ผู้เขียน | วัชรี ภูรักษา |
---|---|
เผยแพร่ |
เริ่มต้นเรื่องราวของสาวร่างเล็ก แต่หัวใจรักการเกษตรใหญ่มาก ด้วยแนวคิด “ความสุขที่แท้จริง คือ ชีวิตที่เรียบง่าย” กับการลุยทำไร่เกษตรผสมผสานแบบอินทรีย์ บนพื้นที่กว่า 200 ไร่ บุกเบิกด้วยตัวคนเดียว ใช้ระยะเวลากว่า 2 ปี จึงเห็นความเปลี่ยนแปลง จนสามารถเปิดคอร์สสอน “เตรียมตัวกลับบ้าน” และคอร์สเรียนรู้ “ชวนเพื่อนทำนา” เพื่อให้คนที่อยากกลับบ้านได้มาลุยจริง
คุณศิริวิมล กิตะพานิชย์ หรือ คุณเปิ้ล สาววัย 28 ปี เธอคือเจ้าของแนวคิดและเรื่องราวการทำเกษตรด้วยหัวใจ และเจ้าของไร่รื่นรมย์ ที่อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย
เด็กเมืองกรุง เรียนจบนอก
ไม่รู้จักเกษตร แต่หัวใจเกษตร
เริ่มต้นด้วยคำถามแรกกับคุณเปิ้ล ถึงเรื่องราวในวัยเด็ก เธอตอบว่า “เป็นเด็กกรุงเทพฯ ใช้ชีวิตแบบเด็กกรุงเทพฯ ทั่วไป ไม่รู้จักเกษตร หรือทำเกษตร ไม่เคยได้ทำมาก่อน หลังจากเรียนจบโรงเรียนที่เมืองไทย ตัดสินใจไปเรียนต่อที่ Melbourne University คณะนิเทศศาสตร์ ไปเพราะตอนนั้นไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไรด้วยซ้ำ และนิสัยส่วนตัวเป็นคนชอบทำงานอาสา ทำตั้งแต่ชั้นประถม เคยไปสอนภาษาในหมู่บ้านเล็กๆ ตามต่างจังหวัดด้วย”
หลังจากเรียนจบ แล้วกลับมาเมืองไทย ก็ยังทำงานอาสาอยู่ เคยมีความคิดว่า อยากทำงานอาสาไปเรื่อยๆ แต่คุณพ่อสะกิดให้รู้ว่า การทำงานอาสาแบบนี้ สามารถช่วยเขาได้ก็จริง แต่มันเป็นเพียงการช่วยแบบครั้งคราวเท่านั้น ซึ่งมันไม่ยั่งยืน จึงกลับมาคิดใหม่ว่า จะทำอย่างไรที่ตัวเองก็อยู่ได้ คนอื่นก็อยู่ได้
ช่วงนั้นได้รู้จักกับโครงการ 1 ไร่ 1 แสน ตัดสินใจได้เลยว่าจะลองเข้าร่วมโครงการนี้ มันเป็นความท้าทายของเด็กเมืองกรุง วัดใจกันมาก ว่าจะอยู่ได้หรือป่าว เพราะไม่มีไฟฟ้า ไม่มีของอำนวยความสะดวกสบาย ที่พักมีเพียงเสื่อและหมอน กระท่อมที่อยู่ไม่มีประตู ตั้งอยู่กลางทุ่งนา คุณเปิ้ลเล่ายิ้มๆ อย่างอารมณ์ดี
“ตอนนั้นครอบครัวก็ไม่มีใครเห็นด้วย เพราะความเป็นห่วง คุณแม่ ท่านโทรมาบอกว่า ลูกอย่าลืมปิดประตูให้เรียบร้อยนะ แต่เปิ้ล บอกท่านไปว่า แม่ที่นี่ไม่มีประตูให้ปิด แต่ก็สามารถอยู่ได้ จนกระทั่งหมดระยะเวลาหลักสูตรที่ให้อยู่ จึงขออยู่ต่อ รวมระยะเวลาที่อยู่ที่นั้นคือ 1 ปีเต็ม ทำให้พบแนวคิดอย่างหนึ่งในการใช้ชีวิตเกษตรกร ที่ว่า ความสุขที่แท้จริง คือชีวิตที่เรียบง่าย”
สร้างไร่รื่นรมย์ 2 ปี
ทำเกษตรแบบอินทรีย์
