กระท้อนปราจีน ปลูกง่าย ขายได้ราคา ไร้ปัญหาโรคและแมลง

 

ความนิยมในการปลูกพืชแบบผสมผสานแพร่กระจายไปในหลายพื้นที่ เหตุผลสำคัญที่หลีกเลี่ยงการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เพราะหากเกิดปัญหาใดที่ทำให้กิจการภายในพื้นที่เพาะปลูกดำเนินต่อไปไม่ได้ นั่นหมายถึง ต้องยุติการทำการเกษตรลงชั่วคราวหรือถาวร และเหตุผลนี้ก็เป็นเหตุผลเดียวกับที่ คุณอำนาจ ศรีชุ่ม เกษตรกรชาวสวน วัย 63 ปี ตัดสินใจปลูกพืชแบบผสมผสาน ไว้ในแปลงเดียวกัน

คุณอำนาจ เป็นชาวอำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี โดยกำเนิด เกิดและเติบโตมากับการทำสวนหลายชนิด โดยเฉพาะสวนไม้ผลที่เป็นผลไม้นิยมและขึ้นชื่อของจังหวัดปราจีนบุรี อาทิ ทุเรียน กระท้อน เงาะ ส้มโอ มังคุด ทำให้ประสบการณ์การดูแลสวนไม้ผลแทรกซึมเข้าร่างกายอย่างปฏิเสธไม่ได้

พื้นที่ทำสวนไม้ผลของคุณอำนาจมีหลายแปลง แต่แปลงหนึ่งที่น่าสนใจ มีพื้นที่ 32 ไร่ ไม้ผลที่ปลูกเป็นหลักมี 3 ชนิด ได้แก่ กระท้อน ทุเรียน และไผ่ตง แต่ยังผสมผสานไปด้วย มังคุด เงาะ มะยงชิด มะปรางหวาน และไม้ประดับในกลุ่มจันทร์ผา

แต่ในที่นี้ คุณอำนาจแนะนำไม้ผลเพียงชนิดเดียว คือ กระท้อน เนื่องจากเป็นผลไม้ที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำมากที่สุดกว่าไม้ผลชนิดอื่นที่มีอยู่

“เดิมผมซื้อที่ดินแปลงนี้ไว้เพื่อปลูกไผ่ตง เพียง 2 ปี ไผ่ตงออกดอก นั่นหมายถึงไผ่ตงเจริญเติบโตเต็มที่และสุดท้ายก็ตาย ทำให้ผมต้องเปลี่ยนเป็นปลูกไม้ผล ในระยะแรกปลูกทุเรียนบ้าง เงาะบ้าง มังคุดบ้าง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเกิดปัญหาราคาตกต่ำ”

กระท้อน เป็นไม้ผลชนิดที่ไม่อยู่ในสายตาคุณอำนาจ กระทั่งในยุคที่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ กระท้อน เป็นไม้ผลชนิดเดียวในละแวกนั้นที่สร้างรายได้ให้เห็น จากเหตุผลเดิมที่คุณอำนาจเห็นว่ากระท้อนเป็นไม้ผลที่มีความยุ่งยากในขั้นตอนการปลูกและดูแล กลับกลายเป็น กระท้อนเป็นไม้ผลที่สร้างรายได้ หากผู้ปลูกให้ความใส่ใจในการดูแล

 

กระท้อนทั้งหมดในแปลงมีประมาณ 150 ต้น เป็นไม้ผลจำนวนมากที่สุดของแปลง รองลงมา เป็นทุเรียน และไผ่ตง

เมื่อคุณอำนาจตัดสินใจปลูกกระท้อน จึงมองหาสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยม เพื่อประโยชน์ทางการตลาด จึงเลือกสายพันธุ์อีล่า และ ปุยฝ้าย

อีล่า เป็นสายพันธุ์หนัก มีผลใหญ่กว่าพันธุ์อื่นๆ เมื่อแก่จัดเปลือกนอกจะเป็นสีเหลืองเข้มหรือสีน้ำตาลอ่อน เปลือกบาง เนื้อเป็นปุยสีขาว นิ่มมาก มีรสหวานอมเปรี้ยว ออกผลช้า เก็บผลผลิตขายได้ราวเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม

 

ปุยฝ้าย เป็นสายพันธุ์เบา เป็นกระท้อนผลใหญ่ ทรงกลมแป้น ผิวผลเนียนละเอียด จับดูนิ่มเหมือนกำมะหยี่ เนื้อในเป็นปุยสีขาว รสหวานสนิท เก็บผลผลิตขายในช่วงเดือนมิถุนายน

