วิศวกรไอที ผันตัวเป็นเกษตรกร ปลูกมะพร้าวน้ำหอมอินทรีย์ เก็บผลผลิตแปรรูปขาย

วิศวกรไอที ผันตัวเป็นเกษตรกร ปลูกมะพร้าวน้ำหอมอินทรีย์ เก็บผลผลิตแปรรูปขาย
วิศวกรไอที ผันตัวเป็นเกษตรกร ปลูกมะพร้าวน้ำหอมอินทรีย์ เก็บผลผลิตแปรรูปขาย

วิศวกรไอที ผันตัวเป็นเกษตรกร ปลูกมะพร้าวน้ำหอมอินทรีย์ เก็บผลผลิตแปรรูปขาย

จากชีวิตมนุษย์เงินเดือน เป็นวิศวกรไอทีมีเงินเดือนมั่นคง แต่ชีวิตเหมือนขาดความสุข เพราะยิ่งโตขึ้นยิ่งห่างไกลบ้าน ห่างไกลพ่อแม่ จุดประกายให้ คุณโจ-ธราพงศ์ และคุณเอ๋-รุ้งนภา วงศ์วัฒนากิจ สองสามีภรรยา ลุกขึ้นมาวางอนาคตร่วมกันเป็นเกษตรกรทำสวนมะพร้าวน้ำหอมอินทรีย์ “Gardener House” ในจังหวัดราชบุรี นาน 6 ปี

คุณโจ-ธราพงศ์ วงศ์วัฒนากิจ
คุณโจ-ธราพงศ์ วงศ์วัฒนากิจ

ทั้งคู่ช่วยกันฝ่าฟัน และสร้างสวนแห่งนี้มาด้วยกัน โดยไม่มีพื้นฐานความรู้ด้านเกษตรมาก่อน แต่ในที่สุดก็สามารถผลิตมะพร้าวน้ำหอมอินทรีย์คุณภาพ จนได้เครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ รวมถึงสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ได้สำเร็จ โดยผลผลิตของสวนถูกแปรรูปเป็นน้ำมะพร้าวน้ำหอมอินทรีย์ที่ปราศจากการปรุงแต่ง จำหน่ายให้ผู้บริโภค

คุณโจ ในวัย 36 ปี เกิดและเติบโตในจังหวัดราชบุรี ก่อนเข้ากรุงเทพฯ มาศึกษาต่อที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จากนั้นเข้าทำงานเป็นวิศวกรไอทีในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง แต่ชีวิตมนุษย์เงินเดือนทำให้เขาไม่มีเวลาดูแลครอบครัว เป็นจุดเริ่มต้นให้วางแผนชีวิตใหม่ คิดหาอาชีพเสริมเป็นของตัวเอง

คุณเอ๋-รุ้งนภา วงศ์วัฒนากิจ
คุณเอ๋-รุ้งนภา วงศ์วัฒนากิจ

หลังทำงานได้ 4 ปี คุณโจเริ่มสร้างครอบครัว แต่งงานกับคุณเอ๋ และย้ายไปอยู่บ้านภรรยาที่อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ทำให้มีโอกาสสัมผัสวิถีชีวิตเกษตรกร และคลุกคลีกับสวนซึ่งเป็นธุรกิจฝั่งพ่อแม่ภรรยา

“ใจผมมันบอกว่า นี่แหละ คืออาชีพที่ใช่ แต่ผมไม่สามารถลาออกจากวิศวกรมาเป็นเกษตรกรเต็มตัว เพราะไม่มีเงินทุนสำรองมากพอ พืชที่ปลูกจึงต้องใช้เวลาดูแลน้อย ไม่ต้องเก็บผลผลิตทุกวัน จากการศึกษาทำให้รู้ว่า ราชบุรีติด 1 ใน 4 จังหวัดที่ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งปลูกมะพร้าวที่ดีที่สุดในประเทศไทย ผมจึงเริ่มศึกษาเรื่องมะพร้าวตั้งแต่นั้นมา” หนุ่มวิศวะ เล่า

สวนมะพร้าวน้ำหอมอินทรีย์
สวนมะพร้าวน้ำหอมอินทรีย์

ทั้งคู่เริ่มศึกษาเรื่องมะพร้าวจริงจัง จากอินเทอร์เน็ต และปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อหาแหล่งพันธุ์ที่ดีที่สุด เพราะไม่อยากเสี่ยงปลูกมะพร้าว 3 ปี ถึง 3 ปีครึ่ง แล้วผลผลิตออกมาไม่ดี เวลาทั้งหมดเหมือนสูญเปล่า

คุณโจจัดการสั่งมะพร้าวน้ำหอมสายพันธุ์ก้นจีบร้อยกว่าต้น ใช้เวลารอคิวนาน 1 ปี ระหว่างนั้นไม่ทิ้งเวลาให้สูญเปล่า ขอเริ่มหาที่ทาง โชคดีมีที่ดินของพ่อกับแม่ที่ราชบุรี เคยทำโรงเรือนเลี้ยงหมู แต่ถูกปล่อยรกร้างมานาน 3 ปี

