อดีตสาวโรงงาน ผันตัวเลี้ยงแพะล้อมคอก ควบคู่ทำเกษตรผสมผสาน สร้างรายได้คูณสอง

ปัจจุบัน กระแสการเลี้ยงแพะกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากตลาดยังมีความต้องการเนื้อแพะสูง จึงมีการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการเลี้ยงแพะอย่างต่อเนื่อง อาจเรียกได้ว่าการตลาดของสัตว์ชนิดนี้ยังมีอนาคตที่สดใส ขอเพียงมีการจัดการให้เป็นไปตามระบบและได้มาตรฐาน

คุณปัญญา บางแสง หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกร จังหวัดชัยนาท ได้ให้ข้อมูลว่า ทางจังหวัดชัยนาทเองก็เริ่มมีการส่งเสริมให้มีการเลี้ยงแพะมากขึ้น เพื่อให้เกษตรกรมีทางเลือกในการสร้างรายได้ให้กับครอบครัว เพราะจังหวัดชัยนาทมีสภาพอากาศที่ค่อนข้างเอื้ออำนวยต่อการเลี้ยงแพะ จึงทำให้เกษตรกรที่นี่หลายครัวเรือนจัดสรรพื้นที่เกษตรบางส่วนมาทำการเลี้ยงแพะ

(ซ้ายสุด) คุณปัญญา บางแสง

“สาเหตุที่การเลี้ยงแพะประสบผลสำเร็จได้ดีในภาคกลาง เพราะสภาพอากาศดี อากาศไม่แปรปรวน ภาคกลางเราฝนตกอย่างต่ำก็แค่ 4 เดือน ความชื้นจึงไม่มากที่จะเป็นอุปสรรคในการเลี้ยง แพะจึงเจริญเติบโตได้ดี ไม่ป่วยง่าย ไม่ปอดบวมตาย เมื่อมองแล้วเราสามารถทำได้ และที่สำคัญตอนนี้ตลาดต้องการเยอะมากขึ้น สามารถส่งออกขายต่างประเทศโดยเฉพาะจีน ซึ่งตอนนี้ก็อยากจะบอกว่า ใครที่มีเนื้อที่อยู่ก็สามารถแบ่งมาเลี้ยงแพะได้ เลี้ยงแบบล้อมคอกสำหรับคนมีพื้นที่น้อย เท่านี้ก็สามารถทำเงินได้ดี” คุณปัญญา กล่าว

คุณรัชดา นุ่มหอม อยู่บ้านเลขที่ 51 หมู่ที่ 12 ตำบลบางขุด อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท เป็นอีกหนึ่งเกษตรกรที่ได้แบ่งพื้นที่นาของเธอบางส่วนมาทำเกษตรผสมผสานควบคู่ไปกับการเลี้ยงแพะ ซึ่งเธอบอกว่า ณ เวลานี้ พอใจกับการเลือกแนวทางนี้ เพราะทำให้เธอได้มีรายได้หลายทางมากกว่าสมัยก่อน เมื่อเทียบกับการทำอะไรแบบเดิมๆ หรือแบบเชิงเดี่ยวมากเกินไป

คุณรัชดา นุ่มหอม และสามี

จากสาวโรงงาน สู่ชีวิตเกษตรกร

คุณรัชดา สาวที่มากด้วยรอยยิ้ม เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนมีอาชีพรับจ้างเป็นสาวโรงงาน เมื่อทำไปได้สักระยะหนึ่งรู้สึกว่าอาชีพนี้ไม่เหมาะกับเธอ จึงได้กลับมาอยู่บ้านเพื่อทำเกษตรกรรม คือ การทำนา ซึ่งก่อนที่จะลงมือทำนานั้นเธอบอกว่าก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะต้องมีเงินทุนสำรองเพื่อใช้จ่ายจนกว่าข้าวที่ปลูกจะเก็บเกี่ยวผลผลิตขายได้ จึงทำให้เธอต้องไปกู้เงินจากแหล่งกู้ต่างๆ เพื่อนำเงินมาหมุนเวียน

“พอเรากู้เงินมา พอถึงหน้าเก็บเกี่ยวผลผลิต เราก็ขายข้าวไป พอได้เงินมาเราก็นำไปใช้คืน เสร็จแล้วก็กู้คืนมาใหม่ ทำไปทำมาเหมือนจะไม่มีเงินเก็บ หนี้สินกลับมากขึ้นกว่าเดิม ทีนี้มาย้อนคิดดูแล้วว่า เราจะทำแต่นาอย่างเดียวไม่น่าจะไปได้ดี ต้องหาอะไรมาช่วยเสริม คือการทำเกษตรผสมผสาน และที่เป็นหัวใจหลักเลย คือ การเลี้ยงแพะ” คุณรัชดา เล่าถึงช่วงชีวิตสมัยก่อน

