“แตงแคนตาลูป” ยุคบุกเบิกอยู่ที่อรัญประเทศ สระแก้ว ทุกวันนี้เป็นแหล่งใหญ่

พืชที่นำเข้ามาใหม่ โดยมีของเดิมเป็นตัวเปรียบเทียบ มักจะมีคำว่า “เทศ”ต่อท้าย

บางครั้งพืชนำเข้าทั้งสองชนิด แต่ชนิดที่นำเข้าทีหลังมักได้คำว่าเทศต่อท้าย

คำว่าเทศ น่าจะมาจากต่างประเทศ คือนำเข้ามาจากต่างประเทศ

เดิมในเมืองไทยมีหัวมันอยู่หลายอย่าง ชนิดหลังที่นำเข้ามาคือมันเทศ เป็นพืชที่ปลูกและบริโภคอย่างกว้างขวาง แต่เป็นที่น่าสังเกตุว่า มีมันอีกชนิดหนึ่งเรียกว่ามันฝรั่ง

มะขามรสเปรี้ยวๆหวานๆมีถิ่นกำเหนิดในอินเดีย แต่เมื่อนำพืชชนิดใหม่ที่มีถิ่นกำเหนิดในอเมริกากลางและอเมริกาใต้เข้ามา เรียกว่ามะขามเทศ

มะเขือเปราะ พืชในสกุลโซลานัม เมื่อนำญาติของเขาเข้ามา เป็นพืชสกุลเดียวกันเรียกกันว่ามะเขือเทศ

วงการสัตว์ พบว่ามีเรียกม้าไทย ม้าเทศ

พืชตระกูลแตง มีแตงไทย แตงเทศหรือแคนตาลูป

แคนตาลูป มีถิ่นกำเหนิดในอินเดียเหมือนกับมะขามนั่นแหละ แต่การปลูกการบริโภคอาจจะไม่กว้างขวาง ฝรั่งมาอินเดีย จึงนำไปปลูกและมีชื่อเสียงอยู่ที่เมืองแคนตาลูป ใกล้ๆกับกรุงโรม ประเทศอิตาลี พืชที่นำไปจากอินเดีย จึงได้ชื่อว่า “แคนตาลูป”

แปลงปลูกของเกษตรกร
แปลงปลูกของเกษตรกร

มีการนำแคนตาลูปมาปลูกที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อปี 2478 แต่ไม่ได้ผลเพราะวิธีการบำรุงรักษาไม่ดี ในที่สุด ต้นแคนตาลูปที่ปลูกอยู่ได้ตายลง

เมื่อปี 2493-2499 ได้มีการนำแคนตาลูปมาทดลองปลูกที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน ปรากฏว่าได้ผลดี

แรกเริ่มงานปลูกแคนตาลูป ทำกันในหมู่นักวิชาการเกษตรหัวก้าวหน้า และในรั้วสถาบันที่สอนทางด้านการเกษตร พันธุ์ที่ได้รับการบันทึกว่า ปลูกแล้วได้ผลดีน้ำหนักมากถึง 4 กิโลกรัมคือพันธุ์ริโอโกลด์ จากสหรัฐอเมริกา

จากที่เคยปลูกอยู่ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน พื้นที่ปลูกแคนตาลูปได้ขยายไปยังท้องถิ่นต่างๆ ปัจจุบันแหล่งปลูกสำคัญอยู่ในจังหวัดสระแก้ว พระนครศรีอยุธยา นครสวรรค์ และเชียงใหม่

แหล่งปลูกมากที่สุดน่าจะอยู่ที่สระแก้ว ถือว่าเป็นเมืองหลวงของพืชชนิดนี้ก็ว่าได้

งานพัฒนาแคนตาลูปของสระแก้ว เริ่มต้นที่วิทยาลัยเกษตรกรรมปราจีนบุรี

วิทยาลัยเกษตรกรรมปราจีนบุรี เดิมเป็นโรงเรียนเกษตรกรรมสงเคราะห์ปราจีนบุรี จัดตั้งเมื่อปี 2505 จัดการเรียนการสอนวิชาชีพเกษตรกรรมให้แก่นักเรียนที่จบชั้น ม.6  หรือ ม.ศ.3 โดยจัดสรรที่ทำกินให้คนละ 25 ไร่ พร้อมบ้าน 1 หลัง มูลค่า 5,000 บาท มีค่าอุดหนุนพิเศษคนละ 150 บาท ต่อมาได้ยกฐานะเป็นวิทยาลัยเกษตรกรรมปราจีนบุรีเมื่อปี 2524