สาเหตุที่เลือก 2 สายพันธุ์นี้ คุณอำนาจบอกว่า เพราะสามารถเก็บผลผลิตขายได้เรื่อยๆ โดยเริ่มเก็บพันธุ์ปุยฝ้ายขายก่อน เพราะให้ผลผลิตก่อน เมื่อพันธุ์ปุยฝ้ายเริ่มน้อยลง ก็สามารถเก็บพันธุ์อีล่าขายได้ ทำให้มีกระท้อนขายต่อเนื่องหลายเดือน นอกจากนี้ทั้ง 2 สายพันธุ์ หากได้รับการดูแลอย่างดี เพียง 2-3 ปี ก็ให้ผลผลิตเก็บขายได้แล้ว

 

การปลูกและการดูแล คุณอำนาจ บอกว่า ไม่ใช่เรื่องยาก ปลูกเช่นเดียวกับไม้ผลชนิดอื่น ส่วนการดูแลไม่มีอะไรเป็นพิเศษ นอกจากการห่อผลกระท้อน ที่ควรทำ เพื่อให้ได้ผลกระท้อนที่ผิวสวย ขายได้ราคา

 

การปลูก ระยะห่างระหว่างต้นอย่างน้อย 12 เมตร ส่วนระยะห่างระหว่างแถว ผู้ปลูกควรพิจารณาเอง แต่ควรให้มีระยะห่างมาก เพราะกระท้อนเป็นไม้ผลทรงพุ่ม หากปลูกระยะชิดมาก จะทำให้ต้นสูง เมื่อต้องห่อผลกระท้อนจะทำได้ยาก

 

การให้น้ำ มีความสำคัญกับไม้ผลทุกชนิด กระท้อนก็เช่นกัน คุณอำนาจ แนะนำว่า การให้น้ำกระท้อน ควรเปิดสปริงเกลอร์วันละประมาณ 45 นาที ทุกวัน ให้น้ำชุ่มพื้น เป็นการรักษาความชื้นไว้ ไม่ควรให้ดินในสวนแห้ง แม้ฤดูฝนที่มีฝนตกต่อเนื่องทุกวัน ก็ยังคงให้น้ำตามเดิม

 

ปุ๋ย เป็นปัจจัยหนึ่งที่จำเป็นต่อการทำเกษตรกรรม คุณอำนาจให้ปุ๋ยตามระยะเวลาที่ควรให้ โดยจะให้ปุ๋ยสูตรเสมอ หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว และใส่ปุ๋ยสูตร 8-24-24 ก่อนออกดอก เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสะสมอาหาร และใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 หลังติดผล เพื่อเร่งผลให้เจริญเติบโต

 

ขั้นตอนที่ดูเหมือนจะยุ่งยากที่สุด คือ ขั้นตอนการห่อผลกระท้อน

คุณอำนาจ อธิบายว่า ความยุ่งยากของการห่อผลกระท้อน ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่แรงงานห่อผลกระท้อนต่างหากที่สำคัญ เนื่องจากปัจจุบันแรงงานห่อกระท้อนหายาก แม้จะเพิ่มค่าแรงห่อกระท้อนให้ตามกฎหมายแรงงานแล้วก็ตาม

 

การห่อผลกระท้อน เริ่มขึ้นหลังเริ่มติดผลผลิตประมาณ 1-2 เดือน

 

สังเกตผลกระท้อน หากกิ่งใดมีผลกระท้อนมาก 2-3 ผล ต้องพิจารณาปลิดทิ้ง เพื่อให้ผลเจริญเติบโตดี

 

ใช้ถุงห่อกระท้อน ซึ่งมีจำหน่ายทั่วไปห่อ มัดปากถุงห่อด้วยตอก

 

ประมาณ 4-5  เดือนนับจากติดผล สังเกตผลกระท้อนที่ไม่ได้ห่อ หากบริเวณก้นของผลไม่มีสีเขียวเลย นั่นหมายถึง รสชาติดี นำไปจำหน่ายได้

 

ราคาค่าจ้างห่อกระท้อน อยู่ที่ ร้อยละ 50-60 บาท ถุงห่อกระท้อน ราคาร้อยละ 45 บาท ตอกมัดถุงห่อกระท้อน ราคาร้อยละ 2 บาท คุณอำนาจ แนะนำด้วยว่า หากต้องการราคาถูกกว่านี้ ควรซื้อถุงห่อกระท้อนและตอก หลังจากกระท้อนหมดฤดู

