ใช้เงินเดือนและโบนัส มาลงทุนเพาะ “เห็ดโคนญี่ปุ่น” รายได้ดีจนลาออกจากงานประจำ

ผู้เขียน  :  ธัญวรัตน์ คงถาวร

สำหรับผู้สนใจจะลงทุนในอาชีพการเพาะเห็ดจำหน่าย ผู้ประกอบการรายนี้ ให้ข้อแนะนำว่า ควรศึกษาและเรียนรู้ให้ถ่องแท้ก่อนที่จะลงมือตัดสินใจ เพราะมีหลายปัจจัยที่อาจทำให้การประกอบอาชีพไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่หวัง

“ต้องเข้าใจตลาด”  ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ คุณกาญต์ดารัตน์ มหัทธนธัญ ผู้ผันตัวจากพนักงานบริษัท ก้าวสู่เกษตรกรผู้เพาะเห็ดอย่างเต็มตัว จนกลายเป็นอาชีพหลักที่สร้างรายได้กว่าครึ่งแสนบาทต่อเดือน

5370-160826025934

คุณกาญต์ดารัตน์ ปัจจุบัน ยังดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านกอเห็ด จังหวัดชลบุรี เล่าว่า ในปี 2543 ได้เข้ามาทำงานเป็นพนักงานในบริษัทแห่งหนึ่งที่จังหวัดชลบุรี แต่ไม่นานบริษัทได้รับผลกระทบภาวะเศรษฐกิจถดถอยของอุตสาหกรรมเหล็ก ทำให้ภาพรวมของบริษัทไม่สู้ดีนัก จึงตัดสินใจมองหาอาชีพอื่นที่จะมาทดแทนงานประจำที่ทำอยู่

ด้วยชีวิตที่มีทุนเดิมเป็นลูกหลานเกษตรกร อาชีพที่มองหาจึงไม่พ้นด้านการเกษตร          

คุณกาญต์ดารัตน์ บอกว่า ได้เกิดสนใจเรื่องของการเพาะเห็ดจำหน่าย จึงได้เริ่มต้นจากการศึกษาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ประกอบกับช่วงเวลานั้น “เห็ดโคนญี่ปุ่น” มีราคาค่อนข้างสูง และมีผู้ผลิตก้อนและเปิดดอกค่อนข้างน้อย และในส่วนของการตลาด มีความได้เปรียบ เพราะทำเลที่ตั้งของฟาร์มในเขตบางแสน ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยว

“จากที่ไปสอบถามกับร้านขายอาหารในพื้นที่พบว่า เห็ดโคนญี่ปุ่น เมื่อนำมาประกอบอาหาร ราคาอยู่ที่จานละ 150 บาท แต่ใช้เห็ดเพียง 1 ขีด ราคาเห็ดโคนญี่ปุ่นอยู่ที่ ขีดละ 20 บาท เท่านั้น”

เริ่มจาก เห็ดโคนญี่ปุ่น

ในการเริ่มต้นอาชีพ คุณกาญต์ดารัตน์อาศัยวันหยุดจากงานประจำเข้ารับการอบรมเกี่ยวกับการเพาะเห็ด ตามหลักสูตรที่จัดขึ้นโดยชมรมผู้เพาะเห็ดเศรษฐกิจ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม

ส่วนเห็ดชนิดแรกที่ทดลองเพาะ คุณกาญต์ดารัตน์ได้เลือกเห็ดโคนญี่ปุ่น โดยได้เริ่มต้นในปี 2548 ด้วยการอาศัยพื้นที่ว่างข้างวัด ซึ่งได้รับความเมตตาจากเจ้าอาวาสและผู้ดูแลวัดให้การสนับสนุน สถานที่นี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการทดลอง เรียนรู้ และการตลาด

ส่วนเงินทุนมาจากเงินเดือนและโบนัสที่ได้รับจากบริษัท     

“ช่วงแรกของการลองผิดลองถูก ทำบ้างแจกบ้าง ให้ชาวบ้านและคนสวนของที่วัดช่วยดูแล เก็บผลผลิตและจำหน่าย ส่งขายเห็ดโคนญี่ปุ่น กิโลกรัมละ 200 บาท เงินที่ได้ คนงานจะได้จากการขาย ศึกษาหาความรู้เป็นเวลา 2 ปี ทั้งการทำก้อนเห็ด การเพาะเห็ดจากชมรม และจากนั้นก็สั่งก้อน ซื้อก้อนจากชมรม เริ่มจาก 2,000, 3,000 จนถึง 5,000 ก้อน” คุณกาญต์ดารัตน์ กล่าว

