วว. หนุน SMEs นำนวัตกรรม-เทคโนโลยี มุ่งพัฒนา คลัสเตอร์ไม้ดอก ไม้ประดับ

วว. และ พันธมิตร หนุน SMEs นำนวัตกรรม-เทคโนโลยี มุ่งพัฒนา คลัสเตอร์ไม้ดอก ไม้ประดับ

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมกับพันธมิตร ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร พาณิชย์จังหวัด และมหาวิทยาลัยในพื้นที่ดำเนินการ เป็นต้น

ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัย โดย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) มุ่งดำเนิน “กิจกรรมพัฒนาคลัสเตอร์ไม้ดอกไม้ประดับ ภายใต้โครงการสนับสนุนและพัฒนาคลัสเตอร์ SMEs ปี 2564” โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้เกิดความร่วมมือและเชื่อมโยงกันระหว่างผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม

จากฐานรากถึงระดับบน ในกลุ่มคลัสเตอร์เป้าหมายที่เป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ให้เป็นคลัสเตอร์ที่เข้มแข็งได้ รวมถึงการพัฒนาผู้ประกอบการ รายย่อย รายเล็ก หรือ Micro-SMEs (MSME) ในคลัสเตอร์เป้าหมายให้เป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ที่มีศักยภาพในการแข่งขัน

โดยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาพัฒนากระบวนการผลิต คุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ และระบบการบริหารจัดการ รวมไปถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการให้มีความสร้างสรรค์ ซึ่งจะเป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์และบริการให้มีมูลค่ามากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำแผนพัฒนาคลัสเตอร์ สำหรับใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานของคลัสเตอร์ในอนาคต และพัฒนาศักยภาพทางการแข่งขันด้านการตลาด โดยสร้างมูลค่าเพิ่มทางการตลาดให้แก่ผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการในคลัสเตอร์เป้าหมาย และดำเนินกิจกรรมการตลาดที่เหมาะสมกับคลัสเตอร์ในพื้นที่ดำเนินการ

การพัฒนาผู้ประกอบการคลัสเตอร์ไม้ดอกไม้ประดับ ได้มีการดำเนินงานในพื้นที่คลัสเตอร์ต่อเนื่องที่มีความเข้มแข็งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 ประกอบด้วย คลัสเตอร์ไม้ดอกไม้ประดับจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเลย และจังหวัดนครราชสีมา

นอกจากนี้ ยังได้ขยายพื้นที่คลัสเตอร์ใหม่ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายและการพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบ ในปี พ.ศ. 2564 ประกอบด้วย คลัสเตอร์ไม้ดอกไม้ประดับจังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดนครนายก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

“วว. และพันธมิตร ดำเนินการครบวงจรในการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ คัดเลือกสายพันธุ์ ระบบการปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับตามหลักความพอดีไม่เหลือทิ้ง เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพปลอดภัยด้วยต้นทุนที่เหมาะสม มีการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เกษตรปลอดภัย รวมถึงการเพิ่มมูลค่าเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมสุขภาพ และความงาม ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวในจังหวัด”

ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)

“โดยมีพื้นที่นำร่องในจังหวัดเลย สามารถรวมกลุ่มผู้ประกอบการมากกว่า 180 ราย เป็นคลัสเตอร์ สามารถเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 90 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ในปัจจุบัน วว. บูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในจังหวัดเลย ดำเนินการจัดตั้ง “มาลัยวิทยสถาน” เพื่อทำหน้าที่เป็นวิทยสถานแห่งปัญญา พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติและวัฒนธรรม ตลาดไม้ดอกไม้ประดับและผลิตภัณฑ์…” ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าว

ผลงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วยไม้ดอกไม้ประดับของ วว. เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของนักวิจัยไทย เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการนำ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้าไปช่วยขับเคลื่อน นโยบาย BCG  Model ของรัฐบาล ให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรม มีการนำไปใช้จริงในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยผ่านการบูรณาการดำเนินงานร่วมกันของพันธมิตรภาครัฐและเอกชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน

นางสาวนฤดี ทองวัตร ผู้ประสานงานคลัสเตอร์ไม้ดอกไม้ประดับจังหวัดเลย กล่าวว่า ด้วยสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศของจังหวัดเลย ทำให้เมืองเลยได้ชื่อว่าเป็นเมืองดอกไม้งามสามฤดู เกษตรกรประกอบอาชีพการทำไม้ดอกไม้ประดับมายาวนาน มีประสบการณ์สูง มีพันธุ์ดอกไม้หลากหลายเป็นจุดแข็งของพื้นที่ ส่วนปัญหาคือเกษตรกรทำด้วยประสบการณ์ ขาดความรู้ในเชิงวิชาการ