อินทรีย์ คือ การคืนความสมดุลในธรรมชาติ เป็นมากกว่าการไม่ใช้สารเคมี ธรรมชาติพึ่งพากันเองได้ คุณเปิ้ลให้ความหมายคำว่า อินทรีย์ ในมุมมองของเธอเช่นนั้น
จบจาก 1 ไร่ 1 แสน ที่ไปอยู่ คุณเปิ้ลกลับมาคิดพัฒนาต่อยอดพื้นที่ดั้งเดิมของครอบครัว โดยคุณเปิ้ล บอกว่า “ครอบครัวของเปิ้ลมีพื้นที่เก่าแปลงใหญ่แปลงหนึ่ง อยู่ที่อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นที่ดินของตระกูล มีเนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ จึงขอพื้นที่ตรงนี้มาทำการเกษตร ซึ่งจะดูแลเองทั้งหมด
เริ่มต้นแรกๆ ปลูกข้าวก่อน ครั้งแรกที่ลงนาปลูกข้าว ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่มีใครลงปลูกช่วงที่ไปปลูก ทำให้แมลงกินผลผลิตเยอะมาก ควบคุมไม่ได้ แต่ไม่ท้อ หมดรอบนั้น ก็ปลูกใหม่อีกครั้ง ปลูกตลอดทั้งปี หมุนเวียนแต่ละรอบ เพื่อศึกษาว่าช่วงไหนปลูกและข้าวได้ผลผลิตดีที่สุด
จนพบว่า การปลูกข้าวพร้อมกับชาวนาคนอื่นๆ ในแปลงที่ติดกัน ซึ่งคือเป็นช่วงฤดูทำนา เป็นช่วงที่ได้ผลผลิตดีที่สุด เพราะเป็นการกระจายความเสียหายจากแมลงไปสู่แปลงอื่นๆ ด้วย เหมือนเป็นการหารเฉลี่ยๆ กันไป
ด้วยความตั้งใจตั้งแต่แรกเริ่มว่า ต้องการทำเกษตรอินทรีย์ จึงไม่ใช้สารเคมีใดๆ ใช้วิธีการปลูกพืชหลากหลาย เพื่อให้ธรรมชาติดูแลกันเอง จนศึกษาและค้นหาข้อมูลทั้งจากผู้รู้ จากอินเตอร์เน็ตต่างๆ จึงมีแนวคิดอยากปลูกป่าบริเวณรอบๆ ไร่รื่นรมย์ เพราะมีประโยชน์ต่อการเกษตร และชาวบ้านในแถบใกล้กันนั้นจะได้รับประโยชน์ด้วย”
ระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่เริ่มทำไร่รื่นรมย์ คุณเปิ้ลเริ่มมองเห็นการเปลี่ยนแปลงของเกษตรกรพื้นที่ใกล้เคียงมากขึ้น เนื่องจากทางไร่ของเธอมีเนื้อที่ค่อนข้างใหญ่ มีคนเข้ามาศึกษาดูงานกันหลากหลายกลุ่ม รวมถึงนักท่องเที่ยวด้วย จึงจำเป็นต้องจ้างคนมาทำงานด้วยกัน ซึ่งก็คือชาวบ้านในพื้นที่
ซึ่งแรกๆ คุณเปิ้ล บอกว่า “ชาวบ้านเขาไม่เข้าใจว่ามาทำอะไรที่นี่ การทำเกษตรมันเหนื่อยและอีกสารพัดที่ถามไถ่กันมา รวมถึงการทำเกษตรแบบไม่ใช้สารเคมีด้วย ว่าจะทำได้จริงหรือ เนื่องจากชาวบ้านเคยชินที่เคยใช้กันมา จึงต้องค่อยๆ ทำให้เห็นว่า มันสามารถทำได้จริง พิสูจน์จากที่ไร่รื่นรมย์
จนตอนนี้ครอบครัวที่มาทำงานด้วยกันหลายครอบครัว เขาเริ่มปรับ มาปลูกข้าวแบบไม่ใช้สารเคมีกันมากขึ้น ให้ความสนใจเพิ่มขึ้น ส่วนตัวของเปิ้ลเอง ไม่ได้ใช้วิธีสอนหรือสั่ง แต่จะทำให้ดู ให้ทุกคนที่มาทำงานที่ไร่ ได้ลองทำงานในหลายๆ แบบที่ไร่มี เพื่อให้เขาสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับที่ดินทำกินของตัวเองได้”
