นักวาดการ์ตูน ผันตัวเป็นเกษตรกร ต่อยอดวัฒนธรรมชนเผ่า สู่ธุรกิจโรงย้อมผ้าคราม

จากนักวาดการ์ตูน ผันตัวเป็นเกษตรกร ต่อยอดวัฒนธรรมชนเผ่า สู่ธุรกิจโรงย้อมผ้าคราม-โฮมสเตย์

ย้อนกลับไปประมาณ 10 ปีที่แล้ว ไอ้แป้น ตัวการ์ตูนสีดำปิ๊ดปี๋ดูขี้เหร่ แถมยังมีขนรักแร้ยาวๆ กับ พวงชมพูควายดำเขาโค้ง จะมีคนสนใจติดตามเรื่องราวมากถึง 2-3 ล้านคน และถูกส่งต่อทาง forward mail อีกกว่าหลายฉบับ เรียกว่าดังเป็นพลุแตกจนถึงขั้นถูกหยิบขึ้นมาทำเป็นหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กขายกันเลยทีเดียว คุณเหมียว-จิราภรณ์ โคตรมิตร คือนักวาดเจ้าของผลงานคนนั้นนั่นเอง

คุณเหมียว-จิราภรณ์ โคตรมิตร นักวาดการ์ตูนไอ้แป้น

เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ มีโอกาสได้พูดคุยกับนักวาดในระดับตำนานคนนี้ เธอเล่าว่า เธอเคยวางมือจากวงการนักวาดไปช่วงหนึ่งและหันมาเอาดีทางด้านเกษตรกรรม ซึ่งปัจจุบันเธอก็กลับมาวาดการ์ตูนควบคู่กับการทำเกษตรแล้ว

“เราชอบวาดการ์ตูน แต่ไม่เคยได้รับการสนับสนุนจากที่บ้านเท่าไหร่ เพราะเขาอยากให้กลับมาทำเกษตรที่บ้านเกิด มันเลยทำให้เรารู้สึกว่า ถึงจะออกหนังสือ วางขายได้เยอะแยะแค่ไหน แต่มันก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ ประกอบกับมีเรื่องยุ่งๆ ที่บ้านหลายเรื่อง เลยหยุดวาดการ์ตูนแล้วก็มาทำเกษตร”

คุณเหมียว เล่าต่อว่า ในตอนที่ตัดสินใจหักปากกาแล้วกลับมาทำนาปลูกข้าวอยู่ที่นครพนม ตอนแรกที่กลับมาก็ไม่มีใครเชื่อว่าเธอจะกลับมาเอาดีทางด้านเกษตรจริงๆ ซึ่งการกลับมาทำเกษตรของคุณเหมียว ทำให้เธอต้องต่อสู้กับความคิดต่างๆ จากที่บ้าน เพราะเธอตั้งใจจะทำการเกษตรโดยไม่ใช้สารเคมี ซึ่งถือเป็นเรื่องยากทีเดียวที่จะเปลี่ยนใจและความคิดของคน

“พี่ตั้งใจจะเปลี่ยนจากการทำเกษตรแบบใช้สารเคมี มาเป็นแบบอินทรีย์ ที่บ้านเขาก็แย้งแหละว่าอย่างนั้นอย่างนี้ เขาก็มองว่าเราหัวดื้อบ้าง ขำบ้าง แต่เราตั้งใจแล้วก็ทำไป ไม่สนว่าใครจะว่ายังไง ปีแรกๆ ที่ได้ผลผลิต จำนวนมันก็ลดจากแต่ก่อนอยู่แล้วเพราะมันอยู่ในช่วงปรับเปลี่ยน ซึ่งที่บ้านก็ไม่เข้าใจว่า เมื่อก่อนเขาได้เท่านี้ แต่ทำไมเรามาทำแล้วได้แค่นี้ ก็เลยไม่ได้ทำต่อ หันไปทำอย่างอื่น เห็นยายนั่งทอผ้าย้อมครามอยู่ ก็เข้าไปถาม ไปขอให้เขาสอนทอผ้าถุงไว้ใส่ไปวัด พอได้ทำแล้วรู้สึกชอบ แล้วก็อยากเก็บภูมิปัญญาของบรรพบุรุษเอาไว้ เลยเริ่มเรียนรู้การมัดหมี่ ปลูกคราม ทำน้ำคราม ก่อหม้อย้อม และทอจนเป็นผืน ทุกครั้งที่เรียนรู้จากยาย ก็เล่าเรื่องลงเฟซบุ๊กผ่านการวาดเป็นตัวการ์ตูนที่เราถนัด จนคนเริ่มสนใจเพราะเราก็มีฐานแฟนคลับจากการเป็นนักวาดอยู่แล้ว เขาก็อยากมาย้อมผ้าบ้าง บางคนก็อยากขอซื้อผ้าในชุมชน ก็เลยคิดว่า ลองเปิดให้คนเข้ามาทำกิจกรรมดู ก็น่าจะเข้าท่า เลยตั้ง โรงย้อมยายยอด ให้เป็นศูนย์เรียนรู้และเผยแพร่เรื่องครามวิถีชนเผ่าไทญ้อ” คุณเหมียว เล่า