“ผมนำไอเดียไปเสนอพ่อกับแม่ แรกๆ ท่านไม่เห็นด้วยเพราะผมไม่ได้เรียนจบเกษตรมา แต่ไม่ช้าก็โน้มน้าวจนสำเร็จ จากโรงเรือนเลี้ยงหมูกลายเป็นร่องสวนเมื่อปี 2557 พื้นที่ทั้งหมด 4 ไร่ครึ่ง แบ่งพื้นที่ 3 ไร่ครึ่งปลูกมะพร้าว 156 ต้น เว้นระยะห่างแต่ละต้น 5.5-6 เมตร ปลูกสลับฟันปลา ส่วนที่เหลือจัดสรรเป็นบ่อพักน้ำ ห้องเก็บเครื่องมือ ห้องบรรจุ ฯลฯ ลงทุนเรื่อยๆ รวมแล้วใช้เงินเก็บประมาณ 3-4 แสนบาท คือเงินเก็บของผมทั้งหมด” เขาเล่า

สวนมะพร้าวน้ำหอมอินทรีย์
สวนมะพร้าวน้ำหอมอินทรีย์

ระหว่างนำต้นกล้าลงดิน วิศวกรหนุ่มและภรรยา ได้คิดต่อยอด ปลูกมะพร้าวแบบอินทรีย์ เพราะไม่อยากให้ผลผลิตมีเคมี ส่วนนี้เองเกิดรายจ่ายเพิ่มขึ้น เพราะต้องมีแนวกันชนกันสารเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และปรับปรุงระบบน้ำบาดาลที่ขุดไว้ตอนเลี้ยงหมู

การปลูกมะพร้าวช่วงแรก ไม่ต้องดูแลมาก ผ่านไป 3 ปีกว่า มะพร้าวถึงเริ่มออกผล แรกๆ ทำเพียงรดน้ำ ใส่ปุ๋ย และดูแลแมลงศัตรูพืชหลักๆ คือ หนอนหัวดำ แมลงดำหนาม และด้วงมะพร้าว

แตนเบียนบราคอน
แตนเบียนบราคอน

“ผมใช้แตนเบียนบราคอน ช่วยกำจัดหนอนหัวดำ ปล่อย 6 กล่อง ทุกๆ 2 อาทิตย์ เพราะแตนเบียนบราคอนมีอายุแค่ 15 วันและตายไป ส่วนแมลงอีกสองชนิดใช้สารชีวภัณฑ์ในการกำจัด ส่วนปุ๋ยอินทรีย์ ศึกษาแล้วเจอแหล่งเลี้ยงหมูหลุมดอนแร่ เอามาหมักเพิ่มต่ออีก 1-2 เดือน เพื่อคลายก๊าซ ใส่ปุ๋ย 6 เดือน 1 ครั้ง ใช้ 1 กระสอบต่อต้น ประมาณ 20-25 กิโล ส่วนการรดน้ำใช้ระบบสปริงเกลอร์อาทิตย์ละ 1 ครั้ง ในทุกเสาร์หรืออาทิตย์ที่กลับบ้าน ส่วนการผสมเกสร ผมใช้ชันโรงหรือผึ้งจิ๋ว”

ชันโรง หรือผึ้งจิ๋ว
ชันโรง หรือผึ้งจิ๋ว

การเก็บผลผลิต เจ้าของสวนมะพร้าว บอกว่า ผลผลิตที่ดีต้องมีเนื้อมะพร้าวหนาชั้นครึ่งถึงสองชั้น จะไม่อ่อนไม่แก่เกินไป มีหลายวิธีในการดู เช่น การนับวัน การดีด การลอยน้ำ ขึ้นอยู่กับความถนัด โดยจะตัดมะพร้าวทุก 7 วัน สำหรับทำน้ำมะพร้าวน้ำหอมอินทรีย์ที่ปราศจากการปรุงแต่ง

สวนมะพร้าวน้ำหอมอินทรีย์
สวนมะพร้าวน้ำหอมอินทรีย์

คุณโจ บอกทิ้งท้ายว่า ปีนี้ตั้งใจทำตลาด ประชาสัมพันธ์ให้คนรู้จักสวนมะพร้าวมากขึ้น หวังเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านอินทรีย์ โดยพยายามชักชวนเกษตรกรในพื้นที่มาร่วมด้วย อาจจะยากไปสักนิดแต่ทำเพราะอยากให้เกษตรกรคนอื่นๆ เห็นว่าสิ่งที่ทำอยู่ขายได้จริง ได้ราคาดีกว่า และปลอดภัยต่อตัวเอง ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม

“ส่วนตัวผมตอนนี้ยังเป็นวิศวกร แต่วางแผนไว้ว่าในปีหน้า ต้องหาจังหวะออกมาเป็นเกษตรกรเต็มตัว กลับไปพัฒนาธุรกิจให้ดีขึ้น ให้คนในครอบครัว คนในพื้นที่มีส่วนร่วมด้วย ไม่ต้องไปทำงานไกลบ้าน” คุณโจ บอกอย่างนั้น

เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563