ครูหัวใจเกษตร จับจอบปลูกมันหวาน ผลผลิตคุณภาพ ออร์เดอร์ปัง ปลูกไม่พอขาย

ครูหัวใจเกษตร จับจอบปลูกมันหวาน ผลผลิตคุณภาพ ออร์เดอร์ปัง ปลูกไม่พอขาย

เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ ได้พูดคุยกับ คุณไร-จารุพิชญา อุปัญ วัย 37 ปี ครูสาวจากจังหวัดมุกดาหาร ซึ่งความน่าสนใจของแม่พิมพ์ของชาติท่านนี้มีอยู่ว่า นอกจากจะมีอาชีพหลักเป็นครูแล้ว เธอยังปลูกมันหวานขายเป็นอาชีพเสริมอีกด้วย ซึ่งรายได้จากการขายมันหวานนั้น บอกเลยว่าไม่ขี้ริ้วขี้เหร่เลยสักนิด

คุณไร-จารุพิชญา อุปัญ วัย 37 ปี ครูสาวจากจังหวัดมุกดาหาร
คุณไร-จารุพิชญา อุปัญ วัย 37 ปี ครูสาวจากจังหวัดมุกดาหาร

คุณไร เล่าว่า เธอเป็นสาวต่างจังหวัด เข้ามาเรียนที่กรุงเทพฯ เมื่อร่ำเรียนจนจบก็ทำงานเป็นผู้ช่วยผู้จัดการในร้านสะดวกซื้อเจ้าดัง แต่เพราะเมืองหลวงนั้นแสนวุ่นวาย ใช้ชีวิตไปแล้วรู้สึกว่ามันไม่ถูกจริต ประจวบเหมาะกับแต่งงานมีครอบครัว พอทำงานได้ 4 เดือน ก็ลาออกมาเลี้ยงลูก และย้ายไปอยู่กับสามีที่จังหวัดสระบุรี

แต่ชีวิตครอบครัวก็ไม่ได้ราบรื่น 5 ปีหลังจากนั้นก็มาถึงจุดที่ต้องแยกทางกับอดีตสามี คุณไรจึงตัดสินใจเดินทางกลับบ้านเกิดที่จังหวัดมุกดาหาร แล้วสมัครเข้าไปทำงานในห้างสรรพสินค้า ทำไปได้ประมาณ 2 ปี เธอก็เห็นประกาศรับสมัครตำแหน่งครูพี่เลี้ยงเด็กพิการ อีกทั้งเกิดความคิดในใจว่า ตนน่าจะทำประโยชน์อะไรได้มากกว่านี้ จึงหาทางไปเรียนต่อเป็นครู เมื่อสอบครูได้ก็มาเป็นครูอัตราจ้างที่หมู่บ้านของตัวเอง โดยสอนวิชาการงาน ตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 1- 6 เพื่อเก็บชั่วโมงไปเรียนต่อปริญญาบัณฑิต

แต่เหมือนว่าการเป็นครู ก็ยังไม่ตอบโจทย์ชีวิตเธอสักเท่าใดนัก ระหว่างที่ครุ่นคิด เธอก็เห็นว่า ในทุกวันที่ไปทำงานที่ห้างสรรพสินค้า เธอเห็นพวกมันเทศวางขายข้างทางเต็มไปหมด ด้วยความที่ทั้งตัวเธอเองและคนที่บ้านนั้นชอบทานมันเทศ จึงเกิดความคิดขึ้นมาว่า ทำไมไม่ปลูกทานเองล่ะ?

“ระยะทางจากบ้านไปที่ที่ทำงาน เราเห็นมันเทศวางขายอยู่ข้างทาง แล้วเราก็ชอบซื้อมากินบ่อยๆ คนที่บ้านก็ชอบ ก็เลยเกิดเป็นความคิดขึ้นมาว่า เออ เราก็ชอบทานกัน แล้วทำไมไม่ปลูกกินเองไปเลยล่ะ ที่ที่บ้านก็มีให้ปลูก เพราะที่บ้านก็ทำเกษตร ปลูกมันสำปะหลัง อ้อย ยางพาราอะไรแบบนี้อยู่แล้ว มัวแต่มาเสียเงินซื้อ แถมปลอดภัยด้วยเพราะเราปลูกเองกินเอง ไม่ใส่สารเคมีแน่ๆ แล้วรุ่นน้องที่รู้จักกันเขาทำอยู่ ก็เลยไปเรียนรู้จากเขา แล้วก็ได้ยอดพันธุ์มันมา โดยมีรุ่นน้องคอยเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำเสมอๆ” ครูสาว เล่า

