จากคนไม่ทานผัก สู่ เจ้าของฟาร์มผักเคลออร์แกนิก อาชีพเสริม สร้างรายได้กว่า 4 พัน / คร็อป

จากคนไม่ทานผัก สู่ เจ้าของฟาร์มผักเคลออร์แกนิก อาชีพเสริมเล็กๆ สร้างรายได้กว่า 4 พันบาทต่อคร็อปการปลูก

คนเรามักจะทำในสิ่งที่ใช่ เลือกในสิ่งที่ชอบ แต่คงไม่ใช่กับหนุ่มเจ้าของ ฟาร์มผักเคล 1 to grow คนนี้ ที่แม้พื้นเดิมเป็นคนไม่ทานผัก แต่เลือกที่จะหันมาปลูกผัก เพราะอยากยกระดับพืชผลการเกษตรที่ราคาตกต่ำ!

คุณแวรี่-ยงยศ ตั้งพิพัฒน์ เจ้าของฟาร์ม เล่าให้ เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ ฟังว่า ฟาร์มผักเคล 1 to grow เกิดจากความต้องการส่วนตัว ที่อยากจะปลูกผักที่มีประโยชน์และมีลักษณะสวยงาม กรอบ สด ไม่ขม เป็นออร์แกนิกไร้เคมีให้คนได้ทานกัน เพราะโดยส่วนตัว เป็นคนไม่ชอบทานผักเพราะรสชาติขม

คุณแวรี่-ยงยศ ตั้งพิพัฒน์ วัย 29 ปี เจ้าของฟาร์มผักเคล 1 to grow

“การลงทุนที่ดีอย่างหนึ่งเลย คือการสร้างสุขภาพของเราให้แข็งแรง และสุขภาพที่แข็งแรงก็เริ่มจากอาหารการกิน แต่โดยส่วนตัวแล้วผมไม่ชอบกินผักเพราะมันขม เฝื่อนๆ บางทีกินแล้วก็ท้องไส้ไม่ดี เลยคิดว่า อยากปลูกผักที่มีประโยชน์ ลักษณะสวยงาม กรอบ สด ไม่ขม เป็นออร์แกนิกไร้เคมีให้คนได้ทานกัน แล้วผมช่วยที่บ้านบริหารธุรกิจสวนผลไม้ ก็จะเจอเกษตรกรหลากหลายมาก มันก็ทำให้เห็นว่า ราคาผลผลิตทางการเกษตรนี่มันตกต่ำมากนะ แต่ตัวเกษตรกรต้องลงทุนไปมาก ผลที่ได้มันไม่คุ้ม”

“ไหนจะเรื่องการคุมคุณภาพของพืชผล ที่เขาทำไม่ได้ เพราะปลูกกันแบบบ้านๆ มันเลยกลายเป็นวงจร วนไปวนมา ทำเท่าไหร่ก็ไม่ดีขึ้น แล้ววันหนึ่งเราก็ได้พูดคุยกับเพื่อน คุยกันว่าเมืองไทยเป็นเมืองเกษตรกรรม แต่เกษตรกรยังวนอยู่กับวงจรทำแล้วหาย เราจะทำยังไงดี มันก็ต้องเอาตัวเองเข้าไปให้เห็นว่า เขาปลูกเขาทำกันยังไง โปรเจ็กต์นี้เลยเริ่มขึ้นเมื่อปี 2560 ทำเป็นงานอดิเรก” คุณแวรี่ เล่า

โดยสาเหตุที่เลือกปลูกผักเคล (Kale) หรือผัก คะน้าใบหยิก (Curly Kale) เพราะเป็นผักที่น่าสนใจชนิดหนึ่งที่หาทานได้ยาก แต่ประโยชน์ทางสุขภาพกลับมากมี ที่สำคัญ รสชาติไม่ติดขมเหมือนผักคะน้าฮ่องกง

“จริงๆ ที่บ้านมีสวนผลไม้ แต่การจะลองปลูกผลไม้สักอย่าง มันใช้เวลาเติบโตนาน แต่ถ้าเป็นผัก มันรู้ผลเร็ว ถ้าไม่เวิร์กก็เปลี่ยนได้เร็วและง่ายกว่า ก็เริ่มเป็นผักสลัดก่อน พอเริ่มรู้วิธีการ ผมก็หันมาเล่นเคล เพราะผักเคล เป็นผักที่น่าสนใจมากนะครับ และก็ค่อนข้างหาทานยาก มีประโยชน์ทางสุขภาพเยอะมาก ที่สำคัญ รสชาติไม่ติดขม ผมก็ปลูกด้วยดินหมักปลอดสารเคมี ทำให้ผักยิ่งกรอบ แข็งแรง กลิ่นและรสกลมกล่อม ไม่ขมไม่ฝาด ผมก็แฮปปี้กับการกินผักมากขึ้น จากเมื่อก่อนปลูกเป็นงานอดิเรกเล็กๆ กินไม่หมดก็เก็บขาย จนผ่านมาได้ 2 ปี ปัจจุบันผมก็ต่อยอดเป็นโรงเรือน 1 หลัง ขนาด 1 งานได้แล้ว” คุณแวรี่ ว่าอย่างนั้น

โดยผักเคลของคุณแวรี่ จำหน่ายในราคาขีดละ 60 บาท ลูกค้าส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มคนรู้จักและพี่น้องในรั้วมหาวิทยาลัยที่เรียนจบมาอย่าง ธรรมศาสตร์ ที่มักอุดหนุนกันประจำ

“เพิ่งขายได้ประมาณ 3 เดือนครับ รายได้ก็อยู่ที่ 3,000-4,000 บาทต่อคร็อป เพราะผลผลิตไม่ได้ออกพร้อมกัน แล้วโรงเรือนผมก็มีประมาณ 2-3 คร็อป ถ้าผักขึ้นมาเต็มโรงเรือน ก็น่าจะทำรายได้ประมาณหลักหมื่นบาทครับ” คุณแวรี่ ว่าอย่างนั้น

เจ้าของฟาร์มผักเคลฟาร์มเล็กๆ นี้ยังบอกอีกว่า สามารถนำเคลมาทำเป็นอาหารได้หลากหลาย โดยเมนูที่แนะนำคือ สมูทตี้ผักเคล น้ำผักเคลสกัดเย็น ผัดผักเคลน้ำมันหอย สลัดผักเคล และ ขนมผักเคลอบแห้ง เป็นต้น

สอบถามเพิ่มเติม เฟซบุ๊ก Yongyoch Tangpipat

เผยแพร่เมื่อ วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ.2565