คุณเหมียวและยายยอด

เมื่อตัดสินใจเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมชุมชนบ้านเกิดที่สุดแสนจะภูมิใจ คุณเหมียวก็เจอปัญหาในเรื่องของที่พักอาศัยของผู้ที่เข้ามาทำกิจกรรม ซึ่งส่วนมากจะเป็นชาวกรุงเทพฯ และไม่อยากเทียวไปเทียวมาระหว่างโรงแรมกับโรงย้อม อีกทั้งมีเสียงเรียกร้องว่าอยากพักบ้านเดียวกับที่คุณเหมียวอยู่ จึงเกิดเป็น ยายยอดโฮมสเตย์ ขึ้น

“เริ่มทำมาตั้งแต่ปลายๆ ปี 57 ตอนนี้ก็เข้าปีที่ 7 แล้ว ถ้าเป็นผ้าคราม มีคนทำเยอะ หลายชุมชน หลายแบบหลายลาย แต่ถ้าเป็นธุรกิจบริการ การท่องเที่ยวชุมชนวิถีครามแบบชนเผ่า คิดว่ายังไม่เยอะมากเพราะกิจกรรมการท่องเที่ยวมีหลากหลาย ขึ้นอยู่กับพื้นที่แต่ละที่จะนำเสนอ โรงย้อมยายยอด อาจไม่ได้มีความแตกต่างกับโรงย้อมครามที่มีอยู่ทั่วไป แต่สิ่งที่ต่างคือ การย้อมครามเป็นเพียงมิติหนึ่งของกิจกรรมการท่องเที่ยวทั้งหมดที่เราจัดขึ้น เพื่อนำเสนอวิถีของชนเผ่าไทญ้อ นอกจากย้อมผ้า มันก็ยังมีมิติของอาหาร การทำสิ่งของเครื่องใช้ การทอผ้าด้วยลวดลายที่เป็นสัญลักษณ์ของชนเผ่า การดำนา รวมไปถึงบ้านเรือนและที่อยู่อาศัย การได้มาท่องเที่ยวที่นี่ จึงเป็นการซึมซับวิถีชีวิตที่ชุมชนยังดำรงคงอยู่ไว้อย่างเหนียวแน่นและทุกอย่างเชื่อมโยงกันหมด” คุณเหมียว ว่าอย่างนั้น

นอกจากนั้น คุณเหมียว ยังเผยว่า ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยทำงาน ช่วงอายุ 40-50 ปี ทำงานออฟฟิศ หรือเป็นเจ้าของบริษัทที่อยากมาพักผ่อน ทำกิจกรรม หาประสบการณ์ใหม่ที่ไม่เคยลองทำมาก่อน โดยผลิตภัณฑ์จากโรงย้อมยายยอด อย่าง ผ้าคลุมไหล่ ราคา 950 บาท ผืนเสื้อคลุม 1,500-2,500 บาท ตัวผ้าผืน ราคาเมตรละ 500-800 บาท ส่วนผลิตภัณฑ์ด้านบริการ มีการจัด workshop ย้อมคราม ซึ่งแบ่งเป็น 3 คอร์ส คือ 300, 500 และ 900 บาทต่อคนต่อวัน และทริปท่องเที่ยวชุมชนวิถีคราม 3 วัน 2 คืน ราคา 5,000 บาทต่อคน

และด้วยความที่ใจรักในงานศิลปะ คุณเหมียวยังค้นพบว่า คราม สามารถนำมาทำอะไรได้มากมาย จึงได้คิดค้นและขอรับทุนเพื่อพัฒนาต้นแบบ นวัตกรรมหมึกปากกาที่ทำจากคราม ซึ่งเป็นสินค้าจากธรรมชาติของประเทศไทยมที่ไม่ได้นำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ซึ่งใช้งานง่าย เพียงประกอบปากกาที่เป็นหมึก แล้วใช้พู่กันจุ่มเป็นสีน้ำ ก็สามารถนำไปเขียนสร้างลวดลายบนผ้าได้แล้ว การมีปากกาแบบนี้ทำให้ผู้ผลิตผ้าย้อมครามสามารถสร้างสรรค์ลวดลายบนผืนผ้าได้อย่างไม่มีขีดจำกัด

“พี่มองว่ามันยังมีโอกาสสูงมากสำหรับคนที่ทำครามธรรมชาติ แต่ต้องไปให้ถูกตลาด ขายให้ถูกที่ และทำการตลาดให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย เพราะเป็นงานค่อนข้างเฉพาะ คนที่เขาชอบก็ชอบเลย ในอนาคต โรงย้อมยายยอด จะมี indigo craft festival จัดที่กรุงเทพฯ ปีหน้า ไว้เป็นที่สำหรับเครือข่ายสินค้าธรรมชาติ คนทำงานคราฟต์ที่ทำจากคราม เปิดพื้นที่ให้มาขายในที่เดียวกัน แล้วก็ ตลาดครามยายยอดด้วย จะเปิดที่นครพนมช่วงปลายปี อันนี้คือแผนหลังจากที่ไปเรียนมา” คุณเหมียว กล่าวทิ้งท้าย

สนใจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก โรงย้อมยายยอด

เผยแพร่ครั้งแรก วันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563