เกษตรกรรุ่นใหม่ ปลูกพริกไทยสร้างรายได้งาม ที่บรรพตพิสัย นครสวรรค์

คุณอาธัญฤทธิ์ สีท้าว เจ้าของสวนพริกไทย ไร่ธัญฤทธิ์ (ศูนย์จำหน่ายพันธุ์และถ่ายทอดความรู้เกษตรผสมผสาน) เลขที่ 98/9 หมู่ที่ 5 ตำบลบึงปลาทู อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ โทร. (097) 924-9993, (056) 000-579

คุณอาธัญฤทธิ์ สีท้าว ซึ่งเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่สนใจการเกษตร โดยปลูกพริกไทยพันธุ์ซีลอน (ยอดขาว) ซึ่งพันธุ์ซีลอนยอดขาว เป็นพันธุ์พริกไทยที่นำมาจากประเทศศรีลังกา พริกไทยพันธุ์นี้จะมีลักษณะเถาอ่อน สีจะเขียวอ่อนเกือบขาว โดยเฉพาะที่ยอดอ่อน จึงนิยมเรียกว่าคือส่วนยอด ช่อผลจะยาว การเจริญเติบโตเร็วกว่าพันธุ์ซาราวัก ผลสดจะมีลักษณะโตกว่าพันธุ์ซาราวัก นิยมปลูกเพื่อจำหน่ายเป็นพริกไทยสด เพื่อส่งโรงงานทำพริกไทยดอง กำลังเป็นที่นิยมปลูก เนื่องจากสามารถปลูกและเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ราบหรืออากาศร้อน เพียงแต่จะต้องมีสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม มีการพรางแสงช่วย

ขั้นตอนการเตรียมดิน

สำหรับการเตรียมดินนั้น เราจะใช้ดินในส่วนแรก หน้าดิน จำนวน 70% ผสมขุยมะพร้าว จำนวน 10% ผสมปุ๋ยคอกเก่า จำนวน 10% ผสมพวกเศษวัสดุการเกษตร เช่น เปลือกถั่วต่างๆ ใบก้ามปู ใบไผ่ จำนวน 10% เคล้าส่วนผสมให้เข้ากัน โดยเรียงลำดับชั้น โดยแต่ละชั้นจะราดน้ำยาช่วยย่อยสลายพวกปุ๋ยน้ำหมักจุลินทรีย์ลงไปเพื่อให้เกิดการย่อยสลายที่เร็วขึ้น และหมักทิ้งไว้ ประมาณ 2-3 สัปดาห์ และค่อยนำมาลงหลุมปลูก หรือบางท่านอาจจะมีส่วนผสมไม่พอตามที่ระบุไว้ อาจใช้แค่ซากพืชและพรวนดินพร้อมใช้น้ำยาช่วยย่อยสลายก็ได้เช่นกัน

9-20

ขั้นตอนการปรับพื้นที่ดิน เพื่อให้พื้นที่มีความลาดเอียงและระบายน้ำได้ดี โดยอาจจะปรับพื้นที่ให้สูงจากด้านใดด้านหนึ่งหรือการยกร่อง เพื่อป้องกันน้ำขังบริเวณโคนต้นพริกไทย ซึ่งการเตรียมพื้นที่ไม่ให้น้ำท่วมขัง หรือน้ำขังแฉะจะมีความสำคัญมาก เนื่องจากต้นพริกไทยชอบน้ำ แต่กลัวน้ำขังแฉะ ส่วนมากมักเป็นแปลงปลูกที่เป็นดินเหนียวที่มักจะเจอปัญหาน้ำขังและแห้งช้า อาจทำให้เกิดเชื้อราได้ง่าย