ปี 2550 ทุกอย่างเริ่มอยู่ตัว ปริมาณการสั่งซื้อสูงขึ้น ถึงสัปดาห์ละ 100 กิโลกรัม ทำให้พื้นที่โรงเรือนไม่เพียงพอ จากเคยจำนวน 10,000 ก้อน ต้องเพิ่มจำนวนมากขึ้น คุณกาญต์ดารัตน์จึงได้ลาออกจากงานประจำมาเพาะเห็ดขายอย่างเต็มตัว ทั้งรวมกลุ่มผู้เพาะเห็ดในพื้นที่จัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านกอเห็ด

คุณกาญต์ดารัตน์ได้เปิดฟาร์มเห็ดแห่งใหม่ บนพื้นที่ 2 ไร่ ตั้งอยู่เลขที่ 43/44 ซอยคีรีนคร 7 ตำบลห้วยกะปิ อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี โทร. (081) 429-0663 และ (094) 961-2992 ปัจจุบัน มีโรงเรือน 6 โรงเรือน โรงเรือนหนึ่งบรรจุเห็ดได้ 5,000 ก้อน โดยผลิตและจำหน่ายก้อนเห็ด ดอกเห็ด ได้แก่ เห็ดโคนญี่ปุ่น (ยานางิ) เป๋าฮื้อญี่ปุ่น นางฟ้าภูฐาน รวมถึงสินค้าแปรรูปจากเห็ด ได้แก่ น้ำสามเห็ด ข้าวเกรียบเห็ด น้ำพริกเผาเห็ด น้ำพริกเผาเห็ด (เจ) กระเพาะปลาเห็ด (เจ) เห็ดทอด เห็ดสวรรค์ อีกทั้งยังเปิดให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้แก่ผู้สนใจในอาชีพการเพาะเห็ด

“ตลาดหลักของดอกเห็ดสด ของสวนบ้านกอเห็ด ได้แก่ ร้านอาหารในพื้นที่ ซึ่งจากที่เน้นคุณภาพเป็นสำคัญ จึงทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่กลายเป็นลูกค้าประจำที่รับผลผลิตไปจำหน่ายกันมาอย่างยาวนาน อีกทั้งหลังจากที่ได้รับการรับรอง GAP จากกรมวิชาการเกษตร ยิ่งทำให้มีโอกาสทางการตลาดเพิ่มขึ้น เช่น สามารถมาเปิดร้านจำหน่ายในตลาดเกษตรกรของจังหวัดชลบุรี ส่วนการแปรรูปเห็ดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ นั้น เพื่อสร้างทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภคและเป็นการแก้ไขปัญหาผลผลิตล้นตลาดในช่วงเห็ดออกดอกเยอะ ถือว่าเป็นการต่อยอดสินค้าของทางกลุ่มฯ” 

คุณกาญต์ดารัตน์กล่าวอีกว่า ใน 1 เดือน จะผลิตเห็ดโคนญี่ปุ่นได้ ประมาณ 80-90 กิโลกรัม ส่วนเห็ดนางฟ้าภูฐาน ซึ่งเป็นเห็ดที่สามารถสร้างรายได้ให้แบบรายวัน มีกำลังผลิต 500-700 กิโลกรัม ต่อเดือน และเห็ดเป๋าฮื้อญี่ปุ่น มีกำลังผลิต 100 กิโลกรัม ต่อเดือน

เมื่อสรุปรายได้รวมจากการเพาะเห็ดขายของกลุ่มฯ ต่อเดือน อยู่ที่ประมาณ 50,000 กว่าบาท 

สำหรับผู้สนใจจะลงทุนในอาชีพการเพาะเห็ดจำหน่าย คุณกาญต์ดารัตน์ให้ข้อแนะนำว่า ควรศึกษาและเรียนรู้ให้ถ่องแท้ก่อนที่จะลงมือตัดสินใจ เพราะมีหลายปัจจัยที่อาจทำให้การประกอบอาชีพไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่หวัง 