เศษไม้ที่เหลือจากแพะกิน นำไปเผาเป็นถ่านได้

ซึ่งผู้ที่เป็นเสมือนแรงบันดาลใจให้กับคุณรัชดาในการเลี้ยงแพะ พร้อมกับการทำเกษตรผสมผสานก็คือ คุณปัญญา บางแสง หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกร โดยได้ชี้แนะให้กับคุณรัชดาว่า ให้แบ่งพื้นที่ภายในบ้านออกเป็นหลายๆ ส่วน คือ นำมาปลูกผัก ปลูกกล้วย ส่วนบางจุดก็เลี้ยงปลา เมื่อผลผลิตเหล่านี้มีก็นำไปขายเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายหมุนเวียนในครัวเรือน และส่วนแพะที่เลี้ยงก็ไม่ต้องปล่อยแบบไล่ทุ่ง แต่ทำเป็นคอกล้อมให้อยู่บริเวณบ้าน พร้อมกับมีโรงเรือนเป็นที่บังแดดบังฝนให้ เมื่อพ่อแม่แพะผสมพันธุ์จนได้ลูกแพะออกมา ก็นำไปขายเก็บเงินส่วนนี้ไว้สำหรับจ่ายหนี้สินหรือเป็นเงินเก็บ

คอกสำหรับแยกลูกแพะ

ณ เวลานี้ คุณรัชดา บอกว่า รู้สึกดีใจที่ได้ทดลองทำเกษตรผสมผสานควบคู่ไปกับการเลี้ยงแพะ เปรียบเสมือนทำให้เธอได้มองเห็นแสงสว่างในการดำเนินชีวิตต่อไปมากกว่าเก่าก่อน

เลี้ยงแบบล้อมคอก แพะโตได้ดีไม่แพ้การเลี้ยงแบบปล่อย

ก่อนที่จะนำแพะที่เป็นพ่อแม่พันธุ์มาเลี้ยงภายในบริเวณบ้านนั้น คุณรัชดา บอกว่า ต้องทำคอกเพื่อเป็นพื้นที่ให้แพะวิ่งเล่นเสียก่อน โดยใช้ไม้ที่หาได้จากชุมชนมาล้อมคอกให้มีขนาด 8×10 เมตร หรือดูตามความเหมาะสมของพื้นที่ ส่วนโรงเรือนสำหรับให้แพะหลบแดดหลบฝนทำเป็นแบบยกพื้นสูงประมาณ 2-3 เมตร และสร้างโรงเรือนให้มีขนาดประมาณ 4×6 เมตร

พื้นที่ภายในคอก

“ช่วงแรกเราเอาแม่พันธุ์มาปล่อยเลี้ยงอยู่ที่ 30 ตัว ส่วนพ่อพันธุ์ 1 ตัว ซึ่งอาหารที่หาให้กินส่วนใหญ่ ก็จะเป็นพวกต้นกระถิน เพราะเราสามารถหาได้จากพื้นที่นี้ เป็นการประหยัดต้นทุน ส่วนที่ดินบางส่วนเราก็แบ่งปลูกหญ้าเนเปียร์ด้วย แพะที่นี่จะได้กินอาหารวันละ 2 มื้อ คือช่วงเช้าและเย็น อาหารก็จะให้กินสลับกันไป จากของที่จะหาได้” คุณรัชดา บอกถึงเรื่องการให้อาหาร

โรงเรือนที่ให้แพะนอน

เมื่อเลี้ยงมาได้สักระยะ พ่อแม่พันธุ์จะเริ่มเป็นสัดผสมพันธุ์จนแม่พันธุ์ตั้งท้อง อาหารในช่วงนี้จะเสริมพวกกากถั่วเหลือง มันเส้น และหญ้าหมักเข้ามาช่วยเพื่อบำรุงแม่พันธุ์ ซึ่งแม่แพะจะใช้เวลาตั้งท้องประมาณ 5 เดือน จึงจะออกลูก

จากนั้นนำลูกแพะมาแยกเลี้ยงออกจากแพะตัวใหญ่ เพื่อไม่ให้มีการเหยียบกันตาย ซึ่งลูกแพะจะกินแต่นมแม่เพียงอย่างเดียวประมาณ 4-5 เดือน พอหลังจากที่ลูกแพะหย่านมแล้วจึงจับแพะตัวผู้ขาย ส่วนตัวเมียเก็บไว้เลี้ยงเพื่อไว้ทำเป็นแม่พันธุ์ต่อไป