นางสาวนฤดี ทองวัตร

ฉะนั้น ทุกคนมีความเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เราทำนั้นถูกต้องแล้ว ที่ผ่านมายังไม่มีหน่วยงานไหนมารวมกลุ่มให้เกิดการพัฒนาที่แท้จริง ที่ทุกคนพร้อมเปิดใจก้าวข้ามมารวมกลุ่ม ต้องมีใครสักคนที่พาเราเดินไปสู่จุดนั้นในความเป็นคลัสเตอร์ คาดหวังว่าการรวมกลุ่มครั้งนี้จะเป็นการรวมกลุ่มที่ยั่งยืน เกิดการพัฒนาทั้งในด้านวิชาการจากประสบการณ์ ถ้าผนวกเข้ากับวิชาการน่าจะเกิดสินค้าที่มีคุณภาพ พอสินค้ามีคุณภาพ ราคาก็จะสูงขึ้น เกิดความยั่งยืน เป็นกลุ่มที่ยั่งยืนและเข้มแข็ง ในพื้นที่เป็นอาชีพที่เกษตรกรจะทำรุ่นต่อรุ่น สืบทอดไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป

นายเกียรติศักดิ์  กตกุลสัญญา

นายเกียรติศักดิ์ กตกุลสัญญา ประธานกลุ่มคลัสเตอร์ไม้ดอกไม้ประดับจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ความหวังจากการรวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์ครั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดการพัฒนาในด้านต่างๆ คือ 1. ความรู้ในด้านการผลิตให้มีคุณภาพ เพราะทุกวันนี้ยังไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐาน 2. การขยายตลาด 3. ราคาสินค้าอยากจะให้ราคาสินค้าคงที่ตลอด อยากให้พ่อแม่พี่น้องทั้งประเทศที่ทำธุรกิจไม้ดอกไม้ประดับรวมกลุ่มกันเพราะเป็นสิ่งที่ดี เพื่อจะได้พัฒนาความรู้ทางด้านการผลิตและด้านการตลาด เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพ่อแม่พี่น้องให้ดีขึ้น

นายวิมล บุญรอด

นายวิมล บุญรอด ประธานกลุ่มคลัสเตอร์ไม้ดอกไม้ประดับจังหวัดนครนายก กล่าวว่า การรวมกลุ่มทำให้สามารถรับออร์เดอร์ได้ อย่างเช่น มีออร์เดอร์ 4-5 พันต้น เราก็สามารถรับออร์เดอร์ตรงนั้นได้เลยเราไม่เสียโอกาส ต่างกับเมื่อก่อนเราไม่ได้รวมกลุ่มเราจะรับออร์เดอร์ไม่ได้ แค่ครั้งละพันต้น ก็ถือว่าเยอะแล้ว

การขายของเราจะเน้นการขายที่ซื่อสัตย์เป็นหลัก และเรามีตลาดต่างประเทศรองรับ ทั้งลาว เขมร พม่า และผู้ส่งออกมารับถึงพื้นที่เลย การรวมกลุ่มถือว่าดีขึ้นเพราะว่าเราจะได้รู้จักกัน ไม่ว่าจะเป็นทั้งทางโซนใต้ โซนเหนือ โซนอีสาน เราก็อยากได้ถึงตรงจุดนั้น มีอะไรก็แลกเปลี่ยนกัน

นายบุญเรือน ระหงษ์

นายบุญเรือน ระหงษ์ ประธานกลุ่มคลัสเตอร์ไม้ดอกไม้ประดับกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กล่าวว่า อยากให้การรวมกลุ่มคลัสเตอร์ไม้ดอกไม้ประดับในครั้งนี้ มีบทบาทมากขึ้นในการรณรงค์เรื่องการสร้างวัฒนธรรมในการใช้ดอกไม้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ตามวัดวาอาราม ไหว้พระ ตามสถานที่ต่างๆ เนื่องจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยว เป็นศูนย์กลางและมีวัตถุดิบค่อนข้างมาก ราคาก็ถูก

ยกตัวอย่างต่างประเทศ เช่น เมียนมา เขาให้ความสำคัญมาก นักท่องเที่ยวมาด้วยความศรัทธา เขามาเจอดอกไม้ที่อยู่ในมือ ที่อยู่ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์จัดไว้ มีความสวยงาม เกิดความประทับใจ ในประเทศไทยก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน ให้หันมาใช้ของดี ของสดจากเกษตรกรหลากหลายชนิดทั่วทุกภาคของประเทศ จึงอยากให้โครงการนี้เป็นแรงผลักดันให้หน่วยงานทุกภาคส่วนร่วมมือกันสร้างเป็นคลัสเตอร์ไม้ดอกไม้ประดับที่เป็นกลุ่มธุรกิจอีกกลุ่มหนึ่งที่เข้มแข็งของประเทศ

จะเห็นได้ว่าภาพความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมที่ผ่านการดำเนินกิจกรรมพัฒนาคลัสเตอร์ไม้ดอกไม้ประดับ ภายใต้โครงการสนับสนุนและพัฒนาคลัสเตอร์ SMEs นั้น เป็นคุณประโยชน์ที่เกิดจากการประยุกต์ใช้องค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้าไปเสริมแกร่ง สร้างศักยภาพการแข่งขันให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการ ให้เทียบชั้นระดับสากล

และภาพความสำเร็จในปี 2564 ซึ่งได้ขยายพื้นที่การดำเนินกิจกรรมนั้น จะเป็นโมเดลที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นของคลัสเตอร์ไม้ดอกไม้ประดับ ที่พร้อมจะขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นๆ ของไทย พร้อมทั้งขยายตลาด ขยายฐานเศรษฐกิจต่อไปยังต่างประเทศให้มากขึ้น อันจะสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจของประเทศต่อไป