วิทยาลัยเกษตรกรรมปราจีนบุรี ตั้งอยู่ตำบลผ่านศึก อำเภออรัญประเทศ

เมื่ออำเภอสระแก้ว ยกฐานะเป็นจังหวัด ชื่อของวิทยาลัยจึงเปลี่ยนตามจังหวัด จนกระทั่งล่าสุดได้ชื่อว่า วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสระแก้ว

การเรียนวิชาชีพเกษตรนั้น เมื่อก่อน เรียนได้หลายทางด้วยกัน ผู้ที่เรียนจบ ม.ปลายสอบเข้ามหาวิทยาลัยเรียน 4-5 ปี ก็จบปริญญาตรี

ผู้ที่เรียนจบมัธยมต้น สามารถสอบเข้าเรียนต่อตามวิทยาลัยเกษตรกรรม ซึ่งมีอยู่กว่า 40 แห่งทั่วประเทศ เรียน 3 ปี ได้ประกาศนียบัตรวิชาชีพ เรียน 5 ปี ได้ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง

คนที่เรียน 5 ปี สามารถไปสอบเรียนต่อระดับปริญญาตรีอีก 2 ปี ที่นิยมกันมากในสมัยก่อนคือมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก คณะเกษตรศาสตร์บางพระ แต่ปัจจุบันนี้ เปิดสอนระดับปริญญาตรีกันทุกหัวระแหง

3-9-728x546-1

วิทยาลัยเกษตรกรรมปราจีนบุรี ตั้งอยู่ไม่ไกลจากชายแดนไทย-กัมพูชา ดูชื่อสถานที่ก็บ่งบอกอย่างชัดเจน คือตำบลผ่านศึก สถาบันแห่งนี้มีชื่อเล่นว่า “เกษตรชายแดน” กระนั้นก็ตาม มีผู้เรียนจากเกษตรชายแดน ไปเรียนต่อเกษตรสุรินทร์ เกษตรแม่โจ้ จบออกมามีการงานที่ก้าวหน้าและมั่นคง

งานพัฒนาแคนตาลูปของสระแก้ว เริ่มต้นเมื่อปี 2508 นักเรียนเกษตรกรรมสงเคราะห์รุ่นที่ 5 ชื่อนายเกษมสันต์ ปานพันธ์  ได้พบการจำหน่ายแตงแคนตาลูปที่ไร่ถกลสุข ของหลวงจบกระบวนยุทธ จึงเกิดความสนใจมาก เนื่องจากมีราคาแพง และปลูกยาก เป็นการท้าทายความสามารถของนักเรียนเกษตรกรรมสงเคราะห์สมัยนั้นเป็นอย่างยิ่ง นายเกษมสันต์ได้ปรึกษาและทดลองกับนายสนั่น กลิ่นหอม นักเรียนเกษตรกรรมสงเคราะห์รุ่นที่ 1 โดยซื้อเมล็ดพันธุ์ในราคาค่อนข้างแพงมาปลูก ปรากฏว่า แตงที่ปลูกพอมีผลผลิตบ้าง แต่รสชาติไม่หวาน กลิ่นไม่หอมอย่างไร่ถกลสุข กิจการที่ทำกันขาดทุน

เนื้อในแคนตาลูป
เนื้อในแคนตาลูป

นายเกษมสันต์ไม่ละความพยายาม เมื่อปี 2509 เขาได้ร่วมทดลองปลูกกับนายชลอ สุขเสน นักเรียนรุ่นเดียวกัน ขณะที่นายสนั่น และนายสัมฤทธิ์ ชัยชนะ หันไปปลูกแตงโมแทน แต่ปรากฏว่า แตงเทศของนายเกษมสันต์และนายชลอ คุณภาพดีขึ้น

