ปลาหลด ของดีทุ่งกุลาร้องไห้ นิยมทำปลาตากแห้งรับฤดูแล้งของคนท้องถิ่น

ปลาหลด ถือว่าเป็นปลาที่พบในหลายพื้นที่ อีสานพบมากในจังหวัดร้อยเอ็ด คือ ทุ่งกุลาร้องไห้ อำเภอสุวรรณภูมิ เกษตรวิสัย ปทุมรัตต์ และอำเภอโพนทราย จนมีคนเล่าขานว่า “หน้าแล้งนำปลาหลดแห้งมาเป็นเชื้อไฟ”

อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด จึงนำมาเป็นคำขวัญประจำอำเภอ “สุวรรณภูมิ แดนกู่พระโกนา ทุ่งกุลาสดใส ปลาหลดหลากหลาย ผ้าไหมสดสวย รวยข้าวปลา พัฒนาเยี่ยมยอด ปลอดผู้ไม่รู้หนังสือ” วันนี้ ผม วัชรินทร์ เขจรวงศ์ เกษตรอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ได้รับมอบหมายจาก คุณวัยวุฒิ อาศรัยผล นายอำเภอสุวรรณภูมิ ให้เดินทางไปที่บ้านตังหมอง ตำบลหินกอง ท้องทุ่งกุลาร้องไห้ เพื่อร่วมกิจกรรมกับกลุ่มเกษตรกร “ไร่นาสวนผสมตามแนวพระราชดำริฯ” สิ่งหนึ่งที่เห็นแล้วมหัศจรรย์ใจยิ่งคือ ปลาหลดแห้งจำนวนมาก ที่กลุ่มเกษตรกรจับมาจากท้องไร่ท้องนาในทุ่งกุลาร้องไห้ นำมาตากแห้ง ร้อยเรียงเป็นพวงวงกลม เป็นการถนอมอาหารแบบคนอีสาน เพื่อรับประทานใน “ฤดูแล้งนี้”

คุณกฤษณะ แสนสำโรง นายกเทศมนตรีตำบลหินกอง อำเภอสุวรรณภูมิ โทร. (082) 840-2222 กล่าวว่า ท้องทุ่งกุลาร้องไห้ ดินแดนกว้างใหญ่ไพศาล ตนเองเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขชาวนาทุ่งกุลาร้องไห้ ในช่วงรอยต่อฤดูฝนกับฤดูแล้ง ระดับน้ำลดลง เหลือแต่โคลนตม ปลาเริ่มตกกะ หรือคนอีสานเรียกว่า “ปลาข่อน” ปลารวมตัวกันจำนวนมาก ปลาหลดจำนวนมากมายจะซ่อนตัวในโคลนตม เหยียบย่ำหาปลาหลดได้จำนวนมากจริงๆ แต่ต้องเป็นผืนดินที่เป็นเกษตรอินทรีย์เท่านั้น “หากใช้สารเคมีในนาข้าว” ปู ปลา สัตว์น้ำน้อยใหญ่ตายหมด

คุณสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด จึงมอบหมายให้สำนักงานประมงน้ำจืด ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดร้อยเอ็ด ค้นหาปลาหลดในพื้นที่ หรือปลาประจำถิ่นคน “ทุ่งกุลาร้องไห้” โดยให้ คุณสมาน วงศ์จันทร์ ประมงอำเภอสุวรรณภูมิ ประสานงานอำเภอปทุมรัตต์ อำเภอเกษตรวิสัย อำเภอโพนทราย เพื่อคัดเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลาหลดจากเกษตรกรในทุ่งกุลาร้องไห้ โดยให้เกษตรกรจับปลาหลดมีชีวิต 1 กิโลกรัม เพื่อแลกลูกปลา จำนวน 1 ถุง หรือประมาณ 1,000 ตัว หากไม่พร้อมปล่อยในฤดูแล้งนี้ ให้ทำบัญชีฝากปลาไว้ก่อน เมื่อมีน้ำในสระหรือบ่อน้ำ จึงไปเบิกปลาที่ฝากไว้กับศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดร้อยเอ็ด เป็นการค้นหาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลาหลดในทุ่งกุลาร้องไห้เพื่อเพาะเลี้ยงการขยายพันธุ์ให้แพร่หลาย เป็นการเพิ่มพูนแหล่งอาหารโปรตีน เป็นปลาประจำถิ่นประจำจังหวัดร้อยเอ็ด

คุณสฤษดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า ปลาหลด เป็นปลาธรรมชาติของคนอีสาน โดยเฉพาะทุ่งกุลาร้องไห้ ทำอาหารได้หลากหลายอย่าง ต้มส้มมะขามดิบเปรี้ยว ทอดกรอบ ตากแห้ง เป็นการถนอมอาหาร

ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดจึงมอบหมายให้สำนักงานประมงจังหวัดร้อยเอ็ด ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด โทร. (043) 513-034, (043) 522-383 ค้นคว้าศึกษา ในอนาคตร้อยเอ็ดอาจจะมีปลาหลดกระป๋อง ไม่แพ้ปลาซาดีน ส่งขายทั้งในและต่างประเทศ และเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ บอกว่า ทุ่งกุลาร้องไห้ คือพื้นที่ “การเกษตรอินทรีย์”

มารู้จักปลาหลดกันดีกว่า ปลาหลด มีรูปร่างคล้ายปลาไหล ปลายปากยื่นยาว สามารถยืดหดได้ ลำตัวยาวเรียว ประมาณ 15-30 เซนติเมตร ตัวปลากลมมน หัวเล็ก จะงอยปากเรียวแหลม ปากและตา เล็ก ครีบหลังและครีบก้น ยาว ครีบหางเล็ก ไม่มีครีบท้อง หลังสีน้ำตาล ท้องมีสีอ่อนปนเหลือง มีจุดสีดำที่ครีบหลัง 3-5 จุด เกล็ดเล็กมาก จนมองดูเหมือนไม่มีเกล็ด อยู่ในวงศ์เดียวกับปลากระทิง แต่ขนาดเล็กกว่า

ลักษณะที่โดดเด่นของปลาหลดคือ เป็นปลาที่มีความอดทนสูง อาศัยในโคลนตมได้นาน ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดร้อยเอ็ด ได้ศึกษาเรื่องปลาหลด สัตว์น้ำที่สามารถนำมาเป็นตัวชี้วัดการละ ลด เลิก การใช้สารเคมีในการเกษตรกรรม ถ้ามีปลาหลด ปลาหมอ ปลาช่อน กบ เขียด ไส้เดือน ในบ่อที่เก็บกักน้ำตามหัวไร่ปลายนา ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แสดงว่า น้ำ-ดินดี มีคุณภาพปลอดภัยจากสารพิษ ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม

คุณสำเริง จันทร์คูเมือง วัย 54 ปี กับ คุณละอองดาว จันทร์คูเมือง สามีภรรยา ชาวบ้านร้านหญ้า 89 หมู่ที่ 3 ตำบลทุ่งกุลา อำเภอสุวรรณภูมิ มีปลาหลดในธรรมชาติจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีโฮมสเตย์ หากท่านอยากพักผ่อนใกล้ชิดทุ่งกุลาร้องไห้ ดูวิถีชีวิตคนท้องถิ่น ติดต่อได้ที่ โทรศัพท์ (096) 791-5282 หรือ 093-670-5296 ทั้งสองท่านยินดีต้อนรับ

 

ที่มา เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์