 

การเก็บผลกระท้อน จำเป็นต้องจ้างแรงงานเช่นกัน โดยราคาจ้างเก็บอยู่ที่ กิโลกรัมละ 2 บาท

 

โรคและแมลงในกระท้อน ไม่พบบ่อยนัก คุณอำนาจบอก

 

“โรคและแมลง มีหนอนกินใบ ที่พบในฤดูฝน ถ้าพบน้อยก็ไม่ต้องทำอะไร ปล่อยให้ธรรมชาติดูแล ส่วนใหญ่สวนผมไม่ค่อยฉีดยาฆ่าแมลง ตั้งแต่ปลูกมา 15 ปี ยังไม่พบโรคและแมลงที่รุนแรงถึงกับต้องฉีดยาฆ่าแมลง”

 

คุณอำนาจ เล่าว่า กระท้อนผลใหญ่จะจำหน่ายได้ราคาดีกว่าผลเล็ก ซึ่งหากห่อผลให้ผิวสวย และปลิดผลที่ดกเกินความจำเป็นทิ้ง จะได้ผลกระท้อนใหญ่ น้ำหนักดี อาจได้กระท้อนน้ำหนักผลละ 1 กิโลกรัม ทีเดียว

 

“ผลผลิตที่เคยได้ต่อต้นอยู่ที่ 200 กิโลกรัม และกระท้อนจะให้ผลผลิตไปเรื่อยๆ หากดูแลดี” คุณอำนาจ กล่าว

 

สำหรับตลาดจำหน่ายกระท้อน คุณอำนาจตัดพ่อค้าคนกลางออก โดยมีแผงผลไม้จำหน่ายเอง ริมถนนสายปราจีนบุรี-ประจันตคาม ราคาขายตามแต่ปริมาณผลผลิต

 

“กระท้อน เป็นพืชที่ผมไม่คิดจะปลูก แต่เมื่อได้ปลูกก็ทำให้ทราบว่า เป็นไม้ผลที่ดูแลง่าย ไม่ยุ่งยากหรือซับซ้อนอะไร มีปัญหาเดียวที่ต้องแก้ไข คือ ปัญหาแรงงานห่อกระท้อน ที่หายาก หากหมดปัญหานี้ไปแล้ว กระท้อนเป็นไม้ผลอีกชนิดหนึ่งที่ผมแนะนำให้ปลูก”

 

ประสบการณ์ปลูกไม้ผล สำหรับคุณอำนาจ ไม่ได้มีเฉพาะการปลูกกระท้อนเท่านั้น บริเวณสวนยังมีไม้ผลชนิดอื่นไว้สลับสับเปลี่ยนจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี ต้องการคำแนะนำการปลูกกระท้อน ติดต่อได้ที่ บ้านเลขที่ 101 หมู่ 8 ตำบลดงขี้เหล็ก อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี หรือโทรศัพท์สอบถามได้ที่ 081-861-8865

 

 

กระท้อนเป็นผลไม้ที่อยู่คู่เมืองไทยมานาน แม้ว่าจะเป็นผลไม้ของชาวอินโดนีเซียหรือมาเลเซีย แต่คนไทยก็คุ้นเคยกับกระท้อนเป็นอย่างดี กระท้อนเปรี้ยวเรามักจะมาดองหรือแช่อิ่ม ส่วนกระท้อนหวานก็กินสดๆ เพราะเมล็ดของมันจะหวานปุยฟู น่ากินมาก

กระท้อนเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรต จึงช่วยทำให้ร่างกายได้รับน้ำตาลเต็มที่ ดังนั้นผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานควรหลีกให้ไกล กระท้อนจะอันตรายมาก เพราะจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง และเป็นอันตรายต่อร่างกายได้

 

นอกจากกระท้อนจะอุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรตแล้ว ในกระท้อนยังมีวิตามินซีสูง ทำให้ไม่ป่วยเป็นหวัด และป้องกันโรคลักปิดลักเปิดได้เป็นอย่างดี อีกทั้งเส้นใยที่อยู่ในกระท้อนยังช่วยการทำงานของระบบขับถ่ายให้เป็นปกติ สุขภาพจึงดีตามมา

 

เปลือกของกระท้อน ยังสามารถนำมาทำเป็นยาทาแก้โรคผิวหนังต่างๆ เช่น กลากและเกลื้อนได้ด้วย ดังนั้นเวลากินกระท้อนจึงไม่ควรทิ้งเปลือกเพราะมีประโยชน์มากเช่นกัน