กะหล่ำปลี ผักยอดนิยมของคนไทย ปลูกได้ทั่วประเทศ ทุกฤดูกาล

แม่บ้านสมัยใหม่ทุกท่านที่ไปจ่ายตลาดด้วยตนเอง ทุกท่านคงจะต้องรู้จักกับผักชนิดหนึ่งที่เรียกว่า“กะหล่ำปลี” และก็คิดว่าคงจะมีน้อยคนที่ไม่เคยกิน “กะหล่ำปลี”
กะหล่ำปลี เป็นผักในตระกูลครูซิเฟอเรีย ซึ่งมาจากคำว่า ครูซิฟิก ซึ่งหมายถึง ไม้กางเขน เพราะมีความเชื่อว่า กะหล่ำปลีเป็นพืชอาหารที่สวรรค์ประทานมาให้แก่มวลมนุษย์ชาติ การที่มีดังนี้เพราะดอกของพืชในตระกูลนี้ จะมี 4 กลีบ วางตัวเป็นรูปไม้กางเขนหรือกากบาท
 4661-160728035552
กะหล่ำปลี เป็นผักในตระกูลกะหล่ำเช่นเดียวกับ คะน้า บร็อกโคลี่ ผักกาดขาว แรดิช และ เทอร์นิพมีลักษณะเป็นหัวกลมขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่จะมีสีเขียว และกะหล่ำปลีสีม่วงอีกสายพันธุ์ที่มีสีสันแปลกตาสวยงาม
Cabbageคือชื่อภาษาอังกฤษของกะหล่ำปลี ซึ่งเดิมเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดแถบชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ต่อมาได้แพร่กระจายไปทั่วโลก และถูกนำมาปลูกในไทยอย่างแพร่หลายเพราะสภาพอากาศเอื้ออำนวย
สำหรับประเทศไทยนั้น แต่เดิมปลูกได้ดีเฉพาะภาคเหนือและภาคอีสาน เพราะการจะห่อตัวเป็นปลีได้จำเป็นต้องได้รับอากาศหนาว ต่อมามีการปรับปรุงพันธุ์ให้ทนกับอากาศร้อน จึงทำให้สามารถปลูกได้ทั่วประเทศ และทุกฤดูกาล
กะหล่ำปลีเป็นพืชที่มีอายุ 2ปี แต่นิยมปลูกเป็นพืชปีเดี่ยว อายุตั้งแต่เริ่มลงปลูกจนถึงกินได้ ประมาณ3-4เดือน
กะหล่ำปลีหน้าหนาวจะสร้างปลีได้สวยน่ากินกว่าฤดูอื่น แต่หลายๆ คนก็กลัวยาฆ่าแมลงที่ตกค้างตามใบจึงนิยมกินกะหล่ำปลีโดยแกะเอาปลีข้างในลึกๆ ซึ่งไม่สัมผัสกับยาฆ่าแมลง
4661-160728035603
กะหล่ำปลีในประเทศไทย แยกออกได้เป็น 3ชนิด คือ
– กะหล่ำปลีธรรมดา พันธุ์โคเปนเฮเกน มาร์เก็ต และพันธุ์โกลเด้นท์ เอเคอร์
– กะหล่ำปลีสีม่วง หรือสีแดง ใบเป็นสีแดงทับทิม ขึ้นได้ดีในที่อากาศหนาวเย็น
– กะหล่ำปลีใบย่น ชนิดนี้มีผิวใบหยิกย่น และต้องการอากาศหนาวเป็นพิเศษ
แต่ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์อะไร ก็มีผลในการป้องกันโรคได้หลายๆ โรคที่เกิดในร่างกายได้ในสมัยโบราณโดยมีบันทึกเกี่ยวกับการใช้กะหล่ำปลีเป็นยา จากบันทึกของ คาโต เดอะ เซนเซอร์ (234-149 ปีก่อนคริสตกาล) บันทึกไว้ว่า “กะหล่ำปลีช่วยสลายหนองจากแผลและมะเร็ง”
มีบันทึกในประวัติศาสตร์โรมันบันทึกไว้ว่า กะหล่ำปลีถูกใช้เป็นยาครอบจักรวาล “ชาวโรมันเคยขับหมอออกจากอาณาจักรระยะหนึ่ง พวกเขาดำรงสภาพไว้ได้ด้วยกะหล่ำปลี สำหรับโรคทุกชนิด…”และนี่ก็อาจจะเป็นความเชื่อโบราณซึ่งอาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ค่ะ
4661-160728035614
แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีการค้นพบอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ครั้งแรกเกี่ยวกับกะหล่ำปลี ในปี ค.ศ.1931เมื่อนักวิจัยชาวเยอรมันทดลองฉายรังสีแก่หนูให้ถึงแก่ความตาย เขาค้นพบโดยบังเอิญว่า หากหนูทดลองได้รับกะหล่ำปลีเป็นอาหารจะทนต่อรังสีมากกว่าหนูธรรมดา จึงเชื่อว่าหนูที่กินกะหล่ำปลีมีความทนทานต่อรังสีเอกซ์
และยังมีการค้นคว้าของนักวิทยาศาสตร์ทำให้ทราบว่า กะหล่ำปลี มีคุณสมบัติในการป้องกันมะเร็งได้การค้นพบดังกล่าว โดย นายแพทย์ลีวัต เทนเบิร์ก ศาสตราจารย์ทางด้านสรีระ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยมินนิโซต้า ในสหรัฐอเมริกาและยังมีแนวคิดที่จะสกัดสารเคมีจากกะหล่ำปลีมาเป็นยาเพื่อแจกจ่ายแก่ผู้ป่วยที่มีแนวโน้มจะเป็นมะเร็ง เช่น ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสาร   ก่อมะเร็ง หรือมีลักษณะพันธุกรรมอ่อนต่อการต้านมะเร็ง
มีคนจำนวนไม่น้อยในต่างประเทศที่ติดตามค้นคว้าเกี่ยวกับประโยชน์ของผักชนิดนี้ และได้จัดกะหล่ำปลีไว้ในโปรแกรมอาหารอย่างน้อย 1 ครั้ง ต่อสัปดาห์ เพื่อลดความเสี่ยงจากมะเร็ง
สำหรับในเมืองไทยเราดูเหมือนจะมีผู้นิยมกินกะหล่ำปลีกันน้อย แม้ว่ากะหล่ำปลีจะกินได้ทั้งสุกและดิบแต่เมื่อกิจการร้านลาบ และส้มตำ เข้ามาอยู่ในความนิยมของคนไทยมากขึ้น กะหล่ำปลีก็กลายเป็นผักที่นิยมกินคู่กันได้อย่างลงตัว จนทำให้กะหล่ำปลีเป็นสินค้าสำคัญภายในประเทศ และในการส่งออกไปจำหน่ายในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง
4661-160728035759
กะหล่ำปลีในเมืองไทย มีการปลูกมากในแถบจังหวัดในภาคเหนือและภาคอีสาน ทั้งชนิดสีขาวและสีม่วง แต่ชนิดสีขาวจะนิยมกินกันมากกว่าชนิดสีม่วง ซึ่งจะนิยมนำมาใช้ในการทำสลัดผสมกับผักอื่นๆ หรือผสมในยำต่างๆ เท่านั้น
กะหล่ำปลี ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดพันธุ์ ปลูกเป็นแปลงยกร่อง ปลูกกันในระยะที่เรียกว่า“ปลายฝนต้นหนาว”เพราะกะหล่ำปลีเป็นพืชที่ต้องการความเย็น ดังนั้น ในเขตบริเวณเขาในจังหวัดเชียงใหม่ทางภาคเหนือ และภูทับเบิก จังหวัดเพชรบูรณ์ จึงเป็นพื้นที่เหมาะสมในการปลูกกะหล่ำปลีเป็นที่สุด จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของคนไทยในยุคปัจจุบัน
ผักกะหล่ำปลีนี่แหล่ะ ที่ได้ชื่อว่าเป็นผักเศรษฐกิจที่รัฐบาลใช้แก้ปัญหาการลักลอบปลูกยาเสพติด (ฝิ่นกัญชา) สำหรับชาวเขาเผ่าต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
ผักดีที่ต้องกิน
กะหล่ำปลี ผักพื้นๆ ที่เรารู้จักกัน ที่ไม่ได้มีดีแค่ความอร่อย แต่มีคุณค่าทางโภชนาการอันยอด แถมยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพอีกด้วย กะหล่ำปลีเป็นผักที่เมื่อกินสดๆ ก็กรอบ อร่อย และเมื่อนำไปประกอบอาหารก็รสเลิศไม่แพ้กัน ทำให้ไม่แปลกใจเลยว่า…กะหล่ำปลีผักที่เราหากินได้ง่ายสุดๆ แถมราคาก็ไม่แพง
– แต่น้อยคนจะรู้ว่า จริงๆ แล้ว ประโยชน์ของกะหล่ำปลีนั้นมีอะไรบ้าง?