สำหรับแปลงดินร่วนปนทรายจะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องน้ำขัง เพราะระบายน้ำได้ดี แต่ถ้าเป็นช่วงหน้าร้อนอาจทำให้เปลืองน้ำและพื้นดินร้อนระอุเก็บน้ำไม่อยู่ อาจจะต้องใช้ฟางคลุมรอบต้นพริกไทยและรดน้ำช่วยเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น สำหรับแปลงดินลูกรังหรือดินกรวดแข็งบริเวณหลุมปลูกพริกไทย อาจจะต้องขุดหลุมกว้างเพิ่มขึ้น ประมาณ 50 เซนติเมตร และลึก 30 เซนติเมตร และนำดินที่หมักไว้ในขั้นตอนแรกผสมลงไป เพราะการที่เราทำให้ระบบรากของพริกไทยนั้นเดินได้ดี จะต้องมีการปรุงดินเพื่อให้ร่วนซุย เพื่อให้มีปุ๋ยรองอยู่ที่พื้นดินและสามารถให้คุณค่าทางอาหารกับพืชได้นาน

6-30

การวางระบบโครงสร้าง

เราจะมาเริ่มลงเสาโดยเสาปูน ที่ทางภาคกลางใช้จะเป็นเสาปูน มีทั้งหมด 2 ชนิด

  1. เสาปูนแบบธรรมดา
  2. เสาปูนแบบแรงอัด เสาปูนกับเสาแรงอัด มีความแตกต่างระหว่างเสาปูนกับเสาแรงอัด คือจะมีความแข็งแรงมากกว่า เพราะเสาหล่อปูนธรรมดานั้นจะค่อนข้างที่จะแตกหักง่าย มีราคาถูก แต่สำหรับเสาปูนแรงอัดราคาค่อนข้างสูง และหาซื้อได้เฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น ระยะห่างการปลูก อยู่ที่ 2×2 ถึง 2.5×2.5 เมตร

สำหรับแปลงที่ใช้เสาปูนหล่อธรรมดา จะต้องแยกระหว่างเสาปูนและเสาซาแรน เพราะว่าหากกรณีที่เกิดลมพายุพัดแรง จะทำให้เสาซาแรน ที่มีพริกไทยอยู่นั้นหักลงได้ จึงต้องแยกกัน เพราะเวลาที่มีลมเกิดขึ้นนั้นตัวซาแรนบังแดดจะพับและโยกค่อนข้างที่จะแรง เนื่องจากจะต้องขึงยาวตามแนวเสา จึงต้องแยกระหว่างเสาปลูกและเสาซาแรน ทำให้ป้องกันการหักในส่วนของเสาพริกในตรงนี้ได้

1-147

และสำหรับเสาแรงอัด เราสามารถที่จะใช้โครงสร้างเหล็กหรือไม้ยึดติดกับด้านบนของเสาได้เลย เพราะค่อนข้างแข็งแรงบริเวณหัวเสาจะมีเหล็กโผล่ขึ้นมา จำนวน 2 ถึง 4 เส้น ไว้สำหรับพาดยอดไหลของพริกไทย โดยในส่วนของโครงสร้างซาแรนบังแดดอาจจะใช้เป็นไม้หรือโครงเหล็กก็ได้ แล้วแต่งบประมาณของเกษตรกร และการขึงซาแรนบังแดดนั้น จะขึงบังแสง โดยให้ต้นพริกไทยอยู่กึ่งกลางของซาแรน และแต่ละผืนจะมีระยะห่างกันอยู่ที่ 30-50 เซนติเมตร เพื่อให้มีแสงลอดผ่านบ้าง โดย เบอร์ 60-70% ซาแรนที่ใช้กรองแสงจะใช้เฉพาะสีดำเท่านั้น ซึ่งมีความเหมาะสมกว่าซาแรนสีอื่น

การวางระบบน้ำ

หลังจากนั้น เราจะเริ่มวางระบบน้ำโดยจะใช้เป็นน้ำหยดหัวเสา นั่นคือ จะมีสาย พีอี ขนาด 1 นิ้ว เป็นสายเมนหลัก และจะใช้ท่อไมโคร ต่อเข้าไปกับท่อ พีอี ขนาด 1 นิ้ว และโยงขึ้นไปบนหัวเสาพริกไทยบริเวณส่วนกลางเพื่อให้น้ำนั้นไหลได้ทั้ง 4 ทิศทางของเสา โดยระบบน้ำหยดไหลหัวเสานี้จะช่วยในการประหยัดน้ำได้อย่างดีมาก และวิธีการต่อจะใช้วิธีการต่อแบบประสานกัน ก็คือ หัวทุกหัวจะเชื่อมต่อถึงกันหมด เพื่อให้น้ำไหลพร้อมกันทุกหัว ทำให้ไม่เปลืองน้ำและได้รับน้ำสม่ำเสมอกัน

