มะขามเปรี้ยว ปลูกไม่ต้องใส่ปุ๋ยให้หวานก็ขายได้ ฝักยักษ์ใหญ่ให้เลือก 8 ฝักหนัก 1 กิโลกรัม

เรื่องโดย เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ 

ภาษาอังกฤษเรียกมะขามว่า tamarind ภาคกลางเรียกมะขาม ภาคใต้เรียกขาม โคราชเรียกตะลูบ กะเหรี่ยงจังหวัดกาญจนบุรีเรียกม่วงโคล้ง อิสานเรียกหมากขาม

ไกลจากไทยออกไป มาลายูเรียกอาซาม เยอรมันเรียกทามาราย เสปนและอิตาลีเรียกทามารินโด  อินเดียเรียกอะมะลา จีนเรียกซวนโต้ว

เพราะนำเข้ามาปลูกนาน คนท้องถิ่นในไทยรู้จักกันดี จึงนำชื่อมะขาม มาตั้งเป็นชื่อท้องถิ่น เช่นอำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี

ที่อื่นๆก็เช่นบ้านหนองขาม บ้านนาขาม กุดนาขาม มะขามล้ม คลองมะขามเฒ่า

การแพร่พันธุ์ของมะขามยุคแรกๆ ใช้เมล็ดเป็นหลัก ถือว่าสะดวกที่สุด อย่างค้นพบว่า มะขามที่จังหวัดนนทบุรี มีคุณสมบัติดีเด่น เมื่อคนจังหวัดนครพนมมาพบเข้า ก็นำเมล็ดใส่กระเป๋ากางเกง ไปปลูกยังท้องถิ่นของตนเอง ส่วนใหญ่แล้ว ต้นที่ปลูกด้วยเมล็ดจะมีลักษณะแตกต่างออกไป

มะขามแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทด้วยกันคือมะขามหวานกับมะขามเปรี้ยว ซึ่งจริงๆแล้วมะขามทั้งสองประเภทตีคู่กันมา แต่ระยะกลางๆ มะขามหวานดูจะมีชื่อเสียงมากกว่า

พุ่มใบแน่นหนาของมะขาม
พุ่มใบแน่นหนาของมะขาม

มะขามเปรี้ยว เปรียบดังลูกเมียน้อย  มักถูกเจ้าของพิจารณา ตัดโค่นไปทำเขียงเสมอ เมื่อถึงอายุขัย

พบประชากรของมะขามหวานขึ้นอยู่ในหลายจังหวัด แต่ท้องถิ่นที่ได้รับการพัฒนา จนได้ชื่อว่าเป็นเมืองมะขามหวาน คือจังหวัดเพชรบูรณ์ นักวิชาการเกษตร เคยเล่าไว้ว่า จังหวัดนี้ มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล ดินปลูกมะขามหวานอุดมไปด้วยธาตุอาหารที่ส่งเสริมให้พืชมีความหวาน และสำคัญที่สุดนั้น ในช่วงมะขามหวานสุกแก่ อากาศเหมาะสม ไม่ชื้นเกินไป ทำให้เนื้อมะขามมีคุณภาพดี

มะขามหวานของเพชรบูรณ์ ที่ช่วยจุดประกายให้คนรู้จักพืชพรรณล้ำค่าของจังหวัดนี้คือมะขามหวานพันธุ์ “หมื่นจง” อยู่หมู่ที่ 5 ตำบลหล่มเก่า อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ เยื้องๆวัดสระเกศ ต้นเดิมตายไปนานแล้ว หากยังอยู่คาดว่า อายุเกือบ 200 ปี

เจ้าของเดิมมะขามพันธุ์หมื่นจง คือหมื่นจงประชากิจ(ฉิม พุทธสิมา)

หมื่น คือบรรดาศักดิ์ ที่ใช้เรียกผู้ใหญ่บ้านในสมัยก่อน

หมื่นจง คือผู้ใหญ่จงนั่นเอง

มะขามหมื่นจง มีจุดเด่นตรงที่ฝักโค้ง เป็นวงกลม โคนฝักและปลายฝักเกือบชิดกันเป็นรูปพระจันทร์ บางฝักนำมาทำเป็นกำไลข้อมือได้ แต่ข้อเสียนั้นผลมักแตกเมื่อสุกแก่

นอกจากหมื่นจงแล้ว ในท้องถิ่นยังมีพันธุ์อื่นอีกเช่นพันธุ์นายเบื้อง ปากดุก หลังแตก น้ำผึ้ง โป่งตูม ผู้ใหญ่มา เป็นต้น

เพราะพันธุ์ใหม่ๆ มีคุณสมบัติโดดเด่นกว่า พันธุ์ดั้งเดิมจึงลดความนิยม มะขามหวานหมื่นจงก็อยู่ในข่ายนั้น ซึ่งทุกวันนี้ มะขามหวานเพชรบูรณ์ที่ได้รับความนิยมคือพันธุ์สีทอง ประกายทอง และศรีชมภู

งานปลูกมะขามหวาน ในยุคหนึ่ง สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรดีมาก ไม่เฉพาะที่เพชรบูรณ์เท่านั้นที่สนใจปลูก แต่เกษตรกรในจังหวัดเลย อุดรธานี หนองคาย พิษณุโลก น่าน  ก็หันมาปลูกมะขามหวานกัน

ยุครุ่งเรืองของมะขามหวาน ผู้ปลูกขายได้ราคาดีมาก แต่ต่อมาผลผลิตมีมาก ทำให้ราคาลดลง

ในงานเกษตรแฟร์ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน บางปีมะขามหวานขายกัน 4 กิโลกรัม 100 บาท

ผ่านยุครุ่งเรืองของมะขามหวานมานานพอสมควรแล้ว

ช่วงมีการเปลี่ยนแปลงนั้น ผลผลิตมะขามราคาตกต่ำ พอดีกระแสของยางพารามาแรง เกษตรกรส่วนใหญ่ทางจังหวัดเลย โค่นมะขามหวานแล้วหันมาปลูกยางพารา ด้วยเหตุนี้ ทำให้ผลผลิตมะขามในตลาดมีน้อยลง ราคามะขามหวานจึงขยับขึ้นพอสมควร

มะขามเปียกใช้กันมาก
มะขามเปียกใช้กันมาก

ย้อนกลับมามองมะขามเปรี้ยว

เมื่อมะขามหวาน คือสิ่งเชิดหน้าชูตาและทำรายได้ให้กับท้องถิ่น

มะขามเปรี้ยวหรือมะขามส้ม ตามคำเรียกของคนทางอิสาน จึงกลายเป็นพืชหัวไร่ปลายนา

มะขามต้นเล็กๆ อาจจะถูกไถทิ้งอย่างไม่ไยดี ขณะที่ต้นขนาดใหญ่ ก็ถูกปล่อยทิ้ง

ด้วยเหตุที่มะขามหวานราคาดีช่วงหนึ่ง ทำให้ประชากรของมะขามเปรี้ยวเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์

แต่เพราะเหตุผลบางอย่าง ทำให้มะขามเปรี้ยวได้รับการพูดถึง

อย่างแรก ประชากรของมะขามเปรี้ยวมีน้อย ส่งผลให้ผลผลิตมะขามเปรี้ยวราคาดี

ต่อมามีการค้นพบมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์ ซึ่งจูงใจให้ปลูก

ราคามะขามหวานที่ไม่สูง เกษตรกรจึงสนใจปลูกมะขามเปรี้ยว ซึ่งดูแลไม่ยาก เวลาใกล้สุกแก่ ไม่ต้องดูแลให้เปรี้ยว เพราะเขาเปรี้ยวโดยธรรมชาติอยู่แล้ว

ผลผลิตมะขามเปรี้ยวที่ลดลง ขณะเดียวกัน ความต้องการเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะตลาดแถบตะวันออกกลาง ซึ่งเขาซื้อไปเป็นส่วนประกอบของลูกอม และเครื่องดื่ม

เพราะประชากรมะขามเปรี้ยวมีน้อยลง ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ได้เสาะหามะขามพันธุ์ดี จากหลายๆแห่ง นำมาปลูกเปรียบเทียบ ว่ามะขามเปรี้ยวจากที่ไหนได้ผลผลิตมากที่สุด วิธีการนี้ไม่ใช่การผสมพันธุ์ แต่เป็นการคัดพันธุ์ โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 ถึงปี พ.ศ.2535 จนกระทั่ง วันที่ 17 มิถุนายน 2537 จึงออกเป็นพันธุ์แนะนำได้ ชื่อพันธุ์ว่า “ศก.019”

มะขามเปรี้ยว ศก.019 ให้ผลผลิตหลังจากเปลี่ยนยอด 2 ปี หมายถึงปลูกต้นตอในแปลง แล้วนำพันธุ์ศก.019 เสียบเข้าไป ผลผลิตที่ได้เฉลี่ย 25.6 กิโลกรัมต่อต้นต่อปี เป็นฝักแห้ง  ฝักที่ได้มีจำนวน 51 ฝักต่อ 1 กิโลกรัม เนื้อมะขาม 46 เปอร์เซนต์  กรดทาทาร์ริค 17 เปอร์เซนต์

มะขามเปรี้ยว ศก.019 ได้รับความนิยมไม่น้อย

คุณธวัชชัย นิ่มกิ่งรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ บอกว่า มะขามเปรี้ยว ศก.019 เป็นงานทดสอบและวิจัยมะขามเปรี้ยวอย่างเป็นทางการสายพันธุ์แรก  ประเด็นที่น่าสนใจคือการศึกษากรดทาทาร์ริค ถือว่าอยู่ในเกณฑ์สูง

มะขามเปรี้ยว ศก.019
มะขามเปรี้ยว ศก.019

“ผลผลิตของมะขามเปรี้ยว ศก.019 ใช้ประโยชน์ได้ดีมาก รวมทั้งการดองแล้วแช่อิ่ม”คุณธวัชชัยบอก