“อย่างการสร้างโรงเรือนเพาะเห็ด เป็นประสบการณ์หนึ่งที่พบ ช่วงแรกเสาที่ใช้เป็นไม้ยูคาลิปตัส ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 นิ้ว มุงด้วยหญ้าคา ตอนหลังเปลี่ยนเป็นเสาปูน หลังคามุงกระเบื้อง จั่วชันเล็กน้อย เนื่องจากหญ้าคาราคาสูง ค่าแรงในการทำสูง จึงเปลี่ยนวัสดุทำโรงเรือนใหม่ แต่กระนั้นก็มีข้อเสียคือ เห็ดออกดอกน้อยลง วิธีแก้ไข คือเมื่ออากาศร้อนจะเปิดสปริงเกลอร์บนหลังคาไล่ความร้อน และแซมด้วยซาแรนใต้หลังคาโรงเรือน เพื่อเป็นตัวกันความร้อนที่จะมากระทบกับดอกเห็ด อีกทั้งในพื้นที่โดยรอบโรงเรือนจะปลูกไม้ยูคาลิปตัสเป็นรั้ว ป้องกันแดดในช่วงบ่าย” คุณกาญต์ดารัตน์ กล่าว

ดังนั้น การศึกษาให้เข้าใจจะช่วยทำให้สามารถลงทุนได้อย่างคุ้มค่าและคุ้มทุน โดยการลงทุนนั้นในส่วนของโรงเรือนคุณกาญต์ดารัตน์ ค่าลงทุนก่อสร้างโรงเรือนไม่รวมค่าที่ดิน โดยโรงเรือน ขนาด 5×8 เมตร ซึ่งเป็นขนาดที่นิยมทั่วไป บรรจุก้อนเชื้อเห็ดได้ประมาณ 5,000-5,500 ก้อน มีต้นทุนต่อโรงเรือน ประมาณ 35,000 บาท 

การทำก้อนเชื้อเห็ด

คุณกาญต์ดารัตน์ บอกว่า ทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านกอเห็ด จะจัดทำก้อนเห็ดกันทุกวันเสาร์และอาทิตย์ ถ้าไม่มีการสั่งซื้อเพิ่มเติม จะอัดก้อนเห็ดสัปดาห์ละ 3,000 ก้อน

“แต่ละอาทิตย์จะผลิตก้อนเห็ดชนิดไหน เราจะทำตามแผนที่วางไว้และตามจำนวนการสั่งซื้อ”

ทุกขั้นตอนของการผลิต คุณภาพคือ หลักสำคัญที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านกอเห็ดให้ความสำคัญ

“อย่างก้อนเห็ด นอกจากจะใช้ในการอัดก่อนแล้ว เราต้องมาตรวจเช็กอีกทีว่าแน่นไหม ถ้าไม่แน่น จะต้องทุบก้อนให้แน่นขึ้นด้วยมือ”

“จากนั้น นำไปนึ่งฆ่าเชื้อ ด้วยอุณหภูมิ 98-100 องศา สำหรับเห็ดนางฟ้าภูฐาน ใช้เวลานึ่ง 4 ชั่วโมง ถ้าเป็นเห็ดโคนและเห็ดเป๋าฮื้อญี่ปุ่น จะนึ่งนาน 6 ชั่วโมง”

ในขณะที่การบ่มก้อนเชื้อเห็ด คุณกาญต์ดารัตน์ บอกว่า จะควบคุมด้วยระบบกึ่งอีแว้ป ซึ่งเป็นการนำรูปของการใช้ม่านน้ำเหมือนการเลี้ยงไก่ในโรงเรือนอีแว้ป นำมาใช้ในการช่วยระบายความร้อน

ก้อนเชื้อที่ผลิตได้ จะแยกเป็น 2 ส่วน คือ หนึ่ง ก้อนเชื้อเห็ดลูกค้าที่สั่งซื้อ จะมีการตรวจสอบคุณภาพ 100% ทุกก้อน สอง ก้อนเชื้อเห็ดสำหรับสมาชิกในกลุ่ม

“ทั้ง 2 แบบ เราจะเน้นการใช้เชื้อเห็ดที่มีคุณภาพ ให้ดอกสวยและใหญ่ เพื่อให้ได้ดอกเห็ดที่ได้น้ำหนักมากเมื่อเวลาจำหน่าย”

“การทำเห็ดแต่ละชนิด สิ่งที่เป็นตัวแปรสำคัญให้เราก้าวหน้าและประสบความสำเร็จคือ ตลาด ทำเห็ดต้องขายเป็น ต้องรู้จักที่ขาย ที่สำคัญต้องรู้ด้วยว่าผู้บริโภคชอบทานเห็ดอะไร ทำในสิ่งที่เขาต้องการ สุดท้ายคือ ความพยายาม อดทน ให้ถึงที่สุด” คุณกาญต์ดารัตน์ กล่าวทิ้งท้าย