– กินแล้วดีอย่างไร?
– และมีเมนูกะหล่ำปลีอะไรบ้าง?
ลองสักนิด จะติดใจค่ะ
กะหล่ำปลี นอกจากจะนำมากินสดๆ เคียงคู่กับอาหารได้เกือบทุกชนิดแล้ว ก็ยังสามารถนำไปทำอาหารได้หลากหลาย เช่น กะหล่ำปลีใช้ผัด ต้มกับหมู ไก่ กุ้ง หรือต้มจิ้มน้ำพริก หรือบางท่านก็มีเมนูแปลกๆ ออกไป เช่น กะหล่ำปลียัดไส้หมู ไก่ กุ้งสับที่ต้มทั้งหัว หรือเมนูยอดนิยมของนักกิน อย่างกะหล่ำปลีผัดน้ำปลา ที่เขาบอกว่าสุดอร่อยสุดๆ
สำหรับการกินเป็นผักสดๆ ก็มักจะผ่าเป็นซีกๆ กินคู่กับลาบ ส้มตำ แต่มีข้อควรระวังอย่างหนึ่งในการกินผักดิบในตระกูลกะหล่ำปลีต่อเนื่องกันเป็นเวลานานๆ จะมีสารต่อต้านการสร้างฮอร์โมนไทรอกซินจากต่อมไทรอยด์ จะทำให้เกิดโรคคอหอยพอก และการเจริญเติบโตผิดปกติเพราะขาดฮอร์โมนตัวที่ว่านั่นเอง แต่หากทำให้สุก สารนี้จะสลายไป**
ของดีที่สารอาหารเพียบ
ไฟเบอร์ในกะหล่ำปลีมีส่วนสำคัญที่ทำให้ผักชนิดนี้กลายเป็นอาหารที่ช่วยลดคอเลสเตอรอลได้ ไม่ว่าจะเป็นผักสดหรือผักสุก และการกินกะหล่ำปลีจะทำให้กากใยในผักเข้าไปช่วยระบบย่อยอาหาร และทำให้ขับถ่ายได้ดีขึ้น เมื่อระบบการขับถ่ายดี ร่างกายก็จะขจัดคอเลสเตอรอลออกมาได้ดีขึ้น
ในกะหล่ำปลี มีกรดทาร์ทาริก (Tartaric acid)ที่ช่วยยับยั้งและขัดขวางไม่ให้น้ำตาลและแป้งกลายเป็นไขมัน จึงมีส่วนในการช่วยลดน้ำหนักและคอเลสเตอรอลได้เช่นกัน
4661-160728035730
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อค่ะ
ว่าการกินกะหล่ำปลี ช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งได้ เพราะมีการศึกษาพบว่า ในกะหล่ำปลีไม่ว่าจะเป็นกะหล่ำปลีสีเขียวหรือสีม่วง จะมีกลูโคซิโนเลท (glucosinolates) ซึ่งมีฤทธิ์เป็นสารต้านมะเร็งที่เกิดจากสารเคมีต่างๆ แต่ก็ควรจะเลือกกินกะหล่ำปลีที่ปลอดสารพิษ เพื่อจะได้ไม่รับสารพิษที่ตกค้างจากการปลูกเข้าสู่ร่างกาย
– ลดความอ้วนได้ ปริมาณแคลอรีที่ไม่สูงมากจนเกินไปของกะหล่ำปลี และไฟเบอร์ที่สูง ทำให้กะหล่ำปลีเป็นอาหารที่เหมาะสำหรับการลดน้ำหนัก เพราะเมื่อเรากินเข้าไปแล้วไฟเบอร์จะทำให้อยู่ท้องและอิ่มได้นานขึ้นค่ะ
