เปลี่ยนนาข้าว เป็นนาแห้ว เก็บผลผลิตขาย พีกสุดเดือนละแสนกิโล 

เปลี่ยนนาข้าว เป็นนาแห้ว เก็บผลผลิตขาย พีกสุดเดือนละแสนกิโล 
เปลี่ยนนาข้าว เป็นนาแห้ว เก็บผลผลิตขาย พีกสุดเดือนละแสนกิโล 

เปลี่ยนนาข้าว เป็นนาแห้ว เก็บผลผลิตขาย พีกสุดเดือนละแสนกิโล 

จากเกษตรกรทำนาหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน เมื่อราคาข้าวตกต่ำจึงหันมาทำนาแห้วเสริม ซึ่งทำกำไรได้ดีกว่านาข้าวเป็นไหนๆ มียอดจำหน่ายพีกสุดเดือนละแสนกิโล อีกทั้งยังแตกไลน์สินค้าของหวานเชื่อม วัตถุดิบน้ำแข็งไส ไอศกรีม สร้างรายได้รวมเป็นกอบเป็นกำไม่ต่ำกว่าเดือนละ 3 ล้านบาท

คุณเรณู เฉกแสงทอง หรือ เจ๊เรณู-แห้วพันล้าน อายุ 57 ปี เล่าให้เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ฟังว่า หลังราคาข้าวตกต่ำ ได้ปรับตัวมาทำนาแห้วเสริม แต่ปรากฏว่านาแห้วสามารถทำกำไรได้ดีกว่านาข้าว จึงตัดสินใจปลูกแห้ว โดยเริ่มปลูกในพื้นที่ 10 ไร่ ถึงปัจจุบันมีนาแห้วกว่า 100 ไร่ และมีลูกไร่อีกเกือบ 300 ไร่ 

นาแห้วของเราปลูกแห้วสายพันธุ์จากจีน และสายพันธุ์ไทย จะได้แห้วขนาดใหญ่ สีขาวสวย น่าทาน และสามารถปลูกได้ทั้งปี ในส่วนของลูกไร่เราเข้าไปดูแลเรื่องต้นพันธุ์ การใส่ปุ๋ย ส่วนขั้นตอนการขาย ลูกไร่จะนำแห้วมาขายให้โดยตรงเพื่อคัดเกรด และสามารถควบคุมคุณภาพให้ตรงตามที่ลูกค้าต้องการได้ นอกจากมีของหมุนเวียนขายได้ทั้งปีแล้ว ยังสร้างรายได้ยั่งยืนให้เกษตรกรชาวอำเภอศรีประจันต์อีกด้วย

ก่อนเล่าต่อว่า ในจังหวัดสุพรรณบุรี ใช่ว่าจะทำนาแห้วได้ทั้งจังหวัด มีเพียงอำเภอศรีประจันต์ และเฉพาะบางหมู่บ้านของบางตำบลเท่านั้น ดังนั้น นาที่นี่จึงนับเป็นแห่งเดียวและหนึ่งเดียวของประเทศไทย ที่สามารถผลิตแห้วคุณภาพดีที่สุดในประเทศ

เคล็ดลับการปลูก ขยายพันธุ์ เก็บเกี่ยว 

เจ๊เรณู แนะนำว่า แห้วสามารถปลูกได้ในดินทุกชนิด แต่ถ้าอยากให้ผลผลิตดีที่สุด ต้องปลูกในดินเหนียวหรือดินร่วน แห้วเป็นพืชที่ชอบความชื้นขึ้นอยู่ในน้ำ หรือในพื้นที่แฉะ และชอบแสงแดด

วิธีปลูก คือใช้หน่อ ไหล และเมล็ด โดยจะเพาะเมล็ดให้เป็นต้นกล้าก่อน แล้วย้ายลงปลูกในแปลงดินที่เตรียมไว้ หรือถ้ามีไหล หน่อ ก็ปลูกได้เลย การปลูกจะปักลงดินคล้ายดำนา ระยะห่างประมาณ 75×75 เซนติเมตร

เริ่มปลูกระยะแรกต้องให้มีน้ำขังตลอดฤดูการปลูก ให้โดนแดดได้ตลอดจึงจะเจริญเติบโตดี เมื่อแห้วมีอายุได้ประมาณ 7-8 เดือน หลังปลูกลงแปลง ให้สังเกตดูเมื่อใบเหี่ยวมีสีเหลืองหรือมีสีน้ำตาล ให้ปล่อยน้ำออกให้ดินแห้งก่อนประมาณ 3-4 อาทิตย์ ก็สามารถถอนขุดหัวออกมาจำหน่ายได้ แต่ต้องระวังไม่ให้หัวแห้วเป็นแผล

ก่อนจำหน่ายล้างดินออกให้สะอาด สะเด็ดน้ำ และตากให้แห้งสนิท แล้วนำไปเก็บใส่ภาชนะ ซึ่งสามารถเก็บได้นานประมาณ 6 เดือน หัวแห้วที่จะซื้อขายได้ ต้องมีขนาดอย่างน้อยประมาณเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 ซม. 