นายเกษมสันต์และนายชลอ มุ่งมั่นเอาจริงกับงานปลูกแตงแคนตาลูป จนผลผลิตเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคขึ้นตามลำดับ ทำให้นายสนั่นและนายสัมฤทธิ์ทนไม่ได้ ต้องหันมาปลูกแตงแคนตาลูปอีกครั้งหนึ่ง

เอกสารของวิทยาลัยเกษตรกรรมปราจีนบุรี บันทึกเกี่ยวกับการปลูกแคนตาลูปเป็นการค้าว่า

นายเกษมสันต์ ทำการส่งเสริมปลูกแคนตาลูปตั้งแต่ปี 2528-2531 สามารถส่งเสริมสมาชิกปลูกแตงแคนตาลูปได้ถึง 50 ครอบครัว แต่ละครอบครัวยึดเป็นอาชีพหลักได้

นายสัมฤทธิ์ ทำการส่งเสริมปลูกแตงแคนตาลูปตั้งแต่ปี 2528-2531 สามารถส่งเสริมสมาชิกปลูกแตงแคนตาลูปได้ถึง 50 ครอบครัว แต่ละครอบครัวยึดเป็นอาชีพหลักได้

นายมิตร บุศราพงษ์พานิช ทำการส่งเสริมปลูกแตงแคนตาลูปตั้งแต่ปี 2514-2531 ในปี 2516 เคยจัดตั้งกลุ่มผู้ปลูกแคนตาลูปมีสมาชิก 40 คน จากนั้นแยกย้ายกันไปปลูกแบบอิสระ

นายคำมี ไชยสาร เดิมรับราชการที่วิทยาลัยเกษตรกรรมปราจีนบุรี ใช้เวลาว่างทดลองปลูกแคนตาลูป โดยการส่งเสริมและสนับสนุนจากนายเกษมสันต์ ต่อมาปี 2529 เห็นว่ามีความเป็นไปได้สูง จึงลาออกจากราชการ มาประกอบอาชีพปลูกแตงแคนตาลูปจนมีความชำนาญ พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรใกล้เคียงปลูกจำนวน 15 ราย

พันธุ์แคนตาลูปที่ปลูกกันมีดังนี้
พันธุ์ซุปเปอร์บี. นายเกษมสันต์  เป็นผู้นำมาทดลองปลูก เมื่อ ปี 2509
พันธุ์เดรีเลียส 51 นายสมศักดิ์ พดด้วง เป็นผู้นำมาทดลองปลูก เมื่อ ปี 2511
พันธุ์เรดเดอร์ซัน นายดำรง ศิริกานนท์ เป็นผู้นำมาทดลองปลูก เมื่อ ปี 2512
พันธุ์อี.ดีสโต้ นายสมศักดิ์  เป็นผู้นำมาทดลองปลูก เมื่อ ปี 2513
พันธุ์เรดเดอร์ซัน ดี.เอ็ม.อาร์. นายดำรง  นำมาทดลองปลูก เมื่อ ปี 2513
พันธุ์ท็อปมาร์ค นายเกษมสันต์  เป็นผู้นำมาทดลองปลูก เมื่อ ปี 2513

ปัจจัยหนุนส่งที่ทำให้แคนตาลูปในท้องถิ่นนี้ก้าวหน้าและยั่งยืน นอกจากอดีตนักเรียนในโรงเรียนเกษตรกรรมสงเคราะห์ริเริ่มแล้ว เมื่อปี 2528 วิทยาลัยเกษตรกรรมปราจีนบุรี จัดอบรมวิธีปลูกแคนตาลูปให้กับผู้สนใจทั่วไป โดยร่วมมือกับเอกชน โดยที่เอกชนได้นำเมล็ดพันธุ์ใหม่ที่ตลาดต้องการเข้ามาแนะนำ

ที่เป็นงานธรรมดาจัดแบบชาวบ้าน แต่ช่วยให้ชื่อเสียงของแคนตาลูปมั่นคงมานานคือการจัดงาน “วันแคนตาลูปของดีอรัญประเทศ” โดยนายสันติ เกรียงไกรสุข นายอำเภออรัญประเทศ เริ่มจัดครั้งแรกระหว่างวันที่ 16-18 มกราคม 2530 ปัจจุบันก็มีจัดมาอย่างต่อเนื่อง