หลังจากนั้น เราก็เตรียมพื้นที่ปลูกโดยวิธีการปลูก จะใช้ได้ทั้งแบบตุ้มตอนและถุงชำ ความลึกของการปลูกนั้นจะลงไปแค่ครึ่งถึง 1 ฝ่ามือ เท่านั้น จะลงไม่ลึกมาก เพราะว่าในช่วงแรกก็ได้พริกไทยต้องการขยายราก หากปลูกลึกเกินไปจะเกิดปัญหารากเดินได้น้อย จึงต้องปลูกสูงขึ้นมาจากหลุมขุดหรือไม่ก็ต้องพรวนดินให้โปร่งเหมาะสำหรับการเดินของราก

11-27-768x512

การเลือกกิ่งพันธุ์ปลูก

กิ่งพันธุ์ที่ดีและแข็งแรงนั้นจะนิยมเลือกกันที่ต้นพันธุ์อายุ 10 เดือน ถึง 2 ปีเท่านั้น เพราะหากมากกว่านั้นต้นพันธุ์จะไม่แข็งแรง เนื่องจากให้ผลผลิตมามากถึง 2 รุ่นแล้ว หากอยากได้กิ่งพันธุ์ที่ดีต้องศึกษาว่าต้นพันธุ์ที่ได้มานั้นอายุกี่ปี ซึ่งปัญหาที่เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกแล้วตาย หรือเป็นโรคสาเหตุหลักจะมาจากต้นพันธุ์เป็นส่วนใหญ่ โดยการขยายพันธุ์ของพริกไทยนั้นจะมีด้วยกันหลายวิธี แต่ที่นิยมคือ ตอน ปักชำ และตอนแล้วนำมาปักชำ ซึ่งอธิบายคร่าวๆ ดังนี้

แบบตอน หรือตุ้มตอน เราสามารถนำมาแกะถุงลงปลูกได้เลย โดยจะใช้ตุ้มตอนที่ออกรากค่อนข้างมากแล้วเท่านั้น โดยจะใช้เวลาที่จะแตกยอดใหม่หลังจาก 2 สัปดาห์ ขึ้นไป

แบบปักชำ คือนำกิ่งที่ตัดมาจากต้นมาปักชำลงในถุงชำ หรือปลูกลงไปในดินเลย และรอให้รากเดิน ซึ่งการปักชำนี้ตัวกิ่งชำจะต้องชุบน้ำยากันเชื้อรา เพราะมีโอกาสติดเชื้อราได้ง่าย เพราะตัดออกมาจากต้นเลย จะง่ายและรวดเร็ว แต่การรอดและสมบูรณ์ของต้นจะน้อย ตัวกิ่งพันธุ์ต้องแก่และแข็งแรงถึงจะดี บางพื้นที่จะนำกิ่งชำไปควบแน่น เพื่อเร่งสร้างยอดและราก ซึ่งเป็นวิธีการที่ค่อนข้างซับซ้อน แต่จะทำเพื่อเร่งการเจริญเติบโตและจำหน่ายพันธุ์

แบบตอนแล้วนำไปชำ วิธีการนี้จะค่อนข้างได้ผลดีมากกว่าทั้ง 2 วิธี และเปอร์เซ็นต์ต้นที่สมบูรณ์ค่อนข้างสูง เพราะจะนำตุ้มตอนที่ออกรากจนดีแล้วมาชำลงในถุง เพื่อให้เกิดการขยายรากเพิ่มในถุงอีก 1 ชั้น จะมีระบบราก 2 ชั้น และพอปลูกไปแล้ว โอกาสที่จะเติบโตเร็วมาก แต่ราคาค่อนข้างจะสูง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับงบประมาณของผู้ปลูกและความสะดวกในการบริหารจัดการ

3-103

 

