มองอนาคต “กระท่อม” หลังปลดล็อก เกษตรกรควรตัดสินใจปลูกหรือไม่

มองอนาคต
มองอนาคต "กระท่อม" หลังปลดล็อก เกษตรกรควรตัดสินใจปลูกหรือไม่

มองอนาคต “กระท่อม” หลังปลดล็อก เกษตรกรควรตัดสินใจปลูกหรือไม่

การปลดล็อกพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 ได้สร้างกระแสความสนใจให้เกิดขึ้นเป็นวงกว้างทั้งในฝั่งของผู้ผลิตและผู้บริโภค นับเป็นก้าวสำคัญในการสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเห็นผลิตภัณฑ์กระท่อมทยอยจำหน่ายออกสู่ตลาดในปี 2565  หลังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. อนุญาตให้ยื่นใบอนุญาตในการผลิตผลิตภัณฑ์จากพืชกระท่อม  

ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในระยะแรกความสำเร็จของภาพรวมธุรกิจกระท่อมคงไม่ใช่เรื่องง่าย และคงต้องขึ้นอยู่กับความต้องการเป็นสำคัญภายใต้อุปทานที่มีจำกัด จึงถือว่าเป็นช่วงทดสอบตลาดผู้บริโภค โดยผู้ปลูกที่มีผลผลิตพร้อมขายจะได้รับประโยชน์ผ่านการขายใบกระท่อมสดที่มีราคาค่อนข้างสูงราว 250-350 บาทต่อกิโลกรัม

ทำให้คาดว่าในช่วงที่เหลือของปี 64 (ก.ย.-ธ.ค.) รายได้เกษตรกรอาจอยู่ที่ราว 9,000-12,000 บาทต่อไร่ต่อเดือน ซึ่งเป็นเพียงการประเมินตัวเลขปัจจุบันในเบื้องต้นเท่านั้น เพราะต้องขึ้นอยู่กับการตอบรับของอุตสาหกรรมกลางน้ำและปลายน้ำที่ใช้กระท่อมเป็นวัตถุดิบเป็นสำคัญ ซึ่งหากตลาดผู้บริโภคให้การตอบรับดีในระยะแรกก็อาจจูงใจให้มีผลผลิตกระท่อมที่ปลูกใหม่เข้าสู่ตลาดมากขึ้นในระยะ 3 ปีข้างหน้า  

ทั้งนี้ เกษตรกรที่สนใจหันมาลงทุนปลูกต้นกระท่อม คงต้องมีการวางแผนเพื่อตัดสินใจในการปลูกอย่างรอบคอบ เพราะนอกจากการตอบรับความต้องการในระยะแรกแล้ว ยังมีเงื่อนไขสำคัญคือเงินลงทุนในการเริ่มปลูก เงินทุนหมุนเวียนระหว่างรอเก็บเกี่ยวผลผลิต ระยะเวลาคืนทุน และความเสี่ยงของราคาขายที่จะได้รับ

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมปลายน้ำที่กระท่อมสามารถมีโอกาสเข้าไปทำตลาดได้จะมีแนวโน้มเติบโตทั้งในและต่างประเทศในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ยา อาหารเสริม และเครื่องสำอาง แต่ก็นับว่ายังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก เพราะยังอยู่ในช่วงทดสอบตลาดในปัจจุบัน ซึ่งหากตลาดไม่มีการตอบรับที่ดี ก็อาจส่งผลกระทบต่อภาพการผลิตกระท่อมต้นน้ำได้

สำหรับในแง่การส่งออก นับว่ายังมีความไม่แน่นอนเช่นกัน เพราะผู้ประกอบการปลายน้ำที่ใช้กระท่อมเป็นวัตถุดิบต่างต้องสร้างการรับรู้ในสินค้าซึ่งเป็นสินค้าใหม่และหาฐานลูกค้าเฉพาะกลุ่ม รวมถึงประเด็นเรื่องสามารถแข่งขันได้ทั้งในด้านราคาและคุณภาพเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ทดแทนอื่นๆ ในตลาด รวมถึงคู่แข่งหลักที่มีผลผลิตกระท่อมอย่างอินโดนีเซีย

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความต้องการของผลิตภัณฑ์ปลายน้ำที่ใช้กระท่อมเป็นวัตถุดิบ จะเป็นตัวแปรสำคัญที่กำหนดความต้องการใช้กระท่อมสด และมีผลต่อทิศทางราคากระท่อมสด ตลอดจนผลผลิตและรายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกกระท่อมในอนาคต

ที่มา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย