เผยแพร่ |
---|
ในช่วงนี้ กระแสรักสุขภาพที่มาแรง หลายคนหันมาบริโภคพืชผักกันมากขึ้น และผักสุขภาพอย่างต้นอ่อนข้าวสาลีก็ได้รับความนิยมไม่น้อยไปกว่าต้นอ่อนทานตะวันเลย ซึ่งเราจะไปดู วิธีการเพาะปลูก และการดูแลกัน
ต้นอ่อนข้าวสาลี หรือเรียกอีกอย่างว่า วีท กราส (Wheat grass) เป็นต้นอ่อนหรือต้นกล้าที่เจริญเติบโตมาจากเมล็ดข้าวสาลี โดยในระยะต้นกล้าจะมีสีเขียวเข็มที่อุดมไปด้วยสารอาหาร แร่ธาตุ และโปรตีนที่หลากหลาย
สำหรับฟาร์มเพาะต้นอ่อนข้าวสาลี ที่จะพาไปชมในวันนี้ ตั้งอยู่ที่ ซ.จรัญสนินวงศ์ 35 โดยมี คุณนพดล กิจพิทักษ์ เป็นเจ้าของฟาร์ม
คุณนพดล พูดถึง จุดเริ่มต้นการเริ่มเพาะต้นอ่อนข้าวสาลี ว่า ช่วงประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว เทรนด์สุขภาพมาแรง ก็มองหาว่า ตัวไหน ที่ลูกค้ากินซ้ำๆ แล้วเราพอจะปลูกเองได้ จากนั้นก็หาข้อมูลในอินเตอร์เน็ทจนเจอ ต้นอ่อนข้าวสาลี ก็คือเอาเมล็ดข้าวสาลีมาเพาะให้อยู่ในระยะต้นอ่อน ไม่เกิน 7 วัน ซึ่งระยะนี้ จะเป็นระยะที่มีสารอาหารดีที่สุด
สำหรับอุปกรณ์ประกอบด้วย ถาดเพาะกล้าพลาสติกขนาดความกว้าง 30 เซ็นติเมตร ยาว 60 เซนติเมตร และสูง 3.5 เซ็นติเมตร กระสอบพลาสติกสาน, เมล็ดพันธุ์ข้าวสาลี และวัสดุปลูกจะใช้ขุยมะพร้าวผสมแกลบเล็กน้อย
ขั้นตอนการเพาะก็ต้องเริ่มจาก นำเมล็ดแช่น้ำ 1 คืน ระหว่างนั้นก็ต้องเปลี่ยนน้ำเพื่อไม่ให้น้ำเน่า จากนั้นจะมีจมูกข้าวขาวๆ ขึ้นมา พร้อมนำไปปลูกได้
การปลูกให้โรยเมล็ดข้าวสาลีที่แช่น้ำแล้วบนขุยมะพร้าว อย่าให้ซ้อนทับกัน มิเช่นนั้นจะเกิดเชื้อรา แล้วปิดทับด้วยกระสอบ
การให้น้ำ ก็ต้องรดน้ำ พอดีๆ แค่ไหนเรียกว่าพอดี ให้ใช้นิ้วจิ้มดูที่ขุยมะพร้าว แค่เย็นๆ พอดีๆ อย่าให้ถึงกับมีน้ำสวนขึ้นมา ถ้าแบบนั้น น้ำมากไปจะเน่า พอข้าวสาลีเริ่มมีรากปักลงไปในขุยมะพร้าว ก็เอากระสอบออกไป
ส่วนพันธุ์ข้าวสาลี มีหลายสายพันธุ์ แต่แนะนำให้ใช้พันธุ์ผสมพื้นเมือง จะเหมาะกับสภาพอากาศเมืองไทย หากใช้พันธุ์ต่างประเทศจะดูแลยาก และเพาะยาก
เมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัมจะปลูกลงถาดเพาะได้ประมาณ 7-8 ถาด และเมื่ออายุครบ 7 วัน ความยาวประมาณ 15-17 เซนติเมตร พร้อมตัดจำหน่าย จะได้ต้นอ่อนข้าวสาลีประมาณ 2 กิโลกรัม โดยคิดต้นทุนเฉลี่ย 1 ถาด จะใช้เงินลงทุนประมาณ 30-50 บาท ขึ้นอยู่กับราคาเมล็ดพันธุ์และระยะเวลาในการดูแล
ส่วนแมลงศัตรู มักจะเกาะตามถาด ก็เคาะใหมันลงน้ำไป และหากพบเชื้อรา ก็ต้องดึงออก ถ้าเก็บมันจะลามไปวงกว้าง
สำหรับขั้นตอนการเก็บเกี่ยว ที่นี่จะใช้กรรไกรตัดบริเวณชิดกับโคนต้น ล้างน้ำให้สะอาด และบรรจุลงในถุงซิปล็อก เพียงเท่านี้ก็ได้ต้นอ่อนข้าวสาลีส่งให้กับลูกค้าพร้อมนำไปคั้นดื่มแล้ว
ราคา ผลผลิตจำหน่าย 1 ขีด 50 บาท มีบริการส่งถึงบ้าน ปัจจุบันปริมาณต้นอ่อนข้าวสาลีที่ส่งจำหน่ายให้ลูกค้าในแต่ละสัปดาห์ อยู่ที่ 90 -100 กิโลกรัม หรือ เดือนละประมาณ 350-400 กิโลกรัม โดยราคาจำหน่ายอยู่ที่กิโลกรัมละ 500 บาท
สำหรับการตลาดก็ใช้เฟซบุ๊กและเว็บไซต์ เป็นหลัก
มาถึงคำถามที่ว่า ในอนาคตจะมีการต่อยอดธุรกิจยังไงบ้าง คุณนพดล ว่าหัวใจหลักคือต้องคุมคุณภาพ และเรียนรู้ในการดูแล เพราะปัญหาการเพาะต้นอ่อนข้าวสาลีแต่ละฤดูกาลไม่เหมือนกัน
สุดท้าย คุณนพดล แนะนำคนที่ต้องการเริ่มปลูก ว่า อยากให้ลองเจาะกลุ่มในชุมชนก่อน ว่ามีร้านเพื่อสุขภาพมั้ย อย่าปลูกทีเดียวเยอะๆ ค่อยๆ เริ่ม ค่อยๆเรียนรู้ไป จะดีกว่า