เมื่อเรียนรู้วิธีการปลูกครบจบกระบวนความ ครูไรจึงเริ่มลงมือปลูกโดยใช้พื้นที่ 1 งาน เพื่อศึกษาลักษณะของมันแต่ละสายพันธุ์ ว่าเหมาะกับการปลูกสภาพพื้นที่แบบใด และเธอจึงได้ค้นพบว่า มันของไทยนั้นใช้เวลาปลูก 4-9 เดือน กว่าจะได้ผลผลิต แต่มันของญี่ปุ่น ใช้เวลาเพียง 2 เดือนก็เก็บเกี่ยวได้แล้ว

เมื่อเรียนรู้ผสานกับการลงมือทำจนเชี่ยวชาญ เธอจึงขยายพื้นที่ปลูก จาก 1 งาน มาเป็น 2 งาน 3 งาน เรื่อยๆ จนปัจจุบัน เธอมีพื้นที่สำหรับปลูกมันหวานญี่ปุ่นทั้งหมด 3 ไร่ สายพันธุ์ที่เลือกปลูกก็มีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น มันหวานญี่ปุ่นซิลสวีท มันหวานญี่ปุ่นส้มโอกินาวา  มันหวานญี่ปุ่นเหลืองเบนิฮารุกะ มันหวานญี่ปุ่นซากุระไวน์ มันม่วงญี่ปุ่นเพอเพิล สวีท มันม่วงเกาหลี มันม่วงไต้หวัน และมันม่วงฮาวาย

“ข้อมูลการปลูกก็ศึกษาเอาจากอินเตอร์เน็ต ถามเอาจากผู้ที่เขามีความรู้ความเชี่ยวชาญบ้าง ตอนนี้ก็ปลูกมาได้ 3-4 ปีแล้วค่ะ ผลตอบรับดีค่ะ เพราะปลูกแบบอินทรีย์ ปุ๋ยบำรุงก็ทำเอง มีเข้ามาเรื่อยๆ เพราะเราขายทั้งออนไลน์ แล้วก็ตลาดแถวบ้าน ส่วนใหญ่ลูกค้าจะเป็นคนภาคใต้และก็นิสิต นักศึกษา ของ ม.อุบลฯ นี่แหละค่ะ แล้วก็ทางออนไลน์ ตามกลุ่มขายมันก็มีออร์เดอร์เข้ามาทุกวัน”

“เคยทดลองนำมันที่ปลูกมาแปรรูปเป็นพวกข้าวเกรียบ มันหวาน มันฉาบ ผงมันม่วง เหมือนกัน แต่ยอดสั่งเข้ามาเยอะจนของไม่พอขาย ไม่เหลือพอจะเอามาแปรรูป ด้วยมันเราเนื้อแน่น หวาน และปลูกแบบเกษตรปลอดสาร คือเราผลิตเพราะอยากให้คนกินแบบที่เราได้กิน ซึ่งมันปลอดสารจริงๆ คนเลยนิยมค่ะ”

ด้านราคาขาย ครูไร กล่าวว่า ราคาแล้วแต่ขนาดของมันและสายพันธุ์ที่เลือกซื้อ หากเป็นมันพันธุ์ส้มโอกินาวา และพันธุ์เพอเพิล สวีท ราคาอยู่ที่ 60-80 บาท แต่ถ้าเป็นพันธุ์เหลืองเบนิฮารุกะ  และพันธุ์ซิลสวีท ราคาจะเริ่มต้นที่ 80 บาทเป็นต้นไป ทำให้รายได้จากการขายมัน 1 ไร่ อยู่ที่ประมาณ 4 หมื่นบาท รวมการขายยอดพันธุ์ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างรายได้ที่ดีทางหนึ่งเลยทีเดียว

“ราคาปลูกถือว่าถูกอยู่ค่ะ เพราะพวกการไถการเตรียมดิน ก็จ้างญาติๆ เอา เขาก็คิดไม่แพงตีว่า 1,000 บาท ยอดพันธุ์ก็ราคา 1-3 บาท ขึ้นอยู่กับพันธุ์ที่เลือกปลูก แต่ของเรา เราทำยอดพันธุ์เอง เลยไม่มีค่าใช้จ่ายตรงนี้ ส่วนปุ๋ยประมาณ 1,000 ถึง 1,500 บาท ต่อไร่ รายได้จากการขาย ไร่หนึ่งก็ได้ประมาณ 3-4 หมื่น รวมขายยอดพันธุ์ด้วยนะคะ ก็ถือว่าเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ดีอาชีพหนึ่งเลยค่ะ” ครูไร กล่าวอย่างนั้น

สั่งซื้อหรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก น.ส.จารุพิชญา อุปัญ

 

เผยแพร่ครั้งแรก วันจันทร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ.2564