อดีตเจ้าของ บ.ซอฟต์แวร์ ผันตัวปลูก ‘ฮอปส์’ ไว้ใช้ทำคราฟท์เบียร์ แห่งแรกในไทย

พลิกโฉมวงการเกษตรไทยด้วยน้ำมือของคนรุ่นใหม่ คุณอ๊อบ-ณัฐชัย อึ๊งศรีวงศ์ เจ้าของฟาร์มฮอปส์ (Hops) พันธุ์ไม้เลื้อยชนิดหนึ่งมีใบและดอก ซึ่งดอกฮอปส์มีคุณสมบัติเป็นเสมือนสารกันบูดจากธรรมชาติ ให้รสขมและกลิ่นที่เฉพาะตัว นิยมนำไปใส่ในคราฟท์เบียร์ ช่วยให้รสชาติและกลิ่นมีเสน่ห์มากขึ้น

15050437_1539925129367920_1181094178_n

Deva Farm คือ ฟาร์มปลูกฮอปส์แห่งแรกในไทย นอกจากนั้นยังปลูกผัก ผลไม้ ไฮโดรโปนิกส์ ตั้งอยู่ที่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

คุณอ๊อบ ณัฐชัย ปัจจุบันอายุ 36 ปี อดีตเคยเป็นเจ้าของบริษัทผลิตซอฟต์แวร์และแอพพลิเคชั่นสำหรับโทรศัพท์มือถือนาน 13 ปี ก่อนจะหันหลังให้กับชีวิตมนุษย์เงินเดือน แล้วมาสวมบทบาทเกษตรกรปลูกฮอปส์ในโรงเรือน หนึ่งในวัตถุดิบสำคัญในการทำคราฟท์เบียร์แห่งแรกในเมืองไทยเมื่อปี 2558

“ผมเป็นคนชอบดื่มเบียร์ เคยไปเรียนทำคราฟท์เบียร์ เลยรู้ว่าดอกฮอปส์เป็นหนึ่งในวัตถุดิบหลักของการทำเบียร์ ซึ่งมี 4 อย่าง คือ มอลต์ ฮอปส์ ยีสต์ และน้ำ ซึ่งฮอปส์ปลูกได้เฉพาะในเมืองหนาว แต่ด้วยความอยากท้าทาย เลยลองสั่งเหง้าฮอปส์จากสหรัฐอเมริกา 10 เหง้า เป็นเงิน 10,000 กว่าบาท นับเป็นครั้งแรกที่ลองปลูก ฮอปส์ในประเทศไทยซึ่งเป็นเมืองร้อนชื้น”

3

โดยปกติ คุณอ๊อบ บอกว่า สนใจเรื่องเกษตรอยู่แล้ว ปลูกมะเขือเทศ แตงกวา เมล่อน ในรูปแบบไฮโดรโปนิกส์กินเองอยู่เป็นประจำ คราวนี้นับเป็นความท้าทายมากที่เลือกปลูกฮอปส์ เพราะเคยได้ยินว่าในเมืองไทยมีปลูกกันบ้างที่ภาคเหนือ แต่ผลผลิตไม่เยอะ ในภาคกลางยังไม่มีใครปลูก ราวเดือนตุลาคม 2558 ลองปลูกในกระถางไว้ในห้องขนาด 12 ตารางเมตร เปิดแอร์ 25 องศาเซลเซียส ตลอด 24 ชั่วโมง

ภายหลังที่ปลูกฮอปส์ในกระถางได้ 5 เดือน ปรากฏออกดอก คุณอ๊อบย้ายไปปลูกในโรงเรือน พื้นที่6 X 24 เมตร ลงทุน 2.5 แสนบาท โรงเรือนแห่งนี้ไม่ได้ติดแอร์  ปลูกเมล่อน มะเขือเทศ และแตงกวาร่วมด้วย

5

“ผมย้ายต้นฮอปส์มาปลูกในโรงเรือน ราว 200 ต้น นำความรู้เชิงโปรแกรมเมอร์มาประยุกต์ ทุกอย่างควบคุมด้วยคอมพิว เตอร์ รวมถึงสมาร์ตโฟน ซึ่งมีแอพพลิเคชั่นที่ผมเขียนซอฟต์แวร์ควบคุมเอง ทำเซ็นเซอร์เอง เดินระบบให้น้ำ ให้ปุ๋ยเอง”

โรงเรือนฮอปส์จะถูกควบคุมอุณหภูมิไม่ให้ร้อนเกินไป จะมีที่พ่นหมอก ไม่ได้พ่นมั่ว มีตัวเซ็นเซอร์คอยวัดอุณหภูมิตลอดเวลา หากร้อนเกินไปหมอกจะถูกพ่นออกมาเพื่อรักษาอุณหภูมิและความชื้น รวมถึงระบบปุ๋ยคุณอ๊อบให้ปุ๋ยผ่านระบบน้ำไฮโดรโปนิกส์ ซึ่งจะมีทั้งปุ๋ยและน้ำ รดวันละ 3 ครั้ง ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์สั่งการทั้งหมด

2

4

กล่าวได้ว่าโรงเรือนแห่งนี้ ควบคุมด้วยระบบที่ทันสมัยโดยโปรแกรมเมอร์ ส่วนด้านเกษตร ชายหนุ่ม บอกว่า ศึกษาจากอินเตอร์เน็ต และหนังสือทั้งในและต่างประเทศ

ปัจจุบันฟาร์มปลูกฮอปส์ มี 5 โรงเรือน บนพื้นที่ราว 1 ไร่ ปลูกฮอปส์ 200 ต้น ที่เหลือเป็นพื้นที่สำหรับปลูกผักไว้สำหรับกินเอง ส่วนผลผลิตยังไม่มาก เพราะปลูกได้เพียง 2 ปี ยังคงสั่งซื้อเหง้าฮอปส์จากต่างประเทศเข้ามาเรื่อยๆ เป้าหมายสูงสุด คือ ปลูกฮอปส์สำหรับทำโรงผลิตเบียร์สด