– เป็นอาหารบำรุงสมอง วิตามินเค และสารแอนโทไซยานินในกะหล่ำปลี โดยเฉพาะในกะหล่ำปลีสีม่วง ที่มีสารทั้ง 2 ชนิด มากเป็นพิเศษ สามารถช่วยสร้างเสริมสมองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสมาธิและสภาพจิตใจได้ เพราะสารอาหารทั้ง 2 ชนิด จะเข้าไปป้องกันการถูกทำลายของระบบประสาทและบำรุงสมองไม่ให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ หรือสมองเสื่อมด้วย
– บำรุงผิวพรรณ ซัลเฟอร์ เป็นแร่ธาตุที่สำคัญต่อเล็บ ผม และผิวหนัง โดยสามารถช่วยให้ผิวไม่มันและลดการเกิดสิว ซึ่งในกะหล่ำปลีก็มีสารชนิดนี้อยู่ไม่น้อยเลย จะนำมากินหรือนำมามาส์กหน้าก็ช่วยบำรุงผิวได้ทั้งนั้นเลยค่ะ
– ล้างสารพิษในร่างกาย วิตามินซีในกะหล่ำปลีทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดี ช่วยขับสารพิษและกรดยูริกออกจากร่างกาย ซึ่งสารพิษเหล่านี้นี่แหล่ะ!ที่เป็นสาเหตุของโรคไขข้ออักเสบ โรคผิวหนัง โรครูมาตอยด์ และโรคเกาต์
– ลดความดันโลหิต โพแทสเซียมในกะหล่ำปลีมีส่วนช่วยให้การทำงานของระบบไหลเวียนเลือดทำงานได้ดี ช่วยให้หลอดเลือดขยายได้มากขึ้น ซึ่งดีต่อการไหลเวียนเลือด
– ลดอาการปวดหัว อาการปวดหัวสามารถหายได้ด้วยการใช้กะหล่ำปลีมาประคบที่ศีรษะ หรือดื่มน้ำกะหล่ำปลีสด วันละ 25-50  มิลลิลิตร ใครที่มีอาการปวดหัวเรื้อรังบ่อยๆ ลองดูค่ะ
– ลดอาการแฮงก์ของนักดื่ม กะหล่ำปลีสามารถช่วยบรรเทาอาการแฮงก์จากการดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักได้ เนื่องจากกะหล่ำปลีมีน้ำเป็นส่วนประกอบมาก ทำให้เมื่อกินเข้าไปแล้ว น้ำในกะหล่ำปลีจะไปเจือจางแอลกอฮอล์ในร่างกายช่วยให้อาการดีขึ้น (อย่าคิดว่าเป็นเรื่องล้อเล่น เพราะวิธีนี้นิยมใช้กันมาตั้งแต่สมัยโรมันแล้ว)
– ป้องกันการอักเสบและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด สารกลุ่มเบตาเลน (Betalains)ในกะหล่ำปลีสีม่วง มีคุณสมบัติในการลดระดับน้ำตาลในเลือดและสร้างเสริมอินซูลินในร่างกาย แถมยังมีสรรพคุณในการช่วยต้านการอักเสบได้ดีเช่นเดียวกับหัวบีทรูทอีกด้วย
ได้เห็นทั้งคุณค่าทางอาหาร พร้อมทั้งสรรพคุณอันมากมายของกะหล่ำปลี “ผักเพื่อชีวิต” กันไปแล้วต่อไปนี้หากเราเจอกะหล่ำปลีในจานอาหาร หรือในผักเคียงของอาหารต่างๆ ก็อย่าเขี่ยทิ้งเด็ดขาด!!!เพราะไม่เช่นนั้น ท่านอาจโดนมือดีหยิบชิ้นปลามันไปกินก่อนก็ได้น้า!