มะขามเปรี้ยวที่สร้างความฮือฮาแก่วงการไม่น้อย เป็นการค้นพบโดยพลโทรวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 3 จัดเป็นมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์ ที่เขย่าวงการให้หันมาปลูกมะขามเปรี้ยวอย่างจริงจัง

พลโทรวมศักดิ์ ได้ศึกษามะขามฝักยักษ์ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่ามะขามกระดาน อยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี จากนั้นจึงเผยแพร่ให้กับผู้สนใจ เมื่อราว 20 ปีที่แล้ว

สนนราคากิ่งพันธุ์ที่เกษตรกรผลิตขาย ราคาสูงถึง 200 บาท ปัจจุบันมะขามกระดาน ได้รับความนิยมมาก ในบรรดาผู้สนใจปลูกมะขามเปรี้ยว แม้กระทั่งเกษตรกรที่เพชรบูรณ์ ก็นำต้นไปขยายพันธุ์จำหน่าย

มะขามเปรี้ยวอีกสายหนึ่ง ถูกค้นพบโดยทหารเช่นกัน เป็นมะขามจากอำเภอสะทิงพระ จังหวัดสงขลา

พันเอกวินัย พุกศรีสุข กับมะขามเปรี้ยวสะทิงพระ
พันเอกวินัย พุกศรีสุข กับมะขามเปรี้ยวสะทิงพระ

พันเอกวินัย พุกศรีสุข หัวหน้ากองการสัตว์และเกษตรกรรมที่ 1 กรมการสัตว์ทหารบก จังหวัดกาญจนบุรี เล่าว่า สมัยที่ตนเองมียศร้อยเอก ไปพบมะขามฝักใหญ่มากที่อำเภอสะทิงพระ จึงนำยอดมาเสียบไว้ที่กองการสัตว์และเกษตรกรรรมที่ 1  เมื่อมีผลผลิต ปรากฏว่า ได้ผลดีมาก จึงให้ชื่อตามท้องถิ่นที่พบคือพันธุ์”สะทิงพระ”

มะขามเปรี้ยวพันธุ์สะทิงพระ ฝักใหญ่มาก ฝักดิบโตเต็มที่เคยชั่งได้  8 ฝักต่อ 1 กิโลกรัม กรณีนี้ เกิดขึ้นกับมะขามเปรี้ยวที่ติดผลพอประมาณ เจ้าของดูแลดี

แต่โดยทั่วไปแล้ว เกษตรกรปลูกแบบปล่อยทิ้ง ฝักไม่ใหญ่ยักษ์มากนัก จำนวนฝักต่อกิโลกรัมจึงมากขึ้น

พันเอกวินัยเคยเก็บตัวเลข มะขามเปรี้ยวสะทิงพระ พบว่า ให้เปอร์เซนต์เนื้อสูงมาก

ฝักมะขามกระดาน
ฝักมะขามกระดาน

มะขามเปรี้ยวกระดานและสะทิงพระ มีคุณสมบัติใกล้เคียงกัน ต่างกันตรงที่มะขามสะทิงพระฝักยืดยาวกว่า มะขามกระดานฝักทรงโค้งมากกว่า

แนวทางการปลูกมะขามเปรี้ยวทุกวันนี้ ไม่ได้ใช้เมล็ดมะขามทั่วๆไปปลูกแล้ว เพราะอาจจะได้มะขามฝักเล็ก ผลผลิตไม่ดก อายุการให้ผลผลิตหลังปลูกช้า ส่วนใหญ่แล้ว เขาปลูกด้วยกิ่งทาบกัน ซึ่งสนนราคาซื้อขายถือว่าไม่แพง เกษตรกรคนใดมีฝีมือก็ปลูกต้นตอมะขามเปรี้ยวทั่วไปลงดินก่อน จากนั้นจึงนำมะขามเปรี้ยวพันธุ์ดีเสียบเข้าไป หลังจากนั้นไม่นานก็เก็บผลผลิตได้

เนื่องจากพื้นที่ปลูกมะขามเปรี้ยวไม่มาก ผลผลิตจึงยังจำหน่ายได้ราคาดีในปัจจุบัน

ผลผลิตมะขามเปรี้ยวยักษ์ที่มีอยู่  ส่วนใหญ่ผู้ปลูกนำไปดองแล้วแช่อิ่ม ซึ่งขนาดของฝักและรสชาติ เป็นที่ถูกใจของผู้บริโภคมาก อาจารย์ประทีป กุณาศล ที่ปรึกษานิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน พูดถึงมะขามยักษ์แช่อิ่มว่า “ฝักใหญ่ จูงใจ เวลากัดจมเขี้ยว…”

มะขามเปรี้ยวที่คัดมาได้ ไม่ว่าจะเป็น ศก.019 กระดาน รวมทั้งสะทิงพระ เป็นของดีที่มีอยู่ประจำถิ่น เมื่อรู้จักนำมาใช้ก็เกิดประโยชน์

มีที่ดินว่างเปล่า ปลูกมะขามเปรี้ยว จะช่วยสร้างงานทำเงินได้อีกทางหนึ่ง

 

ที่มา เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์