ไอเดียสู้วิกฤต! เปลี่ยนโต๊ะ 2 ตัว เป็น ฟาร์มผักสลัด สร้างรายได้ถึง 4 หมื่น

อดีตเจ้าของร้านอาหาร ฝ่าวิกฤตโควิด เปลี่ยนโต๊ะ 2 ตัว เป็น ฟาร์มผักสลัด สร้างรายได้ถึง 40,000 บาท

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการหลายคนประสบปัญหาหนัก เมื่ออาชีพหลักกลายเป็นอาชีพที่ไม่มั่นคง ทำให้ต้องหารายได้เสริมจากทางอื่น เช่นเดียวกับ คุณหมูแดง-ณิรินทร์พัชร์ เขื่อนแก้ว อดีตเจ้าของร้านอาหารที่หารายได้เสริมจากความชอบทานผักสลัด เธอเริ่มต้นปลูกผักขายด้วยโต๊ะเพียงแค่ 2 ตัว จนในตอนนี้ขยับขยายกลายเป็น ฟาร์มสุขทางใจ ที่สร้างรายได้ถึง 40,000 บาทต่อเดือน

คุณหมูแดง-ณิรินทร์พัชร์ เขื่อนแก้ว

ปลูกผักสลัดขาย’ จากอาชีพเสริมกลายเป็นอาชีพหลัก

คุณหมูแดง เจ้าของฟาร์มวัย 27 ปี เคยเปิดร้านอาหารหน้ามหาวิทยาลัยได้ประมาณ 2-3 ปี แต่ประสบกับวิกฤตโควิด-19 จนส่งผลกระทบกับรายได้ที่เคยมี ทำให้เธอคิดหารายได้เสริมจากความชอบทานผักสลัดและมองเห็นว่าไม่ค่อยมีใครทำ จึงได้เริ่มต้นปลูกผักขายโดยใช้พื้นที่ว่างในบ้านของคุณป้า

เจ้าของฟาร์มบอกกับ เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ ว่า เธอเริ่มจากศูนย์ เพราะไม่มีความรู้และไม่เคยปลูกผักสลัดมาก่อน ด้วยความชอบกินจึงสนใจที่จะปลูก โดยเริ่มต้นจากการเรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านยูทูบและศึกษาเพิ่มเติมจากคนรู้จักที่ปลูกผักสลัดอยู่แล้ว จากนั้นก็นำความรู้มาลงมือปลูกและแจกให้ญาติพี่น้องได้กิน ลองผิดลองถูกอยู่ประมาณ 2-3 เดือน พอจับจุดถูกจนปลูกได้และรู้สึกมั่นใจในรสชาติของผัก เธอก็เริ่มรับออร์เดอร์

เริ่มแรกคุณหมูแดงขายผักสลัดในจังหวัดพะเยาก่อน ทั้งไปติดต่อร้านอาหารและขายตามเพจเฟซบุ๊กของจังหวัด ปรากฏว่าได้ผลตอบรับดีเกินคาด แต่ในขณะเดียวกัน ร้านอาหารกลับแย่ลงเรื่อยๆ ด้วยเหตุนี้เธอเลยตัดสินใจหยุดทำร้านอาหารและหันมาปลูกผักอย่างเต็มตัว จนเกิดเป็น ฟาร์มสุขทางใจ ดังเช่นทุกวันนี้

ในช่วงแรกคุณหมูแดงเริ่มต้นปลูกผักจากโต๊ะขนาด 10 เมตร เพียง 2 โต๊ะ “เป็นโรงเล็กๆ ลองปลูกดูก่อน พอเราปลูกไปรายได้เริ่มเข้ามา เริ่มมีเงินเก็บนิดๆ หน่อยๆ เราก็ค่อยๆ ขยับขยายโต๊ะเพิ่ม” เธอบอกอย่างนั้น

