๆ กินไม่อร่อย ซื้อแล้วไม่มีผิดหวัง และที่สำคัญ ราคาไม่แพง”

ในส่วนของราคา เฮียโมทย์ บอกว่า “เราไม่สามารถระบุราคาที่ชัดเจนได้เลย เพราะแต่ละวันหรือแต่ละชั่วโมงราคามีการขึ้นลงอยู่ตลอด จำนวนผักที่เข้าตลาดมาพร้อมเรา ถ้ารอบนั้นมีผักเหมือนกันเข้ามาเยอะก็จะเกิดภาวะผักล้นตลาด ราคาขายจะถูกลง แต่ถ้ารอบนั้นกวางตุ้งมีเข้ามาน้อย ราคาในรอบนั้นหรือชั่วโมงนั้นอาจจะดีดขึ้นเหมือนกัน” 

เคล็ดลับปลูกกวางตุ้ง 

เกษตรกรคนเดิม กล่าวว่า การปลูกกวางตุ้งจริงๆ แล้วไม่ยาก เพราะเป็นพืชที่สามารถเจริญเติบโตได้ในดินทุกชนิด แต่จะชอบดินร่วนปนทรายมากที่สุด การปลูกสามารถใช้เมล็ดพันธุ์ แบบหว่าน หรือแบบโรยเมล็ดให้เป็นแถว ลงในแปลงปลูกในดินที่เตรียมไว้ หลังจากต้นกล้างอกได้ประมาณ 20 วัน ก็ทำการถอน และจัดให้มีระยะระหว่างต้น ประมาณ 20×20 เซนติเมตร เพื่อไม่ให้ต้นชิดกันเกินไป

สำหรับวิธีดูแลรักษา เคล็ดลับอยู่ที่น้ำ เฮียโมทย์ แนะว่า “พื้นที่ปลูกจะต้องระบายน้ำได้ดี น้ำไม่ขัง  ต้องหมั่นรดน้ำให้ชุ่ม โดยรดน้ำเช้าเย็น ให้โดนแดดตลอดวันจะทำให้เจริญเติบโตได้เร็ว”

ขั้นตอนสุดท้าย คือการเก็บเกี่ยวผลผลิต กวางตุ้งให้ผลผลิตได้เมื่อมีอายุประมาณ 30-35 วัน ต้นจะเริ่มโตเต็มที่ ไม่แก่ไม่อ่อนเกินไป เคล็ดลับในการเก็บผลผลิตคือให้ใช้มีดคมๆ ตัดตรงโคนต้น ตัดแต่งใบเสียทิ้ง แล้วนำใส่ในภาชนะที่เตรียมไว้ ระวังอย่าให้โดนความร้อนหรือแสงแดดในช่วงระหว่างเก็บเกี่ยว

ซึ่งขั้นตอนนี้สำคัญมาก เพราะกวางตุ้งเป็นผักที่บอบบางและเหี่ยวง่าย ที่สำคัญ ก่อนบรรจุใส่ถุงต้องผึ่งให้ผักแห้งก่อน ห้ามแพ็กแบบเปียกชื้นโดยเด็ดขาด มิเช่นนั้นจะทำให้กวางตุ้งเหี่ยวและเน่าง่าย

เฮียโมทย์ ยังให้เคล็ดลับทิ้งท้าย การเลือกกวางตุ้ง ต้องเลือกต้นที่ยังอวบ ใบและก้านไม่เหี่ยว จับดูก้านและโคนต้นต้องรู้สึกถึงความแน่น ไม่ยุบตามแรงมือ สังเกตบริเวณรอยตัดที่โคนต้น ดูที่ผิวบางๆ จะได้กวางตุ้งที่อ่อนกำลังดี กรอบ ไม่มีเสี้ยน สามารถกินได้ทั้งก้าน

ขายต่อวันมากถึง 3 ตัน

สำหรับลูกค้าของร้านเฮียโมทย์ ส่วนมากจะเป็นแม่ค้าพ่อค้าจากตลาดสดใน กทม. และจังหวัดใกล้เคียง เช่น  ตลาดจันทบุรี ตลาดชลบุรี เข้ามารับผักราคาส่งเพื่อไปจำหน่ายในราคาปลีก รวมไปถึงพ่อค้าแม่ค้ารถเร่ก็มารับไปขายปลีกเช่นกัน

และช่วงไหนราคาผักไม่แพง หรือผักล้นตลาดจะมีออร์เดอร์ส่งให้กับทางเรือนจำ สำหรับปริมาณกวางตุ้งที่นำมาจำหน่ายอยู่ราวๆ 3 ตัน หรือ 3,000 กก.ต่อวัน รายได้ยังไม่หักค่าใช้จ่ายประมาณ 900,000 กว่าบาทต่อเดือน

สนใจซื้อผักกับเฮียติดต่อได้ที่ อาคารรถผัก ป้าย 41 คันแรก ฝั่งสะพาน ตลาดสี่มุมเมือง เฮียกระซิบว่า มาขายทุกวัน มาได้เลย

เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ.2565