การปลูกและดูแลต้นพริกไทย

หลังจากที่ได้เตรียมระบบโครงสร้างและดินแล้ว คราวนี้เราจะเริ่มการปลูกและขั้นตอนดูแลจนถึงออกผลผลิต ก่อนปลูกแนะนำให้รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยฟอสเฟต ซึ่งจะเป็นธาตุอาหารที่จะใช้ในการเติบโตระยะยาว และค่อยเทดินที่เราหมักไว้ลงไป หลังจากนั้นจึงขุดหลุมให้ขนาดพอดีกับถุงชำ หรือตุ้มตอน ลึกลงไปประมาณ 1 ฝ่ามือ และกลบดินให้มิดโคนต้นและรดน้ำตามทันที ระวังอย่าให้ดินปลูกแห้งหรือแฉะน้ำมากเกินไป หลังจากนั้นต้องรดน้ำเช้า-เย็น 5-10 นาที ตามความเหมาะสม หรือถ้ากรณีมีฝนตกน้ำชุ่มอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องรดก็ได้ และทำเช่นนี้จนกระทั่งครบ 3 เดือน จึงจะเริ่มให้ปุ๋ย สูตร 24-7-7 หลุมละ 1 กำมือ เดือนละ 1 ครั้ง และใส่ปุ๋ยมูลวัว หลุมละ 10 กิโลกรัม 3 เดือนครั้ง ตั้งแต่ 3-10 เดือน

สำหรับฮอร์โมนบำรุงใบ จะใช้ประเภทที่มีส่วนผสมของแคลเซียม  สังกะสี สาหร่ายสกัด ปุ๋ยทางใบที่มีไนโตรเจนสูง เช่น สูตร 18-6-6, 30-20-10 เป็นต้น เดือนละ 1-2 ครั้ง จะใช้เป็นฮอร์โมนสำหรับบำรุงการเติบโตของพืชประเภทเถาเลื้อย จนกระทั่งอายุได้ 10-12 เดือน ถ้าต้นสมบูรณ์ดีและยอดพริกไทยสุดเสาปูนแล้วเตรียมเปิดตาดอก โดยตัดยอดไหลของพริกไทยที่บริเวณหัวเสา และทาด้วยปูนแดง จากนั้นใช้ฮอร์โมนสำหรับเร่งเปิดตาดอก และปุ๋ยสูตร 8-24-24 หลุมละครึ่งกิโล 1 ครั้ง หากเกิดเชื้อราประเภทต่างๆ ให้แก้ตามอาการ หากดอกเริ่มบานและเกสรร่วง ให้ฉีดฮอร์โมนกลุ่มแคลเซียมโบรอน เพื่อเพิ่มเมล็ดและฉีดฮอร์โมนเร่งเต่ง+ขั้วเหนียว ทุก 10-15 วัน จนกว่าจะเก็บผลผลิต

 โรคและศัตรูพืชที่พบบ่อย

โรคเชื้อรา รากเน่า โคนเน่า เน่าเข้าไส้ ใช้ยากลุ่มคาร์เบนดาซิม หรือกลุ่มฟอสอีทิลอะลูมิเนียม ในการยับยั้งหรือฉีดป้องกัน โดยเฉพาะช่วงหน้าฝนที่มีความชื้นสะสมค่อนข้างสูงในแปลงปลูก ศัตรูพืช เพลี้ยแป้ง ใช้สารกำจัดเพลี้ยชนิดเดียวกับที่ฉีดในนาข้าว และแตงโม ส่วน หอยทาก ใช้สารกำจัดหอยเชอรี่ชนิดเม็ดโรยรอบโคนต้น ห่างจากพริกไทย 1 ฟุต หรือจะนำทรายไปโรยไว้รอบๆ โคนก็ได้ โดยปกติแล้วพริกไทยหากต้นพันธุ์แข็งแรงจะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรค เพราะจะมีภูมิต้านทานสูง ดังนั้น หากผู้ที่สนใจปลูกพริกไทย ต้องศึกษาหาข้อมูลและตรวจสอบแปลงของแหล่งพันธุ์ว่าเหมาะกับการทำพันธุ์หรือไม่ จะทำให้ประสบความสำเร็จจากพริกไทยได้ง่าย และจะลดปัญหาการซื้อเพื่อปลูกซ่อมอีกด้วยครับ