เจ้าของฟาร์ม เล่าต่อว่า เธอลงทุนกับความรู้มากที่สุด ด้วยความที่ศึกษามาพอสมควรและลงมือทำไปด้วยเรียนรู้ไปด้วย ค่าใช้จ่ายจึงไม่มาก อีกทั้งยังใช้เศษไม้และอุปกรณ์ที่อยู่ในสวนมาประกอบเป็นของใช้ต่างๆ ทำให้ประหยัดต้นทุนและสามารถไปโฟกัสในส่วนอื่นๆ ได้ เช่น การปลูก การตลาด เป็นต้น

“ใช้ต้นทุนไม่เยอะมาก ประมาณ 2,000-3,000 บาท คืนทุนตั้งแต่ล็อตแรกที่ขาย หลังจากนั้นเป็นกำไรแล้วค่ะ” คุณหมูแดง เล่าและเผยอีกว่า เฉพาะการปลูกผักสลัดขายอย่างดียว สร้างรายได้ให้กับเธอเฉลี่ยต่อเดือน 30,000-40,000 บาท

45 วันกับการดูแลผักสลัดปลอดสาร

ผักสลัดจะใช้ระยะเวลาในการปลูกประมาณ 45 วัน “แบ่งเป็น 2 ขั้นตอนคือ ช่วงที่ผักเป็นเบบี๋หรือตอนที่เพาะเมล็ดอยู่ในถาดเพาะ ระยะเวลาในการดูแลตรงนั้นใช้เวลาประมาณ 15 วัน หลังจากนั้นย้ายลงมาปลูกในแปลง แล้วนับต่ออีก 30 วัน ถึงตัดได้” เจ้าของฟาร์ม ว่าเช่นนั้น

การดูแลจะแตกต่างกันไปในแต่ละฤดู เนื่องจากผักสลัดชอบอากาศเย็นสบายและปลูกได้ดีในฤดูหนาว เธอแชร์ให้ฟังว่า “บ้านเราอากาศร้อนบ้าง ฝนตกบ้าง สลับกันไป ถ้าร้อนมากต้องมีสแลนช่วยพรางแดดและรดน้ำเพิ่มขึ้น ถ้าหน้าฝนต้องมีหลังคาโรงเรือน เพื่อไม่ให้ฝนกระทบกับผักมากเกินไป ผักสลัดชอบน้ำแต่ก็ไม่ได้ชอบให้แฉะเกินไป เพราะอาจทำให้เป็นโรครากเน่าโคนเน่าได้ง่าย”

ฟาร์มสุขทางใจ มีจุดเด่นคือ เป็นผักอินทรีย์ที่ปลูกด้วยดินและปลอดสารเคมี อีกทั้งยังมีรสชาติหวานกรอบอร่อย ซึ่งจะไม่ขมเหมือนผักทั่วไปและเก็บรักษาได้นานกว่า “เราไม่มีความรู้ทั้งการปลูกแบบใช้สารและไม่ใช้สาร เราเลยตัดสินใจว่าทำแบบไม่ใช้สารดีกว่า คนปลูกปลอดภัย คนทานก็สุขภาพดีด้วย” คุณหมูแดง เล่าให้ฟัง

เมื่อถามว่าปลูกอินทรีย์ไม่ใช้สารเคมีแล้วจัดการกับแมลงอย่างไร คุณหมูแดง ตอบว่า “เราใช้สมุนไพรที่ทำขึ้นมาเอง เป็นสมุนไพรไล่แมลงควบคู่กับสารชีวภัณฑ์ที่ได้รับมาตรฐานอินทรีย์ โดยเป็นสมุนไพรที่ทำมาจากข่าแก่และพริก นำมาต้มให้มีกลิ่นฉุนแล้วไปฉีดพ่นผักได้”

ส่วนมากผักของ ฟาร์มสุขทางใจ จะไม่พบแมลง เจ้าของฟาร์มได้คลายความสงสัยให้ฟังว่า “เหมือนผักเป็นเด็กเบบี๋ ถ้าเราเตรียมดินให้ดี พอผักได้รับสารอาหารอื่นๆ ก็เป็นเด็กที่แข็งแรง โรคและแมลงจะไม่ค่อยมารบกวน เราก็เริ่มปล่อย ไม่ค่อยห่วงแล้ว และจะให้อาหารเสริมเพื่อให้ผักมีรสชาติหวานกรอบ”