เปิดคอร์ส “เตรียมตัวกลับบ้าน”
เพื่อคนอยากกลับบ้าน
คุณเปิ้ล บอกว่า “เปิ้ล ได้มีโอกาสไปงานอาสาในหลายที่ และหลายๆ ที่ที่เปิ้ลได้เห็นของดีของคนในพื้นที่นั้น แต่คนในพื้นที่เองกลับไม่เห็น จึงอยากให้รู้ว่า คนที่อยู่ต่างจังหวัด พวกคุณมีของดีอยู่กับตัว มีดีอยู่แล้ว เพียงแค่ไม่ได้ใช้อย่างเต็มที่เพียงเท่านั้น
แต่การทำเกษตรอย่างเดียว รายได้อาจไม่เพียงพอ ต้องมีการคิดต่อยอด ไร่รื่นรมย์เองก็เช่นกัน ต้องมีการจัดสรรพื้นที่ เพื่อให้พื้นที่ที่มีสามารถทำรายได้ หล่อเลี้ยงตัวเองได้ โดยพื้นที่ 200 ไร่ที่มี แบ่งพัฒนาไปเรื่อยๆ ตลอด 2 ปีมานี้พัฒนาพื้นที่ไปกว่า 100 ไร่แล้ว โดยแบ่งพื้นที่คร่าวๆ ดังนี้ ทำนา 80 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่หลักในตอนนี้ ส่วนที่เหลือปลูกพืชสมุนไพรและผัก
พื้นที่อีกส่วน สร้างเป็นร้านกาแฟ ร้านอาหาร เพื่อรองรับคนที่มาเที่ยว คนมาดูงาน คนมาอบรม เรียนรู้ต่างๆ เป็นการเพิ่มรายได้ นอกเหนือจากสินค้าทางการเกษตร เพราะเมื่อมีคนสนใจ คนอบรม มาเรียนกันมากขึ้น มาเที่ยวเยอะขึ้น ก็มีความจำเป็นต้องทำพื้นที่บางส่วนเพื่อรองรับตรงนี้ด้วย รายได้หลักของไร่รื่นรมย์ตอนนี้ คงเป็นตัวคอร์สที่เปิดสอน และตัวผลิตภัณฑ์ของไร่ที่ส่งเข้าไปขายที่กรุงเทพฯ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี เพราะกระแสเรื่องสุขภาพที่กำลังมาแรงพอดีด้วยในช่วงนี้”
สำหรับคอร์ส “เตรียมตัวกลับบ้าน” คุณเปิ้ล เล่าว่า คนรุ่นใหม่จากกรุงเทพฯ ระยอง หรือเชียงใหม่ หรือคนที่ไปทำงานที่ไม่ใช่พื้นที่ของตัวเอง ให้สนใจและได้รับการตอบรับที่ดีมาก คนกรุงเทพฯ มาเยอะที่สุด
ตัวคอร์ส เตรียมตัวกลับบ้าน ไม่ได้สอนให้คนลาออกจากงานที่ทำ แล้วกลับบ้านเลย แบบนั้นก็อาจไม่ช่วยให้ยั่งยืนได้ แต่จะเน้นไปที่การเตรียมตัว การวางแผนพื้นที่ที่ตนมี ค่อยๆ ปรับพื้นที่ของตนในแต่ละปี จนกระทั่งตนเองพร้อมที่จะกลับไปทำอย่างเต็มตัว แล้วจึงกลับ เพราะหากไม่มีการเตรียมการก็จะเสียเงินเก็บที่มีไปเสียเปล่าๆ”
สำหรับใครที่สนใจ สามารถเข้าไปที่ไร่รื่นรมย์กันได้ เพราะไร่นี้ไม่การล้อมรั้ว เหตุผลเพราะเจ้าของไร่อยากให้คนพื้นที่แถวนั้นเข้ามาดู มาเรียนรู้ แล้วเอากลับไปใช้ หรือหากสนใจลองเข้าไปดูที่ FB : rairuenrom, เว็บไซต์ www.rairuenrom.com