การจัดตั้งกลุ่มเพื่อทำเกษตรแบบรวมกลุ่ม จะสามารถช่วยแก้ปัญหาต่างๆ เรื่องการปลูกพริกไทย โดยคุณอาธัญฤทธิ์ เล่าว่า ตอนนี้ได้จัดตั้งรวมกลุ่มเพื่อนๆ เกษตรกรที่ปลูกพริกไทย โดยใช้ชื่อ “กลุ่มพริกไทยเกษตรอินเตอร์” ซึ่งหลายๆ ท่านเคยรู้เรื่องของพริกไทยมาบ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วต้องคิดว่ามันปลูกได้เฉพาะบางจังหวัดหรือบางพื้นที่เท่านั้น เช่น มักจะเข้าใจว่า พริกไทย ต้องปลูกในพื้นที่บริเวณภูเขาที่มีอากาศค่อนข้างเย็น ถึงจะเจริญเติบโตดี หรือเคยมีผู้ทดลองปลูกพริกไทยในพื้นที่ราบเขตอากาศร้อน ปรากฏว่าต้นพริกไทยไม่โต หรืออาจตายเลยก็มี แต่เนื่องจากสมัยนี้วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ มีราคาที่ถูกลงเนื่องจากการพัฒนาของเทคโนโลยี เราจึงหาซื้อวัสดุที่มาช่วยในการจำลองอากาศลดความร้อนให้พริกไทยเหมือนอยู่บนเขาได้ นั่นคือ ใช้ซาแรนพรางแสงบังแดดช่วยพรางแสง

8-23

ซึ่งเขตพื้นที่ราบนั้น จะต้องใช้ซาแรนเพื่อให้ต้นพริกไทยเติบโต โดยจะใช้เปอร์เซ็นต์กรองแสงอยู่ที่ 60-70% และสมัยก่อนใช้ต้นไม้ เสาไม้ แต่ปัจจุบันได้พัฒนามาใช้เสาปูน ซึ่งราคาหลักร้อยบาท และแข็งแรงอยู่ได้นานหลายปี จึงทำให้มีผู้สนใจปลูกพริกไทยกันอย่างแพร่หลาย แต่ถ้าถามว่าหลังจากที่ท่านได้ปลูกแล้ว วิธีการดูแล การเก็บเกี่ยวกับการตลาดท่านจะหาข้อมูลได้ที่ไหน ซึ่งนั่นก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่าคิดเช่นกัน

เพราะฉะนั้นการทำเกษตรแบบรวมกลุ่มจะสามารถช่วยแก้ปัญหาในเรื่องนี้ได้ ซึ่งเกษตรแบบรวมกลุ่มจะสามารถช่วยแก้ปัญหาต่างๆ เพราะการลงทุนปลูกพริกไทยนั้น ใช้งบประมาณในการลงทุนค่อนข้างสูงพอสมควร การลงทุนปลูกแต่ละครั้งจึงปลูกได้จำนวนไม่มากในแต่ละเจ้า ทำให้ผลผลิตที่ได้รับนั้นมีไม่พอที่จะส่ง หรือน้อยเกินไปต่อการไปรับสินค้าของพ่อค้าแม่ค้า จึงมีการตั้งกลุ่มพริกไทยเกษตรอินเตอร์ขึ้น เพื่อช่วยแก้ปัญหาต่อไปนี้

ในกลุ่มพริกไทยเกษตรอินเตอร์ จะมีผู้ที่ให้การดูแลด้านการตลาด การประสานงาน ผู้ดูแลตรวจสอบแปลงพันธุ์ การรับประกันกิ่งพันธุ์ การรับซื้อผลผลิต และโปรโมทจำหน่ายกิ่งพันธุ์ โดยใช้สื่อออนไลน์เข้ามาช่วย ทำให้ผู้คนรู้จักมากขึ้น โดยการรวบรวมสมาชิกและลงทะเบียนนั้นทำให้เราสามารถรู้ได้ว่าผลผลิตที่แน่นอนในแต่ละปีมีจำนวนเท่าไร เราสามารถที่จะต่อรองกับทางโรงงานใหญ่ๆ และติดต่อกับต่างประเทศได้ เพราะเรามีสินค้าที่มากเพียงพอ