แคนตาลูปนำเข้ามาปลูกในเมืองไทยกว่า 60 ปีแล้ว

ที่สระแก้ว ปลูกแคนตาลูปมาร่วม 50 ปีแล้ว จังหวัดนี้ ถือว่าปลูกแตงเทศรสชาติดีมานาน พื้นที่ปลูกหมุนเวียนทั้งปีมีไม่น้อยกว่า 1,000 ไร่ ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าจะเดินทางไปอรัญประเทศช่วงไหน จะเห็นผลผลิตแตงเทศวางขายไม่เคยขาด คนซื้อก็ไม่เคยขาดเช่นกัน

แม่ค้าที่อรัญประเทศ
แม่ค้าที่อรัญประเทศ

ผู้ซื้อส่วนใหญ่ เป็นนักท่องเที่ยว ที่ไปจับจ่ายซื้อของตลาดโรงเกลือ

ผู้ค้าบางรายบอกว่า ที่คาสิโนในกัมพูชา มีแม่ครัวมาซื้อแคนตาลูปไปไว้บริการลูกค้า ครั้งละ 40-50 กิโลกรัม

งานผลิตแตงเทศนั้นไม่ได้ง่ายเหมือนแตงไทย

แนวทางการผลิตแตงไทยสมัยเก่าก่อน ใครมีเมล็ดพันธุ์ก็นำไปปลูกไปฝังไว้ ไม่นานนักก็มีผลผลิตให้ชิม โดยเฉพาะตามไร่ข้าวของชาวบ้าน ปลูกแซมกันไปได้เลย

เนื่องจากแตงเทศ มีถิ่นกำเหนิดในต่างแดน จึงจำเป็นต้องดูแลเป็นพิเศษ เกษตรกรบางราย ลงทุนให้ญาติๆปลูก 100 ไร่ ใช้ทุนกว่า 2 ล้านบาท เฉลี่ยไร่ละ 20,000-3,000 บาท หากดูแลดี ทุนที่ลงไปขนาดนี้ถือว่าไม่มาก เพราะแตงเทศให้ผลผลิตเร็ว จำหน่ายได้ราคาดี

เกษตรกรยุคบุกเบิกอย่างนักเรียนเกษตร คงโรยราไปตามกาลเวลา แต่ก็มีรุ่นใหม่ขึ้นมาทดแทน

เจ้าหน้าที่จากบริษัทเอกชนแนะนำว่า ทุกวันนี้ แคนตาลูปที่ปลูกอยู่มีหลายสายพันธุ์ ซึ่งได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ในจำนวนแคนตาลูปหลายๆสายพันธุ์นั้น แบ่งได้เป็น 2 ลักษณะคือผิวผลเรียบและแบบตาข่าย

แคนตาลูปผิวเรียบ
แคนตาลูปผิวเรียบ

แบบผิวผลเรียบ ดูแลรักษาค่อนข้างง่าย ทนทาน ปรับตัวได้ไม่ยาก ผลผลิตต่อไร่จึงมาก

สำหรับผิวแบบตาข่าย ดูแลค่อนข้างยาก ผลผลิตมีรสชาติดี ผลผลิตต่อไร่บางฤดูกาลสู้แบบผิวเรียบไม่ได้ ราคาจึงค่อนข้างแพง แต่คนนิยมซื้อหาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากพันธุ์พืชปรับตัวจนแข็งแร็งตอบสนองผู้คนได้แล้ว ทุกวันนี้เกษตรกรก็มีการปรับตัว ยืดหยุ่นทางด้านการผลิต ด้วยเหตุนี้ แคนตาลูปหรือแตงเทศ คงอยู่ พร้อมทั้งสร้างงานทำเงินให้กับคนที่นี่ไปอีกนาน

ผู้สนใจเพิ่มเติม จะซื้อผลผลิต ซื้อเมล็ดพันธุ์ ถามได้ที่ บริษัท เพื่อนเกษตรกร จำกัด 43 ถนนราชพฤกษ์ ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50300 โทรศัพท์ 053-211773,211810,217180

บรรยากาศซื้อขาย
บรรยากาศซื้อขาย