“การป้องกันโรคของแพะ หลักๆ ก็จะมีเรื่องการถ่ายพยาธิ ทุก 2 เดือนครั้ง ส่วนโรงเรือนที่นอนก็มีกางมุ้งให้ อย่าให้ยุงเข้าไปกัด และที่สำคัญภายในเรือนนอนอย่าให้ลมผ่านแรงหรือพัดเข้าไปมาก มันจะทำให้แพะป่วยได้ง่าย ส่วนเรื่องอื่นๆ เราก็ติดต่อสำนักงานปศุสัตว์เขาก็จะมาช่วยดูให้เป็นระยะ คอยตรวจเช็กเรื่องต่างๆ เพื่อให้การเลี้ยงเราเป็นไปตามมาตรฐานมากขึ้น” คุณรัชดา บอกถึงการดูแลแพะ

 

แพะที่เลี้ยงในบ้านทั้งหมด มีคนมาติดต่อซื้อถึงที่

คุณรัชดา บอกว่า ตั้งแต่เลี้ยงแพะมา เรื่องตลาดสำหรับเธอไม่ค่อยเป็นห่วงมากนัก เพราะมีพ่อค้าที่ทราบข่าวว่าบ้านเธอมีแพะที่เลี้ยงไว้ก็จะมาติดต่อซื้อถึงบ้าน โดยรับซื้อแพะตัวผู้ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 30 กิโลกรัมขึ้นไป ให้ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 105-120 บาท ราคาสามารถขึ้นลงได้ตามกลไกของตลาด

นอกจากเลี้ยงแพะขายแล้ว คุณรัชดา บอกว่า เศษไม้กระถินที่เหลือจากแพะกินก็สามารถทำเงินให้กับเธอได้ด้วย คือนำมาเผาเป็นถ่านเพื่อขายเป็นเงินมาไว้ใช้จ่ายเล็กๆ น้อยๆ ในบ้าน

หญ้าเนเปียร์หมัก

“แพะในเรื่องของการทำตลาดถือว่าดีมาก นอกจากเราจะขายตัวผู้ได้แล้ว ตัวเมียก็ยังขายได้ราคา อายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ก็ขายตกอยู่ที่ตัวละ 3,500-4,500 บาท พอเขาดูแล้วเขารู้สึกถูกใจ เขาก็ซื้อยกตัวไปเลย มองว่าในอนาคตตลาดแพะน่าจะไปได้ดี เพราะว่าตอนนี้ปศุสัตว์ก็มาส่งเสริมให้เลี้ยง เพื่อที่อนาคตจะได้รวมกลุ่ม สามารถทำตลาดกันได้มากขึ้นในอนาคต” คุณรัชดา กล่าวถึงเรื่องราคาขายแพะ

ทั้งนี้ คุณรัชดา ยังบอกอีกด้วยว่า เวลานี้เธอรู้สึกมีความสุขมากที่ได้มาเลี้ยงแพะ พร้อมกับการทำเกษตรแบบผสมผสานไปด้วย เพราะสำหรับเธอเมื่อมองย้อนไปสมัยก่อนจากการเป็นหนี้สินเป็นสิ่งที่เธอรู้สึกว่าเส้นทางชีวิตมีแต่ความมืดมน เพราะไม่รู้ว่าจะหาวิธีใดมาแก้ไขได้ ถ้าเธอยังยึดติดอยู่กับวิถีเดิมๆ แต่ในครั้งนี้เธอได้ยอมรับการเปลี่ยนแปลง เพราะเธอมองว่าในอนาคตตลาดของแพะจะนิยมมากขึ้นกว่านี้แน่นอน

พื้นที่ภายในโรงเรือนนอน
ถ่านที่ได้จากเศษไม้ที่แพะกิน

“สำหรับเกษตรกรคนไหนที่เป็นหนี้อยู่ ก็อยากจะบอกว่าอย่าไปท้อ คือเข้าใจความรู้สึกว่าการเป็นหนี้ไม่ใช่เรื่องสนุก บางทีจะเครียดว่าจะหาเงินที่ไหนมาใช้หนี้ แต่ก็อยากให้ดูเราเป็นตัวอย่างว่า ตอนนี้เราเจอทางออกเจอแสงสว่างแล้ว ว่าเราจะต้องดำเนินชีวิตต่อไปยังไง ในเมื่อชีวิตคนเรามันมีขาดทุนเป็นหนี้ได้ ชีวิตมันก็ต้องรวยและปลดหนี้ได้เหมือนกัน ใครอยากปรึกษาเกี่ยวกับการเลี้ยงแพะ ก็ติดต่อมาคุยกันได้ ยินดีให้คำแนะนำ เพราะชีวิตมันต้องเปลี่ยนแปลงบ้าง อย่าไปทำอะไรที่มันเดิมๆ เพราะบางทีสิ่งใหม่ๆ มันจะสดใสกว่าสิ่งเดิมที่ทำอยู่ก็ได้” คุณรัชดา กล่าวแนะนำ