แตกไลน์สินค้าของหวานเชื่อม

นอกจากแห้วปอก แห้วดิบ แห้วต้ม ที่วางจำหน่ายแล้ว เจ๊เรณูยังมีของเชื่อมของหวานทุกชนิดที่เป็นเครื่องเคียงและส่วนประกอบของน้ำแข็งไส ขนมหวาน และไอศกรีมจำหน่ายด้วย เช่น ลูกชิด, ลูกตาล, มันเชื่อม, ถั่วแดงเชื่อม, เผือกเชื่อม, พุทราเชื่อม, กล้วยตาก, วุ้นหวาน, วุ้นจืด, วุ้นขาว, วุ้นเขียว, วุ้นแดง, สับปะรดเชื่อม, น้ำหวาน, เฉาก๊วย, เฉาก๊วยแข็ง, เฉาก๊วยนิ่ม, ข้าวเม่าเขียว, ข้าวเม่าขาว และอื่นๆ อีกกว่า 20 ชนิด

“ร้านเราขายทั้งปลีก-ส่ง แห้วต้ม แห้วปอก และของเชื่อมทุกชนิด มีทั้งบรรจุใส่ถุง ถุงละ 1 กิโลกรัม เช่น แห้วต้ม (ปอก) 110 บาท, แห้วดิบ (ปอก) 100 บาท, มันเชื่อม (เล็ก, ใหญ่) 55-60 บาท, วุ้นมะพร้าว 25 บาท, สับปะรดเชื่อม 55 บาท ฯลฯ และที่ขายเป็นปี๊บ ได้แก่ เฉาก๊วยนิ่ม ปี๊บละ 8 กิโลกรัม ราคา 230 บาท, ลูกชิด ปี๊บละ 21 กิโลกรัม ราคา 930 บาท” เจ๊เรณู อธิบาย 

ก่อนเล่าต่อ ลูกค้าของร้านมีหลากหลาย ส่วนหนึ่งรับไปตีตราแบรนด์ของตัวเอง แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มากมาย เช่น แห้วอบแห้งรสต่างๆ ข้าวเกรียบแห้ว แห้วในน้ำเชื่อม และอีกหลากหลายผลิตภัณฑ์ เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับแห้วและสร้างรายได้ให้กับตัวเอง

ลูกค้าอีกส่วนก็มาซื้อแห้วดิบจากทางร้าน นำไปประกอบอาหารต่างๆ รวมไปถึงพ่อค้าแม่ค้าที่เปิดหน้าร้านขายไอศกรีมตัก หรือขายน้ำแข็งไสก็จะมารับสินค้าพวกของเชื่อมของหวานต่างๆ จากร้านไปเป็นท็อปปิ้ง อย่างแบรนด์ดังๆ ที่คนรู้จัก เช่น ร้านไอศกรีมไผ่ทอง, ร้านไอศกรีมมหาชัย รวมไปถึงพ่อค้าแม่ค้ารถเร่ก็เข้ามารับสินค้าจากทางร้านเช่นกัน

“รายได้คร่าวๆ ถ้าเฉพาะแห้ว ยอดขายต่อวันอยู่ที่ประมาณ 2,000-3,000 กิโลกรัม หรือต่อเดือนอยู่ที่ราวๆ 60,000-100,000 กิโลกรัม หรือประมาณ 3,000,000 กว่าบาท/เดือน (ยังไม่หักรายจ่าย)” เจ๊เรณู ทิ้งท้าย 

หากลูกค้าต้องการเข้ามาซื้อที่ร้าน สามารถมาได้ที่ ร้านแห้วเรณู เปิดขายตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุด ที่ ตลาดสี่มุมเมือง อาคารตลาดพืชไร่ ซอย 4 เลขที่แผง 4/8-4/12 โทรศัพท์ 081-632-7499 ช่องทางออนไลน์ เพจร้านแห้วเรณู ตลาดสี่มุมเมือง หรือไลน์ Ranooshop

เผยแพร่เมื่อ 11 มิถุนายน 2565