สินค้าและอนาคตอันใกล้ของฟาร์มสุขทางใจ

ฟาร์มสุขทางใจ ปลูกเฉพาะผักตระกูลสลัด มีทั้งกรีนคอส เบบี้คอส บัตเตอร์เฮด กรีนโอ๊ก และเรดโอ๊ก ในราคากิโลกรัมละ 100 บาท ตลอดทั้งปี โดยจัดส่งด้วยรถควบคุมอุณหภูมิ ซึ่งจะไม่ทำให้ผักเสียหาย

“ในพะเยาส่งแค่ร้านอาหาร ตอนนี้จะเป็นออนไลน์ 90% เพราะส่วนใหญ่เป็นลูกค้าต่างจังหวัด เขาจะจองไว้ตั้งแต่เราลงปลูกเลย สมมติลูกค้าเคยมาซื้อ 1-2 กก. รอบต่อไปเหมือนมีการบอกต่อ แล้วออร์เดอร์ก็เพิ่มขึ้นเป็น 10-20 กก.” คุณหมูแดง กล่าวและบอกว่า กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ของ ฟาร์มสุขทางใจ คือ คนที่รักสุขภาพและคนเป็นโรคมะเร็ง

นอกจากนี้ ฟาร์มสุขทางใจ ยังมีสินค้าอื่นๆ อีกคือ ชุดทดลองปลูกผักสลัด ดินปลูก ดินหมักพร้อมปลูก และน้ำหมักแบ่งขาย เจ้าของฟาร์มได้เล่าถึงที่มาที่ไปให้ฟังว่า “ด้วยความที่เราทำการตลาดออนไลน์ แล้วมีคนสนใจอยากลองปลูกบ้าง ทีนี้อยู่ไกลกันจะบอกจะสอนมันก็ยาก เราเลยปิ๊งไอเดียจากตรงนี้และคิดว่าน่าจะมีชุดทดลองปลูก เพื่อจะได้ไม่ต้องหาซื้ออุปกรณ์ยิบย่อยเยอะแยะ คือเอาชุดนี้ไปก็ปลูกได้เลย”

หากซื้อชุดทดลองปลูกไปแล้ว ทางคุณหมูแดงยังให้ความช่วยเหลือผ่านทางกลุ่มเฟซบุ๊ก โดยมีคลิปสอนให้ทำตามได้ง่ายๆ หรือสามารถทิ้งคำถามต่างๆ ไว้ได้ “บางคนเริ่มจากชุดทดลองปลูก ตอนนี้ฟาร์มใหญ่แล้ว ทำกันจริงจังเลย เพราะเราก็ให้ขั้นตอนต่างๆ ในกลุ่มค่อนข้างเยอะ” ชุดทดลองปลูกนี้กลายเป็นสินค้าที่สามารถสร้างอาชีพให้กับคนอื่นได้อีกด้วยเช่นกัน

ในอนาคตเร็วๆ นี้ คุณหมูแดงอยากจะนำสิ่งที่ตัวเองชอบกับสิ่งที่ตัวเองรักคือ ร้านอาหารกับฟาร์มผัก สร้างเป็นคาเฟ่และโฮมสเตย์เล็กๆ ไว้สำหรับให้คนมาเที่ยวชมได้ อีกทั้งยังเป็นคาเฟ่ร้านอาหารแบบ Farm to Table โดยจะเสิร์ฟผักที่ตัดสดๆ จากฟาร์มให้ทาน ณ เวลานั้น ทำให้ลูกค้าได้สัมผัสความอร่อยของผักจากธรรมชาติแท้ๆ

สำหรับใครที่อยากจะเริ่มต้นปลูกผักอินทรีย์หรืออยากสั่งซื้อผักสลัด สามารถติดต่อได้ที่เพจเฟซบุ๊ก ฟาร์มสุขทางใจ หรือ TikTok ฟาร์มสุขทางใจ

 

เผยแพร่เมื่อ วันพุธที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2565